ความรู้สัมมาชีพชุมชน

image1

การทำน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น

โดย : นายต่วนยุซรี เจะมะ วันที่ : 2017-04-20-14:13:28

ที่อยู่ : บ้านเลขที่ 56/2 หมู่ที่ 4 ตำบลตะโละดือรามัน อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี 94230 หมายเลขโทรศัพท์ 098 084 0477

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

          อำเภอกะพ้อ เป็นพื้นที่ที่เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกมะพร้าวเป็นพืชเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่จะขายผลผลิตเป็นมะพร้าวห้าว เพราะราคาดี แต่ในบางกรณีผลผลิตที่ได้จะมีผลเล็ก ไม่ได้ขนาดตามที่ตลาดต้องการ บ้านตะโละดือรามัน หมู่ที่ 4 ตำบลตะโละดือรามัน เล็งเห็นประโยชน์จาการแปรรูปผลผลิตจากมะพร้าว จึงคิดที่จะนำผลมะพร้าวที่ตกเกรด (ลูกเล็ก) มาผลิตเป็นน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น ซึ่งสามารถเป็นสารตั้งต้นในการผลิต ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้อีกมากมาย เช่น โลชั่น สบู่ ครีมหมักผม ฯลฯ โดยเฉพาะน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นเองนั้น มีคุณประโยชน์มากมาย จึงสนับสนุนให้สมาชิกครัวเรือนสัมมาชีพทั้ง 20 ครัวเรือน หันมาทำน้ำมะพร้าวสกัดเย็น ซึ่งมะพร้าวเป็นต้นทุนที่มีอยู่ในชุมชนอยู่แล้ว สมาชิกจึงมีความพร้อมใจกันจัดทำโครงการทำน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น เพื่อจะเป็นการพัฒนาให้เป็นอาชีพเสริมให้แก่คนในชุมชนต่อไป

วัตถุประสงค์ ->

1) เพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือนเป้าหมาย

2) เพื่อเป็นการปูพื้นฐานในการสร้างสัมมาชีพชุมชน เพื่อพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่หลากหลาย

3) พัฒนาให้เป็นสินค้า OTOP

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

มะพร้าวห้าว

อุปกรณ์ ->

1) โหลแก้วกลม ขนาดบรรจุ 10 ลิตร

2) โต๊ะพื้นขาวพับได้ 75 x 150 x 120 ซม.

3) ขวดแก้วใสพร้อมฝาเกลียว ขนาด 100 ซีซี

4) ขวดแก้วใสพร้อมฝาเกลียว ขนาด 60 ซีซี

5) สลากสินค้าสติ๊กเกอร์กระดาษ

6) กระชอนสแตนเลส ขนาด Ø 9 นิ้ว

7) ชุดอุปกรณ์เก็บล้าง (ซิ้งล้างจาน).

กระบวนการ/ขั้นตอน->

1)   เนื้อมะพร้าวแก่ขูด  ใช้เนื้อมะพร้าว 1 ส่วน น้ำอุ่น 1 ส่วน คั้นด้วยน้ำอุ่น

2)   เสร็จแล้วกรองใส่ภาชนะหมัก ภาชนะโหลแก้วใส เพื่อมองเห็นการแยกชั้น ของกะทิที่จะเป็นน้ำมัน ปิดฝาตั้งวางไว้ในห้องอุณหภูมิปกติ

3)   ใช้เวลา 9-18 ชั่วโมง จะมองเห็นการแยกชั้นชัดเจน

4)   น้ำมันมะพร้าวจะแยกตัวออกเป็น 5 ชั้น ชั้นบน ชั้นฝ้า ชั้นน้ำมันใส ชั้นครีมโปรตีนกะทิ ชั้นน้ำหมัก และชั้น โปรตีนกัม

5)   เมื่อน้ำมันมะพร้าวแยกชั้นดีแล้วเตรียมภาชนะกรอง โดยใช้ผ้าขาวบางพับ 6-8 ชั้น (มากชั้นน้ำมันยิ่งใส) วางบนกระชอนหรือที่กรองมีภาชนะรองด้านใต้

 6) ถ้าหมัก 9 ชั่วโมงแล้วไม่เกิดน้ำมันใส ให้ตักครีมกะทิชั้นบนทั้งหมดเคี่ยวไฟอ่อนแบบโบราณ ก็จะได้น้ำมันใส คุณประโยชน์เหมือนกันแต่กลิ่นหอมกว่า สกัดเย็น

 7) เปิดฝาตักน้ำมันใสใส่บนผ้าขาวบาง ในส่วนที่คิดว่าไม่มีน้ำติดขึ้นมานี้เมื่อกรองเสร็จ ใช้ได้ทันที แยกใส่ขวดไว้ต่างหาก ส่วนที่เหลือ ชั้น 3 บนน้ำหมักก็ตักขึ้นกรอง ซึ่งจะตักง่ายจะแยกจากน้ำชัดเจน หรือจะตักพร้อมกันครั้งเดียวก็ได้ 3 ชั้นกรอง ห้ามคนหรือบี้ครีมปล่อยให้ค่อยๆหยดเอง เพราะจะทำให้น้ำมันขุ่น

8)   เมื่อน้ำมันหยดหมดแล้ว น้ำมันที่ได้ ทำการเอาน้ำออกจากน้ำมันที่มีติดมา ได้ 2 วิธี

8.1 นำน้ำมันที่ได้ใส่ถุงพลาสติกแช่ช่องแข็งในตู้เย็น เมื่อน้ำมันแข็ง นำออกมา แล้วเจาะหรือดันก้อนน้ำมันขึ้นจะเห็นน้ำให้เอาทิ้งไป ถ้าน้ำมันมีน้ำปนอยู่จะขึ้นราดำ และเหม็นตุๆ ถึงแม้จะใส่ตู้เย็นก็ตาม ไม่ควรเก็บไว้หลายวันใช้ให้หมดเร็ว ถ้าเก็บไว้นานต้องทำวิธีที่ 2

8.2 ทำการระเหยน้ำเพื่อไม่ให้น้ำมันเหม็นและขึ้นรา และเก็บได้นาน โดย ตั้งหม้อน้ำร้อนให้เดือดเบาๆ วางตะแกรง (หรือใช้หม้อซึ้ง) แล้วนำน้ำมันที่ได้วางบนตะแกรงใช้ช้อนหรือทัพพีคนจะมีฟองอากาศเดือดปุดๆ คนไปมาจนไม่มีฟองอากาศปุด แล้วยกขึ้น ตั้งวางไว้สักพัก จะได้น้ำมันสกัดเย็น

ข้อพึงระวัง ->

1)   การผลิตน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น จะได้ผลผลิตช้าหรือเร็ว อยู่ที่อากาศ และมะพร้าวแก่หรือไม่ด้วย และทุกขั้นตอนต้องสะอาดหมด

2)   ถ้าครบ 18 ชม.ลืมกรองหรือไม่ว่างกรองก็ไม่เป็นไร วางไว้ที่เดิมตัวน้ำมันจะคงที่ ไม่เป็นไร แต่อย่าทิ้งไว้ให้นานเกิน

3)   นำน้ำหมักใสออกขุ่น และโปรตีนกัมนอนก้น ทิ้งไปหรือทำปุ๋ย หรือทำน้ำส้มสายชู

4)   ถ้าจะเก็บไว้นานๆให้ตั้งวางไว้ประมาณ 7 วัน น้ำที่ผสมอยู่ในน้ำมันจะระเหยออกหมด เมื่อน้ำระเหยออกหมดแล้ว น้ำมันที่ได้จะใส จึงนำมาบรรจุขวด สามารถเก็บได้นานมากกว่า 1 ปี

รูปประกอบ -> image1 image2 image3

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดปัตตานี
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา