ความรู้สัมมาชีพชุมชน

การเลี้ยงปลาดุกในบ่อดิน

โดย : นายมานิตย์ บุญเทพ วันที่ : 2017-05-03-15:14:38

ที่อยู่ : 33 หมู่ 7 ตำบลไชยวัฒนา

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

ชอบทานปลาดุกและมีสระที่เป็นบ่อดินสำหรับเลี้ยง

วัตถุประสงค์ ->

เพื่อบริโภคและขาย

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

อุปกรณ์ ->

กระบวนการ/ขั้นตอน->

การเลี้ยงปลาดุกในบ่อดินจำเป็นต้องมีการเตรียมบ่อที่ดี มิฉะนั้นอาจเกิดปัญหาก้นบ่อเน่าทำให้น้ำในบ่อเสียและทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพปลาในที่สุด บ่อปลาดุกที่เลี้ยงมาหลายๆ ปี โดยไม่มีการดูแลบ่อจะพบปัญหาปลาเป็นโรคบ่อยๆ ยากต่อการแก้ไข การเตรียมบ่อใหม่และบ่อเก่าที่เคยเลี้ยงปลามาก่อน มีขั้นตอนการเตรียมแตกต่างกันเล็กน้อยดังนี้

บ่อขุดใหม่

            ปกติแล้วดินจะมีสภาพเป็นกรดอย่างอ่อนๆ หรืออาจจะมีสภาพเป็นกรดสูง ขึ้นอยู่กับลักษณะท้องที่  ให้โรยปูนขาวตาม พี-เอช (อย่างน้อย 30 – 50 กก. ต่อบ่อ 800 ตารางเมตร) โดยสาดปูนขาวให้ทั่วบ่อจากนั้นสูบน้ำเข้าบ่อจนได้ระดับน้ำ 30 เซนติเมตร ทิ้งไว้ประมาณ 7-10 วัน แล้วจึงวัดพี-เอช ค่าที่เหมาะสมควรอยู่ระหว่าง 7 – 8.5 แล้วจึงปล่อยปลาลงเลี้ยง

บ่อเก่า

            เมื่อเลี้ยงปลาดุกผ่านไปรุ่นหนึ่งแล้ว ควรตากบ่อให้แห้งประมาณ 10 -15 วัน พร้อมทั้งโรยปูนขาวให้ทั่วบ่อ ในอัตราส่วนปูนขาว 1 กก. ต่อพื้นที่ 10 ตารางเมตร เพื่อให้แสงแดดทำลายเชื้อโรคต่างๆ และให้จุลินทรีย์เน่าสลายทำให้อินทรีย์สารที่ตกค้างอยู่พื้นบ่อหมดไปด้วย เมื่อเลี้ยงปลาดุกได้ประมาณ 3-4 รุ่น ควรลอกเลนและทำคันบ่อใหม่ เนื่องจากบ่ออาจตื้นเขิน และขอบคันอาจะเป็นรูเป็นโพรงมากทำให้บ่ออาจเก็บกักน้ำไม่อยู่ และไม่สะดวกในการจับปลาอีกด้วย  ควรเก็บปลาเก่าออกให้หมด และกำจัดวัชพืชที่พื้นบ่อและรอบขอบบ่อ โดยห้ามใช้ยาฆ่าหญ้าฉีดเด็ดขาด เพราะจะทำให้มีสารเคมีตกค้างในดินจะทำให้เป็นอันตรายได้ หลังจากนั้นก็ตากบ่อให้แห้ง และลงปูนขาวให้ทั่วบ่อ อัตรา 50 กก. ต่อบ่อขนาด 1 ไร่ จากนั้นให้ลงมูลสัตว์ เช่นขี้ไก่หรือ ขี้นกกระทาให้ทั่วบ่อ ในปริมาณ 4-5 ถุงต่อไร่ (ขนาดถุงอาหารปลา) ก่อนสูบน้ำเข้าประมาณ 1-2 วัน หลังจากนั้นก็สูบน้ำเข้าประมาณ 60-70 ซม.

การเลี้ยงในบ่อดินนั้นจะมีหลักการเตรียมบ่อเลี้ยงปลาทั่วๆ ไปดังนี้

            1. จะต้องตากพื้นบ่อให้แห้ง ปรับสภาพพื้นบ่อให้สะอาด

            2. ใส่ปูนขาวเพื่อปรับสภาพของดิน โดยใส่ในอัตราประมาณ 60-100 กก./ไร่

            3. ใส่ปุ๋ยคอกเพื่อให้เกิดอาหารธรรมชาติสำหรับลูกปลาในอัตราประมาณ

 40-80 กก./ไร่

            4. สูบน้ำเข้าบ่อโดยกรองไม่ให้ศัตรูของลูกปลาติดเข้ามากับน้ำจนมีระดับน้ำลึก 30-40 ซม. หลังจากนั้น วันรุ่งขึ้นจึงปล่อยปลาลงบ่อเลี้ยง จะต้องปรับสภาพอุณหภูมิของน้ำในถุงและน้ำในบ่อให้เท่าๆ กันก่อน โดยการแช่ถุงบรรจุลูกปลาในน้ำประมาณ 30 นาทีจึงปล่อยลูกปลา  เวลาที่เหมาะสมในการปล่อยลูกปลาควรเป็นตอนเย็นหรือตอนเช้า และเพื่อให้ลูกปลามีอาหารกินควรเติมไรแดงในอัตราประมาณ 5 กิโลกรัม เพื่อเป็นอาหารลูกปลา หลังจากนั้นก็ให้ลูกปลากินอาหารผสมต่อไป อีกทั้งผู้เลี้ยงควรคอยตรวจสุขภาพลูกปลาอย่างสม่ำเสมอด้วย

ขั้นตอนการเลี้ยง

            1. อัตราปล่อยปลาดุก ลูกปลาขนาด 2-3 ซม. ควรปล่อยในอัตราประมาณ 40 - 100 ตัว/ตรม. ซึ่งขึ้นอยู่กับกรรมวิธีในการเลี้ยง คือ ชนิดของอาหาร ขนาดของบ่อและระบบการเปลี่ยนถ่ายน้ำซึ่งปกติทั่วๆไป อัตราปล่อยเลี้ยงประมาณ 50 ตัว/ตรม. และเพื่อป้องกันโรคซึ่งอาจจะติดมากับลูกปลา ใช้น้ำยาฟอร์มาลินใส่ในบ่อเลี้ยง อัตราความเข้มข้นประมาณ 30 ส่วนในล้าน (3 ลิตร/น้ำ 100 ตัน) ในวันที่ปล่อยลูกปลาไม่จำเป็นต้องให้อาหารควรเริ่มให้อาหารในวันรุ่งขึ้น

            2. การให้อาหาร เมื่อปล่อยลูกปลาดุกลงในบ่อดินแล้ว อาหารที่ให้ในช่วงที่ลูกปลาดุกมีขนาดเล็ก (2-3 ซม.) ควรให้อาหารผสมคลุกน้ำปั้นเป็นก้อนให้ลูกปลากิน โดยให้กินวันละ 2 ครั้ง หว่านให้กินทั่วบ่อโดยเฉพาะในบริเวณขอบบ่อ เมื่อลูกปลามีขนาดโตขึ้นความยาวประมาณ 5-7 ซม. สามารถฝึกให้กินอาหารเม็ดได้ หลังจากนั้นเมื่อปลาโตขึ้นจนมีความยาว 15 ซม.ขึ้นไป จะให้อาหารเม็ดเพียงอย่างเดียวหรืออาหารเสริมชนิดต่าง ๆ ได้ เช่น ปลาเป็ดผสมรำละเอียดอัตรา 9 : 1 หรือให้อาหารที่ลดต้นทุน เช่น อาหารผสมบดจากส่วนผสมต่างๆเช่น กระดูกไก่ ไส้ไก่ เศษขนมปัง เศษเส้นหมี่ เศษเลือดหมู เลือดไก่ เศษเกี้ยว หรือเศษอาหารต่างๆเท่าที่สามารถหาได้ นำมาบดรวมกันแล้วผสมให้ปลากิน แต่การให้อาหารประเภทนี้จะต้องระวังเรื่องคุณภาพของน้ำในบ่อเลี้ยงให้ดี เมื่อเลี้ยงปลาได้ประมาณ 3-4 เดือน ปลาจะมีขนาดประมาณ 200-400 กรัม/ตัว ซึ่งผลผลิตที่ได้จะประมาณ 10 - 14 ตัน/ไร่ อัตรารอดตายประมาณ 40- 70 %

ข้อพึงระวัง ->

การป้องกันโรค การเกิดโรคของปลาดุกที่เลี้ยงมักจะเกิดจากปัญหาคุณภาพของน้ำในบ่อเลี้ยงไม่ดี ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุของการให้อาหารมากเกินไปจนอาหารเหลือเน่าเสีย เราสามารถป้องกันไม่ให้เกิดโรคได้โดยต้องหมั่นสังเกตว่าเมื่อปลาหยุดกินอาหารจะต้องหยุดให้อาหารทันที เพราะปลาดุกมีนิสัยชอบกินอาหารที่ให้ใหม่โดยถึงแม้จะกินอิ่มแล้วถ้าให้อาหารใหม่อีกก็จะคายหรือสำรอกอาหารเก่าทิ้งแล้วกินอาหารให้ใหม่อีกซึ่งปริมาณอาหาร ที่ให้ไม่ควรเกิน 4 - 5 % ของน้ำหนักตัวปลา ในรอบหนึ่งปีช่วงที่ต้องระมัดระวังปลาที่เลี้ยงเป็นพิเศษก็คือ ช่วงหน้าหนาว ปลาจะเป็นโรคมากที่สุดซึ่งเกิดจากการสะสมของเสียที่พื้นบ่อมากเกินไป ผู้เลี้ยงจะสามารถลดความเสี่ยงจากโรคได้ก็ต้องควบคุมคุณภาพน้ำให้ดี ต้องไม่ให้น้ำสีเข้มเกินไป หากน้ำเข้มมากก็แก้ไขโดยใส่ปูนขาวลงไปก็จะช่วยลดปัญหานี้ได้

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดน่าน
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา