ความรู้สัมมาชีพชุมชน

image1

การเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์

โดย : นายยก ช่วยอินทร์ วันที่ : 2017-05-08-09:57:53

ที่อยู่ : บ้านเลขที่ หมู่ที่ 9 ตำบลปันแต

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

             เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันทำให้แต่ละครอบครัวมีรายจ่ายที่จำเป็นในการดำรงชีวิตสูงขึ้น เนื่องจากสิ่งแวดล้อมที่ในการดำรงชีวิตที่เปลี่ยนไป เช่น ลูกทุกคนต้องได้เรียนหนังสือสูงๆ ต้องมีเครื่องอำนวยความสะดวกที่ทันสมัยใช้ในครัวเรือน หรือครอบครัวมีรายได้หลักอย่างเดียว ทำให้รายจ่ายมากกว่ารายได้ ทางชุมชนเล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจึงร่วมกันหาทางออกเพื่อให้คนในชุมชนมีความอยู่ดี กินดี มีกิน มีใช้ แบบพอเพียงและยั่งยืน ประกอบกับสภาพแวดล้อมของชุมชนมีความเหมาะสมที่จะประกอบอาชีพเลี้ยงปลาดุก โดยมีปราชญ์หรือผู้รู้ภายในชุมชนเป็นแบบอย่าง

วัตถุประสงค์ ->

- เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนมีการรวมกลุ่มประกอบสัมมาชีพเพื่อสร้างรายได้ ขยายโอกาสให้คนในชุมชนมีงานทำ มีรายได้เพิ่ม มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->


1. ลูกปลาดุก ขนาด 2 นิ้ว  70-80 ตัว
2. พืชผักที่ปลากิน เช่น ผักบุ้ง ผักตบชวา ฯลฯ
3. อาหารสำหรับเลี้ยงปลาดุก

อุปกรณ์ ->

1. ท่อปูนซีเมนต์ขนาด 100*50 เซนติเมตร
2. ท่อพีวีซี ขนาด 1 นิ้ว ยาว 20 เซนติเมตร จำนวน 1 เส้น และยาว 40 เซนติเมตร จำนวน 1 เส้น
3. ข้องอพีวีซีขนาด 1 นิ้ว จำนวน 1 อัน
4. ยางนอกรถสิบล้อจำนวน 1 เส้น
5. ยางนอกรถจักรยานยนต์จำนวน 1 เส้น
6. ตาข่าย
7. น้ำหมักสูตรเลี้ยงปลา
8. ปูน ทราย หิน

 

กระบวนการ/ขั้นตอน->

ขั้นตอนที่ 1 การเตรียมบ่อปูนซีเมนต์สำหรับเลี้ยงปลาดุก
      1. จะต้องทำการฆ่ากรดฆ่าด่างในบ่อปูน โดยให้นำหัวกล้วยหรือโคนกล้วยมาสับให้เป็นชิ้นเล็กๆ นำมูลวัวมาผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วนำใส่ไปในบ่อใส่น้ำให้เต็ม แล้วหมักไว้ 5 วัน จากนั้นให้เปิดน้ำทิ้งแล้วเอาโคนกล้วยออกทิ้งด้วย
     2. นำน้ำสะอาดใส่ไปในบ่อแล้วแช่ทิ้งไว้ 1 วัน หลังจากนั้นก็ให้เปิดน้ำทิ้ง
     3. นำผักบุ้งมาถูให้ทั่วบ่อ ทิ้งไว้ตากบ่อให้แห้ง

ขั้นตอนที่ 2 การทำน้ำหมักสูตรเลี้ยงปลา
      1. ถังพลาสติกที่มีฝาปิดจำนวน 1 ถัง
      2. น้ำตาลทรายแดง 3 กิโลกรัม
      3. ฟักทองแก่ 3 กิโลกรัม
      4. มะละกอสุก 3 กิโลกรัม
      5. กล้วยน้ำหว้าสุก 3 กิโลกรัม
วิธีทำ 
      หั่นมะละกอ, กล้วยน้ำหว้า, ฟักทองทั้งเปลือกและเมล็ดใส่ไว้ในภาชนะที่มีฝาปิด ผสมน้ำตาลทรายแดง แล้วคนให้เข้ากันและปิดฝาให้แน่นหมักทิ้งไว้ 7 วัน แล้วเติมน้ำสะอาด 9 ลิตร ปิดฝาให้แน่นแล้วหมักต่ออีก 15 วัน
ประโยชน์
     - ปลาไม่เป็นโรค
     - ปลาไม่มีกลิ่นสาบ
     - ปลาไม่มีมันในท้อง
     - ปลาจะมีเนื้อหวานรสชาติอร่อย
ขั้นตอนที่ 3 การเลี้ยง
      1. นำท่อปูนที่มีรอยคราบผักบุ้ง หรือบ่อปูนที่ไม่มีกรดไม่มีด่าง ใส่น้ำให้มีความสูง 10 เซนติเมตร (ช่วงปลาขนาดเล็ก เพิ่งนำมาปล่อย) แล้วเติมน้ำหมัก 1 ช้อนโต๊ะ
      2. นำปลาดุกมาแช่น้ำในบ่อปูนทั้งถุง แล้วค่อยๆเปิดปากถุงให้ปลาว่ายออกมาเอง
      3. วันแรกที่นำปลามาปล่อยไม่ต้องให้กินอาหาร
      4. นำพืชผักที่ปลากิน เช่นผักบุ้ง ผักตบชวาและอื่นๆมาใส่ในบ่อ
      5. การให้อาหาร ปลา 1 ตัวให้อาหาร 5 เม็ด/เมื้อ ในช่วงปลาเล็กให้อาหารวันละ 2 เมื้อ เช้า-เย็น ปลาอายุ 1 เดือนครึ่งให้อาหารปลาขนาดกลาง โดยให้อาหารวันละ 1 ครั้ง ให้ปลากินตอนเย็น
หมายเหตุ ก่อนให้อาหารต้องนำอาหารมาแช่น้ำก่อนเสมอประมาณ 10-15 นาที เหตุผลเพื่อ
      1. ปลาจะได้กินอาหารทุกตัว
      2. ปลาตัวที่แข็งแรงจะทำให้ท้องไม่อืด
      3. ปลาไม่ป่วย
      4. การเจริญเติบโตใกล้เคียงกัน
      5. อาหารไม่เหลือในบ่อและน้ำก็ไม่เสีย
      6. ถ่ายน้ำทุกๆ 7 วัน หรือ 10 วัน/ครั้ง ทุกครั้งที่ถ่ายน้ำจะต้องใส่น้ำหมัก 1 ช้อนโต๊ะเสมอ
ขั้นตอนที่ 4 การจำหน่าย
      1.ก่อนจะจำหน่าย 2 วัน ให้นำดินลูกรังสีแดงหรือซังข้าวมาแช่ไว้ในบ่อ จะทำให้ปลาดุกมีสีเหลืองสวย  ขายได้ราคาดี
      2. ปลาดุก 3 เดือนครึ่ง จำนวน 70 ตัว จะมีน้ำหนัก 14-15 กิโลกรัม หรือประมาณ 4-5 ตัว/กิโลกรัม   จำหน่ายได้กิโลกรัมละ 60-70 บาท
      3. ต้นทุนอาหารกิโลกรัมละ 19-20 บาท หมายเหตุ ต้นทุนครั้งแรก 1 ชุด 430 บาท น้ำที่ถ่ายทิ้งจากบ่อปลาสามารถนำมารดต้นไม้ พืชผักสวนครัว เป็นปุ๋ยอย่างดี

ข้อพึงระวัง ->

1. อย่าให้อาหารมากเกินไป
2. ถ่ายน้ำตามกำหนด

รูปประกอบ -> image1 image2

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดพัทลุง
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา