ความรู้สัมมาชีพชุมชน

image1

การเลี้ยงผึ้งโพรงไทย

โดย : นายบัณฑูรณ์ ภูมิธร วันที่ : 2017-05-15-09:41:41

ที่อยู่ : 61/1 หมู่ที่ 7 ตำบลสี่ขีด

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

ปราชญ์ชาวบ้านได้ริเริ่มเลี้ยงผึ้งโดยรับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากบรรพบุรุษ จากรุ่นสู่รุ่น ประกอบกับชุมชนบ้านยางโพรง มีการทำเกษตรกันมาก มีสวนผลไม้ สวนยางพารา สวนปาล์ม ซึ่งเป็นอาหารอย่างอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเลี้ยงผึ้งเป็นอย่างมาก

วัตถุประสงค์ ->

1. เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือน

2. เพื่อเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นไว้

3. เพื่อส่งเสริมกลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรงไทย

4. เพื่อเป็นแหล่งผลิตน้ำผึ้งของชุมชน

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

1. อุปกรณ์กล่องเลี้ยงผึ้ง

2. ขวดบรรจุน้ำผึ้ง

อุปกรณ์ ->

๑. กระป๋องรมควัน 

๒. หมวกคลุมศีรษะ 

๓. กล่องขังนางพญา 

๔. มีด 

๕. คอนผึ้ง ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ทั้งหมด ๔ อัน ทำเป็นกรอบสี่เหลี่ยม 

๖. กล่องเลี้ยงผึ้ง ทำด้วยแผ่นไม้เป็นรูปสี่เหลี่ยม มีความยาว ๕๐ ซม. ความกว้าง ๔๑ ซม. ความสูง ๒๔ ซม. 

๗. แผ่นรังเทียม หรือแผ่นฐานรวงคือ แผ่นไขผึ้ง ที่ถูกพิมพ์ให้เป็นรอยตารางทั้งหกเหลี่ยม ทั้งสองหน้า นำมาตรึงตรงกลางของคอน เพื่อที่จะให้ผึ้งงานสร้างหลอดรวง 

๘. อุปกรณ์อื่น ๆ เช่น ค้อน ตะปู เลื่อย ลวด มีด 

กระบวนการ/ขั้นตอน->

การหาผึ้งโพรงจากธรรมชาติ เพื่อนำมาเลี้ยง

 

         ก่อนที่จะจับผึ้งมาเลี้ยง ต้องสำรวจดูว่ามีผึ้งอยู่ที่ใดบ้าง ในการจับผึ้งมาเลี้ยง ควรกระทำในเวลาเย็น เพราะเป็นช่วงที่ผึ้งงานกำลังจะกลับรังเกือบหมด โดยทำเป็นขั้นตอน ดังนี้ 

๑. เตรียมกล่องเลี้ยงผึ้ง คอน เครื่องพ่นควันสยบผึ้ง กล่องขังนางพญา และอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้พร้อม 

๒. เตรียมบริเวณที่จะจับ ให้มีความสะดวกต่อการปฏิบัติงาน โดยกำจัดสิ่งกีดขวางให้หมดก่อน จากนั้นสำรวจดูว่าผึ้งมีจำนวนรวงประมาณเท่าใด 

๓. พ่นควันให้ทั่วทั้งรังทั้งหมด เพื่อสยบผึ้ง ระวังอย่าให้มากเกินไป อาจทำให้ผึ้งตายได้ 

๔. จากนั้น ใช้มือค่อย ๆ จับรวงผึ้ง และค่อย ๆ ดึงรวงผึ้งใส่ภาชนะ ที่ละรวง ในการเคลื่อนไหวร่างกาย ควรกระทำอย่างช้า ๆ 

๕. ในขณะที่ดึงรวงผึ้งนั้น ต้องระวังจับให้เบา ๆ เพราะรวงผึ้งอาจจะบี้แบน ทำให้เสียหาย ขณะที่ดึงรวงผึ้งนั้น ต้องใช้สายตามองหาผึ้งนางพญา อย่างละเอียดตลอดเวลา ถ้าหากพบผึ้งนางพญา ให้ใช้มือรวบปีกทั้ง ๔ เข้าด้วยกัน จับเบา ๆ อย่าจับที่ตัวนางพญา เพราะอาจทำให้ตายได้ หลังจากนั้น จับนางพญาใส่กล่องขังนางพญา แล้วจับผึ้งงานอายุน้อย ๆ ใส่ลงไปด้วย ๓-๕ ตัว พร้อมกับตัดเอารวงผึ้งที่มีน้ำหวาน ใส่ลงไปด้วยเพื่อเป็นอาหารสำรอง

๖. เมื่อจับผึ้งนางพญาได้แล้ว ก็นำรวงผึ้งมาผนึกใส่คอนไม้ โดยทำเป็นขั้นตอน ดังนี้

- นำรวงผึ้งมาวางบนฝ่ามือ แล้วนำคอนมาทาบ ตัดให้ได้ขนาดพอที่จะใส่คอนได้ โดยรวงผึ้งที่จะนำมาใส่นั้น พยายามเลือกรวงผึ้งที่มีอายุน้อย ๆ และมีตัวอ่อนของผึ้งมาก ๆ

- เมื่อวัด และตัดรวงผึ้งได้ขนาดแล้ว พลิกคอนให้เส้นลวดทับรวงผึ้ง แล้วใช้มีดคม ๆ กรีดตามรอยเส้นลวด ให้ลึกประมาณครึ่งรวง ตามรอยเส้นลวดทั้งสามเส้น ใช้มือกดเส้นลวด ให้ฝังลึกลงไปในรวงผึ้ง แล้วใช้เชือกเส้นเล็ก ๆ ผูกประกอบรวงผึ้งเพื่อไม่ให้หลุด (เชือกนี้จะแก้ออกในวันที่ ๓) 

-นำรวงผึ้งที่ใส่คอนเสร็จแล้ว วางใส่ในกล่องเลี้ยงผึ้งที่เตรียมไว้ ซึ่งในการวางคอนผึ้งให้ห่างกัน ๑ ซม. 

๗. นำเอาผึ้งนางพญา ที่ใส่ในกล่องขังนางพญา มาผูกติดกับคอนผึ้งคอนใดก็ได้

๘. หลังจากผูกนางพญาติดกับคอนแล้ว ให้นำกล่องเลี้ยงผึ้งไปตั้งไว้ที่ตำแหน่งเดิม ที่รังเคยอยู่ ผึ้งจะบินเข้าสู่รัง เพื่อหานางพญาที่ถูกขังไว้ ประมาณ ๑ คืน ผึ้งก็จะเข้ากล่องเลี้ยงเกือบทั้งหมด

๙. รุ่งขึ้น ให้นำกล่องเลี้ยงที่ขังผึ้งทั้งหมด เคลื่อนย้ายไปตั้งยังสถานที่ที่จะเลี้ยง แล้วรีบเปิดหน้ารัง เพื่อให้ผึ้งงานออกหากินตามปกติ และปล่อยผึ้งนางพญาให้ดำรงชีวิตต่อไปตามปกติ

ข้อพึงระวัง ->

รูปประกอบ -> image1 image2 image3

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดนครศรีธรรมราช
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา