ความรู้สัมมาชีพชุมชน

image1

เทคนิคการลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีในการปลูกพืชด้วยการทำปุ๋ยอินทรีย์ ใช้เอง

โดย : นายประไพ ศิริบุญคุณ วันที่ : 2017-03-20-18:22:38

ที่อยู่ : บ้านเลขที่ ๗๔ หมู่ ๖ ตำบลหนองมะนาว อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

บ้านห้วยทราย  เป็นหมู่บ้านที่ทำอาชีพการเกษตร  ทำไร่  ทำนา  ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม  เป็นหลัก  ในปี  พ.ศ.  ๒๕๕๒  ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ  จึงได้มีการประชุมเพื่อปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์  และแผนการพัฒนาหมู่บ้าน   เน้นการพัฒนาผ่านศูนย์เรียนรู้ในระบบกลุ่ม  เพื่อให้คนในชุมชนมีโอกาสเข้ามาเรียนรู้และทำกิจกรรมร่วมกันตามความถนัด  และความจำเป็นในการดำเนินชีวิตตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  ซึ่งเกิดกลุ่มกิจกรรมขึ้นมามากมายหลายกลุ่มซึ่งคนในชุมชนได้ยึดเป็นอาชีพเสริมเนื่องจากเกิดรายได้จากการทำกิจกรรม  และกลุ่มต่าง ๆ  ยังเป็นที่สนใจในการศึกษาดูงานของคนภายนอก  สถาบันการศึกษา  และส่วนราชการทั้งในอำเภอ  ในจังหวัด  ภาคเอกชน  ที่ขอเข้ามาศึกษาดูงาน  และทำงานวิจัยร่วมกับกลุ่มต่าง ๆ  ในหมู่บ้าน  ข้าพเจ้าจึงได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอคง  จัดระบบกลุ่มแต่ละกลุ่มให้มีกรรมการขึ้นมารับผิดชอบกลุ่ม  ปรับปรุงระเบียบของกลุ่มต่าง ๆ ให้มีมาตรฐาน  จัดจุดถ่ายทอดกิจกรรมและวิทยากรผู้ถ่ายทอดความรู้ประจำจุดเรียนรู้  เอาไว้ในศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านห้วยทราย  และในขณะนั้นทางหมู่บ้านมีปัญหาในเรื่องของการสีข้าว  ซึ่งคนในชุมชนจะนำข้าวไปสีตามโรงสีต่าง ๆ ได้ข้าวสารกลับมาน้อย  ข้าวหัก  และต้องจ่ายค่าสีกระสอบละ  ๒๐  บาท  ซึ่งคนในชุมชนมักจะสีข้าวขายเป็นข้าวสารเพื่อจำหน่ายซึ่งเป็นการแก้ปัญหาราคาข้าวเปลือกต่ำกว่าต้นทุนในการผลิต  ปัญหาดังกล่าวได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยหาทางแก้ไขในเวทีประชาคมของหมู่บ้าน  จึงมีการทำโครงการจัดสร้างโรงสีชุมชุนไว้ในศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านห้วยทราย เพื่อให้บริการในการสีข้าวฟรี  และนำผลิตผลที่ได้เหลือจากการสีข้าว  (แกลบ)  มาใช้ประโยชน์และเพิ่มมูลค่าโดยนำมาแปรรูปเป็นปุ๋ยอินทรีย์  เพื่อใช้แก้ปัญหาในเรื่องต้นทุนการผลิตทางการเกษตรที่สูง

วัตถุประสงค์ ->

เพื่อแก้ปัญหาต้นทุนการผลิตในเรื่องปุ๋ยเคมีที่มีราคาสูง  และทำให้ดินเสื่อม

เพื่อสร้างแหล่งเรียนรู้เรื่องการลดต้นทุนในการผลิต  ให้คนในหมู่บ้านและชุมชน 

เพื่อส่งเสริมให้คนในชุมชนมีการรวมกลุ่มในการเรียนรู้  แก้ปัญหา  ร่วมกันผลิต  ร่วมกันซื้อ  ร่วมกันขาย  และมีการจัดสรรกำไรคืนให้ชุมชนและสมาชิก

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

1. มูลสัตว์  (วัว  กระบือ)  300  กิโลกรัม

2. แกลบ  และแกลบดำ   300  กิโลกรัม

3. ฟางข้าว  ใบไม้  เศษวัชพืช 

4. ยูเรีย  5  กิโลกรัม

5. รำอ่อน  20  กิโลกรัม

6. กากน้ำตาล  15  กิโลกรัม

7. ปูนขาว  25  กิโลกรัม

8. สารเร่ง  พด.2   1  ซอง

 

อุปกรณ์ ->

ถัง  200  ลิตร  สำหรับผสม  นำ้  กากนำ้ตาล  และสารเร่ง  พด. 2

กระบวนการ/ขั้นตอน->

1. ชั้นที่ 1 นำฟางข้าว  ใบไม้  เศษวัชพืช มางวางบนพื้น  หนาประมาณ  20  เซ็นติเมตร    ชั้นที่ 2  มูลสัตว์  หนา  20  เซ็นติเมตร  ช้ัั้นที่ 3 แกลบ  แกลบดำ  หนา  20  เซ็นติเมตร

2. ในขั้นตอนของการวางวัสดุ  ตามข้อ 1  แต่ละชั้นให้  หว่านปุ๋ยยูเรีย  ปูนขาว  และรำอ่อนไปด้วย  แล้วลดด้วยนำ้ผสมกากนำ้ตาลและสารเร่ง  พด.2  ให้ชุ่มให้ทั่วถึง

3. ทำตามขั้นตอนที่ 1 และ 2  ประมาณ  3-4 ชั้น  จะได้ปุ๋ยหมัก  1 กอง  (นำ้หนักประมาณ 1 ตัน)

4. คลุมด้วยผ้ายางพลาสติก  และหาวัสดุวางทับกันลมเปิด

5. เปิดผ้ายางพลาสติก  กลับกองปุ๋ย  ทุก  20  วัน  แล้วคลุมด้วยผ้ายางพลาสติกปิดทับเหมืยเดิม

6. ใช้ระยะเวลาประมาณ  3  เดือน  สังเกตุหรือเจาะลงไปในกองปุ๋ย  ไม่มีความร้อน  แสดงว่าปุ๋ยหมักมีการย่อยสลายสามารถนำไปใช้ได้แล้ว

ข้อพึงระวัง ->

ในการวางวัสดุกองปุ๋ยแต่ละชั้น  ควรหว่านปุ๋ยยูเรีย  ปูนขาว  รำอ่อน  และลดส่วนผสมระหว่าง นำ้  กากนำ้ตาล  สารเร่ง  พด.2  ให้ทั่วถึง  เพราะหากไม่ทั่วถึง  การย่อยสลายจะไม่สมบูรณ์ 

รูปประกอบ -> image1

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดนครราชสีมา
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา