ความรู้สัมมาชีพชุมชน

image1

โครงการเพาะเห็ดฟางบนทะลายปาล์ม

โดย : นายแวอุเซ็ง แต วันที่ : 2017-04-20-14:20:47

ที่อยู่ : บ้านเลขที่ 15/1 หมู่ที่ 7 ตำบลกะรุบี อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี 94230 หมายเลขโทรศัพท์ 081 275 6642

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

     เดิมทีนั้นเห็ดฟางสามารถขึ้นได้เอง ตามหัวไร่ชายนา จากเศษหญ้า กองฟางทั่วไปและได้มีการพัฒนาการเพาะเห็ดฟางเพื่อการค้ากันอย่างแพร่หลาย ซึ่งวัสดุที่นำมาเป็นปัจจัยสำคัญในการเพาะเห็ดฟางได้แก่ฟางข้าว ซึ่งเป็นวัสดุหลงเหลือจากการทำนา จึงเป็นที่มาของ ชื่อ “ เห็ดฟาง ” ซึ่งเรียกตามลักษณะของเห็ดที่ขึ้นตามกองฟาง

     ปัจจุบันการเพาะเห็ดฟางได้พัฒนาไปอีกรูปแบบหนึ่ง คือแทนที่จะใช้วัสดุฟางข้าวเป็นปัจจัยสำคัญในการเพาะ เกษตรกรได้หันมาใช้ทะลายปาล์มเป็นวัสดุในการเพาะ ส่วนเชื้อเห็ดที่นำมาเพาะยังคงใช้เชื้อเห็ดฟางเช่นเดิม ดังนั้นการเรียกชื่อเห็ดที่ได้จากการเพาะจากทะลายปาล์ม

     น่าจะเรียกว่า “ เห็ดทะลายปาล์ม ” ถ้าหากชื่อยาวเกินไปไม่สะดวกต่อการเรียกขาน อาจเรียกว่า “ เห็ดปาล์ม ” ก็ดูจะเข้าทีไม่น้อย

     นายแวอุเซ็ง  แต บ้านเจาะกะพ้อใน เป็นปราชญ์ชาวบ้าน ที่มีความรอบรู้เรื่องการทำการเกษตรที่หลากหลาย เป็นสถานที่ศึกษาดูงานที่สำคัญของอำเภอกะพ้อ ด้วยความหลากหลายในด้านการเกษตร        นายแวอุเซ็ง  แต จึงมีแนวคิดการแนะนำให้ชาวบ้านเพาะเห็ดฟางบนทะลายปาล์ม ซึ่งสามารถหาวัตถุดิบได้ง่ายในพื้นที่ กอปรกับ ในปี 2560 บ้านเจาะกะพ้อใน หมู่ที่ 7 ตำบลกะรุบี อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี ได้รับการสนับสนุนงบประมาณตามโครงการส่งเสริมสัมมาชีพชุมชน จากกรมการพัฒนาชุมชน จึงมีการรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มเพื่อทำโครงการเพาะเห็ดฟางบนทะลายปาล์ม เพราะมีต้นทุนทางธรรมชาติอยู่แล้ว สมาชิกครัวเรือนสัมมาชีพทั้ง 20 ครัวเรือน จึงพร้อมใจกันจัดทำโครงการเพาะเห็ดฟางบนทะลายปาล์มเพื่อจะเป็นการพัฒนาให้เป็นอาชีพเสริมให้แก่คนในชุมชนต่อไป

วัตถุประสงค์ ->

1) เพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือนเป้าหมาย

2) เพื่อเป็นการปูพื้นฐานในการสร้างสัมมาชีพชุมชน เพื่อพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่หลากหลาย

3) พัฒนาให้เป็นสินค้า OTOP

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

1) เชื้อเห็ดฟาง

2) อาหารเสริม

3) แป้งข้าวเหนียว

4) ทลายปาล์มน้ำมัน

5) รำละเอียด

6) ขี้วัดบดแห้ง

อุปกรณ์ ->

1) ไม้ไผ่ทำโครง

2) พลาสติกดำชนิดบาง

กระบวนการ/ขั้นตอน->

1. การเตรียมพื้นที่

- เลือกพื้นที่ให้เหมาะสม

- ปรับพื้นที่ให้สม่ำเสมอ กำจัดสิ่งปฏิกูลออก

2. การสร้างโรงเรือน

- ใช้สแล็มหรือทางมะพร้าวป้องกันแดดประมาณ 70 %

- ใช้สแล็ม ทางมะพร้าว หรือ สิ่งเหลือใช้อื่น ๆ เช่น กระสอบปุ๋ย กั้นด้านข้างเพื่อป้องกันลมพัดโดนผ้าพลาสติกคลุม

- ความสูงประมาณ 180 ซ.ม. กว้าง,ยาวพอสมควร

3. การเตรียมทลายปาล์มก่อนนำไปเพาะ

- กองทลายปาล์มสูงประมาณ 70 ซ.ม.

- เหยียบย่ำให้เรียบ

- รดน้ำให้ทั่ว 3 วัน ต่อครั้ง นานครั้งละ 2 ชั่วโมง (ใช้ท่อขนาด 1 นิ้ว ฉีด)

- คลุมด้วยพลาสติกให้มิดชิด นาน 12 วัน

4. การเตรียมแปลงเพาะ

- เตรียมแปลงกว้าง 70 ซม.

- ยาวครึ่งหนึ่งของผ้าพลาสติกคลุม

- เหยียบร่องให้เรียบ รดน้ำให้ชุ่ม

5. การเลือกซื้อเชื้อเห็ดที่มีคุณภาพ

- ก้อนเชื้อเห็ดแน่นแข็ง

- มีเส้นใยสีขาวนวล

- กลิ่นหอมรสดอกเห็ดฟาง

- ไม่มีเชื้อราชนิดอื่นปะปน

- ไม่มีหนอนและแมลง

6. การผสมเชื้อเห็ด

- ขยำเชื้อเห็ดให้ร่วน

- คลุกเคล้าเชื้อเห็ด อาหารเสริมและแป้งข้าวเหนียวให้ทั่ว (เข้ากันดี)

อัตราส่วน

•  เชื้อเห็ดฟาง 75 ถุง

•  อาหารเสริม 1 ถุง (1.5 ก.ก.)

•  แป้งข้าวเหนียว 1 ถุง (1 ก.ก.)

7. การโรยเชื้อเห็ดและคลุมร่อง

- โรยเชื้อเห็ดที่ผสมแล้วลงบนร่องให้ทั่ว

- รดน้ำให้ชุ่ม (ใช้บัว)

    (เชื้อเห็ด 75 ถุง+อาหารเสริม 1 ถุง+แป้งข้าวเหนียว 1 ถุง ต่อแปลงเพาะ กว้าง 70 ซม.              ยาว 22 เมตร)

8. การดูแลรักษา

- ตรวจดูความชื้นในแปลงอย่างสม่ำเสมอ

- ความชื้นที่เหมาะสม 35-37 องศาเซนเซียส

- สังเกตหยดน้ำใต้พลาสติกคลุม หากไม่มีหยดน้ำจับพลาสติกหรือมีน้อย ให้รดน้ำลงบนพื้นดินระหว่างแปลงเพาะ

- หลังวันเพาะ 5 วัน ให้เปิดช่องระบายอากาศ ขนาด 1 ฝ่ามือทั้งหัวและท้ายร่อง

- สังเกตดูเชื้อรา หากมีเชื้อราปะปนให้รีบกำจัดทันที

- หลังวันเพาะ 9 - 10 วัน เห็ดจะเริ่มงอก

9. การเก็บเกี่ยว

- เก็บเมื่อได้ขนาด ดอกโตเต็มที่แต่ไม่บาน

- พยายามให้กระทบกระเทือนน้อยที่สุด

- ใช้มีดจับดอกเห็ดหมุนไปทางใดทางหนึ่งพร้อมดึงขึ้น

- ดอกที่งอกบนดินควรใช้มีดตัดดอกเห็ดขึ้นมา อย่าดึงด้วยมือ

- เวลาเก็บ ขึ้นกับความต้องการของตลาด

- เก็บวันละ 1 ครั้ง ทุกวัน นานประมาณ 15 วัน ต่อรอบ

10. การตัดแต่งดอกเห็ด

* ใช้มีดที่บางและคม

* ตัดตีนให้สะอาดเรียบร้อย

* ตัดแต่งดอกที่เป็นผิวคางคกให้เรียบร้อยไม่เสียราคา

 

11. การคัดเกรด

- ขนาดใหญ่ (33 บาท/ก.ก.)

- ขนาดเล็ก (16 บาท/ก.ก.)

- ดอกบาน (10 บาท/ก.ก.)

ข้อพึงระวัง ->

     พยายามตรวจสอบแปลงเพาะเห็ดให้ดี ระวังการลุกลามของมดและปลวกเข้ามาทำลายผลผลิต

รูปประกอบ -> image1 image2 image3

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดปัตตานี
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา