ความรู้สัมมาชีพชุมชน

การร้อยมาลัย

โดย : นางบังอร อิสสระกูล วันที่ : 2017-03-24

ที่อยู่ : 19 หมู่ที่ 3 ตำบลคลองขวาง อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

เหตุผลที่ทำคือ ต้องการหารายได้ เพื่อเลี้ยงชีพ และมีความชื่นชอบงานที่ประณีต บวกกับวัสดุที่ใช้
ร้อยมาลัยสามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่น

วัตถุประสงค์ ->

เพื่อสร้างรายได้ไว้สำหรับใช้จ่ายในครัวเรือน

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

ดอกไม้และใบไม้ที่ใช้ร้อยมาลัย เช่น ดอกมะลิ ดอกพุด ดอกรัก เป็นต้น

อุปกรณ์ ->

เข็มสั้นหรือเข็มมือ ด้าย วาสลีน ริบบิ้นหรือโบว์ กรรไกร คีม

กระบวนการ/ขั้นตอน->

           มาลัยกลม หมายถึง มาลัยที่ร้อยให้มีลักษณะรูปทรงตามขวางเป็นวงกลมและรูปทรงตามยาวตรงและขนานกันไปตลอดเข็ม นิยมร้อยตั้งแต่ขนาด 6 กลีบขึ้นไปจนถึง 12 กลีบ หรือมากกว่านี้ แล้วแต่ชนิดของดอกไม้ ถ้าดอกเล็กหรือกลีบเล็กก็ใช้จำนวนกลีบมาก แต่ถ้าดอกไม้ดอกใหญ่หรือกลีบใหญ่ก็ใช้จำนวนกลีบน้อย
          มาลัยกลมแบ่งออกเป็น 2 แบบใหญ่ๆ คือ 1. มาลัยกลมแบบไม่มีลาย หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า
“มาลัยเกลี้ยง” หรือ “ตอน” หมายถึง มาลัยกลมที่ร้อยด้วยกลีบดอกไม้ หรือ ดอกไม้ หรือใบไม้ล้วนๆ ไม่มีลวดลายใดๆ และเป็นสีเดียวกันตลอด เช่น มาลัยกลมกลีบกุหลาบ มาลัยกลมดอกพุด มาลัยกลมดอกมะลิ มาลัยกลมกลีบดอกรัก มาลัยกลมดอกบานไม่รู้โรย ฯลฯ 2. มาลัยกลมแบบมีลาย หรือ บางคนเรียกว่า “มาลัยกลมยกดอก” หมายถึง มาลัยกลมที่ร้อยใส่ลวดลายต่างๆ ลงไป ลายที่นิยมร้อยใส่มาลัยกลมได้แก่ ลายประเภทลายเกลียว ลายคดกริช ลายตาประชุม และลายประกอบ มาลัยแบบนี้จะนิยมร้อยด้วยดอกพุดหรือกลีบกุหลาบ เป็นพื้นและลวดลายที่ร้อยใส่ลงไปนั้นมักจะใช้ดอกไม้ กลีบดอกไม้ หรือใบไม้ที่มีสีสดๆ หรือสีที่ตัดกัน เพื่อให้เห็นลวดลายชัดเจนสวยงาม
          วิธีการร้อยมาลัยกลม มีหลักที่สำคัญดังนี้  1. คัดเลือกดอกหรือกลีบดอกให้ขนาดเท่าๆ กัน 2. การส่งกลีบหรือก้านดอก จะต้องให้ยาวเท่าๆ กันทุกกลีบ หรือทุกดอกทั้งในแนวเดียวกันและระหว่างแถวด้วย เพื่อให้มาลัยที่ร้อยเสร็จแล้วนั้นมีสัดส่วนและรูปทรงที่สวยงาม ดังนั้นในการร้อยดอกไม้แต่ละดอกหรือแต่ละกลีบ ควรจะต้องวัดก้านก่อนแทงใส่เข็ม 3. ร้อยแถวแรกหรือชั้นแรกให้เป็นวงกลมจัดระยะห่างแต่ละกลีบให้เท่ากัน โดยเริ่มร้อยกลีบแรกเรียงจากซ้ายวนไปทางขวา (ตามเข็มนาฬิกา) จนครบจำนวนกลีบตามต้องกา 4. ร้อยแถวที่ 2 โดยวางกลีบให้สับหว่างกับกลีบในแถวแรกทุกกลีบ จนครบจำนวนกลีบเท่ากับแถวที่ 1 และแถวต่อๆ ไปก็ทำเช่นเดียวกัน ข้อควรระวัง คือทุกๆ แถวจะต้องมีจำนวนกลีบเท่ากัน และสับหว่างกันทุกแถวด้วย ถ้าแถวใดจำนวนกลีบลดน้อยลงหรือเพิ่มขึ้นแสดงว่าจะต้องร้อยสับหว่างผิด 5. มาลัยกลมแบบไม่มีลายร้อยเรียงวนโดยรอบเข็มควรจัดระยะห่างแต่ละกลีบให้เท่ากัน เมื่อร้อยครบจำนวนกลีบในแถวที่ 1 ตามต้องการแล้วก็เริ่มร้อยแถวที่ 2 โดยกลีบแรกของแถวที่ 2 นี้จะต้องอยู่ระหว่างกลีบสุดท้ายและกลีบที่ 1 ของแถวที่ 1 และกลีบต่อๆ ไปก็ร้อยให้สับหว่างเช่นกันทุกแถวและจำนวนกลีบของแต่ละแถวก็ต้องเท่ากันด้วย 6. มาลัยกลมแบบมีลาย ถ้าลายด้านเดียวจะขึ้นต้นจำนวนกี่กลีบก็ได้ แต่ถ้าเป็นมาลัยกลมแบบมีลายสองด้านจะต้องขึ้นจำนวนกลีบคู่เสมอ นิยมขึ้น 8 หรือ 10 กลีบ หรือมากกว่านั้น (ถ้าเป็นมาลัยที่มีขนาดใหญ่) วิธีการร้อยก็เรียงวนโดยรอบเข็มเช่นกัน พอถึงลวดลายก็ร้อยกลีบที่มีสีต่างไปจากสีกลีบที่ร้อยเป็นพื้นอยู่เดิมแล้วนั่นเอง จะร้อยลายอะไรนั้นขึ้นอยู่กับความต้องการหรือเห็นว่าสวยงามเหมาะสมเป็นสำคัญ
          วิธีร้อยมาลัยกลมลายเกลียวคู่ แถวที่ 1 ใบ 2 กุหลาบ 2 ใบ 2 กุหลาบ 2 โดยรอบร้อยเว้นระยะห่างแต่ละกลีบให้เท่าๆ กัน แถวที่ 2 ใบ 2 ( ใบแรกอยู่ระหว่างใบที่ 1 กับ 2 ของแถวที่ 1 ) กุหลาบ 2 ใบ 2 กุหลาบ 2 แถวที่ 3 – 14 ร้อยเช่นเดียวกับแถวที่ 2 โดยแต่ละแถวให้กลีบสับหว่างกันทุกแถวเสมอ กลีบที่ 3 -4 ของแต่ละแถว คือลายเกลียวที่ 1 และกลีบที่ 7- 8 ของแต่ละแถว คือลายเกลียวที่ 2 เมื่อร้อยเสร็จแล้วจะเห็นว่าเกลียวทั้งสองนี้จะเคลื่อนขนานเวียนขึ้นไปรอบเข็ม ถ้าร้อยกลีบแรกของแถวที่ 2 อยู่ระหว่างกลีบสุดท้ายกับกลีบที่ 1 ของแถวแรก แถวอื่นๆ ก็เช่นกันจะได้ลายเกลียวที่หมุนเคลื่อนที่ด้านตรงข้ามคือลายจะเคลื่อนจากด้านขวามือออกไปด้านนอกตัว แล้วเวียนกลับเข้ามาทางด้านซ้ายมือ

ข้อพึงระวัง ->

ในส่วนของการเก็บรักษาดอกไม้ อย่าพรมน้ำ เพราะจะทำให้ดอกช้ำและเน่า ควรใส่ถุงพลาสติกรัดปากถุงให้แน่น เก็บเข้าตู้เย็นชั้นล่างห่อใส่ตะแกรงผึ่งลม

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดนนทบุรี
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา