ความรู้สัมมาชีพชุมชน

image1

การทอผ้าไหม

โดย : นางประยูร หูไธสง วันที่ : 2017-04-03-17:31:56

ที่อยู่ : บ้านเลขที่ 14 หมู่ที่ 2 ตำบลกู่สวนแตง

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

การทอผ้าต้องอาศัยฝีมือและความรู้ความชำนาญประสบการณ์ ความอดทนตั้งใจ รวมถึง     พรสรรค์ของผู้ทอเป็นอย่างมาก เพราะแต่ละคนที่ทำในแต่ละขั้นตอนจะมีความแตกต่างกัน เส้นไหมที่สาวได้แต่ละช่วงเวลาหรือแต่ละระยะของฝักไหมก็ให้ความหนาของเส้นไม่เท่ากัน สีไม่เหมือนกัน ทั้งความสามารถในการทอ การสอดกระสวย ความแรงในการตีกระทบ (ฟัด) ทำให้ได้สีเข้มอ่อนต่างกัน การเรียงเส้นไหมให้ตรงลายจะแสดงความคมชัดและความชำนาญของผู้ทอแต่ละคน อากาศ อุณหภูมิ หรือแม้แต่อารมณ์ความรู้สึกของผู้ทอ สิ่งเหล่านี้มีผลต่อความสวยงามของผ้าผืนนั้นๆ ทำให้ผ้าทอมือแต่ละผืนที่ทอมีเอกลักษณ์เฉพาะ

          ซึ่งนางประยูร หูไธสง ถือได้ว่าเป็นผู้หนึ่งที่มีความรู้ มีประสบการณ์การทอผ้าไหม-ผ้าด้าย และการมัดหมี่

วัตถุประสงค์ ->

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

 

          เส้นไหม เส้นไหมยืน และเส้นไหมพุ่ง

อุปกรณ์ ->

         1.หลักเฝือ : อุปกรณ์ในการค้นเส้นยืน เพื่อทำการเตรียมเส้นยืน ก่อนที่จะนำไปติดตั้งกี่ทอผ้า

          2. โฮงมี่ ใช้สำหรับมัดหมี่

         3. กง : อุปกรณ์สำหรับใส่เส้นไหมเพื่อการกรอเส้นไหมเข้าอัก

          4. อัก : อุปกรณ์สำหรับการม้วนเก็บเส้นไหมที่ทำการกรอจากกง

          5. ไน/หลา : อุปกรณ์สำหรับการกรอเส้นไหมเข้าหลอด หรือ เป็นอุปกรณ์ในการตีเกลียวเส้นไหม และควบตีเกลียวเส้นไหม

          6. หลอด : อุปกรณ์สำหรับการม้วนเก็บเส้นไหมเพื่อนำไปในกระสวยเพื่อการพุ่งเส้นพุ่งในการทอผ้ามัดหมี่

          7. กระสวย : อุปกรณ์สำหรับใส่หลอดม้วนเส้นไหมพุ่งเพื่อพุ่งนำหลอดเส้นพุ่งในการทอผ้า

          8. ฟืม หรือฟันหวี มีฟันเป็นซี่ คล้ายหวี : อุปกรณ์สำหรับการจัดเรียงเส้นไหมยืนก่อนที่จะนำไปเส้นยืนไปกลางตั้งขึ้นบนกี่ทอผ้า และใช้กระทบไหมเส้นพุ่งให้สานขัดกับไหมเส้นยืนที่อัดแน่นเป็นเนื้อผ้า

          9. กี่ทอผ้า : อุปกรณ์สำหรับการทอผ้า

          10. ไม้เหยียบหูก : อุปกรณ์ที่เป็นท่อนไม้ที่อยู่ด้านล่างของกี่ทอผ้า มีเชือดโยงติดกับตะกอฟืม เพื่อใช้เท้าเหยียบให้เส้นยืนสลับขึ้นและลง เพื่อการสอดเส้นพุ่งในการทอผ้า

          11. แปรงทาแป้งบนเส้นยืน : อุปกรณ์สำหรับใช้ทาน้ำแป้งบนเส้นยืนเพื่อป้องกันเส้นยืนแตกในขณะที่ทอผ้า

          12. ไม้คันผัง : อุปกรณ์ที่ทำด้วยไม้ไผ่ ใช้ค้ำยันขอบริมผ้าหน้ากว้างทั้งสองด้านของหน้ากว้างผืนผ้าให้ตึงและตรงตลอดทั้งแนวความยาว

กระบวนการ/ขั้นตอน->

1. การฟอกไหม ถือได้ว่าเป็นขั้นตอนแรก เพราะไหมดิบจะเป็นสีส้มเข้ม ก่อนนำมาทอต้องทำการแยกไขมันออกจากเส้นไหมเพื่อป้องกันการย้อมสีไม่ติด โดยต้มน้ำให้เดือด ประมาณ ๘๐ องศาเซลเซียสโดยตลอด ใส่สบู่/ซันไลต์ 1 ก้อน ต่อไหม ๑ กิโลกรัม ใส่ด่างฟอกลงไป ๑ ถุง/ไหม ๑ กิโลกรัม คนให้เข้ากันใส่แป้งมันลงไป ๗ ช้อนโต๊ะ/ไหม ๑ กิโลกรัม คนให้เข้ากันอีกรอบ จากนั้นยกไหมขึ้น-ลง ในหม้อ จนเส้นไหมเป็นสีนวล เส้นฝืด แล้วนำขึ้นมาแขวนพักไว้ให้เย็น ล้างด้วยน้ำอุ่น ๑ ครั้ง และล้างด้วยน้ำเย็น ๓ ครั้ง นำมาปั้นให้แห้ง ผึ่งไว้ในร่มให้ไหมแห้งสนิท
          2. การกวักไหม : การกรอเส้นไหมเข้าหลอดเพื่อเตรียมไว้สำหรับการทำขั้นตอนต่อไป
          3. การกรอใส่หลอด : การกรอเส้นไหมเข้าหลอดเพื่อทำเส้นยืน และการเข้ากวักทำเส้นพุ่ง
          4. การรังไหม หรือตีเหลียวไหม : การทำรังไหม หรือการเสียขี้ไหม เพื่อให้เส้นไหมเรียบ สวยงาม
          5. การพัดไหม : เป็นการเรียงเส้นไหม รวมกันให้เป็นใจหรือเครือเพื่อนำไปย้อมสี (แต่ถ้าจะนำเส้นไหมไปมัดหมี่ ไม่ต้องทำขั้นตอนนี้ นำไปค้นมัดหมี่ได้เลย) สำหรับการย้อมสีไหมจะต้องเป็นไหมที่ฟอกแล้ว

          6. การค้นไหม แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
                   6.1 เส้นไหมพุ่ง สำหรับการนำไปมัดหมี่โดยใช้เครื่องมือในการค้นลำหมี่โดยการนำเส้นไหมที่กวักเรียบร้อยแล้ว มาทำการค้นปอยหมี่เพื่อให้ได้ลำหมี่พร้อมสำหรับการไปมัดหมี่ในกระบวนการต่อไป
                   “การมัดหมี่” คือ การทำผ้าไหมให้เป็นลายและสีสันต่างๆ ตามแบบหรือลายที่ได้ออกแบบไว โดยการมัดเส้นไหมให้เป็นลวดลายที่เส้นพุ่งด้วยเชือกฟางแล้วนำไปย้อมสี นำมามัดลายอีกแล้วย้อมสีสลับกันหลายครั้ง เพื่อให้ผ้าไหมมีลวดลายและสีตามต้องการ
                   6.2 ไหมเครือ (ไหมเส้นยืน) โดยการค้นหูกหรือค้นเครือ คือ กรรมวิธีนำเอาเส้นไหมที่เตรียมไว้สำหรับเป็นไหมเครือไปค้น (กรอ) ให้ได้ความยาวตามจำนวนผืนที่ต้องการ
          7. การสืบไหมหรือการสืบหูก คือ การนำไหมที่ได้จากการค้นไหมเครือ หรือเส้นไหมยืนแล้ว นำเข้ามาต่อกับฟืม
          8. การพันไหม คือ เนื่องจากเส้นไหมที่ค้นและสืบเสร็จเรียบร้อยแล้วนั้นมีความยาวหลายเมตร เราจำเป็นต้องเก็บพันเส้นไหมที่ยังไม่ทอ ให้เป็นระเบียบเพื่อสะดวกในการทอ
          9. การกางหูกไหม คือ ขั้นตอนการนำหูกไหมที่พร้อมจะทอแล้ว ไปกางบนกี่เพื่อที่เตรียมการทอผ้าต่อไป
          10. การทอผ้าไหม เป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่จะออกมาเป็นผ้าผืน ประกอบด้วย

                   “เส้นไหมยืน” จะขึงไปตามความยาวผ้าอยู่ติดกับกี่ทอ (เครื่องทอ) หรือแกนม้วนด้านยืน

                   “เส้นไหมพุ่ง” จะถูกกรอเข้ากระสวย เพื่อให้กระสวยเป็นตัวนำเส้นด้ายพุ่งสอดขัดเส้นด้ายยืนเป็นมุมฉาก ทอสลับกันไปตลอดความยาวของผืนผ้า การสอดด้ายพุ่งแต่ละเส้นต้องสอดให้สุดถึงริมแต่ละด้าน แล้วจึงวกกลับมา จะทำให้เกิดริมผ้าเป็นเส้นตรงทั้งสองด้าน ส่วนลวดลายของผ้านั้นขึ้นอยู่กับการวางลายผ้าตามแบบที่มัดหมี่ไว้

ข้อพึงระวัง ->

รูปประกอบ -> image1 image2 image3

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดบุรีรัมย์
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา