ความรู้สัมมาชีพชุมชน

การทอผ้าไหม

โดย : นางละมุล แก้วนอก วันที่ : 2017-03-26-16:53:53

ที่อยู่ : 122 หมู่ที่ 3 ตำบลสามเมือง อำเภอสีดา จังหวัดนครราชสีมา

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

ได้รับการถ่ายทอดภูมิปัญญามาจากรุ่นบรรพบุรุษ ปู่ ย่า ตา ยาย  พอว่างเว้นจากการทำนา ก็จะปลูกหม่อน เลี้ยงไหม เพื่อเอาเส้นไหมที่ได้มาทอเป็นผืนผ้าสำหรับตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าให้สมาชิกในครัวเรือนได้สวมใส่ โดยเฉพาะการสวมใส่ในโอกาสไปทำบุญที่วัด งานบุญ งานประเพณีต่าง ๆ เมื่อทำการทอผ้าไหมมานานก็มีประสบการณ์ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน  จนถึงประมาณปี พ.ศ. 2532 – 2533  สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ เห็นว่าบ้านแฝก  มีภูมิปัญญาในเรื่องของการทำผ้าไหม จึงได้ประสานให้หมู่บ้านส่งผ้าไหมเข้าประกวดที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์  และได้ส่งประกวดผ้าเรื่อย ๆ จนถึงปี พ.ศ.2537  บ้านแฝกก็ได้ส่งผ้าไหมมัดหมี่ ลายขอดาวล้อมเดือน ซึ่งมี  นางเหวียน วรรณปะกา เป็นเจ้าของผ้าไหม จนได้รับรางวัลที่ 1 ประเภทผ้าไหมมัดหมี่  จึงทำให้ผ้าไหมบ้านแฝกมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย จึงเป็นแรงกระตุ้นให้มีการจัดตั้งกลุ่มขึ้นมา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2537 

วัตถุประสงค์ ->

๑. สนับสนุนเป็นอาชีพเสริมแก่กลุ่ม/องค์กร

๒. พัฒนาทักษะความรู้ในการทำอาชีพเสริม

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

1.ใบหม่อน

          2.รังไหม    

อุปกรณ์ ->

๑. เตา   หม้อย้อม         ๒.ห่วงย้อม

                 ๓.กะละมัง                      ๔.ไม้พายสำหรับคนหรือกวนสีให้ละลาย

                 ๕.ถุงมือยาง                   ๖.ระวิง

                 ๗.อัก

                 ๘.โฮงค้นหมี่

                 ๙.โฮงมัดหมี่

                 ๑๐.ใบมีด กรรไกรเล็ก(สำหรับตัดเชือกฟาง)

                 ๑๑.กี่สำหรับทอผ้า

                 ๑๒.ฟืมทอผ้า

                 ๑๓.กระสวย

                 ๑๔.ไนหรือหลง สำหรับกรอเส้นไหม

                  ๑๕.หลอดสำหรับกอเส้นพุ่ง

กระบวนการ/ขั้นตอน->

๑.คัดเลือกเส้นไหมให้มีขนาดสม่ำเสมอ  เส้นไหมต้องสะอาด

                 ๒.นำเส้นไหมมาฟอกแยกกาวเส้นไหม (ด่อง) แกว่งหรือเกลียวเส้นไหมเพื่อไม่ให้เส้นไหมแตก

                 ๓.นำเส้นไหมที่ฟอกแล้วมาย้อมสีเหลือง ประมาณ 30 นาที ล้างสีออกด้วยน้ำสะอาด แล้วกระตุกเส้นไหม เพื่อให้เส้นเหยียดตรง ผึ่งให้แห้ง

                 ๔.กวักเส้นไหมใส่อัก

                 ๕.ค้นปอยหมี่

                 ๖.นำเส้นไหมมามัดเป็นลายตามที่ต้องการ

                 ๗.ย้อมสีปอยหมี่ (ถ้าต้องการหลายสีก็ย้อมหลายครั้ง)

                 ๘.นำเส้นไหมมาย้อมสีเพื่อโอบทับลาย แล้วแกะเชือกที่มัดลายออก ตากเส้นไหมให้แห้ง

                 ๙.นำไหมที่เป็นเส้นพุ่งกรอใส่หลอด

                 ๑๐.นำไหมที่จะใช้เป็นเส้นยืนย้อมสี และลงแป้ง

                 ๑๑.กรอเส้นยืนใส่หลอด /เดินเส้นยืน

                 ๑๒.นำเส้นไหมเส้นยืนต่อใส่ฟืม

                 ๑๓.ทอตามลวดลาย

ข้อพึงระวัง ->

๑.การมัดหมี่ มัดลายต้องสม่ำเสมอ  เชือกฟางที่ใช้มัดหมี่ต้องมีขนาดของเส้นสม่ำเสมอกัน

                 ๒.เลือกเส้นไหมมีมีขนาดเส้นเท่าๆกัน

                 ๓.ย้อมสีให้เข้าข้อ ย้อมให้สีมีความสม่ำเสมอ

                 ๔. มีการปั่นควบเส้นไหม

                 ๕.ผู้ที่ทอต้องมีความอดทน ใจเย็น ต้องมีความแม่นยำ ประณีต มีความชำนาญเฉพาะตัว เนื่องจากเป็นลายที่ละเอียด

                 ๖.ขั้นตอนการย้อมต้องควบคุมอุณหภูมิให้สม่ำเสมอ

                        -เลือกสีย้อมให้เหมาะสมกับลวดลาย

                        -ย้อมครั้งที่ 1 ในน้ำอุ่นพอประมาณ เพื่อป้องกันสีด่าง

                        - ย้อมครั้งที่ 2 ในน้ำเดือด เพื่อให้สีติดทนนาน

                        -ขยายลำหมี่ให้มากขึ้น เพื่อจะให้สีติดและเข้าข้อได้ดี สีสม่ำเสมอ

                        -การมัดหมี่ควรเลือกไหมเส้นใหญ่       

                 ๗.อุปกรณ์ที่ใช้ต้องมีมาตรฐาน เช่น โฮงมัดหมี่ โฮงค้นหมี่ ต้องได้ฉาก กี่ต้องมีอุปกรณ์ครบถ้วน ฟันหวีต้องเหมาะสมกับขนาดเส้นไหมด้านยืน

                

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดนครราชสีมา
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา