ความรู้สัมมาชีพชุมชน

การผลิตมะม่วงนอกฤดู

โดย : นายสงคราม ธรรมมะ วันที่ : 2017-08-11-11:36:22

ที่อยู่ : 57 หมู่ 10 ต.หนองโพรง อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

อาชีพทำไรมันสำปะหลังและทำสวนมะม่วง  เมื่อเปรียบเทียบแล้วเห็นว่าสวนมะม่วงมีรายได้ต่อไร่มากกว่าถึง 4 เท่า  จึงหันมาศึกษาการทำสวนมะม่วงอย่างจริงจัง  ได้ไปศึกษาดูงานจากแปลงที่ประสบความสำเร็จและนำมาประยุกต์ใช้ในแปลงของตนเอง  ต่อมามีการขยายพื้นที่ปลูกจาก 10 ไร่ เป็น  400  ไร่ในปัจจุบัน  จึงมีความรู้ความชำนาญในการถ่ายทอดความรู้ของการผลิตมะม่วง  ตั้งแต่การปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยว

วัตถุประสงค์ ->

เพื่อเพิ่มรายได้

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

1.กิ่งพันธุ์

2.ฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตแตกใบ

3.ปุ๋ย

อุปกรณ์ ->

จอบ เสียม มีด  ถุงห่อผลไม้คาร์บอน 

กระบวนการ/ขั้นตอน->

1. การเลือกสถานที่  เลือกทำเลปลูกและขั้นตอนการผลิต

    สมาชิกกลุ่มจะเลือกสถานที่ปลูกมะม่วงแต่ละชนิด  โดยพิจารณาปัจจัย  ดังนี้

    - พื้นที่เป็นที่ราบ ดินร่วนปนทรายหรือลูกรัง น้ำไม่แช่ขัง ไถพรวนพื้นที่ ให้มีหน้าดินไม่น้อยกว่า 70 เซนติเมตร

    - พื้นที่ปลูกไม่เคยเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาล โรงงานอุตสาหกรรม โรงเก็บสารเคมี คอกสัตว์ หรือที่ทิ้งขยะมาก่อนและห่างไกลจากแหล่งมลพิษหรือมีโลหะหนักตกค้าง

    - เป็นพื้นที่ที่ไม่มีประวัติการใช้สารเคมีกลุ่มออร์กาโนคลอรีน  ออร์กาโนฟอสเฟต ติดต่อกันเป็นเวลานาน

    - ต้องมีลักษณะดินและสภาภูมิอากาศที่เหมาะสมและพิจารณาถึงแหล่งน้ำสะอาดปราศจากสารอินทรีย์ และสารอนินทรีย์ที่มีพิษปนเปื้อนและสะดวกต่อการนำมาใช้โดยผู้เข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มจะได้รับการประเมินความเสี่ยงเพื่อพิจารณาปัจจัยดังกล่าวประกอบก่อนการเข้าเป็นสมาชิก

    - การเลือกต้นพันธุ์

      ได้จากแหล่งที่เชื่อถือได้  โดยต้องได้เห็นผลผลิตของต้นนั้นๆ ก่อนเสมอหรือดำเนินการขยายพันธุ์จากต้นแม่พันธุ์ที่มีเอง

    - การดูแลรักษา

      หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิต ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม  ดูแลทำความสะอาดโคนต้น ใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น  15-15-15 , 16-16-16  หรือปุ๋ยคอกที่หมักไว้ค้างปีแล้วเท่านั้นกลบดินให้มิด รดน้ำเพื่อให้ปุ๋ยละลาย

    - การตัดแต่งกิ่ง

      ช่วงเดือนมิถุนายน เริ่มทำการตัดแต่งกิ่ง โดยให้แปลงเดียวกันตัดแต่งให้เสร็จภายใน 1 สัปดาห์ ให้เอากิ่งที่เป็นโรค กิ่งกระโดง กิ่งที่ไม่ได้รับแสดงแดดออกให้หมด เหลือกิ่งที่ปลายยอดไว้ ใช้ไธโอเอฟ เพื่อชักนำให้แตกใบอ่อน เมื่อแตกใบอ่อนแล้ว พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดแมลง 1-2 ครั้ง

    - การใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตพืช

      ช่วงเดือนกรกฎาคม ใบมะม่วงเข้าสู่ระยะเพสลาด (ใบอ่อนเป็นสีเขียว ปนน้ำตาลเล็กน้อย) ให้ใช้สารพาโคบิวทาโซล ราดรอบโคนต้น 50-100 กรัม ราดให้ทั่วทรงพุ่มและดินต้องมีความชื้น

    - การบำรุงตาดอก

      ช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ฉีดพ่นธาตุอาหารหลัก รอง ให้กับมะม่วงเพื่อสะสมตาดอก โดยใช้ปุ๋ยทางใบที่มีฟอสฟอรัสและโพแทสเซี่ยม (0-52-34) รวมถึงการให้แคลเซี่ยม-โบรอน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงและสะสมอาหารในต้นอย่างพอเพียง ทุกๆ 20 วัน

    - การชักนำให้แตกตาดอก

      ช่วงปลายเดือนกันยายน-ต้นเดือนตุลาคม ฉีดพ่นไธโอยูเรีย 3 กก. โพแทสเซี่ยมไนเตรท 12.5 กก. ผสมน้ำ 1,000 ลิตร ในพื้นที่ 5-8 ไร่ พ่นให้ทั่วทั้งใบและลำต้น

    - ลักษณะการแตกตาดอก

      ภายหลังจาก 10-15 วัน มะม่วงที่ถูกชักนำให้แตกตาดอกจะแทงช่อดอกออกมา มีลักษณะคล้ายเดือยไก่ม้วนเข้าหาโคน หากแทงช่อก่อน 7 วัน และช่อมีลักษณะตรงแสดงว่าเป็นยอดอ่อน ให้รอใบแก่แล้ว ชักนำตาดอกอีกครั้ง เมื่อมะม่วงเริ่มแทงช่อดอกแล้ว หากดินขาดความชื้นให้ รดน้ำอย่างน้อย 1 ครั้ง

    - การบำรุงรักษาดอกมะม่วง

      ช่วงที่มะม่วงเริ่มแทงช่อดอกและดอกบาน ก่อนดอกบาน 1 สัปดาห์ให้พ่นสารป้องกันกำจัดแมลง เช่น         อะบาแม็กตินหรือโมโทมิล เป็นต้น หากมีฝนตกให้พ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น โพคลอราช เป็นต้น และหยุดพ่นสารป้องกันกำจัดแมลงในระยะดอกบาน

    - การบำรุงรักษาผลอ่อน

      เมื่อดอกมะม่วงเริ่มโรยจะเริ่มเห็นผลอ่อนขนาดเท่าหัวไม้ขีด ให้พ่นสารเคมีป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟ ไรแดง เช่น อะบาแม็กติน หรือ เมโทมิล สัปดาห์ละ 1 ครั้ง หรือ ตามการระบาด แต่แนะนำให้ป้องกันไว้ดีที่สุด พร้อมกันนั้นให้พ่นปุ๋ยทางใบ และแคลเซียม-โบรอน รวมถึงสารบำรุงผลต่างๆ ที่มีขายจากร้านค้าที่เชื่อถือได้ตลอดจนป้องกันการระบาดของเชื้อรา ในเวลาที่มีความชื้นในอากาศสูง เช่น ฝนตก

    - การห่อผลมะม่วง

      เมื่ออายุผลได้ 40-45 วัน เริ่มทำการห่อผล เพื่อให้ผิวสวยเป็นสีเหลืองทอง และป้องกันแมลงวันทอง ที่จะเข้าไปทำลาย  โดยใช้ถุงห่อผลไม้คาร์บอน ยี่ห้อชุนฟง จะดีที่สุด

    - การเก็บเกี่ยวผลผลิต

      เมื่อห่อผลแล้ว นับต่อไปอีก 50-55 วัน จะเริ่มทำการเก็บเกี่ยว ทั้งนี้ต้องหมั่นแกะห่อดูเมื่อใกล้เวลาเก็บเกี่ยว

    - การคัดเกรด

      มะม่วงน้ำดอกไม้เบอร์ 4 จะมีรสชาติดี หวานหอม เป็นที่ต้องการของตลาด ต้องมีลักษณะดังนี้

      1. ต้องเก็บเกี่ยวผลผลิตที่แก่เต็มวัย

      2. ผลอ้วนกลม เนื้อเต็ม ไม่ลีบแบน

      3. ก่อนบ่มมีผิวสีเหลืองนวล ไม่มีตำหนิ หรือรอยขีดข่วน

      4. น้ำหนักไม่น้อยกว่า 380 กรัม/ผล

    - บรรจุภัณฑ์

      มะม่วงที่ได้คุณภาพ จะถูกติดสติ๊กเกอร์ยืนยันแหล่งผลิตและห่อด้วยโฟมห่อผลไม้ ก่อนบรรจุลงกล่องจัดเรียงให้สวยงาม

    - การรวบรวม/แปรรูป

      กลุ่มเป็นผู้ให้บริการจัดหาตลาด โดยการเป็นตัวแทนติดต่อกับผู้ซื้อแทนสมาชิกกลุ่ม รวมถึงการรวบรวมและส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ โดยผู้ซื้อ มีพาหนะมารับสินค้าที่ทำการกลุ่ม

ข้อพึงระวัง ->

   ปัญหาแมลงและวัชพืช  ต้องมีการดูแลรักษาอย่างดี

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดปราจีนบุรี
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา