ความรู้สัมมาชีพชุมชน

การเพาะเห็ดฟางในตะกร้า

โดย : นายจิรายุทธ์ คึมยะราช วันที่ : 2017-03-25-23:07:17

ที่อยู่ : 71 หมู่ที่ 9 ตำบลสุขไพบูลย์ อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

ต้องการส่งเสริมให้คนในชุมชนได้มีอาชีพ  มีงานทำ  สร้างรายได้ให้กับชุมชน เพื่อที่จะเรียนรู้ร่วมกันในการค้นหาช่องทางวิธีการสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ที่เหมาะสม  โดยไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อมและมีรายได้มากกว่ารายจ่าย

วัตถุประสงค์ ->

1.เพื่อให้ความรู้การเพาะพันธุ์เห็ดฟาง

2.ได้มีรายได้เสริมนอกเหนือจากรายได้หลัก

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

หัวเชื้อเห็ดฟาง อายุ 7 วัน (สังเกตจากมีเส้นใยสีขาวขึ้นบนก้อนเชื้อ)

ก้อนเชื้อเห็ดเก่า

ฟางข้าว

ต้นกล้วย

ชานอ้อย

อาหารเสริม เช่น ผักตบชวา มูลวัว ไส้นุ่น รำละเอียด

อาหารกระตุ้นหัวเชื้อ ได้แก่ แป้งสาลี หรือแป้งข้าวเหนียว

น้ำสะอาด

อุปกรณ์ ->

ตะกร้าเพาะเห็ดฟาง(ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 18 นิ้ว สูง 11 นิ้ว มีช่องขนาด 1 ตารางนิ้ว ด้านล่างเจาะรูทำช่องระบายน้ำ)

พลาสติกคลุม

สุ่มไก่ หรือวัสดุอื่นๆ สำหรับทำเป็นโครง

กระบวนการ/ขั้นตอน->

  ชั้นที่ 1 เริ่มที่นำเชื้อเห็ดฟาง ขนาด 1 ปอนด์ แกะใส่ภาชนะ และฉีกหัวเชื้อเป็นชิ้นเล็ก แล้วโรยแป้งสาลี หรือแป้งข้าวเหนียว แบ่งหัวเชื้อเห็ดออกเป็น 6 ส่วนเท่า ๆ กัน (หัวเชื้อ 1 ถุง ทำได้ 2 ตะกร้า) จากนั้นนำวัสดุเพาะ (ฟางข้าว) มารองก้นตะกร้าให้มีความสูงประมาณ 2-3 นิ้ว (กดให้แน่น ๆ) หรือสูงถึง 2 ช่องล่างของตะกร้า แล้วโรยอาหารเสริม (ผักตบชวา) ให้ชิดขอบตะกร้า หนาประมาณ 1 นิ้ว หรือสูงประมาณ 1 ช่องตะกร้า และนำเชื้อเห็ดฟางที่เตรียมไว้ 1 ส่วน วางรอบตะกร้าให้ชิดขอบตะกร้าเป็นจุด ๆ

   ชั้นที่ 2 ให้ทำแบบเดิม ในส่วนชั้นที่ 3 ให้ทำเหมือนชั้นที่ 1 และ ชั้นที่ 2 แต่เพิ่มการโรยอาหารเสริมให้เต็มพื้นที่ด้านบนให้หนา 1 นิ้ว แล้ว โรยเชื้อเห็ดฟางให้เต็มที่ โดยกระจายเป็นจุด ๆ ด้านบนตะกร้า โดยให้มีระยะห่างเท่า ๆ กัน จากนั้นโรยวัสดุเพาะ อาทิ ฟางข้าว ด้านบนอีกครั้ง หนาประมาณ 1 นิ้ว รดน้ำให้ชุ่ม

ข้อพึงระวัง ->

1.มด และ ปลวก  มดจะเข้าทำรังหรือทำลายเชื้อเห็ด ส่วนปลวกจะเข้ากินเส้นใยเห็ดและวัสดุเพาะการป้องกัน กำจัดมด และ ปลวก โดยใช้น้ำท่วมพื้นก่อนที่เพาะเห็ดฟาง 1 สัปดาห์ หว่านเกลือแกงหรือผงซักฟอกเล้กน้อย หรือ ใช้วัสดุรองก้นตะกร้าให้สูงจากพื้นดินประมาณ 20 เซนติเมตร

2.ไร โดยทั่วไป ไร จะกัดกินเส้นใยเห็ดทำให้ผลผลิตลดลง เกิดจากการนำวัสดุที่ไม่สะอาดมีไรติดมาด้วย   การป้องกันทำได้โดยเลือกวัสดุที่สะอาด ถ้ามีไรระบาดรุนแรงให้หยุดเพาะชั่วคราว ทำความสะอาดภาชนะและพื้นที่ตลอดจนเผาทำลายเศษวัสดุที่เป็นแหล่งอาศัยให้หมด

3. วัชเห็ด คือ เห็ดที่ไม่ต้องการในขณะที่เพาะเห็ดฟาง จะพบเมื่อมีอากาศร้อนเกินไป หรือ มาจากวัสดุที่เคยใช้เพาะเห็ดชนิดอื่นมาก่อน ป้องกันได้โดย เลือกวัสดุเพาะที่สะอาด แห้งและใหม่ ไม่ควรเก็บไว้นานเกินไป

4. เชื้อรา  เชื้อราจะแย่งน้ำและอาหารจากเส้นใยเห็ดฟางและดอกเห็ดฟาง เชื้อราบางชนิดทำให้เกิดโรคและอาการผิดปกติแก่ดอกเห็ดฟาง ทำให้ผลผลิตลดลง การป้องกันเชื้อราทำได้โดย เลือกวัสดุเพาะที่สะอาดใหม่และแห้งสนิท  เลือกเชื้อเห็ดฟางที่ไม่มีเชื้อราปน และ ต้องควบคุมอุณหภูมิและความชื้นให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเห็ดฟางอยู่เสมอ

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดนครราชสีมา
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา