ความรู้สัมมาชีพชุมชน

เกษตรผสมผสาน

โดย : นางสาลี่ วรรณสุข วันที่ : 2017-03-24

ที่อยู่ : บ้านเลขที่ 28 หมู่ 9 ตำบลท่าอิฐ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

ครอบครัวของข้าพเจ้าได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ข้าพเจ้าได้ช่วยพ่อแม่ทำสวนมาตั้งแต่เยาว์วัย ได้แก่การปลูกกล้วย ปลูกทุเรียน เป็นต้น และได้รับความรู้การทำเกษตรกรรมเรื่อยมา และทำเป็นอาชีพมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้ประสบกับปัญหาด้านต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ผลผลิตราคาตกต่ำ และปัญหาอุทกภัย ต่อมาได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่าง ๆ ในการให้ความรู้ ในการลดความเสี่ยงจากความผันแปรของราคาผลผลิต และลดความเสี่ยงจากความผันแปรของสภาพอากาศ จึงได้มีความคิดที่จะพัฒนาการทำเกษตรกรรมจากการปลูกผลไม้ไม่กี่ชนิด มาทำเกษตรกรรมแบบผสมผสาน ซึ่งได้รับความรู้จากหน่วยงานต่าง ๆ บวกกับองค์ความรู้ที่ข้าพเจ้ามีอยู่แล้ว  พร้อมทั้งนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จากพระราชดำรัสของในหลวง รัชกาลที่ 9 ประกอบด้วย 3 ห่วง 2 เงื่อนไข เป็นแนวคิดที่ยึดหลักทางสายกลาง นำมาปฏิบัติในอาชีพของข้าพเจ้า ให้อยู่อย่างพอเพียง พอประมาณ และมีเหตุผล หันมาทำเกษตรกรรมแบบผสมผสาน คือการปลูกพืชหลายชนิดที่เอื้อเฟื้อต่อกัน โดยส่วนใหญ่แล้วปลูกพืชที่พบภายในสวน มีทั้งไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผักสมุนไพร และผักสวนครัวอื่น ๆ เรียกได้ว่าเป็นการผสมผสานทุกสิ่งทุกอย่าง สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

วัตถุประสงค์ ->

  1. เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางรายได้
  2. เพิ่มรายได้จากพื้นที่ที่จำกัด
  3. เพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติ
  4. เกิดการหมุนเวียนผลผลิตทางการเกษตร
  5. เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

อุปกรณ์ ->

  1. พันธุ์พืช
  2. พันธุ์สัตว์
  3. ปุ๋ยจากธรรมชาติ
  4. อุปกรณ์ทางการเกษตร เช่น จอบ เสียม บัวรดน้ำ
  5. โรงเรือนสำหรับสัตว์เลี้ยง

กระบวนการ/ขั้นตอน->

  1. ดูสภาพดินก่อนว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร สภาพดินเหมาะกับการปลูกพืชอะไรได้บ้าง และดูว่าสัตว์ที่จะเลี้ยงนั้น เอื้อประโยชน์กับพืชที่ปลูกอย่างไรบ้าง ใช้เป็นอาหารหรือใช้ประโยชน์จากพืช และสัตว์ มีการเอื้อประโยชน์ต่อกันอย่างไร
  2. ขั้นตอนการปลูก ดำเนินการปลูกไม้ผลหลักที่เหมาะสมกับสภาพดิน และปลูกแซมกับพืชตระกูลถั่ว หรือผักสวนครัวที่ใช้ในครัวเรือน เช่น ปลูกกล้วยแซมด้วยมะนาว เป็นต้น สลับหมุนเวียนกันไป
  3. ขั้นตอนการบำรุงดูแลรักษา ลดการใช้สารเคมี ใช้ปุ๋ยที่ทำมาจากธรรมชาติแทน ได้แก่ น้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก เป็นต้น เพื่อลดต้นทุนในการผลิต
  4. ขั้นตอนการเลี้ยงสัตว์ ที่เอื้อประโยชน์ต่อการปลูกพืช เช่นการเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เริ่มจากการเตรียมโรงเรือนสำหรับเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ ควรทำความสะอาด ปรับพื้นคอก และโรยด้วยปูนขาว ต้องเป็นโรงเรือนที่กันแดด กันฝน มีอากาศถ่ายเทสะดวก  มีลานกว้าง และจัดที่ไว้ให้อาหารและน้ำ และในกรณีเป็นพื้นที่ริมน้ำ ให้ทำตาข่ายล้อมรอบกั้นเป็นเขต เปิดให้เป็ดได้ออกอาหารตามธรรมชาติ
  5. ขั้นตอนการเก็บเกี่ยวผลผลิต ไม้ผลและพืชแซมแต่ละชนิดมีอายุการเก็บเกี่ยวไม่เท่ากัน แล้วแต่ตามความเหมาะสมของพันธุ์พืชแต่ละชนิด

ข้อพึงระวัง ->

  1. ควรปรับปรุงพื้นที่และบำรุงดินก่อนการเพาะปลูก
  2. ลดการใช้สารเคมี

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดนนทบุรี
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา