ความรู้สัมมาชีพชุมชน

image1

การทำลูกประคบสมุนไพร

โดย : นางภัทรานิษฐ์ สนธิ วันที่ : 2017-09-27-14:09:11

ที่อยู่ : 107 หมู่ที่ 11 ตำบลกุยเหนือ

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

ชีวิตการทำงานของข้าพเจ้า หลังจากจบการศึกษา เริ่มต้นจากงานเป็นพนักงานบริษัทตรวจสอบบัญชีแห่งหนึ่งในกรุงเทพ  แต่ไม่ตรงกับสายงานที่เรียนมา  จึงขอลาออกและย้ายมาอยู่ในจังหวัดหวัดบ้านเกิด ชีวิตการทำงานนับแต่นั้นมาได้ ทำงานหลายหลายอาชีพ  ล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดประสบการณ์ทั้งสิ้น  เพราะโดยส่วนตัวเป็นคนที่ชอบเรียนรู้ ความรู้ใส่ตัวเองอยู่เสมอ  ทำให้เป็นคนที่อยู่ไม่ชอบหยุดนิ่งอยู่กับที่  จนมาได้สัมผัสกับงานที่เกี่ยงกับการรับผิดชอบชีวิตผู้คนจำนวนมาก นั่นคือ  อาชีพประกันชีวิต และถือเป็นอาชีพหลัก มาจนถึงทุกวันนี้ 

            ในช่วงปี  พ.ศ.  2๕๕๐  ได้รับโอกาสได้เข้าอบรมวิชาชีพที่แขนงหนึ่งจากการเป็นตัวแทนของชุมชน ที่สามี เป็นผู้ใหญ่บ้าน  ส่งตัวเราเข้าไปเรียนรู้  นั้นคือ  วิชาชีพการนวดแผนโบราณ เป็นหลักสูตรระยะสั้นเพียงแค่

๓ วันเท่านั้น  นั้นเป็นจุดกำเนิดความคิด ในเรื่อง “นวดแผนโบราณ กับสมุนไพรในชุมชน”  ตั้งแต่นั้นมา ข้าพเจ้า

ก็เริ่มหาโอกาสให้กับตัวเอง  โดยหาแหล่งเรียนรู้  ภายใต้ความคิดที่ว่า  “ก่อนบอกเล่าคนอื่น  เราต้องรู้เสียก่อน”

ในช่วงนั้น  ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์  มีการเปิดอบรม หลักสูตร นี้พอดี  จึงได้มีโอกาสไปฝึกและปฏิบัติจริงเป็นเวลา  ๑เดือนครึ่ง   และได้ใบประกาศนียบัตร รับรองความสามารถขั้นพื้นฐานมาเป็นความภาคภูมิในอีกวิชาชีพหนึ่ง  ประกอบกับการเป็น อสม.ในพื้นที่  จึงได้รับโอกาสจากผู้หลักผู้ใหญ่ในองค์กรที่ข้าพเจ้าได้ร่วมทำงานด้วย  คือ  กระทรวงสาธารณสุข  โดยมี  หัวหน้า รพ.สต. กุยบุรี  เป็นพี่เลี้ยงในการเรียนรู้และทำงานในสายงานนี้ และประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์   ท่านเล็งเห็นถึงความเป็นจิตสาธารณะของข้าพเจ้า   จึงชักชวน  และส่งเสริมเข้ามาเรียนรู้ และเข้าประกวดในสาขา แพทย์แผนไทย และภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อสุขภาพ    ตั้งแต่นั้นมาก็ได้เริ่มเข้ามาเรียนรู้ อย่างจริงจัง  ทั้งเรื่องของการนวดแผนไทยและ สมุนไพรไทยที่น่าสนใจ  ที่มีในชุมชน

วัตถุประสงค์ ->

1.ก่อให้เกิดรายได้ให้แก่สมาชิกและบุคคลที่สนใจในชุมชน

2.อนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

ส่วนผสมสูตรลูกประคบสมุนไพรแบบสด (150 กรัม ต่อ 1 ลูก)

  • ไพล     30 กรัม
  • ขมิ้นชัน     20 กรัม
  • ขมิ้นอ้อย     10 กรัม
  • ใบมะกรูด     10 กรัม
  • ตะไคร้บ้าน     20 กรัม
  • ใบพลับพลึง     10 กรัม
  • ใบส้มป่อย     10 กรัม
  • ใบมะขาม     10 กรัม
  • ใบขี้เหล็ก     5 กรัม
  • พิมเสน     5 กรัม
  • การบูร     10 กรัม
  • เกลือแกง     10 กรัม

ส่วนผสมสูตรลูกประคบสมุนไพรแบบแห้ง (150 กรัม ต่อ 1 ลูก)

  • ผิวมะกรูด     20 กรัม
  • ไพล     20 กรัม
  • ผักเสี้ยนผี     20 กรัม
  • ข้าวคั่ว     20 กรัม
  • พิมเสน     20 กรัม
  • การบูร     40 กรัม
  • เกลือตัวผู้     10 กรัม

อุปกรณ์ ->

อุปกรณ์ในการทำลูกประคบสมุนไพร

  1. เขียง 1 อัน และมีด 1 เล่ม
  2. ตัวยาสมุนไพรรวมที่ใช้ทำลูกประคบสมุนไพร
  3. ผ้าดิบสำหรับห่อทำลูกประคบสมุนไพร 2 ผืน และเชือก 2 เส้น ยาว 1 เมตร
  4. หม้อนึ่งลูกประคบสมุนไพร
  5. กะละมัง ถุงมือ ผ้าขนหนู
  6. จานรองลูกประคบสมุนไพร 

กระบวนการ/ขั้นตอน->

วิธีการทำลูกประคบสมุนไพร

  • เตรียมสมุนไพรให้พร้อมก่อนลงมือปรุงตามสูตรลูกประคบสมุนไพร หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ โขลกพอแหลก นำสมุนไพรชั่งน้ำหนักแต่ละชนิดตามสูตรมาตรฐานที่กำหนดไว้
  • นำส่วนผสมทั้งหมดของลูกประคบสมุนไพรมาคลุกเคล้าเข้าด้วยกัน เมื่อส่วนผสมเข้ากันดีแล้วให้นำมาทดสอบน้ำหนักรวมกันอีกครั้งหนึ่ง
  • นำส่วนผสมสมุนไพรลูกประคบมาใส่ในผ้า ห่อเป็นลูกประคบสมุนไพร รัดด้วยเชือกให้แน่น พร้อมใช้

วิธีการห่อลูกประคบสมุนไพร

  1. นำส่วนผสมสมุนไพรของลูกประคบมาวางตรงกลางผ้า เริ่มต้นจับมุมผ้า 2 มุม ขึ้นมาทบกัน โดยจับทีละมุมจนครบทั้ง 4 มุม จากนั้นจะเกิดมุมผ้าขึ้นมาอีก 4 มุม ให้รวบมุมผ้าที่ละมุมอีกครั้งหนึ่งจนครบทั้ง 4 มุม
  2. แต่งชายผ้าให้เรียบร้อย ซ้อนกันเป็นชายเดียว จากนั้นค่อย ๆ จัดแต่งลูกประคบสมุนไพรให้เป็นรูปทรงกลมที่สวยงาม
  3. เมื่อได้ลูกประคบสมุนไพรที่เป็นรูปทรงกลมที่สวยงามแล้ว ให้นำเชือกมาพับครึ่ง ร้อยเป็นห่วงให้ชายทั้งสองเท่ากัน
  4. จากนั้นพันทบกัน 2 รอบแล้วผูกให้แน่นด้วยเงื่อนตาย 1 รอบ ก็จะทำให้เหลือปลายผ้าที่เท่ากันทั้งสองข้าง ค่อย ๆ จัดระเบียบชายผ้าในส่วนที่จะทำเป็นด้ามจับลูกประคบสมุนไพร
  5. การทำด้ามจับลูกประคบสมุนไพร โดยการจับชายผ้าที่เหลือมาซ้อนกันให้เรียบร้อย เสร็จแล้วพับเข้าหากันเพื่อเก็บชายผ้าทั้งสองด้าน
  6. หลังจากที่เราจัดแต่งและซ่อนชายผ้าของลูกประคบสมุนไพรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้พับลงมาประมาณ 2 นิ้วครึ่ง เพื่อทำด้ามจับ ใช้ปลายของเชือกเส้นเดิมมาพันทบกันอีก 2 รอบ โดยการผูกเชือกแบบเงื่อนตายให้แน่นอีกครั้งหนึ่ง
  7. ให้ซ่อนปลายเชือกไว้ในซอกผ้าตรงรอยพับที่เป็นด้ามจับ เพื่อให้ลูกประคบสมุนไพรมีความแข็งแรงและสวยงามคงทนต่อการใช้งาน
  8. นำเชือกป่านมาผูกให้แน่นอีกครั้งหนึ่งโดยผูกแบบเงื่อนตาย ปลายด้านหนึ่งยาวประมาณ 2 นิ้วครึ่ง เสร็จแล้วให้ยกขึ้นมาแนบกับด้ามจับลูกประคบสมุนไพร ใช้ปลายเชือกส่วนที่ยาวกว่าพันขึ้นมา โดยใช้ปลายนิ้วไล่กดเชือกให้แน่น การทำเช่นนี้จะทำให้เชือกเรียงกันดูสวยงามและเป็นระเบียบ
  9. เมื่อพันจนสุดชายเชือกแล้วให้ผูกเงื่อนตายไว้กับปลายเชือกเส้นที่แนบไว้กับด้ามจับในตอนแรก จากนั้นซ่อนปลายเชือกไว้ในซอกผ้าที่เป็นด้ามจับ เพียงเท่านี้ก็จะได้ลูกประคบสมุนไพรที่สวยงามพร้อมสำหรับการใช้งาน

ข้อพึงระวัง ->

รูปประกอบ -> image1 image2 image3

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา