ความรู้สัมมาชีพชุมชน

การปลูกมันสำปะหลัง

โดย : นายเข็มชาติ สุประมา วันที่ : 2017-03-21-16:29:00

ที่อยู่ : 27 ม.13 ต.โคกกระเบื้อง

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

มันสำปะหลังเป็นพืชที่ทนต่อสภาพความแห้งแล้งได้ดี ไม่ต้องเอาใจใส่ดูแลมากนัก ผลตอบแทนต่อไร่สูง และมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าพืชอื่นๆ หลายๆ ชนิด เนื่องจากพื้นที่ มีสภาพดิน ฟ้า อากาศ และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการปลูก

วัตถุประสงค์ ->

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

พันธุ์มันสำปะหลัง

อุปกรณ์ ->

กระบวนการ/ขั้นตอน->

การเลือกที่

 

พื้นที่ที่จะใช้ปลูกมันสำปะหลังต้องเป็นที่ดอน น้ำไม่ขัง และดินมีการระบายน้ำดี ถ้าเป็นที่ลุ่มระบายน้ำไม่ดี จะทำให้หัวมันสำปะหลังเน่า ปลูกไม่ได้ผลผลิต แต่ถ้าเป็นที่น้ำท่วมไม่ถึง มันสำปะหลังสามารถขึ้นได้ ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ปลูกพืชไร่อื่นไม่ได้ผล ก็ใช้ปลูกมันสำปะหลังได้ แต่จะปลูกให้ได้ผลผลิตสูงนั้น ต้องเป็นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง ดินที่เหมาะสมควรเป็นดินร่วน เพราะสะดวกต่อการเก็บเกี่ยว

 

ฤดูปลูก

 

ในบ้านเราสามารถปลูกได้ตลอดปี หลังเก็บเกี่ยวแล้ว การปลูกทำได้โดยไถที่เตรียมไว้ พอฝนตกก็พรวนดินแล้วปลูกได้ทันที ความชื้นจะพอให้มันสำปะหลังงอก แม้จะมีฝนเพียงครั้งเดียว กสิกรในจังหวัดชลบุรี ระยอง และนครราชสีมาปลูกมันสำปะหลังกันตลอดปี ส่วนจังหวัดอื่นๆ ปลูกมากในเดือนเมษายน และพฤษภาคม ตามผลการทดลองของกรมวิชาการเกษตรพบว่า ปลูกมันสำปะหลังในเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม จะให้ผลผลิตสูง

 

การเตรียมดินและการปลูก

 

ควรไถก่อนปลูก ๒-๓ ครั้ง และให้ลึกไม่น้อยกว่า ๘-๑๐ นิ้ว เพื่อให้ดินร่วนซุย และปราศจากวัชพืช ไม่จำเป็นต้องยกร่อง ส่วนที่ใช้ปลูก คือ ลำต้นมันสำปะหลังตัดเป็นท่อนยาวประมาณ ๒๕ เซนติเมตร เรียกว่า ท่อนพันธุ์ การปลูกด้วยเมล็ดไม่เหมาะสำหรับการปลูกเป็นการค้า เพราะเมล็ดหายาก ส่วนมากใช้เฉพาะในการผสมพันธุ์ เพื่อหาพันธุ์ใหม่

 

ส่วนของท่อนพันธุ์ที่ใช้ปลูกควรเลือกจากต้นที่สมบูรณ์ เลือกใช้ท่อนพันธุ์จากส่วนกลาง และส่วนของโคนลำต้น ควรเก็บต้นที่จะปลูกไว้ในที่ร่ม และวางในลักษณะตั้ง จะเก็บได้นานกว่าการวางนอน

 

ระยะปลูกใช้ระยะระหว่างแถว ๑ เมตร ระยะระหว่างต้นประมาณ ๐.๗-๑ เมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดินด้วย ถ้าดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ก็ใช้ระยะระหว่างต้นแคบกว่านี้ได้ การปลูกควรตัดต้นมันสำปะหลังเป็นท่อนๆ ในวันที่ปลูก ให้ได้ท่อนพันธุ์ยาวท่อนละประมาณ ๒๕ เซนติเมตร วิธีปลูกใช้ท่อนพันธุ์ที่ตัดเป็นท่อนปักลงไปบนดิน โดยการปักเอียงประมาณ ๔๕ องศา วิธีนี้ทำได้สะดวก และได้ผลผลิตสูงกว่าการปลูกโดยขุดหลุม ปลูกในแนวราบ แต่ในขณะที่ดินมีความชื้นน้อย วิธีขุดหลุมปลูกในแนวราบแล้วกลบ จะงอกได้ดีกว่าการปลูกโดยวิธีปักท่อนพันธุ์นี้ ต้องปักเอาตาขึ้น การปลูกเอาตาลงดินผลผลิตจะต่ำ

การบำรุงรักษา

 

เนื่องจากวัชพืช เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ผลผลิตของมันสำปะหลังลดลง และระยะที่วัชพืชจะรบกวนมันสำปะหลังมากที่สุด คือ ระยะที่มันสำปะหลังยังเล็กอยู่ อายุ ๑-๒ เดือนแรก ดังนั้นหลังจากปลูกมันสำปะหลังแล้วประมาณ ๑ เดือน ก็ต้องกำจัดวัชพืชเป็นครั้งแรก การกำจัดวัชพืชมักใช้แรงงานสัตว์ เช่น โคหรือกระบือลากไถเข้าพรวนดินระหว่างแถว ซึ่งกสิกรมักเรียกกันว่า "แทงร่อง" ส่วนวัชพืชที่ยังเหลืออยู่ในแถวก็ใช้จอบถากหลังจากที่แทงร่องแล้ว โคหรือกระบือตัวหนึ่งสามารถแทงร่องได้ ประมาณ วันละ ๑๐ ไร่ การใช้แรงงานสัตว์เข้าพรวนดินดังกล่าว ช่วยให้การกำจัดวัชพืชทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยทั่วไปกสิกรมักจะกำจัดวัชพืช ๒-๓ ครั้ง ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณของวัชพืช พอมันสำปะหลังโตคลุมพื้นที่แล้ว คือ อายุประมาณ ๔-๕ เดือนเป็นต้นไป การกำจัดวัชพืชก็ไม่จำเป็นแล้ว

 

การใส่ปุ๋ย

 

การปลูกพืชติดต่อกันเป็นเวลานาน และนำผลผลิตออกไปทุกปีนั้น พืชจะดึงเอาปุ๋ยออกไปจากดิน ถ้าไม่มีการใส่ปุ๋ยบำรุงดิน ดินจะมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำลง ทำให้ผลผลิตพืชต่ำลงด้วย ถึงแม้มันสำปะหลังจะเป็นพืช ซึ่งต้องการปุ๋ยไม่มากกว่าพืชไร่ชนิดอื่น แต่การปลูกมันสำปะหลังก็ต้องใส่ปุ๋ยบำรุงดินอยู่เสมอ เพื่อให้ความอุดมสมบูรณ์ของดินยังคงอยู่ การปลูกมันสำปะหลังจึงจะได้ผลผลิตสูงอยู่เสมอ

 

ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ที่ทางกรมวิชาการเกษตรแนะนำให้ใช้กับมันสำปะหลัง ได้แก่ปุ๋ยสูตร ๘-๘-๘ อัตรา ๑๐๐ กิโลกรัมต่อไร่ หรือปุ๋ยสูตร ๑๖-๑๖-๑๖ หรือ ๑๕-๑๕-๑๕ อัตรา ๕๐ กิโลกรัมต่อไร่ วิธีใส่ปุ๋ยนั้นเริ่มใส่เมื่อมันสำปะหลังมีอายุ ๑ เดือน ใส่หลังจากที่กำจัดวัชพืชครั้งแรกแล้ว โดยใช้ปุ๋ยโรยเป็นแถวห่างจากโคนต้นประมาณ ๖ นิ้วแล้วพรวนดินกลบ

 

การใส่ปุ๋ยอินทรียวัตถุ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยพืชสดนั้น จะช่วยให้ดินอุ้มน้ำ และระบายน้ำและอากาศดีขึ้น แต่การใช้ปุ๋ยอินทรียวัตถุต้องใส่ปุ๋ยในอัตราสูง เช่น จำนวน ๑ ตันต่อไร่ หรือมากกว่านี้ เพราะปุ๋ยอินทรียวัตถุมีธาตุอาหารน้อย และต้องใส่ปุ๋ยก่อนปลูก แล้วไถกลบลงไปในดิน

 

ในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง มันสำปะหลังอายุ ๑ ปี จะได้ผลผลิตประมาณ ๔-๕ ตันต่อไร่ ถ้าปลูกติดต่อกันหลายๆ ปีโดยไม่ใส่ปุ๋ยผลผลิตในปีหลังๆ จะลดลงเหลือประมาณ ๒ ตันต่อไร่ ดังนั้น เพื่อให้ได้ผลผลิตสูง ๔-๕ ตันต่อไร่อยู่เสมอจึงควรใส่ปุ๋ยทุกครั้งที่ปลูก ดังคำขวัญของกรมวิชาการเกษตรที่ว่า "ปลูกมันใส่ปุ๋ยคุยได้ ผลผลิตมาก รายได้สูง ดินเสื่อมช้า"

การเก็บหัว

 

รากมันสำปะหลังจะเริ่มพองเป็นหัวเมื่ออายุ ประมาณ ๒ เดือน และจะเจริญเติบโตเรื่อยไป โดยมีการสะสมแป้งมากขึ้น เมื่อมันสำปะหลังมีอายุมากขึ้นผลผลิตก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย จากการทดลองพบว่า เมื่ออายุ ๖ เดือนให้ผลผลิต ๑.๓ ตัน/ไร่ อายุ ๑๒ เดือน ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น ๔.๔ ตัน/ไร่ และเมื่อมีอายุ ๑๘ เดือนให้ผลผลิตสูงถึง ๗ ตัน/ไร่ ส่วนอัตราส่วนต่อร้อยของแป้ง ในหัวมันสำปะหลัง ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงมากนัก

 

โดยทั่วไปชาวไร่จะเก็บเกี่ยวหัวมันสำปะหลัง เมื่ออายุ ๑๒ เดือน บางครั้งกสิกรต้องการใช้เงิน เร็ว หรือเมื่อมันสำปะหลังมีราคาดี ก็รีบเก็บเกี่ยว เมื่ออายุน้อยกว่า ๑๒ เดือน แต่กสิกรที่มีฐานะดี หรือเมื่อมันสำปะหลังราคาถูก ก็อาจจะทิ้งไว้เก็บเกี่ยวเมื่ออายุมากขึ้น แต่หัวมันสำปะหลังที่อายุมากกว่า ๑๒ เดือน หัวมักใหญ่และแข็งไม่เป็นที่ต้องการของตลาด

 

การถอนหัวมันสำปะหลัง ทำได้โดยก่อนจะถอนใช้มีดตัดต้นออกเหลือตอทิ้งไว้สั้นๆ เพื่อใช้ดึงในที่ดินไม่แข็งก็ถอนได้ง่าย โดยใช้มือดึงขึ้นมาเลย ถ้าดึงไม่ขึ้นหรือมีหัวตกค้างอยู่ในดินก็ต้องใช้จอบขุด เมื่อถอนหัวมันสำปะหลังแล้ว ก็ใช้มีดสับหัวมันสำปะหลังให้ขาดจากต้น รวบรวมหัวส่งไปจำหน่าย ไม่ควรปล่อยหัวมันสำปะหลังทิ้งไว้ในไร่หลายวัน จะทำให้หัวมันสำปะหลังเสีย

ข้อพึงระวัง ->

โรคและแมลง

มันสำปะหลังที่ปลูกในประเทศไทยมีปัญหาเรื่องโรคและแมลงน้อยกว่าพืชไร่ชนิดอื่น แม้จะมีโรคและแมลงบางชนิดระบาดอยู่ แต่ไม่ทำความเสียหายอย่างรุนแรง ถึงกับทำให้ต้นมันสำปะหลังตาย หรือไม่ได้ผลผลิต

โรคของมันสำปะหลังที่พบทั่วไปในประเทศ ไทย ได้แก่

๑. โรคใบจุด

 

เกิดจากเชื้อรา เซอร์คอสปอรา (Cercospora sp.) โรคนี้พบอยู่ทั่วไปในต้นมันสำปะหลังที่ปลูก อาการที่เกิด เกิดขึ้นที่ใบ ใบจะเป็นแผลจุดกลมๆ สีน้ำตาลกว้างประมาณ ๑ เซนติเมตร แต่ไม่ทำลายความเสียหายมากนัก

การป้องกันกำจัด เนื่องจากโรคนี้ไม่ทำความเสียหายมากทางเศรษฐกิจ กสิกรผู้ปลูกจึงไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ยาออร์โทไซด์ (Orthocide) ฉีด ในปัจจุบันพันธุ์ต้านทานโรคนี้ในประเทศไทยยังไม่มี

 

๒. โรคใบด่าง (Mosaic)

เป็นโรคที่เกิดจาก เชื้อไวรัสที่ร้ายแรงระบาดอยู่ทั่วไปในทวีปแอฟริกา และในประเทศอินเดีย ไม่พบระบาดในประเทศไทย อาการของโรคใบจะด่างหงิกงอ สังเคราะห์แสงได้น้อยลง ผลผลิตจะต่ำ ระบาดได้ โดยการนำเอาท่อนพันธุ์จากต้นที่เป็นโรค ไปปลูก และระบาดได้โดยแมลงหวี่ขาว (White fly) เป็นพาหะ วิธีป้องกันกำจัดที่ได้ผล คือ เวลาปลูก ควรนำท่อนพันธุ์จากต้นไม่เป็นโรคไปปลูก เมื่อพบต้นที่ปรากฏอาการ ก็นำไปเผาไฟทิ้ง และใช้พันธุ์ที่ต้านทานปลูก

 

แมลงที่สำคัญ

 

ไรแดง (Red spider mite)

พบระบาดอยู่ทั่วไปในประเทศไทย แต่ไม่ทำความเสียหายมากนัก จะระบาดในระยะฤดูแล้ง และอากาศร้อน ไรแดงจะขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว แต่หลังจากฝนตก ฝนจะชะเอาไรแดงไป ไรแดงจะขยายพันธุ์ได้น้อย การระบาดจะหายไป ถ้าระบาดมากใช้ยาเคลเทน (Kelthane) ฉีดได้ผล

แมลงศัตรูชนิดอื่นๆ ก็มี เช่น เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย และปลวก แต่ทำความเสียหายให้มันสำปะหลังในบางท้องที่เท่านั้น

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดนครราชสีมา
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา