ความรู้สัมมาชีพชุมชน

ทอผ้าไหม

โดย : นางทองสม มะปะเภา วันที่ : 2017-03-23-14:41:19

ที่อยู่ : เลขที่ 77 หมู่ที่ 3 ตำบลแคน

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

การทอผ้าไหมเป็นภูมิปัญญา เป็นอาชีพดั้งเดิมของชาวบ้านแวงชัย

วัตถุประสงค์ ->

เพื่อให้ชาวบ้านในชุมชนมีอาชีพ มีรายได้เสริมจากการเพาะปลูกพืชตามฤดูกาล

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

เส้นไหม สีย้อม

อุปกรณ์ ->

กี่ โฮง เชือกฟาง ฟืม กระสวย

กระบวนการ/ขั้นตอน->

1. การเตรียมเส้นไหม จะต้องนำเส้นมาคัดเส้นไหมที่มีขนาดเส้นสม่ำเสมอ และมีการตกแต่งไจไหมที่เรียบร้อย คือ เส้นไหมจัดเรียงแบบสานกันเป็นตาข่ายหรือเรียกชื่อทางวิชาการว่าไดมอนด์ครอส มีการทำไพประมาณ 4-6 ตำแหน่ง ขนาดน้ำหนักไหมต่อไจโดยประมาณ 80-100 กรัม ทั้งนี้เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของการปฏิบัติงานในขั้นตอนการลอกกาว ย้อมสี และการกรอเส้นไหม

2. การลอกกาวเส้นไหมทั้งเส้นพุ่งเส้นยืน โดยวิธีการใช้สารธรรมชาติ การเตรียมสารลอกกาวธรรมชาติ นำกาบต้นกล้วยมาทำการเผาไฟจนกระทั่งเป็นขี้เถ้า นำขี้เถ้าไปแช่น้ำใช้ไม้คนให้ทั่ว ปล่อยทิ้งไว้ให้ขี้เถ้าตกตะกอนแบ่งชั้นน้ำและตะกอน ทำการกรองน้ำใสที่อยู่ส่วนบนชั้นตะกอนด้วยผ้าบาง สารที่ได้ คือสารลอกกาวธรรมชาติ นำเส้นไหมที่ได้เตรียมไว้แล้วมาทำการต้มลอกกาวด้วยสารลอกกาวธรรมชาติดังกล่าวโดยใช้ในสัดส่วนของสารลอกกาวต่อเส้นไหมโดยประมาณ30:1 ในระหว่างการต้มลอกกาวจะมีการควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ในระดับ 90-95 องศาเซลเซียส เป็นเวลาประมาณ 90 นาที ในระหว่างการต้มลาวกาว ให้ทำการกลับเส้นไหมในหม้อต้มลาวอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้กระบวนการลอกกาวเส้นไหมสมบูรณ์ นำเส้นไหมที่ทำการลอกกาวเสร็จเรียบร้อยออกจากหม้อต้ม นำไปล้างน้ำร้อนน้ำอุ่น แล้วบีบน้ำออกจากเส้นไหม นำเส้นไหมไปตากผึ่งแห้งที่ราวตาก ทั้งนี้ให้ทำการกระตุกเส้นไหมเพื่อให้มีการเรียงเส้นไหมในแต่ละไจ อย่างเรียบร้อย นั่นคือการลอกกาวเส้นไหม เราก็จะได้เส้นไหมที่พร้อมจะย้อมสี เพื่อนำไปทอผ้าต่อไป

3. การเตรียมฟืมทอผ้า ทำการค้นเส้นด้ายลักษณะเดียวกับการค้นเส้นยืน จากนั้นนำเส้นด้ายมาร้อยเข้ากับฟืม โดยการร้อยผ่านช่องฟันหวีแต่ละช่องทุกช่องๆละ2เส้น แล้วใช้ท่อนไม้ไผ่เล็กๆสอดเข้าในห่วงเส้นด้ายที่ร้อยเข้าช่องฟันหวีเพื่อทำการขึงเส้นด้ายให้ตรึงและจัดเรียงเส้นด้ายให้เรียบร้อย ส่วนด้านหน้าของฟืมก็จะมีท่อนไม้ไผ่เช่นเดียวกับด้านหลังเพื่อทำการขึงเส้นด้ายให้ตรึงเช่นเดียวกับด้านหลังของฟืมที่กล่าวมาแล้ว จากนั้นให้ทำการเก็บตะกอฟืมแบบ2ตะกอ เราก็จะได้ชุดฟืมทอผ้าที่พร้อมสำหรับการทอผ้า

4. การย้อมเส้นไหมยืน  เตรียมน้ำย้อมสีเส้นไหม โดยทั่วไปผ้าแพรวาในสมัยโบราณเส้นยืนจะใช้สีแดง ที่มาจากครั่ง นำครั่งมาตำให้ละเอียด จากนั้นนำไปแช่น้ำนานประมาณ 1 คืน ทำการกรองน้ำย้อมสีด้วยผ้าบาง ปริมาณครั่งที่ใช้ในการเตรียมน้ำย้อมประมาณ 5 กิโลกรัมต่อน้ำ 20 ลิตรต่อเส้นไหม 1 กิโลกรัม นำเส้นไหมที่เตรียมไว้มาทำการย้อม โดยเริ่มจากการการย้อมเย็นเพื่อให้น้ำย้อมสีสามารถซึมเข้าไปในเส้นไหมได้อย่างทั่วถึง และสม่ำเสมอ ป้องกันการเกิดสีด่างบนเส้นไหม เมื่อน้ำย้อมได้ซึมเข้าเส้นไหมจนทั่วแล้ว ก็ให้ยกหม้อต้มย้อมขึ้นตั้งบนเตาเพื่อเพิ่มความร้อนจนกระทั่งอุณหภูมิอยู่ที่ระดับ 90 องศาเซลเซียส ใช้เวลาประมาณ 30 นาที หรือสังเกตได้จากการที่น้ำย้อมจะใส จากนั้น ให้นำเส้นไหมที่ย้อมสีเรียบร้อยแล้วไปล้างน้ำสะอาด 2-3 ครั้ง แล้วทำการบีบน้ำให้แห้ง ทำการตากผึ่งให้แห้ง

5. การเตรียมเส้นยืน นำเส้นไหมยืนที่ทำการย้อมสีด้วยสีแดงเข้มของครั่ง มาทำการค้นเครือหูก หรือที่เรียกว่าการค้นเส้นยืน โดยใช้หลักเฝือเป็นอุปกรณ์ในการค้นเส้นยืน การเตรียมค้นเส้นยืนจะเริ่มต้นโดยการนำเส้นไหมไปสวมเข้าในกง เพื่อทำการกรอเส้นไหมเข้าอัก จากนั้นก็ทำการค้นเส้นยืน โดยมีหลักการนับ คือ รอบละ2เส้น 2รอบเป็น4เส้น เรียกว่า 1 ความ 10ความ เท่ากับ 1 หลบ การนับจำนวนความจะใช้ซี่ไม้มาคั่นเพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ดังนั้น 1 หลบจะมีเส้นไหม 40 เส้น หลบ คือ หน้ากว้าง ในสมัยโบราณนิยมทอผ้าสไบหน้ากว้างจะใช้ 8 หลบ ต่อมามีการขยายหน้ากว้างเพิ่มเช่น 22 หลบ 34 หลบ เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการออกแบบตั้งแต่เริ่มแรก

6. การต่อเส้นยืน  การต่อเส้นยืนคือการนำเส้นไหมเส้นยืนมาผูกต่อกับเส้นด้ายในซี่ฟันหวีโดยทำการต่อที่ละเส้นจนหมดจำนวนเส้นยืน เช่น หากหน้ากว้างของผ้าเท่ากับ 22 หลบ ก็จะต้องทำการต่อเส้นยืนเท่ากับ 1,760 เส้น เป็นต้น เมื่อต่อเส้นไหมเข้ากับเส้นไหมที่อยู่ในซี่ฟันหวี่เรียบร้อยแล้ว ก็ให้ทำการม้วนเส้นยืนด้วยแผ่นไม้ พร้อมทั้งการจัดเรียงระเบียบของเส้นไหมตามช่องฟันฟืมให้เป็นระเบียบเรียบร้อย จากนั้น ก็ทำไปติดตั้งเข้ากับหูกทอผ้าหรือกี่ทอผ้า เพื่อการเก็บเขาลายหรือตะกอต่อไป ก่อนทำการทอผ้าจะต้องใช้แปรงจุ่มน้ำแป้งทาเคลือบเส้นยืนที่อยู่ในกี่ก่อน เพื่อทำให้เส้นกลม มีความแข็งแรง เส้นไหมไม่แตกเป็นขนเนื่องจากกระทบกับช่องฟันฟืมเวลาทอผ้า

7. การเตรียมเส้นพุ่งที่ทำการย้อมสีต่างๆ  การเตรียมน้ำย้อมสีเส้นไหม โดยทั่วไปผ้าแพรวาโบราณจะมีจำนวนสีหลากหลายสีในแต่ละลายหลัก ซึ่งสีที่นิยมใช้กันมากก็จะเป็นสีเข้ม เช่น สีเหลือง สีน้ำเงินเข้ม สีเขียว สีแดง เป็นต้น ซึ่งแต่ละสีก็จะได้มาจากชิ้นส่วนของพืชและสัตว์ ดังนี้
(1) สีเหลือง เป็นสีที่ได้มาจากแก่นเข วิธีการเตรียม คือ นำแก่นเขมาทำให้เป็นชิ้นเล็กๆก่อนทำการต้มกับน้ำ การต้มให้ต้มเดือดนานประมาณ 1-1.30 ชั่วโมง จากนั้นก็ให้ทำการกรองด้วยผ้าบางเพื่อแยกส่วนของน้ำย้อมสีกับกากเหลือของแก่นเขออกจากกัน นำเส้นไหมเส้นพุ่งที่ต้องการย้อมสีเหลืองมาทำการย้อม โดยเริ่มต้นการย้อมโดยวิธีย้อมเย็นเพื่อให้การซึมเข้าของสีสม่ำเสมอ จากนั้นจึงใช้ความร้อนในการเพิ่มอุณหภูมิประมาณ 90-95 องศาเซลเซียส ย้อมนานประมาณ 30 นาที จากนั้นนำเส้นไหมที่ย้อมเสร็จแล้วมาทำการล้างด้วยน้ำ 2-3 ครั้ง เพื่อล้างสีส่วนเกินออกให้หมด ซึ่งจะทำให้ผ้าไหมไม่ตกสี นำเส้นไหมที่ล้างน้ำแล้วบีบน้ำออกแล้วนำไปผึ่งตากให้แห้ง
(2) สีน้ำเงิน เป็นสีที่ได้มาจากเนื้อคราม วิธีการเตรียม คือจะต้องมีการก่อหม้อครามก่อนเพื่อที่นำน้ำย้อมสีครามนั้นมาใช้ในการเตรียมน้ำย้อมสีคราม เมื่อได้น้ำย้อมสีน้ำเงินแล้ว นำเส้นพุ่งที่ต้องการย้อมสีน้ำเงินมาทำการย้อม โดยกรรมวิธีการย้อมสีครามจะเป็นการย้อมเย็น โดยการนำเส้นไหมลงย้อมในน้ำย้อม แล้วใช้มือบีบนวดเส้นไหมเพื่อให้สีสามารถซึมเข้าได้ทั่วถึง การย้อมครามอาจจะต้องทำการย้อมซ้ำ 2-3 ครั้งขึ้นอยู่การการติดสีของครามและระดับความเข้มของสีที่ต้องการ
(3) สีแดง เป็นสีที่ได้จากครั่ง วิธีการเตรียมน้ำย้อมสีแดงที่มาจากครั่ง นำครั่งมาตำให้ละเอียด จากนั้นนำไปแช่น้ำนานประมาณ 1 คืน ทำการกรองน้ำย้อมสีด้วยผ้าบาง ปริมาณครั่งที่ใช้ในการเตรียมน้ำย้อมประมาณ 5 กิโลกรัมต่อน้ำ 20 ลิตรต่อเส้นไหม 1 กิโลกรัม นำเส้นไหมที่เตรียมไว้มาทำการย้อม โดยเริ่มจากการการย้อมเย็น เพื่อให้น้ำย้อมสีสามารถซึมเข้าไปในเส้นไหมได้อย่างทั่วถึง และสม่ำเสมอ ป้องกันการเกิดสีด่างบนเส้นไหม เมื่อน้ำย้อมได้ซึมเข้าเส้นไหมจนทั่วแล้ว ก็ให้ยกหม้อต้มย้อมขึ้นตั้งบนเตาเพื่อเพิ่มความร้อนจนกระทั่งอุณหภูมิอยู่ที่ระดับ 90-95 องศาเซลเซียส ใช้เวลาประมาณ 30 นาที หรือสังเกตได้จากการที่น้ำย้อมจะใส จากนั้น ให้นำเส้นไหมที่ย้อมสีเรียบร้อยแล้วไปล้างน้ำสะอาด 2-3 ครั้ง แล้วทำการบีบน้ำให้แห้ง ทำการตามผึ่งให้แห้ง
(4) สีเขียว เป็นสีที่ได้จากการใช้สี 2 สี คือ สีเหลืองจากแก่นเข และสีน้ำเงินจากคราม นำเส้นพุ่งที่ต้องการจะย้อมสีเขียวมาทำการย้อมสีเหลืองก่อน และล้างสีส่วนเกินออกให้หมดก็จะได้เส้นไหมที่ย้อมสีเหลือง ให้นำเส้นไหมสีเหลืองที่เตรียมไว้ไปย้อมทับด้วยสีน้ำเงินก็จะทำให้เส้นที่ย้อมเป็นสีเขียว นำเส้นไหมที่ย้อมสีเสร็จเรียบร้อยแล้วมาทำการล้างสีส่วนเกินออกให้หมด โดยล้างน้ำ 2-3 ครั้ง จากนั้นบีบน้ำออก ทำการผึ่งตากแห้ง ซึ่งทุกครั้งจะต้องทำการกระตุกเส้นไหมให้เรียงกันเรียบร้อย

8. การกรอเส้นพุ่งเข้าหลอด  การกรอเส้นพุ่งเข้าหลอด นำเส้นไหมที่ย้อมสีต่างๆแล้วมาเข้ากง แล้วทำการกรอเส้นไหมเข้าหลอด เพื่อเตรียมเป็นเส้นพุ่งเพื่อใช้ในการเกาะลาย และใส่กระสวยในการทอขัด

9. การเก็บเขาลาย / การเก็บตะกอลายขัด   เทคนิคการทอผ้าไหมแพรวา
 การทำลายบนผืนผ้าแพรวา ใช้ไม้เก็บขิดมีลักษณะแบนกว้างประมาณ 7-8 เซนติเมตร ยาว1 เมตร ปลายแหลมในการเก็บขิดลาย  ผ้าแพรวาโบราณในแต่ละผืนจะมีจำนวนลายหลักแต่ผืนไม่เท่ากัน อย่างผ้าแพรวาที่กำลังทอผืนนี้จะมีหลายหลักอยู่ 10 ลายหลัก ประด้วยไม้ลายหรือตะกอกว่า1,000 เขา /ตะกอ ซึ่งการทำลายบนผืนผ้าแพรวาโบราณจะทำโดยใช้ไม้เก็บขิดลายเก็บลายก่อน แล้วใช้ไม้ยกลายหรือไม้เผ่าสอดเข้าจนหมดหน้าฟืม โดยให้ยกไม้ยกลายที่สอดเข้าไปให้อยู่ในแนวตั้ง จากนั้นใช้นิ้วก้อยในการล้วงเกาะเส้นไหมสีต่างๆตามลายที่กำหนด ไปจนสุดขอบผ้า แล้วจึงเหยียบไม้เหยียบตะกอฟืมเพื่อสอดกระสวย แล้วใช้ฟืมกระทบเส้นไหมเพื่อให้ผืนผ้าแน่น ไม้หนึ่งเกาะ 2 เที่ยว เพื่อให้ลายนูนเด่น ในการทอผ้าแพรวาจะต้องมีการเก็บลายไปตลอดการทอ การทอผ้าแพรวาลวดลายผ้าจะอยู่ด้านล่างของกี่ทอผ้า ซึ่งจะมีความแตกต่างจากการทอผ้ามัดหมี่หรือผ้าอื่นๆ และด้านล่างของผืนผ้าแพรวา จะมีท่อนไม้เล็กๆ แบนๆดันยึดริมผ้าทั้ง2ด้านให้ตรงและตึงตลอดเวลาเรียกว่าไม้คันผัง โดยมีหน้าที่ยึดผ้าที่ทอให้ขอบผืนผ้าตรงและตึงตลอดเวลา ทำให้ลวดลายบนผ้าสวยงามผ้าแพรวาชนิดนี้ เรียกว่า แพรวาเกาะ ซึ่งเป็นแพรวาที่มีความสวยงามมาก ค่อนข้างทำยาก และใช้เวลาในการทอค่อนข้างนาน ส่งผลทำให้ต้นทุนการผลิตสูงตามไปด้วย

10. การทอผ้าแพรวาแบบประยุกต์ ปัจจุบันการทอผ้าแพรวาได้มีการประยุกต์เพื่อให้เหมาะกับสภาพการของเศรษฐกิจและความต้องการของตลาด เช่น ผ้าแพรวาชนิดแพรวาล่วง คือ ใช้กระสวยพุ่งตามลายที่ได้เก็บขิดลายไว้ ส่วนใหญ่แพรวาชนิดนี้จะมีสี2สี คือ สีพื้น สีลวดลายบนผืนผ้าหรือหากจะมีการเพิ่มสีสันก็จะมีการเติมลายเล็กๆหรือลายที่เป็นลายเกสรเล็กๆเพื่อเพิ่มสีสันให้มีความสวยงาม ทั้งนี้เพื่อเป็นการประหยัดเวลา ทำได้ง่าย สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ด้วยซึ่งผ้าแพรวาชนิดนี้เรียกว่าแพรวาจก  

 

ข้อพึงระวัง ->

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดมหาสารคาม
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา