ความรู้สัมมาชีพชุมชน

การเพาะเห็ดในท่อนไม้

โดย : นายสว่าง คำมุก วันที่ : 2017-03-30-23:26:43

ที่อยู่ : 90 หมู่ที่ 2 ตำบลน้ำก่ำ อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

ปัจจุบันการเพาะเห็ดในท่อนไม้เมื่อเปรียบเทียบกับการเพาะเห็ดในถุงแล้ว จะเห็นว่า ถึงแม้การเพาะเห็ดในท่อนไม้จะมีอุปกรณ์น้อย วิธีการไม่สลับซับซ้อน ตลอดจนการเก็บผลผลิตเก็บได้นานก็จริง   แต่เห็ดที่ได้จากการเพาะในท่อนไม้จะมีคุณภาพสู้เห็ดที่เพาะในถุงไม่ได้  เพราะว่าดอกเห็ดที่เกิดจากท่อนไม้จะมีลักษณะดอกเห็ดที่กระด้าง สีไม่สวย อาจมีกลิ่นไม้  เหมือนเห็ดที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ  มีราคาถูกกว่าเห็ดที่เพาะในถุง

วัตถุประสงค์ ->

เพื่อให้เกษตรได้เรียนรู้ด้านการเพาะเห็ด ด้วยวิธีที่แตกต่างกัน  ตลอดจนการใช้ทุนในการดำเนินการไม่สูง     หาได้ในหัวไร่ปลายนา  รวมทั้งเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว และเป็นอาชีพเสริมหลังจากทำอาชีพหลัก

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

 3.1 ไม้มะม่วง, ไม้มะกอก,ไม้ขนุน ,ไม้แค,ไม้ยางพารา  เป็นต้น  ซึ่งเป็นไม้ประเภทไม้เนื้ออ่อน  ที่ไม่ใช้ประโยชน์แล้ว

 3.2 เชื้อเห็ดขอนขาว    

 3.3 ฝาปิดขวดเบียร์ หรือฝากขวดน้ำ หรือฝาน้ำอัดลม

อุปกรณ์ ->

 4.1 เหล็กตอกปะเก็น (ตุ๊ดตู่)  หรือสว่านไฟฟ้า โดยใช้ดอกขนาด 5 -6 หุน

 4.2 ค้อนสำหรับเจาะรูใส่เชื้อ

กระบวนการ/ขั้นตอน->

                1.ขนาดของไม้ที่ใช้ตั้งแต่เส้นผ่าศูนย์กลาง  10 -15 ซม.

          2.ควรตัดไม้มาทำการเพาะเห็ดในฤดูใบไม้ผลิ เพราะว่าไม้ฤดูนี้จะสะสมอาหารมาก และเมื่อใส่เชื้อเห็ดลงไปแล้วจะมีเชื้อชนิดอื่นปนน้อยที่สุด

           3.ไม้ที่ใช้เพาะเห็ดควรเป็นไม้สด ตัดมาใหม่ ๆ ยิ่งดี  ไม่ควรตัดทิ้งไว้เกิน 1 สัปดาห์

           4. หากไม้ที่มียางควรตัดทิ้งไว้ให้ยางหยุดไหลก่อน เช่น ไม้ยางพารา    
           5. การตัดไม้พยายามอย่าให้เปลือกซ้ำเป็นอันขาด ถ้าเปลือกซ้ำควรเอาปูนขาวชุบน้ำทา หรือใช้ปูนสำหรับเคี้ยวหมกทาก็ได้

           6.ตัดไม้เป็นท่อน ๆ  ยาวประมาณ  80 -100 ซม.

            7. ถ้าหากมีแขนงเล็กๆ ติดมาด้วย ให้ตัดออกและใช้ปูนขาวทารอยแผล

            8. วิธีเจาะรู ให้ลึกประมาณ 3 – 5 ซม. เจาะเป็นแนวตรงมีระยะห่างประมาณ 10 ซม. สำหรับแถวถัดไปห่างจากแถวแรกประมาณ 10 ซม. และควรเจาะในลักษณะสับหว่างกลางของแถวแรก หรือแบบซิกแซกและเจาะลึกประมาณ 3 – 5 ซม.

             9. หลังจากเจาะรูแล้ว ให้นำเชื้อเห็ดใส่ลงในรูที่เจาะ ถ้าเป็นเชื้อที่ทำจากขี้เลื่อยให้ใช้มือบีบถุงให้ชี้เลื่อยแตกก่อน จากนั้นเทใส่ลงในไม้ที่เจาะ ใช้ไม้ตะเกียบกระทุ้งให้เชื้อเห็ดลงไปในรูค่อนข้างแน่น ใส่จนเต็มรูที่เจาะไว้ จากนั้นใช้ฝาเบียร์หรือฝาขวดน้ำอัดลมที่เตรียมไว้ปิดรูที่ใส่เชื้อเห็ดแล้ว  โดยใช้ค้อนทุบฝาให้จมลงในเนื้อไม้

 

            10. วิธีการพักไม้ หลังจากใส่เชื้อเห็ดลงไปแล้ว นำไปวางไว้ในที่ร่มใต้ต้นไม้ หรือจะสร้างหลังคากันแดดก็ใช้ได้  การวางไม้ควรจะมีคอนกรีตบล๊อครองเสียก่อนเพื่อไม่ให้ท่อนไม้สัมผัสพื้น และวางแบบการวางหมอนรถไฟ  มีระยะห่างไม้ประมาณ 1 -2 ซม. ทั้งนี้เพราะต้องการให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก แต่ไม่ควรให้มีลมโกรกมากเกินไป เพราะจะทำให้ความชื้นภายในลดลง และเมื่อพักไม้ไว้ครบ 7 วันแล้ว ควรทำการกลับกองไม้ โดยเอาท่อนไม้ที่อยู่ขึ้นล่างขึ้นข้างบน เอาไม้จากชั้นบนลงข้างล่าง และในการกลับขอนไม้ควรจะพลิกขอนไม้ขึ้นลักษณะเดียวกัน  ทั้งนี้เพราะการกลับชั้นขอนไม้นั้นต้องการให้ท่อนไม้ด้านล่างซึ่งรับนำหนักมากเกินไป ทำให้เส้นใยถูกบีบรัดตัวได้มาอยู่ชั้นบน ส่วนการพลิกไม้นั้น เพราะต้องการให้การเจริญของเส้นใยเร็วยิ่งขึ้น  ระยะการพักไม้ของเห็ดขอนขาวพักไว้ประมาณ  1 - 2  เดือน

            11. การทำให้เกิดดอก  ที่สำคัญคือ โรงเรือนสำหรับเปิดดอก โรงเรือนมีลักษณะคล้ายโรงเรือนเปิดดอกเห็ดในถุงพลาสติก ภายในโรงเรือนปูด้วยอิฐหักหรือเทคอนกรีต ไม่มีชั้น มีเฉพาะราวไม้สำหรับพาดท่อนไม้ ราวไม้แต่ละแถวห่างกั้นประมาณ 1.5 เมตร

            12. นำไม้ที่พักไว้ครบตามกำหนดระยะเวลาแล้ว ไปแช่น้ำประมาณ 12 -24 ชั่วโมง และถ้าน้ำที่ใช้แช่ไม้นั้นมีอุณหภูมิประมาณ 13 -18 องสาเซลเซียส ก็จะกระตุ้นให้เกิดออกเห็ดเร็วขึ้น  การแช่นั้นควรหาของหนักทับไม้ให้จมน้ำซึ่งการแช่น้ำมีวัตถุประสงค์ เพื่อ 1. ไม้ที่แห้งซึ่งมีความชื้นอยู่น้อย ให้มีความชื้นเพียงพอต่อการเจริเติบโตของดอกเห็ด

                                       2. ต้องการกระตุ้นเส้นใยที่หยุดพักการเจริญและสะสมอาหารอยู่นั้น ตื่นตัวอย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งทำการรวมตัวกันเพื่อเป็นดอกเห็ด ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ที่สำคัญ

                                       3. เป็นการทำลายสัตว์เล็ก ๆ เช่น แมลงหรือตัวไรที่ติดเข้าไปในไม้ ทั้งนี้แมลงเหล่านี้จะขาดอากาศในขณะที่ไม้แช่น้ำอยู่

                                      4. ต้องการให้เนื้อไม้อ่อนตัวลง ทำให้เห็ดสามารถย่อยอาหารได้เร็วยิ่งขึ้น

                หลังจากที่แช่น้ำเสร็จแล้วให้ใช้ค้อนทุบหัวไม้ด้านละ 1 -2 ครั้ง แรงพอสมควร เพื่อทำให้เนื้อเยื่อของไม้ขยายตัว และทำลายแผ่นฟิล์มของน้ำ ซึ่งกันไม่ให้อากาศเข้าในเนื้อไม้ให้แตกออก เพื่อให้อากาศเข้าไปในเนื้อได้

            13.การดูแลรักษาไม้ในโรงเรือน นำไม้ที่แช่น้ำเข้าโรงเรือน โดยวางพาดในราวแบบเผาข้าวหลาม  แล้วใช้ผ้าพลาสติกหุ้มให้เกิดความอุ่นในกองไม้  3-4 วัน หรือจนกระทั่งออกดอกก็ได้แต่บางแห่งนิยมคลุมไว้เพียง 1 -2 วัน แล้วเปิดพลาสติก  ดอกเห็ดจะเกิดขึ้นหลังจากเอาไม้เข้าไปในโรงเรือนแล้วประมาณ 4 -5 วัน และผลผลิตจะเก็บได้หลังจากนั้นไปอีกประมาณ 4-5วัน ระยะเวลาการเก็บได้เรื่อย ๆ จนกว่าไม่จะผุ

            14. การรดน้ำ  จะต้องรดน้ำทุกวัน ๆ ละ 2 ครั้ง ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ในเวลากลางคืนควรเปิดประตูหน้าต่างทิ้งไว้เพราะจะได้อาการบริสุทธิ์จากข้างนอกเข้าไปกระตุ้นให้เห็ดเจริญเติบโตเร็วขึ้น          

ข้อพึงระวัง ->

              ปัญหาต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในการเพาะเห็ดในขอนไม้ คือ ดอกเห็ดออกเฉพาะรูที่เจาะใส่เชื้อ เนื่องจากเชื้อเห็ดที่มีส่วนผสมของดีเกลือ ซึ่งจะทำให้เชื้อเห็ดไม่ยอมกินเนื้อไม้  และถ้าหากผลผลิตออกน้อย อาจเนื่องมาจากเชื้อจุลินทรีย์ทำลายเชื้อเห็ดก่อน  ดังนั้นต้องดูแลถึงความสะอาด หรือมีเชื้อเห็ดอื่น ๆ ขึ้นแย่งอาหาร   

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดนครพนม
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา