ความรู้สัมมาชีพชุมชน

การทอผ้าไหม

โดย : นางเบ็ญจพร เรืองเดช วันที่ : 2017-05-22-22:07:18

ที่อยู่ : 42 บ้านดอนโมง หมู่ที่ 7 ตำบลกุดรัง

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

ตั้งแต่เด็กๆ แม่ทอผ้าใช้ในครัวเรือนและต่อมาก็สอนให้ลูกหลานทำเพื่อสืบทอดไว้ให้ลูกหลาน ต่อมาก็เริ่มมีคนทอน้อยลง นิยมไปซื้อผ้าตามตลาดนัดมาใช้  แต่บ้านของเราก็ยังมองเห็นว่าผ้าที่ซื้อมาสวมใส่มันร้อน  ไม่เหมือนผ้าฝ้ายที่พ่อแม่เคยทอให้สวมใส่  จึงเกิดการรวมกลุ่มกันขึ้นเพื่ออนุรักษ์และสืบสานวิถีชีวิตการทอผ้าฝ้ายเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน  และยึดเป็นอาหารเสริมหลังฤดูเก็บเกี่ยว  ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น  ได้อยู่กับลูกหลานไม่ต้องอพยพไปทำงานต่างถิ่น  ทำให้ครอบครัวอบอุ่นได้อยู่ร่วมกันพร้อมหน้าพร้อมตากันทุกคน

วัตถุประสงค์ ->

- เพื่อลดรายจ่าย 

  - เพื่อเพิ่มรายได้    

  - เพื่อรักษาสุขภาพของผู้บริโภค 

  - เพื่อทำเป็นอาชีพเสริม

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

1.เส้นด้าย        2.สีธรรมชาติ  สีสังเคราะห์

อุปกรณ์ ->

1.กี่                2. ฟืม             3. กระสวย                4. หลอด

                   5.หม้อสำหรับย้อม                  6. หลา                     7. เตา ฯลฯ

กระบวนการ/ขั้นตอน->

ลวดลายและกรรมวิธีการทอ

ผ้าที่ทอด้วยมือที่มีชื่อเสียงที่สุดของอำเภอชนบท ได้แก่ “ผ้าไหมมัดหมี่” โดยมีขั้นตอนเริ่มจากการคัดเลือกเส้นไหม การออกแบบลายหมี่ การให้สี การทอเป็นผืนผ้าซึ่งเป็นงานที่ละเอียดอ่อน ผ้าไหมชนบทมีจุดเด่นคือ มีความสวยงามลวดลายละเอียดแตกต่างจากที่อื่น
      เอกลักษณ์ของผ้าไหมชนบท คือ “ลาย”และ “เทคนิคการทอผ้า” ลายเก่าแก่ที่สืบทอดกันมาและถือว่าเป็นลายต้นแบบและเป็นลายเก่าแก่ของผ้าเมืองขอนแก่นคือ ลายหมี่กง ลายขันหมากเบ็ง ลายขอพระเทพหรือลายเชิงเทียนโดยส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดจะเป็นการทอผ้าแบบ 3 ตะกอ ทำให้เนื้อผ้าแน่น สม่ำเสมอมีลักษณะสีและลวดลายของผ้าด้านหนึ่งสีทึบกว่าอีกด้าน สีที่เป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิมคือสีม่วง สีแดง สีเขียวสีเม็ดมะขาม
       เอกลักษณ์ของการทอผ้าอีกแบบหนึ่งของชาวชนบท คือผ้าปูมหรือผ้าหน้านาง ซึ่งมีลักษณะแบบโจงกระเบน ประกอบด้วย ลายมัดหมี่บริเวณท้องผ้าลายมัดหมี่หน้านาง และลายมัดหมี่ริมชายผ้าทั้งสองด้าน

ในการทอผ้ามัดหมี่ก็จะมีอุปกรณ์ ที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านอยู่หลายชนิด แต่ละชนิดแสดงถึงความละเอียดอ่อนในการสร้างสรรค์ผลงานอันเป็นงานศิลปะ ซึ่งจะเป็นผ้ามัดหมี่ที่สวยงามต่อไป

1. หูกเป็นเครื่องมือสำหรับทอผ้า มีหลายขนาดและชนิด แต่มีหลักการพื้นฐานอย่างเดียวกัน คือ การขัดประสานระหว่างด้ายเส้นพุ่ง และด้ายเส้นยืน จนแน่นเป็นเนื้อผ้า

2. ฟืม หรือฟันหวี มีลักษณะคล้ายหวี ยาวเท่ากับความกว้างของหน้าผ้าทำด้วยโลหะ มีลักษณะเป็นซี่เล็ก ๆ

มีกรอบทำด้วยไม้หรือโลหะ  แต่ละซี่ของฟืมจะเป็นช่องสำหรับสอดด้ายยืน เข้าไป เป็นการจัดเรียงด้ายยืนให้ห่างกันตามความละเอียดของเนื้อผ้า เป็นส่วนที่ใช้กระทบให้เส้นด้ายที่ทอเรียงติดกันแน่นเป็นผืนผ้า

3.กง   ใช้สำหรับใส่ไจหมี่

4.อัก ใช้สำหรับกวักหมี่ออกจากกง

5.หลักตีนกง (ไม้ที่ใช้ยึดทั้งสองข้างในการกวักด้าย)

      6. หลา เป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับปั่นหลอด จากอักมาสู่โบกเพื่อทำเป็นทางต่ำ (เส้นพุ่ง) เข็นหรือปั่นหมี่

2 เส้นรวมกัน เรียกว่า เข็นรังกัน เข็นควบกันเข็นฝั้นกัน ถ้าเป็นหมี่คนละสี เข็นรวมกันแล้ว เรียกว่า มับไม ใช้แกว่งหมี่ ขั้นตอนนี้เป็นการเก็บปุ่มที่เรียกว่า ขี้หมี่ออกจากเส้นหมี่ และยังทำให้เส้นหมี่บิดตัวแน่นขึ้น ใช้ทำเป็นทางเครือ

      7.กระสวย    ใช้บรรจุหลอดหมี่พุ่งสอดไประหว่างช่องว่างของเส้นหมี่ยืน ต้น และปลายเรียวตรงกลางเจาะเป็นช่องสำหรับใส่หลอดด้าย

      8. หลอดใส่ด้าย หลอดด้ายค้น (ลูกค้น) เป็นอุปกรณ์สำหรับใช้ในการค้นเส้นด้าย โดยเส้นด้ายทุกเส้นจะถูก

ม้วนหรือพันเก็บไว้ในหลอดค้น ซึ่งมีลักษณะเป็นหลอดยาวประมาณ 8 นิ้ว เส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 1 นิ้ว หลอดค้นทำจากไม้ไผ่

9.หลักเฝีย ใช้ในการค้นฝ้าย

10.โฮงมี่ ใช้สำหรับมัดหมี่ 

การแก้ปอมัดหมี่

หมี่ที่มัดเสร็จเรียบร้อยและถอดออกจากหลักหมี่แล้วนำไปแช่น้ำให้เปียก บิดให้หมาด นำไปย้อมสีคราม ล้างสีให้สะอาด จึงนำมาแก้ปอมัดหมี่ พาดราวกระตุกให้เรียงเส้น ผึ่งให้แห้งได้ฝ้ายมัดหมี่

การปั่นหลอด

นำฝ้ายมัดหมี่คล้องใส่กงซึ่งวางอยู่ระหว่างตีนกง 1 คู่ หมุนกงคลายฝ้ายออกจากกงพันเข้าหลอดไม้ไผ่เล็กๆ

ที่เสียบแน่นอยู่กับเหล็กไนของหลา ความยาวของหลอดไผ่สัมพันธ์กันกับกระสวยทอผ้า เมื่อหมุนกงล้อไม้ไผ่ของหลา เหล็กไนและหลอดจะหมุนเอาเส้นฝ้ายจากกงพันรอบแกนหลอดไม้ไผ่ ให้ได้จำนวนเส้นฝ้ายพอเหมาะกับขนาดองร่องกระสวยทอผ้า
              การร้อยฝ้าย
              ร้อยหลอกฝ้ายที่ปั่นแล้วตามลำดับก่อนหลังหากร้อยหลอดผิดลำดับหรือเชือกร้อยหลอดขาดทำให้ลำดับฝ้ายผิดไปจะไม่สามารถทอเป็นลวดลายตามความต้องการได้

 

 

 

 

1. นำเส้นด้ายที่ซื้อมาต้มเพื่อให้สารเคลือบออกมาเวลาย้อมสีจะติดเส้นด้ายสีสวย

2. นำเส้นด้ายมาย้อมสีตามที่ต้องการแล้วเอามาปั่น

3. นำมากวักใส่อัก

4. นำมาค้นฮูกให้เป็นเครือ/เส้นแนวตั้ง

5. นำเครือที่ค้นไว้มาสืบฮูก/ผูกใส่ฟืม

6. นำมาขึงฮูกใส่กี่  ทอตามต้องการ

7. นำมาแปรรูป  หรือจำหน่าย

ข้อพึงระวัง ->

เวลาย้อมสีต้องควบคุมไฟไม่ให้ร้อนเกินไป เพราะจะทำให้เส้นด้ายไม่เรียบ เวลาย้อมต้องละลายสีย้อมฝ้ายให้เข้ากันก่อนแล้วจึงเอาด้ายที่ชุบน้ำไว้เปียกหมาดๆ ลงไปย้อมในหม้อที่เดือดประมาณ  30  นาที แล้วเอาขึ้นมาล้างน้ำให้สะอาด บิดพอหมาดๆ แล้วนำไปผึ่งแดดให้แห้ง

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดมหาสารคาม
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา