ความรู้สัมมาชีพชุมชน

image1

การปลูกพริกขี้หนู

โดย : นางสาวฐากรินทร์ ดำยศ วันที่ : 2017-03-24-09:53:16

ที่อยู่ : บ้านเลขที่ 6 หมู่ 4 ตำบลตำนาน

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

            แรงบันดาลใจ การปลูกพริกขี้หนู เป็นกิจกรรมที่ได้รับการเรียนรู้จากการส่งเสริมของหน่วยงานราชการ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนตามแนวหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  ให้เกิดรายได้ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ต่อยอดเป็นงานที่สร้างรายได้เพิ่มขึ้น เหตุผลที่ทำ เพื่อลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ในครัวเรือน ประกอบกับบริเวณบ้านมีพื้นที่ว่างพอที่จะปลูกพริกขี้หนูและมีเวลาว่างจากการทำอาชีพหลักมาปลูกพริกขี้หนูเป็นอาชีพรองเพื่อเสริมรายได้

วัตถุประสงค์ ->

เพื่อลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือน

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

1. ต้นกล้าพริก

2. ดินร่วน ปุ๋ยคอก แกลบ ขี้เลื่อย ขุยมะพร้าว

3. น้ำใช้รดต้นไม้

อุปกรณ์ ->

1. จอบ คราด

2. ถุงมือที่ใช้ในการเกษตร

3. หน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่นละออง

กระบวนการ/ขั้นตอน->

การเตรียมดินเพาะกล้า 
          1. ใช้จอบขุดหน้าดินลึก 15 - 20 ซม. (1 หน้าจอบ) เตรียมทำเป็นแปลงกว้าง 1 เมตร 
          2. ผสมปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้ว คลุกเคล้าดินกับปุ๋ย ให้เข้ากัน ปรับหน้าดินให้ละเอียดและเรียบ หว่านเมล็ดให้ทั่วแปลง 
          4. ใช้แกลบหรือฟางข้าวบางๆกลบหน้าดิน รดน้ำให้ชุ่ม 
          5. อายุของต้นกล้าที่ควรย้ายปลูก ประมาณ 25 - 30 วัน

การเตรียมแปลงปลูกและย้ายกล้า 
          1. ใช้จอบขุดหน้าดินลึก 15 - 20 ซม. ทำแปลงขนาดกว้าง 1 เมตร ความยาวตามความเหมาะสมของพื้นที่ 
          2. ผสมปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก คลุกเคล้ากับดิน 
          3. ขุดหลุมปลูกโดยใช้ระยะห่างระหว่างต้น 30 ซม. ระหว่างแถว 70 - 80 ซม. 
          4. รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก หลุมละ 1 กะลามะพร้าว 
          5. ถอน แยกต้นกล้าลงปลูก หลุมละ 1 ต้น 
          6. รดน้ำตามให้ชุ่ม 

ข้อพึงระวัง ->

การปฏิบัติและการดูแลรักษา
          หลังจากปลูกพริกลงแปลงแล้วเกษตรกรผู้ปลูกจะให้ความสำคัญในเรื่องการให้น้ำพริกเนื่องจากเป็นพืชที่ต้องการน้ำอย่างเพียงพอ และสม่ำเสมอในช่วงแรกของการเจริญเติบโต ดังนั้นดินควรมีความชุ่มชื้นพอดีอย่าให้เปียกแฉะเกินไปจะทำให้ต้นพริกเหี่ยวตายได้ ในช่วงเก็บผลผลิตควรลดการให้น้ำเพื่อจะทำให้คุณภาพผลผลิตดี สีของเม็ดสวย นอกจากนี้ภายในแปลงต้องกำจัดวัชพืชและพรวนดิน ซึ่งในระยะที่ต้นพริกยังเล็กควรมีการกำจัดวัชพืชให้บ่อยครั้ง หากวัชพืชคลุมต้นพริก ช่วงระยะการเจริญเติบโต จะทำให้แคระแกร็นคุณภาพผลผลิตไม่ดี

          ส่วนการใส่ปุ๋ย พริกเป็นพืชที่มีอายุการเก็บผลค่อนข้างยาวนาน ปุ๋ยที่ใช้ควรเป็นปุ๋ยที่มีธาตุอาหารครบ เช่น ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 13-13-21 ในอัตราส่วน 25-50 กิโลกรัม/ไร่ ขึ้นกับความอุดมสมบูรณ์ของดินเพื่อเป็นการช่วยเสริมการเจริญเติบโต นอกจากนี้ควรใส่ปุ๋ยน้ำทางใบบ้างโดยทำการฉีดพ่นทุกครั้งหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งการใช้ปุ๋ยเคมีจะได้ผลต่อพืชสูงสุดขึ้นอยู่กับสภาพและคุณสมบัติของดินโดยเฉพาะ pH ความชื้นและระยะการเจริญเติบโตของพืชอีกทั้งปริมาณอินทรียวัตถุที่อยู่ในดินซึ่งจะต้องมีอย่างเหมาะสม การใส่ปุ๋ยมีลงในดินจำเป็นต้องมีความชื้นอย่างเพียงพอถ้าไม่เช่นนั้นปุ๋ยเคมีจะไม่ละลายและไม่เป็นประโยชน์ต่อพืชดังนั้นบางครั้งอาจใช้วิธีละลายปุ๋ยเคมีด้วยน้ำให้มีความเข้มข้นพอดี สำหรับการใส่ปุ๋ยควรแบ่งใส่2  ครั้ง ครั้งแรกใส่ก่อนปลูกเป็นปุ๋ยรองพื้น พรวนกลบลงในดินและโรยปุ๋ยไนโตรเจนใส่ข้างห่างจากโคนต้นประมาณ 2 นิ้ว และเมื่ออายุประมาณ 10 -14 วัน หลังจากย้ายกล้า ให้ใส่ครั้งที่สองโดยโรยข้างแล้วแต่งหน้าด้วยปุ๋ยไนโตรเจนและพรวนกลบลงในดิน
การป้องกันกำจัดศัตรูพริก นอกจากการให้น้ำ การใส่ปุ๋ย หรือการกำจัดวัชพืชแล้ว ยังมีศัตรูพริกต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อผลผลิตการปลูกพริกเป็นอย่างมาก ซึ่งศัตรูพริกที่สำคัญที่พบได้โดยทั่วไปมี ดังนี้
          1. เพลี้ยไฟ ซึ่งเป็นแมลงที่มีรูปร่างลักษณะและชีวประวัติ  คือ เป็นแมลงขนาดเล็ก ลำตัวแคบยาว มีความยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร  ตัวเต็มวัยมีสีน้ำตาลปนเหลือง ขอบปีกมีขนเป็นแผง มักพบอยู่บนใบและยอดอ่อนอีกทั้งพบบริเวณฐานดอก และขั้วผลอ่อน ขณะที่หากินไม่ชอบเคลื่อนย้ายตัว และเมื่อมีการกระทบกระเทือนเคลื่อนไหวรวดเร็ว มีการขยายพันธุ์ทั้งแบบผสมพันธุ์และไม่ต้องผสมพันธุ์ ตัวเมียมีอายุประมาณ 15 วัน และเมื่อได้รับการผสม จะออกไข่ได้ประมาณ 40 ฟอง ตัวเมียที่ไม่ผสมพันธุ์ออกไข่ได้ประมาณ 30 ฟอง วงจรชีวิตจากไข่ถึงตัวเต็มวัยประมาณ 15 วันระยะไข่ 4 -7 วัน ตัวอ่อนวัยที่1-2 วัน วัยที่ 2-4 วัน วัยที่ 3 ฟักตัว 3 วัน จึงเป็นตัวเต็มวัยสมบูรณ์
          การเข้าทำลาย เพลี้ยไฟจะระบาดมากในฤดูแล้ง หรือเมื่อมีฝนทิ้งช่วงเป็นระยะเวลานาน โดยจะทำลาย ใบอ่อนและตาดอก ซึ่งลักษณะการทำลายใบจะห่อปิดขอบใบม้วนขึ้นข้างบน ทำให้ลำต้นแคระแกร็น ไม่เจริญเติบโต และจะทำลายผลพริกให้หงิกงอไม่ได้คุณภาพ
          สำหรับการป้องกันกำจัด เพลี้ยไฟชอบหลบอยู่ตามใต้ใบ ตามซอกยอดอ่อนในดอก เวลาพ่นควรใช้เครื่องมือที่สามารถพ่นได้อย่างทั่วถึงการเลือกยาที่เหมาะสมควรทำดังนี้ คือ ถ้าปลูกพริกในแหล่งที่มีการระบาดมานาน ควรเลือกใช้ยาที่ทำลายได้เฉพาะ เช่น อิมิดาคลอพิดแลนเนท เป็นต้น หรือใช้ ระบบให้ น้ำแบบสปริงเกอร์
          2. แมลงวันพริก เป็นแมลงศัตรูพริกที่มีความสำคัญมากถ้ามีการระบาดสามารถ ทำลายผลผลิตให้เกิดความเสียหายได้มากถึง 60 – 100 เปอร์เซ็นต์ เพศเมียวางไข่ที่ผลพริกเมื่อไข่ฟักออกมาจะทำให้ผลพริกเน่าเสียและร่วงหล่น การป้องกันกำจัด เก็บผลพริกที่ร่วงหล่นทำลายโดยการแช่น้ำไว้ 1-2 คืนแล้วนำไปทำ ปุ๋ยหมัก ใช้เชื้อรา เมทาไรเซียม พ่นเป็นประจำ แต่ถ้าจำเป็นจริงจึงควรใช้สารเคมี เช่น อิมิดาโคพิด ผสมน้ำพ่นในแปลงพริกช่วง พริกติดผล
          3. เพลี้ยอ่อนพริก เป็นแมลงปากดูดชนิดหนึ่งที่ขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว ป้องกันกำจัดโดยพ่นด้วยปิโตรเลียมออย หรือสารสกัดจากเมล็ดน้อยหน่าที่ทุบแตกแล้ว 40 กรัม/น้ำ 1 ลิตร
          4.แมลงหวี่ขาวพริก เป็นแมลงปากแทงดูดเป็นพาหะนำโรคไวรัสมาสู่ต้นพืชควรรีบป้องกันกำจัดเช่นเดียวกับเพลี้ยอ่อน คือ พ่นด้วยปิโตรเลียมออย หรือสารสกัดจากต้นยาสูบ หางไหล
          5 .ไรขาว จะพบว่ามีการระบาดในช่วงฤดูที่มีการปลูกพริกกันมาก โดยไรขาวจะเข้าทำลายที่ยอดก่อน เมื่อเป็นหลายๆ ยอดจะดูเป็นพุ่มใบพริกจะหงิกงอ ใบอ่อนหยาบย่นหรือเป็นคลื่นขอบใบม้วนลง ทางด้านล่าง ใบจะค่อยๆ ร่วง และยอดจะตายไปในที่สุด
การป้องกันกำจัด หมั่นตรวจดูแปลงพริกเสมอๆ เมื่อพบไรขาวในปริมาณมากให้รีบกำจัดด้วยสารเคมี เคลเทนหรือไดโฟคอล และเลบโตฟอส หรือฟอสเวล เป็นต้น แต่ถ้าตรวจพบว่ามีการระบาดของ เพลี้ยไฟ และไรขาวพร้อมกัน ควรใช้สารเคมีกำจัดของทั้งสองชนิดฉีดพ่นพร้อมกันเลย จะได้ผลสมบูรณ์ขึ้น หรือใช้กำมะถันที่อยู่ในรูปผงผสมน้ำพ่น 2-3 ครั้ง ห่างกัน 7 วัน ถ้ายอดอ่อนปกติหยุดพ่น
          นอกจากศัตรูพริกที่กล่าวมาแล้ว พริกยังมีโรคระบาดซึ่งเกิดจากเชื้อรา มีผลเสียหายต่อการปลูกพริก ซึ่งที่พบเห็นในขณะนี้ ได้แก่
          1.โรคกุ้งแห้ง มีสาเหตุมาจากเชื้อรา พบระบาดมากในระยะที่ผลผลิตพริกกำลังเจริญเติบโต ซึ่งการเข้าทำลายจะเห็นได้ชัดเจนบนผลพริกที่แก่จัดหรือสุก อาการเริ่มแรกจะเห็นเป็นจุดสีน้ำตาลช้ำ เนื้อเยื่อบุ๋มไปจากเดิมเล็กน้อยและจุดสีน้ำตาลจะค่อยๆ ขยายวงกว้างออกเป็นแผลวงกลมหรือวงรี โดยมีขนาดแผลไม่จำกัด จะทำให้ผลพริกเน่า และจะระบาดติดต่อกันอย่างรวดเร็ว ซึ่งการป้องกันกำจัด ทำได้ดังนี้
          1.1 ก่อนปลูกนำเมล็ดพันธุ์มาล้างน้ำให้สะอาด แล้วแช่ในน้ำอุ่นประมาณ 30 นาที
          1.2 ใช้สารเคมีคลุกเมล็ดพันธุ์เพื่อทำลายโรคที่ติดมากับเมล็ด
          1.3 ฉีดพ่นสารเคมี เช่น ไซเนบ มาเนบ หรือเบนโนมิล แมนโคเซบ เพื่อป้องกันกำจัดเชื้อราทุกๆ7 –15 วัน/ครั้ง
          2. โรคเหี่ยวของพริกจากเชื้อราหรือโรคหัวโกร๋น ซึ่งการเข้าทำลายจะแตกต่างจากอาการเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย โดยอาการเหี่ยวจากเชื้อราจะเริ่มจากใบล่างก่อน แล้วจึงค่อยแสดงอาการที่ใบบน ต่อมาใบที่เหลืองจะเหี่ยวลู่ลงดินและร่วง ต้นพริกจะแสดงอาการในระยะผลิดอกออกผล ฉะนั้น อาจทำความเสียหายต่อดอกและลูกอ่อนด้วย ซึ่งเมื่อตัดดูลำต้นจะพบว่าเนื้อเยื่อท่อลำเลียงอาหารเป็นสีน้ำตาล หรือน้ำตาลไหม้ แสดงว่าต้นจะเหี่ยวตายในที่สุด
          การป้องกันกำจัด
          2.1 . เมื่อปรับดินปลูกแล้วควรโรยด้วยปูนขาว จะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดเชื้อรา
          2.2 . ถอนหรือขุดต้นที่เป็นโรคเผาทิ้ง แล้วใช้สารเคมีเทอราคลอ ผสมน้ำตาบอัตราส่วนคำแนะนำในฉลากเทราดลงในหลุมที่เป็นโรค
          2.3 . ควรปลูกพืชหมุนเวียนสลับกับพริก ไม่ควรปลูกพริกซ้ำที่บ่อยๆ
          2.4 . ควรใช้ปุ๋ยอินทรีย์ให้มากกว่าปุ๋ยวิทยาศาสตร์ เพื่อป้องกันดินเป็นกรด และเป็นการปรับปรุงบำรุงดิน
          2.5 . ปรับปรุงดินให้ร่วนซุย มีการระบายน้ำดี

          3. โรคโคนเน่าหรือต้นเน่า โดยการทำลาย จะแสดงออกทางใบจะเหลืองและร่วง โคนต้นและรากจะเน่าเปื่อยเป็นสีน้ำตาล ต้นพริกจะเหี่ยวตาย แต่จะระบาดมากในระหว่างที่มีการผลิดอกออกผล อาการของโรคเน่าหรือต้นเน่านี้จะแตกต่างกับโรคพริกหัวโกร๋น คือ ยอดจะไม่หลุดร่วงไป
          การป้องกันกำจัด
          3.1. หมั่นตรวจต้นพริกดูว่าเป็นโรคหรือไม่
          3.2. ขุดหรือถอนต้นพริกที่เป็นโรคเผาทิ้ง แล้วใช้สารเคมีเทอราคลอผสมน้ำตามอัตราส่วนคำแนะนำในฉลากเทราดลงในหลุมที่เป็นโรค หรือใช้ฟอร์มาลินผสมน้ำในอัตราส่วน 1 : 50 ราดลงบริเวณโคนต้นที่เป็นโรคและระวังอย่าให้ไหลไปสู้ต้นอื่นเพราะจะเป็นการแพร่เชื้อโรค
          3.3. ในการเตรียมดินปลูกควรเพิ่มปูนขาวเพื่อให้ดินเป็นด่าง เพราะถ้าดินเป็นกรดจะเกิดโรคนี้ได้ง่าย
          3.4. ควรปลูกพืชหมุนเวียนสลับกับการปลูกพริก
          3.5.ใช้เชื้อจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์รวม

          4. โรคเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งต้นพริกที่เป็นโรคนี้จะแสดงอาการเหี่ยวทั่วต้นในวันที่มีอากาศร้อนจัด และอาจจะฟื้นคืนดีใหม่ในเวลากลางคืน ต้นพริกจะมีอาการเช่นนี้ 2-3 วัน ก็จะเหี่ยวตายโดยไม่ฟื้นอีก ซึ่งการเหี่ยวของต้นพริก ที่เป็นโรคนี้จะแสดงอาการใบเหลืองของใบที่อยู่ตอนล่างๆ ก่อน เมื่อถอนต้นมาดูจะเห็นว่ารากเน่า และเมื่อเฉือนผิวของลำต้นตรงใกล้ระดับคอดินจะพบว่าเนื้อเยื่อที่เป็นท่อลำเลียงอาหารช้ำ และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน ซึ่งแตกต่างจากสีของเนื้อเยื่อที่ดีของพริก
          สำหรับการป้องกันกำจัด เมื่อพบต้นพริกที่แสดงอาการเหี่ยวให้ถอนหรือขุดแล้วนำไปเผา และถ้าหากพบควรฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดหนอนเจาะรากและโคนต้น และควรปลูกพืชหมุนเวียนสลับกับการปลูกพริก เช่น ปลูกข้าวโพด แตงกวา ถั่วต่าง

รูปประกอบ -> image1 image2 image3

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดพัทลุง
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา