ความรู้สัมมาชีพชุมชน

การเลี้ยงลูกฮวก(ลูกอ๊อด)

โดย : นายสุรสิทธิ์ นินทรา. วันที่ : 2017-03-30-23:56:37

ที่อยู่ : 98 หมู่ที่ 8 ตำบลธาตุพนมเหนือ อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

 กบ เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่คนไทยคุ้นเคยกันมานาน  โดยที่ในอดีตนั้น  เราสามารถจับกบที่อาศัยอยู่ตาม   แหล่งน้ำธรรมชาติ  ตามทุ่งนา  เพื่อนำมาบริโภคกันได้ไม่ยากนัก  ตลอดจนในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน)  มีค่านิยมในการบริโภคลูกอ๊อดกบ (ฮวก)  ในช่วงฤดูฝน  ฤดูทำนา  เป็นอาหารตามฤดูกาลที่นิยมกันเป็นอย่างมาก ทั้งยังสามารถนำไปทำเป็นเหยื่อตกเบ็ดปลา  อาหารปลาสวยงามบางชนิด  ซึ่งกำลังได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลาย  จึงส่งผลกระทบให้ปริมาณกบในธรรมชาติลดน้อยลงเรื่อยๆ  ทั้งสภาพแวดล้อมยังเปลี่ยนแปลงไป  ทำให้ปริมาณอาหารกบน้อยลง  เกิดการใช้สารเคมีในการประกอบอาชีพทางการเกษตร  ทำให้ปริมาณกบและลูกอ๊อดที่จับได้ในแหล่งน้ำธรรมชาติตามทุ่งนาไม่เพียงพอกับความต้องการสำหรับการบริโภค  ทั้งความต้องการที่จะบริโภคมีเพิ่มขึ้น

จากจุดนี้เอง  อาชีพการเลี้ยงลูกอ๊อดจึงเกิดขึ้น  เพื่อสนองกับความต้องการดังกล่าว  ซึ่งลูกอ๊อดที่ผลิตจะใช้บริโภคและจำหน่ายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ของพื้นที่จังหวัดศรีษะเกษ  ยโสธร  ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์  อุดรธานี  เลย  มหาสารคาม  อำนาจเจริญ  หนองบังลำภู  อุบลราชธานี  มุกดาหาร  หรือแม้แต่การส่งไปจำหน่ายต่างประเทศ  ทั้งนี้ปัจจุบันในเขตจังหวัดนครพนม อำเภอเมือง  อำเภอธาตุพนม อำเภอเรณูนคร  และจังหวัดสกลนคร  ในเขตอำเภอเมือง  อำเภออากาศอำนวย  อำเภอพังโคน  ปัจจุบันอาชีพการเพราะเลี้ยงลูกอ๊อดจึงเป็นอาชีพหนึ่งที่เกษตรให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ  เกษตรหลายรายประสบความสำเร็จกับอาชีพนี้เป็นอย่างดี  สามารถสร้างรายได้  ซึ่งลูกอ๊อดจะมีราคาเริ่มต้นตั้งแต่   80 – 200  บาท/กก.  เริ่มผลิตลูกอ๊อดได้ตั้งแต่  เดือนมีนาคม – สิงหาคม   

วัตถุประสงค์ ->

เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว และเป็นอาชีพเสริมหลังจากทำอาชีพหลัก

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

          กบพ่อแม่พันธุ์

อุปกรณ์ ->

4.1 ตาข่ายไนล่อนสีฟ้า

4.2 ไม้สำหรับทำรั้วรอบบ่อกบ

4.3 จอบ

กระบวนการ/ขั้นตอน->

การเลือกสถานที่ในการเพาะอนุบาลลูกอ๊อดกบในแปลงนา

1 .ควรเป็นสถานที่ที่สามารถดูแลได้อย่างใกล้ชิด  สะดวกต่อการดูแลรักษา  และป้องกันศัตรูได้

2. เป็นแปลงนาที่สามารถระบายน้ำ  เข้า – ออก ได้สะดวก  เป็นที่รามเสมอ

3. มีแหล่งน้ำเพียงพอต่อการอนุบาลลูกอ๊อดกบ  ใกล้แหล่งน้ำเพื่อสะดวกต่อการถ่ายเทน้ำ  และสะอาด

4. คุณสมบัติของดินและน้ำที่เหมาะสม  อยู่ในช่วง  PH 6.5-8

5. การคมนาคมขนส่งสะดวกต่อการลำเลียงลูกกบเพื่อจำหน่าย

6. ห่างไกลจากบริเวณที่มีเสียงดังรบกวนทำให้กบตกใจในช่วงผสมพันธุ์

7. อยู่ห่างไกลจากแหล่งโรงงานอุตสาหกรรมหรือแหล่งมลพิษ

ปัจจัยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการเพาะพันธุ์กบ

          ในธรรมชาติกบจะผสมพันธุ์และวางไข่ในฤดูฝน  กบจะวางไข่ในบริเวณน้ำตื้น  มีพันธุ์ไม้น้ำอยู่พอสมควร   ปัจจัยที่มีผลเกี่ยวข้องต่อการผสมพันธุ์ของกบ ได้แก่

          1.อุณหภูมิ

                   อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการผสมพันธุ์และการวางไข่ของกบ  ต้องไม่ต่ำกว่า   25 องศาเซลเซียส              และไม่ควรมีอุณหภูมิสูงเกินไป

          2. แสงสว่าง

                   เมื่อแม่กบวางไข่แล้ว  หากแสงสว่างไม่เพียงพอต่อการฟักไข่  แสงแดดส่งไม่ถึงไข่ก็จะไม่ค่อยฟักออกเป็นตัว

          3. ความชื้น

                   โดยสัญชาตญาณกบจะไม่ค่อยวางไข่ในที่แล้ง  กบจะวางไข่หลังฝนตก  หรือระหว่างที่ฝนตก  จะทำให้กบผสมพันธุ์และวางไข่ได้ดี

          4. ค่า PH ของน้ำ

                   น้ำที่ใช้เพาะเลี้ยงกบควรอยู่ในช่วงสภาพเป็นกรด – ด่าง  ค่า PH  ของน้ำ  อยู่ระหว่าง 6.5 – 8.5

          5. ศัตรูธรรมชาติ

                   ศัตรูที่ควรระวังในการเพาะเลี้ยงกบ  ได้แก่  นก  หนู  และปู  ที่กัดตาข่ายและคอกได้  ทำให้ลูกอ๊อดหลุดรอดออกไปได้  หรือเป็นพาหะนำโรค

แปลงนาสำหรับเพาะอนุบาลลูกอ๊อด

          ปัจจุบันแปลงนาที่ใช้ในการเพาะอนุบาลลูกอ๊อดกบเพื่อจำหน่ายนั้น  เกษตรกรใช้พื้นที่ 1-2 ไร่  ในการดูแลต่อราย  ซึ่งมีบางรายก็ประกอบเป็นอาชีพหลักใช้พื้นที่ตั้งแต่  5-140  ไร่  ส่วนใหญ่จะทำการเพาะตามฤดูกาล  ระหว่างเดือนมีนาคม – สิงหาคม  ช่วงที่เหมาะสมที่สุดคือ  ช่วงฤดูฝนคือเดือนพฤษภาคม  โดยจะปรับแปลงนาเป็นบ่อเพาะอนุบาล  ทำการไถพรวนดิน  เติมน้ำแล้วปรับหน้าดินให้ราบเสมอในช่วงปีแรก  ต้องทำการไถพรวนดิน  3  ครั้ง  หากคุณสมบัติของดินไม่อุ้มน้ำต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับการเตรียมแปลงปักดำนาข้าว  เทคนิคนี้จากเกษตรกรผู้ประสบผลสำเร็จแล้ว  จากฟาร์มกบไร่พรเทพ  อ.ธาตุพนม  เกษตรกร อ.เรณูนครและฟาร์มกบคุณสุรสิทธิ์  อ.ธาตุพนม  หากเป็นแปงนาเก่าที่เคยเลี้ยงและดำเนินการเพาะเลี้ยงมาแล้วดำเนินการไถเตรียมแปลงนา  ฆ่าเชื้อโดยปูนขาว  เพื่อปรับสภาพความเป็นกรด-ด่าง  ให้เหมาะสมแล้วเติมน้ำให้รักษาระดับที่  10-20  เซนติเมตร  ทั้งนี้ในการผลิตลูกอ๊อด 1 รุ่น  ใช้เวลาทั้งสิ้น  20-25  วัน  แล้วทำการเตรียมคอกเพาะใหม่อีกครั้ง  หมายถึงในหนึ่งช่วงฤดูการผลิตสามารถใช้พื้นที่คอก  เพาะอนุบาลคอกเดิมถึง  6 – 7 รอบ  ขึ้นอยู่กับการวางแผนการจัดการของเกษตร

          การเตรียมแปลงนา  เลือกแปลงนาที่มีคันนาใหญ่ขนาดกว้างประมาณ  1  เมตร  สูงประมาณ  50-602 เซนติเมตร  ตัดหญ้ารอบๆ  คันนาให้สะอาด  ระบายน้ำออกให้หมด  การไถนำพรวนหน้าดินใหม่ หว่านปูนขาวในอัตรา  60  กิโลกรัมต่อไร่  ตากแดดไว้  1  สัปดาห์  ใช้ตาค่ายไนล่อนสีฟ้าขนาด  16  ช่องต่อตารางนิ้ว  หน้ากว้าง  120 เซนติเมตร  ขึงรอบติดยึดกับเสาไม้ไผ่  ฝังมุ้งไนล่อนให้จมลงดิน  ประมาณ  20 เซนติเมตร  โดยคอกเพาะอนุบาลจะมีขนาด  2.5 x 5 x 1  เมตร  โดยแต่ละคอกห่างกันประมาณ  50  เซนติเมตร  อยู่ในแปลงนาเดียวกัน   มีทางระบายน้ำ  เข้า – ออก ได้สะดวก  เพื่อเปลี่ยนถ่ายน้ำ  ตลอดระยะการเพาะอนุบาล  บางพื้นที่ใช้พลาสติกพรางแสง คลุมด้านบนประมาณ  1  ใน 3  ของคอกเพื่อป้องกันแดดร้อนจัด  และรักษาระดับน้ำในแปลงนาให้ได้ระดับ  10-20  เซนติเมตร

แปลงนาสำหรับเตรียมเพาะเก็บขุนพ่อแม่พันธุ์      

          การเก็บกบพ่อแม่พันธุ์  มีพัฒนาการเก็บไว้ในบ่อซีเมนต์ขนาด  3 x 5 x 1 เมตร โดยมีพืชน้ำ  เช่น  ผักบุ้ง  ผักตบชวา  ให้กบหลบซ่อน  บางแหล่งเก็บในกระชังโดยใช้ผักตบชวาเช่นกัน  ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม  ต้นทุนความสะดวก  และประสบการณ์ของเกษตรกร ส่วนวิธีการเก็บพ่อแม่พันธุ์กบในแปลงนา  เพื่อผลิตลูกอ๊อดกบจำหน่าย  นิยมปล่อยขุนพ่อแม่พันธุ์ในแปลงนา  ทั้งสะดวก  ลงทุนน้อย  เก็บพ่อแม่พันธุ์ได้จำนวนมาก  แปลงนาที่ใช้สำหรับเก็บและขุนพ่อแม่พันธุ์  ใช้พื้นที่ขนาด  5 x 10 x 1 เมตร  โดยเลือกแปลงนาที่มีคันนากว้าง  ประมาณ  1   เมตร  คันดินสูง  50 – 60  เซนติเมตร  โดยใช้ตาข่ายไนล่อนสีฟ้า  หน้ากว้าง  120  เซนติเมตร  ทำการฝังตาข่ายไนล่อนให้จมลงในดิน  ประมาณ  20  เซนติเมตร  ฝังห่างจากคันนาประมาณ  50  เซนติเมตร  เพื่อป้องกันหนู  ปูกัด  ทั้งยังเป็นการช่วยถ่ายเทน้ำ  เข้า  - ออก  ได้สะดวก  เพาะกบต้องการความสะอาดอยู่เสมอ  ส่วนกลางของแปลงพ่อแม่นั้นมีเกาะกลางสำหรับให้กบพักผ่อนและกินอาหาร  ควรมีพื้นที่กว้างประมาณ   2  เมตร  นำพืชน้ำลงในบ่อพ่อแม่พันธุ์  เช่น ผักตบชวา  ผักบุ้ง  พร้อมกับวัสดุที่กบสามารถหลบซ่อนตัวได้  เช่น  ไม้ไผ่  ยางรถยนต์  หรือกระเบื้องลอนคู่  เพื่อให้กบหลบพรางตัว  และไม่กระโดดชนตาข่ายไนล่อน  จนอาจทำให้เกิดบาดแผลที่บริเวณปาก  อาจทำให้ติดเชื้อได้และตายในที่สุด

การขุนพ่อแม่พันธุ์  การดูแลพ่อแม่พันธุ์

          การให้อาหารสำหรับบ่อแปลงนาเก็บพ่อแม่พันธุ์  ใช้อาหารเม็ดสำเร็จรูปโปรตีนร้อยละ  25   จำนวน  2 มื้อ  คือ  เช้า – เย็น  ควบคุมอาหารโดยการสังเกตการณ์กิน  เช่น  ในช่วงฤดูหนาวกบจะกินอาหารน้อยลงต้องทำการลดอาหาร  เพื่อป้องกันการเน่าเสียของน้ำ  ตลอดทั้งควบคุมไขมันที่ทำให้กบพ่อแม่พันธุ์อ้วนเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาน้ำเชื้อและไข่  ในการผสมพันธุ์ที่ต้องการปริมาณลูกอ๊อดกบจำนวนมาก  หมายถึงการตกไข่ดกได้น้ำเชื้อที่แข็งแรงมีอัตราการรอดตายสูงได้ผลผลิตคุ้มค่า

การเปลี่ยนถ่ายน้ำในแปลงนาพ่อแม่พันธุ์  

          การเปลี่ยนถ่ายน้ำมีความจำเป็นอย่างมาก  โดยธรรมชาติของกบนั้นจะชอบอาศัยอยู่ในน้ำใสและสะอาด  การเปลี่ยนน้ำบ่อยๆ  เป็นการขจัดของเสียต่างๆ  วิธีการทำสามารถทำได้หลายวิธี  เช่น

1.การถ่ายน้ำแบบล้น  ใช้กับแปลงนาที่มีทางน้ำเข้า – ออก  ได้พร้อมกัน  โดยการปล่อยน้ำออก  พร้อมๆ  กับปล่อยน้ำใหม่เข้า   สังเกตดูจะเห็นว่าน้ำที่ปล่อยเข้าใสสะอาดแล้ว  จึงหยุดน้ำ  โดยสังเกตว่าน้ำในแปลงนามีคุณสมบัติอย่างไร  เช่น  มีกลิ่นเหม็นคาว  สีสกปรก  ปกติจะเปลี่ยนหรือเพิ่มน้ำ  3 – 4 วัน / 1 ครั้ง

2. การถ่ายน้ำแบบแห้ง   โดยการปล่อยน้ำเสียจนหมด  แล้วจึงปล่อยน้ำสะอาดเข้าให้ไหลผ่านเพื่อชะล้างสิ่งสกปรกจนหมดแล้วจึงกักน้ำสะอาดไว้ในบ่อเดิม

ข้อพึงระวัง ->

การถ่ายเทน้ำในแต่ละครั้ง  ผู้เลี้ยงควรระวังไม่ให้กบตื่นตกใจ  โดยวิธีการควบคุมความเร็วของน้ำที่ไหลเข้า  หรือ ไหลออกอย่างช้าๆ  ให้ปริมาณของน้ำค่อยๆ  ลดหรือเพิ่มขึ้น  ไม่ควรให้น้ำในบ่อเพิ่มหรือลดอย่างรวดเร็ว

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดนครพนม
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา