ความรู้สัมมาชีพชุมชน

การเลี้ยงไก่พื้นเมือง

โดย : นายเดช ติเล วันที่ : 2017-03-30-23:37:36

ที่อยู่ : 13 หมู่ที่ 7 ตำบลนาถ่อน อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

การเลี้ยงไก่พื้นบ้านเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการเป็นอาชีพเสริมในครัวเรือน ซึ่งก็ถือว่าเป็นอาชีพที่สามารถเลี้ยงชีพให้กับครัวเรือนได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ข้อดีของการเลี้ยงไก่พื้นบ้านคือใช้เงินลงทุนน้อย ไม่ต้องดูแลมาก ไก่ทนทานต่อความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทนต่อการเป็นโรคได้ดี เป็นแหล่งอาหารโปรตีนของชาวบ้านที่มีราคาถูก หาง่ายและสะดวกที่สุด รวมถึงสอดคล้องกับระบบการเกษตรแบบผสมผสานหรือระบบไร่นาสวนผสมที่ไม่ทำลายระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมที่ตนเองดำเนินการอยู่แล้ว โดยปัจจุบันประชาชนในพื้นที่ตำบลหนองสังข์ มากกว่าร้อยละ ๕๐ ของครัวเรือน ได้นิยมเลี้ยงไก่พื้นบ้านเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้ให้กับครัวเรือน โดยมีการเลี้ยงเพื่อจำหน่ายทั้งรูปแบบของไก่สดและแปรรูป เป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งในและนอกพื้นที่เป็นอย่างดี

วัตถุประสงค์ ->

เพื่อให้มีอาหารไว้บริโภคและสามารถทำเป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัวได้

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

ไก่พันธุ์พื้นเมือง

อุปกรณ์ ->

          (๑) โรงเรือน/เหล้าไก่ สามารถทำเล้าไก่แบบง่ายๆ ได้เอง โดยใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น เช่น ไม้ไผ่ แฝก จาก ฯลฯ สถานที่ตั้งของเล้าไก่ ควรให้ห่างจากตัวบ้านพอสมควร และอยู่ในที่ดอน ไม่ชื้นแฉะ ไม่ควรอยู่ใกล้ต้นไม้ เพราะไก่ชอบนอนบนต้นไม้ จะไม่เข้าไปนอนในเล้าพื้นเล้าอาจจะปูด้วยแกลบ หรือขี้เลื่อย หรือฟางแห้ง ความหนาประมาณ ๔ เซนติเมตร และต้องเปลี่ยนวัสดุรองพื้นทุกๆ 3 เดือน

          (๒) รางน้ำต้องมีรางน้ำ สำหรับใส่น้ำ สะอาดให้ไก่กิน อาจใช้รางไม้ หรือไผ่ผ่าครึ่งก็ได้

          (๓) รางอาหารควรมีรางสาหรับให้อาหารไก่ เพราะการให้ไก่จิกกินอาหารบนพื้นดิน ทำให้ไก่เป็นโรคพยาธิได้ง่าย

          (๔) รางใส่กรวดและเปลือกหอยป่นผสมเกลือป่น ในกรณีที่มีการเลี้ยงแบบขังคอกตลอดเวลา

          (๕) รังไข่

          (6) ม่านกันฝน

          (7) คอนนอน สำหรับให้ไก่นอน ควรจะพาดไว้มุมใดมุมหนึ่งของเล้า

กระบวนการ/ขั้นตอน->

(๑) การเริ่มต้นการเลี้ยง ทำโดยเลี้ยงพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ซึ่งเริ่มจากการซื้อลูกไก่ขนาดเล็ก หรือซื้อไก่รุ่นหรือไก่ใหญ่มาเลี้ยงเป็นพ่อ-แม่พันธุ์ โดยเลี้ยงแบบครึ่งปล่อยลานและครึ่งขังคอก ซึ่งปล่อยออกหากินในตอนเช้า และตอนเย็นให้อาหารกินอย่างเต็มที่

(๒) การเลี้ยงพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ โดยพ่อพันธุ์แม่พันธุ์สำหรับเลี้ยงเพื่อนำไก่ไปฟัก หรือให้แม่ไก่ฟักไข่เอง ใช้ตัวผู้1 ตัว ต่อตัวเมีย ๔ ตัว โดยต้องทำ รังให้แม่ไก่ทุกตัว และเลือกใช้วัสดุต่างๆ เช่น ลังกระดาษ ลังไม้ ตะกร้า กระบุง เพื่อใช้เป็นที่วางไข่และฟัก และมีนํ้าและอาหารให้กินตลอดเวลา

          (๓) การเลี้ยงดูลูกไก่ เมื่อลูกไก่ออกมาแล้ว ระยะ 0-2 สัปดาห์ ต้องให้ความอบอุ่นแก่ลูกไก่ ในพื้นที่ไม่มีไฟฟ้า ให้นำกล่องกระดาษเจอะรูด้านข้างเพื่อระบายอากาศ นำแกลบ หญ้าแห้งใส่รองพื้น หรือนำ มาขังสุ่มแล้วเอากระสอบคลุม เอาหญ้าหรือฟางแห้งรองพื้น นำลูกไก่ใส่ไว้ในตอนกลางคืน หรืออาจใช้หลอดไฟฟ้ากลมชนิดมีไส้แขวนไว้เหนือศีรษะไก่

          (๔) การเลี้ยงไก่รุ่น ช่วงอายุ 3-6 สัปดาห์ ไม่จำเป็นต้องกก เพียงแต่ดูแลไม่ให้ฝนสาดหรือลมโกรกให้อาหารโดยใช้ถังแขวนเสมอไหล่ เพื่อป้องกันไม่ให้ไก่คุ้ยเขี่ยอาหาร และอาหารตกหล่น ถังนํ้าแขวนระดับไหล่ เพื่อไม่ให้สกปรกง่าย และต้องทำ ความสะอาดทุกวัน ให้อาหารตามปกติ แต่ปล่อยให้ไก่ออกไปหากินอาหารธรรมชาติในบริเวณที่กำหนดและมีการให้อาหารเสริมเพิ่มเติมอย่างสม่ำเสมอ

          (๕) การสุขาภิบาลและการป้องกันโรค การเลี้ยงไก่นั้นการจัดการให้ไก่มีสุขภาพดีอยู่เสมอนั้นเป็นสิ่งจำ เป็นเพราะทำให้ลดการเสี่ยงต่อการขาดทุน การดูแลรักษาความสะอาดบริเวณโรงเรือน อุปกรณ์การเลี้ยงสัตว์ ทำให้การจัดการเลี้ยงดูเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ต้องให้วัคซีนป้องกันโรคไก่ที่สำคัญตามกำหนดเวลาอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันการเกิดโรคในไก่และการแพร่กระจายของเชื้อโรคไก่

          (๖)  การจำหน่ายไก่พื้นบ้าน เมื่อเลี้ยงได้นํ้าหนักประมาณ 1 กิโลกรัม (หรืออายุประมาณ ๑๒ สัปดาห์ขึ้นไป) ก็จับขายได้ ในราคากิโลกรัมละ ๑๐๐ – ๑๓๐ บาท การจำหน่ายสามารถทำได้หลายวิธี เช่น ขายเป็นไก่มีชีวิต โดยชั่งนํ้าหนัก ขายเป็นตัว หรือจำหน่ายเป็นไก่แปรรูป ไก่ย่าง

ข้อพึงระวัง ->

น้ำและอาหารเป็นสิ่งจำเป็นในการเลี้ยงไก่ ถ้าไก่ขาดน้ำจะตายภายใน 24 ชั่วโมง ควรให้น้ำสะอาดตั้งไว้ให้ไก่กินตลอดวัน และคอยเปลี่ยนน้ำทุกๆ วัน และให้อาหารผสมทุกเช้าเย็นเพิ่มเติมจากอาหารที่ไก่หากินได้ตามปกติ โดยการสังเกตว่าไก่ได้อาหารเพียงพอหรือไม่ ให้ดูว่าในระยะแรกที่ให้อาหารไก่จะรีบกินและมีการแย่งกัน ถ้าไก่กินอาหารไปเรื่อยๆ และเลิกแย่งกัน กินอาหารช้าลง มีการคุ้ยเขี่ย แสดงว่าไก่ได้กินอาหารเพียงพอแล้ว

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดนครพนม
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา