ความรู้สัมมาชีพชุมชน

การจัสานไม้ไผ่

โดย : นายใย จงเย็นกลาง วันที่ : 2017-03-14-19:15:45

ที่อยู่ : ๓๒ หมู่ที่ ๔ ต.ดอนใหญ่ อ.คง จ.นครราชสีมา

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

เมื่อเสร็จจากฤดูเก็บเกี่ยวข้าวนาปีแล้ว   ข้าพเจ้ามีเวลาว่างจากการทำเกษตรกรรม จึงใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์โดยการประกอบอาชีพต่างๆ เพื่อเสริมรายได้ การจักสานไม้ไผ่     ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ทำสิ่งของเครื่องใช้ไว้ใช้เองและทำไว้ขายในอดีตจะมีรถเข้ามารับซื้อถึงในหมู่บ้านเครื่องจักสาน เช่น กระบุง,ตะกร้า,กระด้ง และตะข้อง ไซ  สุ่ม  เป็นต้น สามารถสร้างรายได้ให้กับตนเอง   โดยข้าพเจ้ายึดอาชีพจักสานเครื่องจักสานมาตั้งแต่ในอดีตมาจนถึงปัจจุบันโดยสืบทอดมาจากรุ่น พ่อ แม่ เมื่อว่างจากการทำการเกษตรกรรม ซึ่งข้าพเจ้าจะทำการพลิกแพลงลวดลายของเครื่องจักสานอยู่เสมอ และสามารถทำตามความต้องการของลูกค้าที่มาสั่งซื้อได้เป็นอย่างดี ในการจักสานจะใช้ความประณีตและละเอียดอ่อนในการสานเครื่องจักสานต่างๆ จึงทำให้เครื่องสักสานของข้าเจ้าเป็นที่นิยมของลูกค้า

          ในปัจจุบันเนื่องจากต้นไผ่มีจำนวนน้อยลงทำให้เครื่องจักสานในชุมชนได้รับความนิยมลดน้อยลง แต่ข้าพเจ้ายังคงจักสานเครื่องจักสานอยู่เสมอ โดยขายตามตลาดและยังคงทำเป็นอาชีพเสริมเมื่อว่างจากการทำเกษตรกรรม โดยทำตามการสั่งทำของลูกค้า

วัตถุประสงค์ ->

๑. เพื่อสืบทอดภูมิปัญญา

                ๒. เพื่อใช้เวลาว่างในการทำอาชีพเสริม

                ๓. เพื่อลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

1. ไม้ไผ่ 

๒. ลวด 

อุปกรณ์ ->

1. มีด 

๒. คีมปากนกแก้ว 

๓. ผ้าพันนิ้วมือ

กระบวนการ/ขั้นตอน->

การเตรียมไม้ไผ่ เลือกลำต้นที่มีความตรง ลำปล้องยาว ผิวเรียบเป็นมัน ไม่แคะแกรน ไม่บิดงอ  ไม่เป็นมอดแมง  ผิวไม่ถลอก และมีอายุระหว่าง ๑ - ๒ ปี จะใช้สานได้ดี เพราะไม้ในช่วงอายุดังกล่าวจะผ่า จัก เหลา และสานได้ง่าย ดัดโค้งได้ไม่แตกหัก หากไม้แก่เกินไปจะทำให้ยุ่งยาก เหลายาก เปราะแข็งเกินไป ลำบากในการนำมาสาน หากไม้อ่อนไป จะเสาะ หักง่ายและบวม สานได้ไม่ค่อยแน่น ไม่ควรใช้ไม้ไผ่ที่มีสีต่างกัน หลังจากตัดออกมาจากกอ นำมาแช่น้ำตลอดทั้งลำ เพื่อให้ไม้ไผ่มีความสดและป้องกันมด ปลวก มอด เจาะไช

เมื่อตัดไม้มาจากกอแล้วก็จะมาแบ่งไม้ทั้งลำออกเป็น ๔ ส่วน คือ

๑. ส่วนโคนต้นจะเลือกเอาไว้ขึ้นโครง   เพราะส่วนนี้ไม้จะแข็ง

๒. ส่วนต่อจากโคน เอาไว้ทำตอกตั้ง ปกติแล้วจะตัดเป็นท่อนๆยาวท่อนละ ๒ ปล้อง

๓. ส่วนที่ ๓ จะตัดไว้ยาว เพื่อทำตอกเวียนหรือตอกสานซึ่งจะตัดแต่ละท่อนยาวประมาณ ๔ - ๖ ปล้อง

๔. ส่วนปลาย เอาไว้สำหรับขอบปาก เพราะส่วนปลายยังอ่อนสามารถดัดแต่งโค้งได้ง่ายกว่าส่วนโคน

เมื่อจะนำมาใช้งานจึงตัดเอาตามขนาดที่ต้องการมาผ่าออกแล้วนำไป จักเป็นตอกแล้วตากแดดให้แห้ง การผ่าจะผ่าจากปลายลงมาหาโคน และผ่าทแยงให้เฉียดตาทั้ง ๒ ข้าง การผ่าและจัก จะผ่าและจักทีละท่อน ไม่นิยมผ่าทิ้งไว้ ทั้งนี้เพราะถ้าจักไม่ทันแล้วจะทำให้เหนียวจักยาก ลำบากในการจักและเหลา การผ่านิยมผ่ากลางก่อนแล้วจึงผ่าซอยออกเป็นซี่ๆ ตามขนาดความกว้างของตอกที่จะสาน

          การจักตอก การจักตอกนั้นเมื่อผ่าออกมาเป็นซี่ ๆ แล้วก็จะทำการผ่าไส้ในออก (เยื่อไม้) ส่วนผิวนอกจะขูดแต่งให้เรียบร้อย ตอกมี ๒ ชนิด คือ ตอกปื้น (จักตามผิว) และตอกตะแคง (จักขวางผิว) การสานเครื่องจักสานนิยมจักตามผิว สำหรับตอกตั้งนั้นตรงกลางที่จะสานเป็นก้นของเครื่องจักสาน ต้องเสี้ยมตอกให้เรียบก่อนแล้วจึงจักทั้งนี้เพราะส่วนก้นของเครื่องจักสานจะแคบกว่าส่วนปากตอกแต่ละเส้นจะจักให้มีความหนาประมาณ ๑ มิลลิเมตรทั้งเส้นสานและเส้นยืนส่วนตอกเส้นสานที่ใช้สำหรับสานไพรนั้นจะจักและเหลาเป็นเส้นเล็กๆ กลมๆ

          การเหลา เมื่อจักเรียบร้อยแล้วก็จะเหลา (จะจักและเหลาให้เสร็จเป็นท่อนๆ) การเหลานั้นปกติจะใช้ผ้าพันนิ้วมือที่รองตอกก่อน ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันมิให้มีดหรือคมไม้บาดมือได้ ในการเหลาตอกสำหรับสานไพร จะเหลาทีละ ๔ - ๕ เส้น พร้อมกัน โดยการจับรวบกันเหลา ถ้าเหลาที่ละเส้นจะทำให้ช้า 

          การก่อก้นเมื่อเตรียมตอกเรียบร้อยแล้ว จะทำการก่อก้น จำนวนเส้นที่ใช้ก่ออาจเป็นเส้นคู่หรือคี่ เช่น ๒๖ เส้น, ๒๗ เส้นหรือ ๓๒ เส้น แล้วแต่ว่าจะสานเครื่องจักสาน ขนาดเท่าใด และการก่อก้นจะนำเอาตอกส่วนที่ติดผิวไว้ตรงกลาง ๒ - ๓ คู่ ที่เหลือจึงจะเป็นตอกส่วนใน เพื่อให้เกิดความแข็งแรงและสวยงามและต้องแบ่งตอกแต่ละข้างออกเท่าๆ กัน เพื่อตอกจะได้เสมอเวลาขึ้นรูปแล้ว

          ใช้ไม้ขัดก้น เมื่อสานก้นเรียบร้อยแล้วก็จะหาไม้ ๒ อันมาขัดกัน โดยการขัดไขว้กัน ๒ อัน เพื่อให้แข็งแรงก่อนที่จะขึ้นรูปต่อไป

          การสานขึ้นรูป เมื่อขัดก้นเรียบร้อยแล้วก็จะใช้ตอกเวียนหรือตอกสานมาสานขึ้นรูป การขึ้นรูปนี้ เป็นขั้นตอนที่สำคัญตอนหนึ่ง ต้องอาศัยความชำนาญเพราะอาจจะทำให้เครื่องจักสานที่สานบิดเบี้ยวได้ การขึ้นรูปจะทำการหักมุมตอกยืน โดยใช้ดันกับหัวเข่า และจะต้องดึงแต่ละมุมให้เท่าๆ กัน

          เมื่อทำการสานเป็นรูปทรงแล้วก่อนจะหมดตอกตั้ง จะใช้ตอกเส้นเล็กทำการสานไพร การสานไพร เพื่อช่วยให้เครื่องจักสานมั่นคงแข็งแรงมากขึ้น

           ไพร หมายถึง ขอบ,ริม, เรียกตอกเส้นกลมๆ ที่อยู่ใต้ขอบเครื่องจักสาน กระจาดเป็นต้น ว่า ตอกไพร

           การตัดแต่งปาก เมื่อสานไพรเรียบร้อยแล้วก็จะทำการตัดปลายตอกตั้งให้เสมอกัน ก่อนที่จะทำการใส่ขอบปากต่อไป ขอบเครื่องจักสานจะทำจากไม้ ๒ วง คือ วงนอกและวงใน โดยทำการขดให้กลม มัดตากแดดทิ้งเอาไว้ให้แห้งได้ขนาดตามที่ต้องการ เสร็จแล้ว นำไม้ขอบมาแกะมัดออกจากกัน โดยให้วงหนึ่งอยู่ด้านในอีกวงหนึ่งอยู่ด้านนอกของปากเครื่องจักสาน ระหว่างกลางขอบทั้งสองจะใส่ไม้เข้าไป ๓ เส้น โดยใช้วิธีพันไขว้กันแล้วใช้เหล็กแหลมแทงนำก่อนที่จะใช้ตอกเส้นเล็กมัดตรึงให้ติดกัน และแต่งให้กลมก่อนที่จะใช้ลวดมัดแต่งให้เรียบร้อย

          การติดตังมัง เมื่อเข้าขอบปากและมัดลวดแต่งเรียบร้อยแล้วก็จะทำการติดตังมังที่ก้น ทั้งนี้เพื่อช่วยให้ส่วนก้นแข็งขึ้นจะมีอายุการใช้งานได้นาน หลังจากนั้นก็จะทำห่วงที่ปาก เพื่อทำการร้อยเชือกสำหรับหาบต่อไป เป็นอันเสร็จ หากต้องการความสวยงามเพิ่มขึ้น ให้ทาแลกเกอร์เพื่อรักษาไม้และให้ความสวยงาม   นำออกจำหน่ายต่อไป

          ตังมัง คือ ไม้ที่เหลาแหลมทั้งสองข้าง ไว้กลัดก้นเครื่องจักสานทำให้เครื่องจักสานแข็งแรงคงทน              

          จัก คือ การเอามีดผ่าไม้ไผ่ให้แตกแยกออกจากกันเป็นเส้นบางๆ

           สาน คือการใช้เส้นตอกหรือสิ่งที่เป็นเส้นอื่นๆ ที่อ่อนตัวขัดกัน คือ "ยก" และ "ข่ม" ให้เกิดเป็นลายตามต้องการ

ข้อพึงระวัง ->

การเลือกไม้  และการจักตอก  จะมีการเลือกที่แตกต่าง  ตอกก็มีขนาดแตกต่างกัน  ซึ่งแล้วแต่ชิ้นงานว่าเป็นผลิตภัณฑ์อะไร

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดนครราชสีมา
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา