ความรู้สัมมาชีพชุมชน

การมัดหมี่

โดย : นางลำดวน สีตะ วันที่ : 2017-05-22-23:50:04

ที่อยู่ : 8 บ้านหนองบัว หมู่ที่ 15 ตำบลกุดรัง

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

การทอผ้ามาตั้งแต่เมื่อไร ไม่สามารถสืบประวัติได้แต่มีหลักฐานสำคัญคือ ผ้าไหมมัดหมี่หน้านาง หรือผ้าปูม อายุ กว่า 220 ปีที่เจ้าเมืองชนบทคนแรกได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกรัชกาลที่ 1 โดยทายาทของเจ้าเมืองเป็นผู้เก็บรักษาไว้ ซึ่งต่อมาคนชนบทได้นำมาเป็นต้นแบบในการทอผ้าไหมมัดหมี่หน้านางที่มีชื่อเสียงและเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของผ้าไหมชนบท  จากการได้เรียนรู้จากอาจารย์ที่ชนบท มาสอนการมัดหมี่  แล้วนำมาฝึกมัดหมี่จนชำนาญ  จึงได้ยึดเป็นอาชีพเสริมหลังฤดูเก็บเกี่ยวทำให้สมาชิกในครอบครัวมีอาชีพเสริม มีรายได้ ไม่ต้องไปทำงานต่างถิ่น  ทำให้ครอบครัวอบอุ่น

วัตถุประสงค์ ->

- เพื่อทำเป็นอาชีพเสริม 

- เพื่อเพิ่มรายได้ให้ครอบครัว 

- เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวได้มีกิจกรรมทำร่วมกัน

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

เส้นไหม  สีย้อมไหม

อุปกรณ์ ->

ฮงมัดหมี่  กรรไกร  เชือกฟาง  ไม้บรรทัด 

กระบวนการ/ขั้นตอน->

การมัดหมี่ 
          ก่อนมัดหมี่ ต้องค้นหมี่ก่อน โดยการนำเส้นฝ้ายพันรอบหลักหมี่ 1 คู่ นับจำนวนเส้นฝ้ายให้สัมพันธ์กับลายหมี่ที่จะมัด จากนั้นจึงทำการมัดหมี่กลุ่มเส้นฝ้ายในหลักหมี่ ตามลวดลายหมี่ที่ต้องการ เมื่อถอดฝ้ายมัดหมี่ออกจากหลักหมี่ นำไปย้อมสี บิดให้หมาดแล้วจึงแก้ปอมัดหมี่ออก ทำให้เกิดลวดลายตรงที่แก้ปอออก นำฝ้ายที่แก้ปอมัดแล้วนี้ไปพันรอบหลอดไม้ไผ่เรียกว่า การปั่นหลอด ร้อยหลอดฝ้ายตามลำดับก่อน-หลัง เก็บไว้อย่างดีระวังไม่ให้ถูกรบกวนจนเชือกร้อยขาด ฝ้ายมัดหมี่ในหลอดฝ้ายใช้เป็นเส้นพุ่งในการทอ

การมัดหมี่ เป็นการทำลวดลายของผืนผ้า โดยการใช้วัสดุกันน้ำมัดกลุ่มเส้นฝ้ายเป็นลวดลายตามต้องการ ก่อนนำฝ้ายย้อมน้ำสี เมื่อแก้วัสดุกันน้ำออกจึงเกิดสีแตกต่างกัน ถ้าต้องการเพียง 2 สี จะแก้วัสดุมัดฝ้ายเพียงครั้งเดียว หากต้องการหลายสีจะมีการแก้มัดวัสดุหลายครั้ง              

การค้นหมี่ 
         เส้นฝ้ายมีไขฉาบโดยธรรมชาติ ก่อนนำมาใช้ต้องชุบน้ำให้เปียกทั่วอณูของเส้นฝ้าย โดยชุบน้ำแล้วทุบด้วยท่อนไม้ผิวเรียบ เรียกว่า การฆ่าฝ้าย ก่อนจะชุบฝ้ายหมาดน้ำในน้ำแป้งและตากให้แห้ง คล้องฝ้ายใส่กงแล้วถ่ายเส้นฝ้ายไปพันรอบอัก ตั้งอักถ่ายเส้นฝ้ายพันรอบหลักหมี่ ซึ่งมีความกว้างสัมพันธ์กับความกว้างของฟืมที่ใช้ทอผ้า นับจำนวนเส้นฝ้ายให้เป็นหมวดหมู่ แต่ละหมู่มีจำนวนเส้นฝ้ายสัมพันธ์กับลายหมี่ มัดหมวดหมู่ฝ้ายด้วยเชือกฟาง

วิธีการค้นหมี่
      1. เอาฝ้ายที่เตรียมมาแล้วมัดหลักหมี่ด้านล่างก่อน แล้วพันรอบหลักหมี่ไปเรื่อยๆ เรียกว่า การก่อหมี่
      2. การค้นหมี่จะต้องค้นจากล่างขึ้นบน หรือบนลงล่างจนกว่าจะครบจำนวนรอบที่ต้องการ ภาษาท้องถิ่นเรียกแต่ละจำนวนว่าลูกหรือลำ ถ้าก่อหมี่ผูก ฝ้ายด้านขวา ก็ต้องวนซ้ายมาขวาทุกครั้ง
      3. ควรผูกฝ้ายไว้ทุกลูกด้วยสายแนม เพื่อไม่ให้หมี่พันกัน หรือหลุดออกจากกัน

วิธีการมัดหมี่

1. มัดกลุ่มฝ้ายแต่ละลูกหมี่ด้วยเชือกฟาง จนครบหลักหมี่ ทำเป็นเชิงผ้า
2. การเริ่มต้นลายมัดหมี่ อาจมัดจากด้านบนไล่เรียงลงข้างล่าง หรือมัดข้างล่างก่อนจึงไล่เรียงขึ้นข้างบน

บางคนอาจเริ่มมัดจากตรงกลางก่อน จึงขยายออกไปเต็มหลักหมี่
       3. เริ่มมัดปลายเชือกด้านหนึ่งกับลูกหมี่ก่อน จึงพันอีกปลายหนึ่งซ้อนทับกันให้แน่นเพื่อไม่ให้สีย้อมซึมเข้าข้อหมี่ เมื่อพันทับกันไปจนได้ความยาวตามลายหมี่แล้ว มัดปลายเชือกกับลูกหมี่ให้แน่นเช่นกัน โดยเหลือปลายเชือกไว้ เมื่อเวลาแก้ปอมัดจะทำได้ง่าย

       4. เอาเชือกเส้นหนึ่งสอดเข้าไปในช่องหลักหมี่ข้างใดข้างหนึ่ง ผูกกลุ่มฝ้ายไว้เป็นวงไม่ให้หมี่ที่มัดลวดลายแล้วหลุดออกจากกัน และใช้เป็นหูหิ้วสำหรับจับเวลาย้อม ถอดฝ้ายมัดหมี่ออกจากหลักหมี่

ข้อพึงระวัง ->

การย้อมและล้างในแต่ละขั้นตอนต้องระวังในขั้นตอนแก้ปมมัดหมี่ต้องระมัดระวังอย่าให้เส้นไหมขาด

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดมหาสารคาม
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา