ความรู้สัมมาชีพชุมชน

น้ำหมักชีวภาพ

โดย : นายประสิทธิ์ ชาภักดี วันที่ : 2017-03-21-16:45:44

ที่อยู่ : ๖๐ หมู่ ๖ บ้านวังโพน ตำบลเขวาไร อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

 น้ำหมักชีวภาพ หรือ น้ำสกัดชีวภาพ หรือ ปุ๋ยน้ำจุลินทรีย์  เป็นสารละลายเข้มข้นที่ได้จากการหมักเศษพืช หรือสัตว์ กับสารที่ให้ความหวาน จนถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ ซึ่งเมื่อผ่านกระบวนการแล้วจะได้สารละลายเข้มข้นสีน้ำตาล ประกอบไปด้วยจุลินทรีย์ และสารอินทรีย์หลายชนิด เดิมทีนั้นจุดประสงค์ของการคิดค้น "น้ำหมักชีวภาพ" ขึ้นมา เพื่อใช้ประโยชน์ทางการเกษตรโดยเฉพาะ แต่ช่วงหลังก็มีการนำน้ำหมักชีวภาพ มาประยุกต์ใช้ประโยชน์ในด้านอื่นอีกหลายด้านตามความเหมาะสมที่จะนำไปใช้ 

วัตถุประสงค์ ->

๑. ด้านการเกษตร
– ใช้ฉีดพ่นหรือเติมในดินหรือน้ำ ช่วยปรับสภาพความเป็นกรด-ด่าง ในดิน และน้ำ
– ใช้เติมในดิน ช่วยปรับสภาพโครงสร้างของดิน ทำให้ดินร่วนซุย อุ้มน้ำได้ดี และช่วยเพิ่มจำนวนจุลินทรีย์ในดิน และน้ำ
– ช่วยเพิ่มอัตราการย่อยสลายสารอินทรีย์ในดิน และน้ำ
– ใช้รดต้นพืชหรือแช่เมล็ดพันธุ์ ท่อนพันธุ์เพื่อเร่งการเกิดราก และการเจริญเติบโตของพืช
– เป็นสารที่ทำหน้าที่เหมือนฮอร์โมนพืช กระตุ้นการเกิดราก และการเจริญเติบโต ทำให้ผลผลิต และคุณภาพสูงขึ้น
– ใช้ฉีดพ่นในแปลงเกษตร ช่วยต้านแมลงศัตรูพืช และลดจำนวนแมลงศัตรูพืช
– ใช้ฉีดพ่นในแปลงผัก ผลไม้ หรือผลผลิตต่างๆ เพื่อป้องกันการทำลายผลผลิตของแมลง

๒. ด้านปศุสัตว์
– ใช้ฉีดพ่นตามพื้นดินในฟาร์มเพื่อลดกลิ่นเหม็นของมูลสัตว์ ซากพืช ซากสัตว์ในฟาร์ม
– ใช้เติมในน้ำเสียเพื่อกำจัดน้ำเสียด้วยการเพิ่มจำนวนจุลินทรีย์ในการย่อยสารอินทรีย์ในน้ำเสีย
– ใช้ฉีดพ่นตามพื้นหรือตัวสัตว์เพื่อป้องกัน และลดจำนวนของจุลินทรีย์ก่อโทษ และเชื้อโรคต่างๆ
– ช่วยป้องกันแมลงวัน และการเจริญเติบโตของหนอนแมลงต่างๆ
– ใช้ผสมอาหารสัตว์จำพวกหญ้าเพื่อเพิ่มจำนวนจุลินทรีย์ในกระเพาะอาหารสัตว์เคี้ยวเอื้อง
– ใช้หมักหญ้า ฟางข้าวหรือหญ้าอาหารสัตว์เพื่อให้เกิดการย่อยง่าย

๓. ด้านการประมง
การใช้ในด้านการประมงมักใช้น้ำหมักชีวภาพเติมในบ่อเลี้ยงปลาเพื่อประโยชน์ในด้านต่างๆ คือ
– เพื่อปรับความเป็นกรด-ด่าง
– เพื่อเพิ่มจำนวนจุลินทรีย์สำหรับการย่อยสลายสิ่งสกปรกในบ่อปลา
– เพื่อต้าน และลดจำนวนเชื้อโรคที่ก่อโทษในสัตว์น้ำ
– เพื่อรักษาแผลของสัตว์น้ำ
– ช่วยลดปริมาณขี้เลนในบ่อ ด้วยการช่วยย่อยสลายสิ่งเน่าเสียด้านล่างบ่อ

๔. ด้านสิ่งแวดล้อม
– ใช้เติมในระบบบำบัดน้ำเสียจากการเกษตร ปศุสัตว์ การประมง โรงงานอุตสาหกรรม และชุมชน
– ใช้เติมในบ่อขยะ ช่วยย่อยสลายขยะ และกำจัดกลิ่นเหม็น
– ใช้ปรับสภาพของเสียจากครัวเรือนก้่อนนำไปใช้ประโยชน์ในการเกษตร

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

น้ำหมักชีวภาพ สูตร ๑
หมักจากผักและผลไม้ จำนวน ๕๐ ลิตร (หมัก ๗ วัน)
– ผัก หรือผลไม้ ๔ ส่วน
– กากน้ำตาล ๑ ส่วน
– น้ำ ๑ ส่วน
– สารเร่ง พด.๒ จำนวน ๑ ซอง (๒๕ กรัม)

 น้ำหมักชีวภาพ สูตร ๒
หมักจากปลาหรือหอยเชอรี่ จำนวน ๕๐ ลิตร (หมัก ๒๑ วัน)
– ปลาหรือหอยอชอรี่ ๓ ส่วน
– กากน้ำตาล ๑ ส่วน
– ผลไม้ ๑ ส่วน
– น้ำ ๑ ส่วน
– สารเร่ง พด.๒ จำนวน ๑ ซอง (๒๕ กรัม)

อุปกรณ์ ->

๑. มีด, เขียง สำหรับสับหรือย่อยวัตถุดิบ

๒. อุปกรณ์สำหรับตวงส่วนผสม

๓. ถังมีฝาปิดสำหรับหมัก

๔. อุปกรณ์สำหรับกรองกากน้ำหมักชีวภาพ

๕. ภาชนะสำหรับบรรจุน้ำหมักชีวภาพเพื่อนำไปใช้

กระบวนการ/ขั้นตอน->

๑. เตรียมวัตถุดิบที่จะทำการหมัก(ขึ้นอยู่กับว่าต้องการน้ำหมักชีวภาพจากพืชหรือสัตว์)

๒. ผสม น้ำ, กากน้ำตาล, สารเร่ง พด.๒ ให้ละลายเข้าด้วยกัน

๓. นำพืชหรือสัตว์ที่ต้องการหมักลงผสมในถังหมัก

๔. เมื่อผสมเข้ากันดีแล้วปิดฝาให้สนิท และทุกสามวันแรกให้เปิดฝาเพื่อระบายแก๊ส ประมาณ ๕ นาที แล้วปิดฝาหมักต่อจนครบวันตามสูตรที่หมัก

๕. เมื่อครบวันตามสูตรที่หมักให้เปิดดูหากวัตถุดิบที่ใช้ในการหมักยังย่อยสลายไม่หมดให้หมักต่อไปอีก

๖. เมื่อหมักจนได้น้ำหมักชีวภาพตามต้องการแล้วให้กรองและบรรจุในขวดหรือแกลลอนเก็บไว้ในที่ร่มและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ 

ข้อพึงระวัง ->

๑. ควรผสมวัตถุดิบต่างๆตามอัตราส่วนที่กำหนดเพราะหากอัตราส่วนไม่เหมาะสมอากจะได้น้ำหมักชีวภาพที่ไม่ได้คุณภาพตามต้องการ

๒. ขณะผสมวัตถุดิบควรมีความสะอาดไม่มีแมลงวันตอมเพราะอาจทำให้เกิดเชื้อแบคทีเรียและหนอนแมลงวันได้

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดมหาสารคาม
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา