ความรู้สัมมาชีพชุมชน

image1

การปลูกพลู

โดย : นางสมคิด สุพรรณชนะบุรี วันที่ : 2017-03-23-13:03:25

ที่อยู่ : บ้านเลขที่ 13/1 หมู่ 1 ตำบลตำนาน

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

            พลู จัดเป็นพืชไม้เลื้อยที่นิยมนำมารับประทานร่วมกับหมาก โดยเฉพาะในคนรุ่นก่อนๆ นอกจากนี้ก็ยังใช้ในพิธีมงคล เป็นเครื่องเซ่นไหว้ หรือการทำเครื่องบายศรีสู่ขวัญ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องราวที่ผูกพันกับคนไทยมาช้านาน ทำให้ความต้องการของตลาดยังคงมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆและ เป็นกิจกรรมที่ได้รับการเรียนรู้จากการส่งเสริมของหน่วยงานราชการ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนตามแนวหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  ให้เกิดรายได้ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ต่อยอดเป็นงานที่สร้างรายได้เพิ่มขึ้น เหตุผลที่ทำเพื่อลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ในครัวเรือน ประกอบกับบริเวณบ้านมีพื้นที่ว่างพอที่จะปลูกพลูและมีเวลาว่างจากการทำอาชีพหลักมาปลูกพลูเป็นอาชีพรองเพื่อเสริมรายได้

วัตถุประสงค์ ->

เพื่อลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือน

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

1. ต้นพันธุ์พลู

2. ปุ๋ยคอก

อุปกรณ์ ->

1. เสาปูนขนาด 3 เมตร หรือเสาไม้

2. เชือก

3. จอบ/เสียม

4. มีดหรือคัตเตอร์

กระบวนการ/ขั้นตอน->

             การปลูกพลูกินหมาก สามารถปลูกให้เกาะกับต้นไม้หรือใช้ไม้ทำค้างก็ได้ ต้นไม้ที่เหมาะเป็นค้างของพลูใช้ได้เกือบทุกชนิด ยกเว้นไม้ผิวมัน เช่น นุ่น ไม้ที่มีเปลือกร่อน เช่น ยูคาลิปตัส เพราะเมื่อเปลือกร่อนออกมาพลูก็จะหงายออกมา ไม่สามารถเกาะยึดลำต้นได้ พลูจะอาศัยเกาะลำต้นเท่านั้น แต่ไม่ได้ดูดน้ำเลี้ยงของต้นไม้ แต่ก็อาจสร้างผลกระทบบ้าง คือ อาจทำให้ต้นไม้โตช้ากว่าปกติ การขยายลำต้นไม่เต็มที่ ต้นไม้ที่นิยมเป็นค้างคือ ต้นทองหลาง

          การปลูกพลูไม่จำเป็นต้องขุดหลุมใหญ่นัก เอาแค่ใหญ่กว่าถุงปลูกนิดหน่อย รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกอย่างขี้ควาย ขี้วัว ที่ตากแห้งอย่างดีแล้ว ใช้เศษใบไม้ใบหญ้าคลุมดินไว้ด้วย เมื่อพลูเลื้อยเกาะแตกยอดแล้ว ควรใช้เชือกช่วยผูกพยุงให้พลูเกาะติดค้าง เมื่อพลูเลื้อยสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เมื่อได้ระยะที่ต้องการให้ตัดยอดออก แล้วผูกเชือกล็อคไว้ พลูก็จะหยุดเลื้อยเพียงเท่านั้น

การรดน้ำถ้าใช้ระบบสปริงเกิ้ลได้ก็ดี พลูเป็นไม่ชอบน้ำขังแฉะ คนสมัยก่อนใช้น้ำคาวปลารด บางที่ผสมกับอุจจาระคน ทำให้พลูงามมาก

          การใส่ปุ๋ย ควรใช้ปุ๋ยคอกที่แห้งสนิทแล้ว ปุ๋ยหมัก ให้เดือนละครั้งก็ได้ ใต้โคนก็คลุมด้วยเศษใบไม้ใบหญ้า

          เมื่อพลูเกาะกับค้างแล้ว ควรตัดแต่งใบที่เสียและใบที่เล็กออก เพื่อให้น้ำเลี้ยงส่งไปที่ยอดได้มากๆ พลูจะโตเร็วขึ้น รอประมาณ 2-3 เดือนก็เก็บเกี่ยวได้ หลังจากเก็บเกี่ยวไป 28 วัน ก็สามารถเก็บผลผลิตครั้งต่อไปได้ โดยในแต่ละมือพลู เมื่อมีใบออกมา 3 ใบ ให้เก็บ 2 ใบล่างและเหลือใบยอดไว้เพื่อสำหรับไว้เลี้ยงมือนั้นต่อไป ถ้าเก็บหมดทั้ง 3 ใบ พลูจะเฉา แตกใบใหม่ช้า

          เมื่อเก็บผลผลิตไปแล้ว ควรตัดแต่งกิ่งที่ยาวและมีใบเล็ก สาเหตุมาจากน้ำเลี้ยงส่งไม่ดี ให้หักไว้เหลือ 1 ข้อ ข้อจะแตกเป็นมือใหม่ การตัดแต่งพลูไม่ควรตีแต่งทีเดียวทั้งหมด เพราะจะทำให้พลูแตกใบใหม่ไม่ทัน น้ำหนักพลูที่เก็บได้จะลดลง จึงควรตัดบ้าง เก็บไว้บ้าง สิ่งที่ควรตัดทิ้งคือไหล มักเกิดเมื่อพลูมีอายุ 2 ปีขึ้นไป ลักษณะก้านจะมีสีแดง มีมือเกาะน้อยและทิ้งช่วงยาว ไม่สามารถแตกใบให้ผลผลิตได้ และยังกินน้ำเลี้ยงอีกด้วย มักเกิดอยู่ด้านล่างต้นพลู

ข้อพึงระวัง ->

            โรคของพลู ได้แก่ เถาดำ เกิดจากระบบรากเสีย อาหารลำเลียงไม่พอ มักเกิดก่อนช่วงมีฝน เมื่อพบให้ตัดทิ้ง เพื่อป้องกันการลุกลาม ใบไหม้ มีลักษณะหางใบเป็นสีแดง เกิดจากเชื้อราในดิน มักเป็นช่วงหน้าฝน ช่วงฝนตกหนักต้องระวัง วิธีป้องกันให้ยกร่องให้สูง หรือทำเป็นโคกตรงโคนต้น โดยเอาดินมาพูนตรงโคนต้น พลูชอบชื้นแต่ไม่ชอบแฉะ แสงแดดถ้าแรงเกินไปใบจะเหลือง ใบเน่า เกิดจากเชื้อราใต้ดิน เวลาฝนตก พื้นเป็นปุ๋ยคอกจะมีทั้งราดี ราไม่ดี ราขึ้นที่ใบจะเป็นเฉพาะช่วงล่าง ถ้าเป็นมาก จะเป็นทั้งสวนและลามขึ้นยอด เมื่อพบให้เด็ดทิ้ง ใบยับ เกิดจากลมพัดแรง ทำให้ใบเสียหาย วิธีป้องกันคือ ปลูกไม้กันลม เช่น ไผ่ หมาก มะพร้าว รอบแปลง

รูปประกอบ -> image1 image2

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดพัทลุง
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา