ความรู้สัมมาชีพชุมชน

การตีเหล็ก

โดย : นายชัยตุรงค์....วงศ์ศักดิ์สิทธิ์ วันที่ : 2017-03-27-08:23:32

ที่อยู่ : .....100....หมู่.....5......ซอย.....-........ถนน.........-.............ตำบล..............ร่องฟอง............... อำเภอ.........เมืองแพร่..........จังหวัดแพร่

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

ดั้งเดิมหมู่บ้านร่องฟองเป็นชาวไทยใหญ่  ชาวบ้านได้ตั้งหมู่บ้านเล็กๆ  อยู่บริเวณที่มีห้วยห้วยน้ำไหลผ่านกลางหมู่บ้าน ห้วยน้ำนั้นถูกเรียกว่าห้วยฮ่องฟอง  ซึ่งคำว่า “ฮ่องฟอง” เป็นภาษาพื้นเมือง  ที่บรรพบุรุษได้ตั้งชื่อไว้  เนื่องจากเมื่อถึงฤดูฝน  จะมีน้ำไหลลงมาจากภูเขาด้านทิศตะวันออก  น้ำที่ไหลลงมาจะกระทบกับโขดหินตามลำห้วย  แตกกระเซ็นเป็นฟองเต็มลำห้วยทุกๆปี  จึงเรียกชื่อลำห้วยนี้ว่า “ห้วยร่องฟอง” และด้วยความ

 

อุดมสมบูรณ์ของลำห้วยแห่งนี้  บรรพบุรุณจึงได้ตั้งรกรากตามแนวลำห้วย  และได้เรียกชื่อหมู่บ้านนี้ ตามชื่อของลำห้วยว่า “หมู่บ้านร่องฟอง” ตั้งแต่เมื่อประมาณปี พ.ศ.2401 จนถึงปัจจุบัน  ซึ่งแต่เดิมเป็น หมู่ที่  3  ของตำบลทุ่งโฮ้ง  อำเภอเมืองแพร่  จังหวัดแพร่  มีประชากรประมาณ  30  กว่าหลังคาเรือน  โดยมี  บ่หลักเสนา  เสนาธรรม  เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกของหมู่บ้าน ร่องฟอง  (ผู้ใหญ่บ้านแต่เดิมเรียก “บ่หลัก”) อาชีพหลักคือการเกษตร อาชีพเสริมคือการรับจ้างเย็บผ้าและรับจ้างตีเหล็กที่ตำบลทุ่งโฮ้ง  นอกจากนี้ยังมีอาชีพทำล้อเกวียนจำหน่าย  เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงให้กับชุมชนในขณะนั้น

             ต่อมามีการขยายตัวทางเศรษฐกิจขึ้นอย่างรวดเร็ว  จึงหันมาเปลี่ยนจากการรับจ้างเย็บผ้าและรับจ้างตีเหล็กจากตำบลทุ่งโฮ้ง  มาทำโรงงานตีเหล็กและเย็บผ้ากันเอง  ที่หมู่บ้านร่องฟอง  จากนั้นจำนวนประชากรก็ได้เพิ่มมากขึ้น  จึงได้ขยายและแยกหมู่บ้านให้เป็นหมู่ที่ 1,2,3,4 และเพิ่มเป็น  หมู่ที่  5  ตามลำดับ  จนถึงปัจจุบัน

             “ชายตีเหล็ก  หญิงเย็บผ้า  นำหน้าเศรษฐกิจ  พิชิตความจน  ชุมชนให้ความร่วมมือ”

             การประกอบอาชีพการตีเหล็กของคนร่องฟองส่วนใหญ่นั้น  เป็นอาชีพที่สืบต่อมาจากพ่อแม่  หลายคนจึงมีประสบการณ์ในการตีเหล็กมาอย่างยาวนาน  โดยการประกอบอาชีพตีเหล็กของคนร่องฟอง  จะใช้พื้นที่ในบริเวณบ้านสร้างเป็นโรงงานขนาดย่อม  ที่ประกอบไปด้วยอุปกรณ์ในการผลิตอย่างครบขั้นตอนตามความถนัดของแต่ละผู้ผลิต  ซึ่งต่อมากลุ่มผู้ประกอบการอาชีพตีเหล็กในตำบลร่องฟอง  ได้มีการรวมตัวกันและจัดตั้งเป็นกลุ่มขึ้น  ภายใต้ชื่อว่า  “กลุ่มตีเหล็กตำบลร่องฟอง”  กลุ่มตีเหล็กได้จัดตั้งขึ้นเมื่อ  พ.ศ.2545  จากกลุ่มตีเหล็กหมู่บ้าน  5  หมู่บ้าน  ร่วมกันจัดตั้งเป็นเครือข่ายตำบล  โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบลร่องฟอง  องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาจนถึงปัจจุบัน  โดยมีสมาชิกทั้งสิ้น  189  คน

             สำหรับศักยภาพการผลิตนั้น  สามารถผลิตได้ทั้งผลิตภัณฑ์เหล็กที่ใช้ในครัวเรือน  ในภาคการเกษตร  หรือสามารถทำได้ตามความต้องการทั้งหมด  สามารถตอบสนองได้ตามความต้องการ  ผลิตภัณฑ์จากเหล็กทุกชนิดของลูกค้า  ซึ่งในปัจจุบันผลิตภัณฑ์จากอาชีพการตีเหล็กของร่องฟองนั้นถือว่าเป็นสินค้าขึ้นชื่อของจังหวัดแพร่  อีกทั้งยังเป็นแหล่งผลิตที่ใหญ่ที่สุด  มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง  ทั้งด้านการผลิตและการตลาด

             สำหรับผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการตีเหล็กของกลุ่มตีเหล็กตำบลร่องฟองนั้น  มีด้วยกันอย่างหลากหลายไม่ว่าจะเป็นเคียวเกี่ยวข้าวหรือหญ้า, เสียม, พลั่ว, จอบดายหญ้า, มีดเดินป่า, มีหวด, มีดถางและมีดโต้

วัตถุประสงค์ ->

เผยแพร่การทำอาชีพตีเหล็ก

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

เหล็ก

อุปกรณ์ ->

1. เส่า หรือเตาเส่า หรือสูบเส่า มีลักษณะเป็นกระบอกสูบคล้ายกระบอกสูบลมหรืออัดลมในปัจจุบัน แต่มีขนาดใหญ่ มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6-8 นิ้ว สูงประมาณ 1.50 เมตร ทำด้วยแผ่นสังกะสีชนิดเรียบม้วนเป็นวงกลม หรือใช้ไม้เจาะเป็นรูกลวงข้างใน มีไม้แกนขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว เป็นแกน พันด้วยผ้าไว้ที่ปลายไม้ให้ใหญ่พอดีกับกระบอกสูบ ต่อท่อซึ่งพอกด้วยดินไปสู่เตาเผา ชักแกนขึ้นลง เพื่อส่งลมไปสู่เตาเวลาก่อไฟให้แดงร้อนตลอดเวลาแต่ในปัจจุบันการตีเหล็กของคนร่องฟอง จะไม่ได้ใช้เส่าหรือเตาเส่าหรือสูบเส่าแบบเก่าอีกแล้ว แต่พัฒนามาใช้พัดลมมอเตอร์ แทน

 

 

 

          2. ค้อนตีเหล็ก เป็นท่อนเหล็กตัน เส้นผ่าศูนย์กลางตามขนาดและความจำเป็น 1-4 นิ้ว ยาวประมาณ 1-6 นิ้ว ต่อติดกับไม้เป็นด้ามยาว ตั้งแต่ 0.50 เมตร ถึง 1.50 เมตร ใช้ตีเหล็กให้เป็นรูปตามต้องการ

          3. ทั่ง เป็นท่อนเหล็กตัน ขนาดเล็กหรือใหญ่ตามความจำเป็น ใช้ตอกยึดติดกับท่อนไม้ขนาดใหญ่ เพื่อรองรับเหล็กหรือวางเหล็กที่เผาร้อนแดงแล้ว และใช้ค้อนตีเหล็กตีให้ได้ตามรูปแบบ

          4. คีม ลักษณะเป็นคีมเหล็ก ใช้เหล็ก 2 ชิ้น ยึดติดกันด้วยสลัก เหมือนคีมอุปกรณ์ซ่อมเครื่องยนต์ในปัจจุบัน แต่มีขนาดด้ามที่ยาวกว่า ใช้จับเหล็กออกจากเตาไฟและจับเหล็กที่เผาแล้ววางบนทั่งให้ช่างตีเหล็กตีขึ้นรูป

          5. ทั่งขึ้นรูป เป็นเหล็กรูปทรงต่างๆ ยึดติดกับท่อนไม้ สำหรับขึ้นรูปทรงผลิตภัณฑ์เหล็ก เช่น ใช้ขึ้นรูปด้ามหรือส่วนโค้ง มีด เสียม เคียว เป็นต้น

          6. กาด เป็นเครื่องมือใช้ตกแต่งผิวอุปกรณ์ให้เรียบ คม แหลม ตามความต้องการ เป็นเหล็กกล้าคล้ายพร้า ขนาดกว้างประมาณ 1.50 นิ้ว ยาว 15 นิ้ว มีด้ามจับ 2 ข้าง

          7. สกัด เป็นเหล็กกลมเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 1 นิ้ว ยาวประมาณ 8 นิ้ว มีทั้งชนิดปลายแหลมและปลายแบนคล้ายสิ่ว ใช้ตัดเหล็ก เจาะรูอุปกรณ์ หรือขึ้นรูปอุปกรณ์ หรือบางครั้งใช้เจาะหรือสกัดสลักชื่อสัญลักษณ์ หรือเครื่องหมายของผู้ผลิต

          8. อ่างน้ำ เป็นอ่างเก็บน้ำที่ทำด้วยดินเผา (ในปัจจุบันจะทำด้วยปูนซีเมนต์) มีน้ำอยู่ในอ่างเพื่อชุบอุปกรณ์เหล็กที่ร้อนหรือชุบอุปกรณ์เหล็กที่ผลิตเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้มีความแข็งตามต้องการ

          9. ถ่าน เป็นถ่านที่ใช้หุงต้ม เช่นเดียวกับถ่านไม้ในปัจจุบัน ใช้เผาเหล็กให้ร้อนแดงและอ่อน สามารถตีหรือดัดให้ได้รูปทรงตามต้องการ

          10. เหล็ก เป็นเหล็กที่มีอยู่ทั่วไป ในสมัยก่อนเหล็กหายากและไม่มีจำหน่ายในท้องตลาด ชาวบ้านหรือร้านตีเหล็กจะอาศัยเศษเหล็กจากอุปกรณ์ต่างๆ ที่ชำรุด เช่น เศษเหล็กจากรถยนต์ เป็นต้น

กระบวนการ/ขั้นตอน->

1. นำเหล็กมาตัดให้เป็นรูปร่างของผลิตภัณฑ์ที่จะทำ โดยปัจจุบันจะใช้เครื่องจักรมาตัดให้ได้หุ่นตามที่ต้องการ

          2. นำเหล็กที่ตัดเป็นรูปร่างเข้าเตาเผา ซึ่งเรียกว่า เตาเส่า ในสมัยโบราณใช้คนสูบเส่า แต่ในปัจจุบันใช้พัดลมมอเตอร์แทนการสูบเส่าด้วยคน เผาเหล็กให้ร้อนแดง

          3. นำเหล็กที่เผาจนร้อนแดงมาตี เรียกว่า “การโขก” โดยใช้คีมคีบเหล็กที่ร้อนแดงขึ้นวางบนทั่ง ใช้ค้อนตีเพื่อขึ้นรูปร่าง เรียกว่า “แถก” การขึ้นรูปร่างอาจจะเผาและตีหลายๆ ครั้ง

          4. นำแถกมาตีให้เป็นรูปร่างตามที่ต้องการ เช่น มีด จอบ เสียม เป็นต้น

          5. นำมาตกแต่งให้คม ในสมัยก่อนใช้กาดตกแต่งผิวให้เรียบ คม แหลม ตามความต้องการ แต่ในปัจจุบันใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าเข้าใจกันในภาษาชาวบ้านเรียกว่า “เครื่องเจียหัวหมู”

          6. นำมีด เคียว จอบ เป็นต้น ที่แต่งคมเรียบร้อยแล้วมาชุบ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีความคมและแข็ง ตามต้องการ วิธีการชุบ จะนำเหล็กที่ขึ้นรูปร่างแล้ว เผาไฟให้แดง แล้วนำไปชุบน้ำ

          7. ตกแต่ง ใส่ด้าม ทาน้ำมัน ติดเครื่องหมายการค้า

          8. จากนั้นจึงสู่ขั้นตอนสุดท้ายคือ การจำหน่าย โดยมีทั้งจำหน่ายปลีกและส่ง ทั่วประเทศ

ข้อพึงระวัง ->

แม้อาชีพการตีเหล็กจะสามารถสร้างรายได้ให้เป็นอย่างดี แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อกังวลในมวลสมาชิกคนตีเหล็กแห่งร่องฟองคือ เยาวชนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาสืบทอด

          “เด็กๆ ส่วนใหญ่จะไปเรียนหนังสือ จบแล้วก็จะไปทำงานที่อื่นกันเป็นส่วนใหญ่ เราก็เป็นห่วงอยู่เหมือนกันว่าต่อไปใครจะมาสืบทอด และที่สำคัญแรงงานที่จะมาทำงานในอาชีพหาได้น้อยลง ดังนั้น หนทางแก้ไขที่เราทำได้ตอนนี้คือการนำเครื่องจักรเข้ามาทดแทนแรงงาน”

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดแพร่
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา