ความรู้สัมมาชีพชุมชน

image1

การปลูกพริกไทย

โดย : นายสมนึก ทองใส วันที่ : 2017-03-23-12:43:12

ที่อยู่ : บ้านเลขที่ 142 หมู่ 15 ตำบลควนมะพร้าว

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

            แรงบันดาลใจการปลูกพริกไทยเป็นพืชที่มีราคาสูงก็เนื่องมาจากมันเป็นอาหารที่มีความต้องการในการบริโภคสูงมาก นั่นจึงเป็นสาเหตุให้มันน่าที่จะเป็นพืชเศรษฐกิจที่น่านำไปเพาะปลูกและเป็นกิจกรรมที่ได้รับการเรียนรู้จากการส่งเสริมของหน่วยงานราชการ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนตามแนวหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  ให้เกิดรายได้ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ต่อยอดเป็นงานที่สร้างรายได้เพิ่มขึ้น เหตุผลที่ทำเพื่อลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ในครัวเรือน ประกอบกับบริเวณบ้านมีพื้นที่ว่างพอที่จะปลูกพริกไทยและมีเวลาว่างจากการทำอาชีพหลักมาปลูกพริกไทยเป็นอาชีพรองเพื่อเสริมรายได้

วัตถุประสงค์ ->

เพื่อลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือน

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

1. ต้นพันธุ์พริกไทย

2. ปุ๋ยคอก

อุปกรณ์ ->

1. เสาปูนขนาด 3 เมตร หรือเสาไม้

2. จอบ

3. เชือก

4. มีดหรือคัตเตอร์

กระบวนการ/ขั้นตอน->

วิธีการปลูก การเตรียมกิ่งพันธุ์ พริกไทย ทำได้ 2 วิธี คือ

          1. ตัดจากค้างที่สมบูรณ์ เหนือพื้นดินประมาณ 50 เซนติเมตร ตัดเป็นท่อนยาว 5-6 ข้อ ตัดกิ่งแขนงข้อที่ 1-3 ดอก แล้วนำไปปลูกลงหลุม หลุมละ 20 กิ่ง

          2. นำกิ่งพันธุ์ที่ตัดเป็นท่อนแล้ว ปักชำในถุงพลาสติก ขนาด 9×14 นิ้ว ประมาณ 2-3 เดือน พริกไทยจะงอกรากและแตกยอด จึงค่อยย้ายมาปลูกลงในแปลง

          ระยะปลูก

          – พันธุ์ซาราวัค (มาเลเซีย) ใช้ระยะ 2×2 เมตร

          – พันธุ์ซีลอน ใช้ระยะปลูก 2.25 x 2.25 หรือ 2.25 x 2.5 เมตร

          การปักค้าง

          ใช้ค้างไม้แก่นหรือค้างปูนซีเมนต์ ขนาดยาว 4 เมตร ฝังลึก 50-60 ซม. กลบดินให้แน่น หลังจากนั้นขุดหลุมขนาด 40×50 ซม. ลึก 40 ซม. ค้างละ 1 หลุม ห่างจากโคนค้าง 15 เซนติเมตร ผสมดินกับปุ๋ยอินทรีย์แท้ อัตราส่วนดิน 3 ส่วน ต่อ ปุ๋ย 1 ส่วน แล้วใส่ในหลุมประมาณครึ่งหลุม นำยอดพันธุ์ที่เตรียมไว้ปลุกหลุมละ 2 กิ่ง ให้ปลายยอดเอนเข้าหาค้าง กลบดินให้แน่นรดน้ำให้ชุ่ม ใช้สแลนพรางแสงไว้ ประมาณ 3-4 เดือน หรือจนกว่าพริกไทยจะตั้งตัวได้

การดูแลรักษา การตัดแต่ง

          – ปีที่ 1 เหลือยอดที่สมบูรณ์ไว้ ค้างละ 4-6 ยอด ใช้เถาวัลย์หรือเชือกฟางผูกยอด ให้แนบติดกับค้างโดยผูกขอเว้นข้อ จนกระทั่งพริกไทยอายุ 1 ปี ตัดเถาให้เหลือ 50 เซนติเมตร จากระดับผิวดิน

          – ปีที่ 2 ตัดแต่งเช่นเดียวกับปีแรก จนกว่าพริกไทยจะสูงเลยค้างไปประมาณ 30 เซนติเมตร ให้ผูกไว้บนยอดค้าง และใช้เชือกไนล่อนผูกทับเถาวัลย์เดิมเป็นเปลาะ ๆ ห่างกัน 40-50 เซนติเมตร

          – ปีที่ 3 ตัดไหลและปรางบริเวณโคนต้น ปลิดใบที่ลำต้นออก เพื่อให้โคนโปร่ง ถ้าพริกไทยยังไม่ถึงยอดค้าง เด็ดช่อดอกออกให้หมด เพราะจะทำให้พริกไทยเจริญเติบโตช้า

          การใส่ปุ๋ย

          ช่วงแรกใส่ ปุ๋ยอินทรีย์แท้ ปีละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 400-500 กรัม/ค้าง แบ่งใส่เดือนละ 1กำมือต่อต้น ในกรณีที่ดินมีสภาพเป็นกรด ให้ผสมสารปรับสภาพดิน ไดนาไมท์ ชนิดน้ำ สามารถปล่อยไปกับการให้น้ำ อัตราส่วน 500 cc ต่อ 2 ไร่ ทุกๆ 2-3 เดือน

          การให้ปุ๋ยอาจให้ปุ๋ยตามเกณฑ์ดังนี้

          – ปีที่ 1 สูตร 15-15-15 อัตรา 400-500 กรัม (3-5 กำมือ)/ค้าง หรือ สูตร 15-15-15 อัตรา 100 กรัม (1 กำมือ) + ปุ๋ยอินทรีย์แท้ อัตราส่วน 400 กรัม (2-3 กำมือ)

          – ปีที่ 2 สูตร 15-15-15 อัตรา 800-1,000 กรัม (4-5 กำมือ)/ค้าง แบ่งใส่ 3-4 ครั้ง หรือ สูตร 15-15-15 ด้วยอัตราส่วน 200 กรัม (1 กำมือ) + ปุ๋ยอินทรีย์แท้ อัตราส่วน 800 กรัม (4-5 กำมือ)

          – ปีที่ 3 และปีต่อๆ ไป ให้ทำตามนี้

          ครั้งที่ 1 ใช้ปุ๋ยอินทรีย์แท้ อัตราส่วน 800 กรัม/ค้าง ใส่หลังเก็บเกี่ยว

          ครั้งที่ 2 ใช้ปุ๋ยอินทรีย์แท้ อัตราส่วน 500 กรัม (3 กำมือ)/ค้าง ประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน

          ครั้งที่ 3 สูตร 15-15-15 อัตรา 100-200 กรัม/ค้าง + ปุ๋ยอินทรีย์แท้ อัตราส่วน 400 กรัม (2-3 กำมือ) ประมาณเดือนกันยายน-ตุลาคม

          การฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ

          ใช้ ไบโอเฟอร์ทิล สูตรบำรุงต้น ไล่แมลง (ฝาแดง) อัตราส่วน 20-30 cc + อาหารรองและอาหารเสริม อัตราส่วน 5 กรัม ผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นยาทุกๆ 15 วัน จะทำให้พริกไทยมีผลผลิตเพิ่มขึ้นมากกว่า 200% และช่วยป้องกันการเข้าทำลายของแมลงศัตรูพืชได้ดี ช่วยลดต้นทุนสารเคมีได้กว่า 50% ช่วงฤดูฝนแนะนำให้ผสม สารจับใบสูตรเข้มข้น ที่อัตราส่วน 5 cc ต่อน้ำ 20 ลิตร เพื่อป้องกันการชะล้างจากน้ำฝน ทำให้ใบพืชดูดซึมได้รวดเร็ว มากกว่าและนานกว่า

          หมายเหตุ การใส่ปุ๋ยเคมีเป็นประจำบ่อยๆ จะทำให้ดินเสื่อมสภาพเร็ว และอายุการให้ผลผลิตของต้นพริกไทยสั้นลง ดังนั้น แนะนำให้ลดการใช้ปุ๋ยเคมีลง โดยผสมปุ๋ยอินทรีย์กับปุ๋ยเคมี ในอัตราส่วน 4:1 ในทุกครั้งของการใส่ที่แนะนำข้างต้น เพื่อลดต้นทุน โดยที่ผลผลิตได้มากกว่า เนื่องจากปุ๋ยอินทรีย์ จะปลดปล่อยปุ๋ยให้รากพืชได้อย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า ช่วยในการปรับสภาพดิน และ และยังช่วยดูดซับลดการสูญเสียของปุ๋ยเคมีในแต่ละรอบของการใส่ ลดต้นทุนได้ประมาณ 20-50% ต่อรอบการผลิต        

          การให้น้ำ

ควรให้แบบมินิสปริงเกอร์ mini sprinkler ระยะเวลาการให้น้ำ หลังปลูกควรรดน้ำทุกวันหรือวันเว้นวัน เมื่อพริกไทยตั้งตัวได้ ลดเหลือ 2-3 วัน/ครั้ง พริกไทยที่ให้ผลผลิตแล้วควรให้ 3-4 วัน/ครั้ง ตามสภาพดินฟ้าอากาศ

ข้อพึงระวัง ->

แมลงศัตรูพืชที่พึงระวัง

          “มวนแก้ว” วางไข่เป็นกลุ่ม ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดน้ำเลี้ยงจากช่อดอก ทำให้ช่อดอกแห้งเป็นสีน้ำตาล ไม่ติดเมล็ด ผลผลิตลดลง ป้องกันโดยการเก็บตัวอ่อนเผาทำลาย และใช้ไบโอเฟอร์ทิล (สูตรบำรุงต้น ไล่แมลง) ตามคำแนะนำเป็นประจำ ถ้าระบาดรุนแรงฉีดพ่นด้วย ชีวภัณฑ์กำจัดแมลงศัตรูพืช เมทาแม็ก อัตราตามฉลากระบุ

          “ด้วงงวงเจาะเถาพริกไทย” ตัวอ่อนเจาะทำลายเถาพริกไทย ทำให้เถาแห้งตาย ส่วนตัวเต็มวัยจะกันกินใบและผลพริกไทย ป้องกันโดยเผาทำลาย เถาพริกไทยที่พบรอยเจาะของหนอนด้วงงวง ป้องกันโดยการใช้ไบโอเฟอร์ทิล (สูตรบำรุงต้น ไล่แมลง) ตามคำแนะนำเป็นประจำ ถ้าเริ่มพบการระบาด ฉีดพ่นด้วย ชีวภัณฑ์กำจัดแมลงศัตรูพืช เมทาแม็ก อัตราตามฉลากระบุ

          “เพลี้ยอ่อน” ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณยอดอ่อน ใบอ่อน ช่อดอก และผลอ่อน ทำให้ใบและยอดแคระแกรน บิดงอ ไม่ติดเมล็ด ป้องกันโดยเก็บทำลาย หรือฉีดพ่นด้วย ชีวภัณฑ์กำจัดแมลงศัตรูพืช เมทาแม็ก อัตราตามฉลากระบุ

          “เพลี้ยแป้ง” ตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากช่อดอก ใบ และเถาพริกไทย เพลี้ยแป้งจะขับถ่ายมูลเป็นน้ำหวาน จึงพบว่ามดเป็นตัวพาเพลี้ยแป้งไปปล่อยยังส่วนต่าง ๆ ของต้นพืช ป้องกันโดยฉีดพ่นด้วย ชีวภัณฑ์กำจัดแมลงศัตรูพืช เมทาแม็ก ร่วมกับ สารจับใบเข้มข้น จีแอล และป้องกันมดซึ่งเป็นพาหะด้วยการใช้ไบโอเฟอร์ทิล (สูตรบำรุงต้น ไล่แมลง) ตามคำแนะนำเป็นประจำ

โรคที่สำคัญ

          “โรครากเน่า” เกิดจากเชื้อรา อาการระยะแรกเถาจะเหี่ยวในเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและร่วง ต่อมาปราง (กิ่งแขนง) เริ่มหลุดเป็นข้อ ๆ ตั้งแต่โคนต้นถึงยอดขั้วกิ่งเป็นสีเหลืองและดำ ส่วนรากเน่าดำและมีกลิ่นเหม็น ป้องกันโดยอย่าให้น้ำขังในฤดูฝน เผาทำลายต้นที่เป็นโรค และใช้ ชีวภัณฑ์กำจัดเชื้อรา ในอัตราส่วน 50-100 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ราดหรือฉีดพ่นที่ผิวดินเป็นประจำ โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝน

          “โรครากขาว” เกิดจากเชื้อรา ใบเหลืองและร่วง พบเส้นใยสีขาวปกคลุมที่รากบางส่วน ป้องกันโดยเผาทำลายส่วนที่เป็นโรคเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด โดยใช้ ชีวภัณฑ์กำจัดเชื้อรา “ไตรโคแม็ก” อัตรา 50-100 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ราดหรือฉีดพ่นที่ผิวดินเป็นประจำถ้าระบาดรุนแรงใช้ ควินโตซีน ผสมน้ำราดหรือฉีดพ่น

          “โรครากปม” เกิดจากไส้เดือนฝอยรากปม เข้าทำลายที่รากฝอย เกิดเป็นปมเห็นได้ชัดเจน นอกจากนี้ทำให้ผนังเซลล์เป็นแผล เป็นสาเหตุให้โรคอื่น ๆ เข้าร่วมทำลายได้ง่าย ป้องกันโดยคลุมดินก้นหลุมก่อนปลูกด้วย ชีวภัณฑ์กำจัดไส้เดือนฝอย ”พีแม็ก” อัตรา 50 กรัมต่อหลุม และใช้อัตรา 50 กรัมผสมน้ำ 20 ลิตร ราดรอบทรงพุ่มในช่วงต้นและปลายฤดูฝนปีละ 1-2 ครั้ง

          “โรคแอนแทรกโนส” เกิดจากเชื้อรา ทำลายส่วนใบของพริกไทย เกิดเป็ดจุดวงกลมสีน้ำตาลดำหรือสีดำ ผิวเป็นเงามัน รอบจุดเป็นสีเหลือง ตรงกลางแผลมีลักษณะเป็นวงสีน้ำตาลดำเรียงซ้อนกันเหมือนวงปีของเนื้อไม้ ถ้าเป็นรุนแรงอาจทำให้ตายได้ ป้องกันโดยตัดแต่งกิ่งและเก็บไปเผาทำลาย และใช้ชีวภัณฑ์กำจัดเชื้อรา “ไตรโคแม็ก” ฉีดพ่นเป็นประจำในช่วงฤดูฝนหรือช่วงที่น้ำค้างแรง หรืออาจพ่นด้วยเบนโนมิล หรือแมนโคเซบ หรือคาร์เบนดาซิม อัตราตามฉลาก

          “โรคราเห็ดพริกไทย” เกิดจากเชื้อราเป็นเส้นใยสีขาวเจริญบนผิวเปลือกของลำต้น กิ่ง และใต้ใบ ทำให้ลำต้น กิ่งใบ แห้ง และตายได้ ป้องกันโดยอย่าให้น้ำท่วมขัง ตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง และพ่นด้วยคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ 85%

รูปประกอบ -> image1 image2

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดพัทลุง
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา