ความรู้สัมมาชีพชุมชน

การทำไร่นาสวนผสม

โดย : นายสมควร รอดท่าไม้ วันที่ : 2017-06-05-19:06:18

ที่อยู่ : 42 หมู่ 4 ต.บางพระ

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

เป็นอาชีพที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษบวกกับเรียนจบมาแล้วไม่มีงานทำเลยสานต่ออาชีพทำนานี้จากพ่อแม่

วัตถุประสงค์ ->

1.เพื่อเป็นรายได้หลักของครอบครัว

 2.เป็นงานอิสระไม่อยู่ใต้บังคับใคร

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

1.พันธุ์ข้าว ก.ข.47

 2.พันธุ์ข้าว ก.ข.31

3.ปุ๋ยอินทรีย์/ชีวภาพ

อุปกรณ์ ->

1.ท่อวิดน้ำ

2.รถไถนา พร้อมอุปกรณ์

3.จอบ  พั่ว

 4.กระดานเลื่อนปรับพื้นนาให้เสมอ

 5.ตัวรากร่องให้น้ำตก

 

กระบวนการ/ขั้นตอน->

๒.๑ การเตรียมดิน 

การเตรียมดินควรทำการไถดะ ๑ ครั้ง และไถแปร เพื่อทำให้ดินแตกละเอียดพอสมควรอีก ๒ ครั้ง แล้วคราดเอาหญ้าออก สำหรับในพื้นที่ที่เป็นดินเหนียว การคราดครั้งสุดท้าย จะต้องทำให้ดินแตกเป็นเทือกโคลนด้วย เพราะจะทำให้ต้นข้าวเจริญเติบโต และตั้งตัวได้รวดเร็ว รากจะเดินหาอาหารได้สะดวก ขณะที่กำลังปักดำ ระดับน้ำในนาควรมีประมาณ ๕ เซนติเมตร เพื่อจะได้ช่วยประคองไม่ให้ต้นพับ สำหรับดินทราย จะต้องทำการปักดำทันที หลังจากที่ได้ไถดะ และเก็บวัชพืชออกแล้ว เพราะเป็นดินทราย มีอินทรียวัตถุต่ำและดินตกตะกอนเร็ว ทำให้ดินเกาะตัวเป็นพื้นแข็ง หลังจากการไถแล้วหนึ่งวัน จนทำให้ยากแก่การปักดำ ถ้าจะมีการใส่ปุ๋ยหมักลงไปด้วย ก็จะเป็นการดียิ่งขึ้น เพราะนอกจากจะปรับปรุงคุณสมบัติของดินแล้ว ยังเป็นการเพิ่มปุ๋ยในดินนาด้วย

 

๒.๒การเลือกใช้ต้นกล้าปักดำ

การใช้ต้นกล้าที่มีอายุแก่เกินไปมาปักดำ จะทำให้มีการแตกกอน้อยและให้ผลิตผลต่ำ อายุของต้นกล้าที่เหมาะสำหรับการปักดำ ควรมีอายุประมาณ ๒๕-๓๐ วัน พันธุ์ข้าวพวก กข.๗ กข.๙ กข.๒๑ กข.๒๓ และ กข.๑๐ (กข. หมายถึง กรมการข้าว และเลขคี่ หมาย ถึง ข้าวเจ้า เลขคู่ หมายถึง ข้าวเหนียว เพราะฉะนั้น กข.๗ และกข.๙ เป็นข้าวเจ้า ส่วน กข.๑๐ เป็นข้าว เหนียว) ต้นกล้าที่มีอายุ ๒๐ วัน ก็ใช้ได้ ต้นกล้าที่มีอายุ ดังกล่าวนี้ จะฟื้นตัวเร็วหลังปักดำ และมีการแตกกอมาก

๒.๓เวลาที่เหมาะสมสำหรับการปลูกหรือปักดำ 

การปลูกข้าวเร็วหรือช้าเกินไป อาจทำให้ผลิตผลลดลงได้ เป็นต้นว่า ใช้พันธุ์ข้าวที่มีความไวต่อช่วงแสง ปลูกในฤดูนาปี โดยปลูกตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ทั้งๆ ที่ พันธุ์ดังกล่าวนี้ จะออกรวงในต้นเดือนธันวาคม ทำให้ต้นข้าวต้องอยู่ในนา นานกว่าจำเป็น เปิดโอกาสให้โรคและแมลงเข้าทำลายต้นข้าวได้เป็นเวลานาน เดือนที่เหมาะสม สำหรับการปลูกพันธุ์ข้าวที่ไวต่อช่วงแสง และออกดอกในต้นเดือนธันวาคมนี้ คือ เดือนสิงหาคม เพราะต้นข้าวจะได้มีเวลาเจริญเติบโต จนออกรวง ประมาณ ๑๒๐ วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่จำเป็น สำหรับข้าวที่ให้ผลิตผลสูง แต่ถ้าปักดำช้ากว่านี้ ต้นข้าวจะมี ระยะเวลาไม่เพียงพอกับการเจริญเติบโต จึงทำให้ได้ ผลิตผลต่ำกว่าที่ควร อย่างไรก็ตาม สภาพของอากาศ และความยาวของช่วงแสงของกลางวัน อาจมีอิทธิพล ต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว เพราะพันธุ์ข้าวที่ไม่มีความไวต่อช่วงแสง ย่อมให้ผลิตผลไม่สูง ถ้าปลูกในระยะเวลาที่ไม่เหมาะสม เช่น พันธุ์ กข.๑ ให้ผลิตผลสูง เมื่อปลูกในฤดูนาปรัง โดยจะเริ่มปลูกในเดือนกุมภาพันธ์ แต่จะให้ผลิตผลต่ำ ถ้าเริ่มปลูกในเดือนธันวาคม

๒.๔ ระยะปลูก

ระยะปลูกก็มีความสัมพันธ์กับการให้ผลิตผล ระยะปลูกนั้น หมายถึง ระยะห่างระหว่างกอ และระหว่างแถว ถ้าปลูกห่าง ก็จะเปลืองเนื้อที่ ถ้าปลูกถี่ ก็จะเปลืองเมล็ดพันธุ์ ระยะปลูกที่ดีสำหรับข้าวพันธุ์ดี คือ ระหว่างกอ ห่างกัน ๒๐ เซนติเมตร และระหว่างแถวห่างกัน ๒๕ เซนติเมตร นอกจากนี้ ระยะปลูกนั้นยังขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน และชนิดของพันธุ์ข้าวด้วย ในที่ดินทราย มีความอุดมสมบูรณ์ของดินเลว จะต้องปลูกให้ถี่กว่าในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ของดินดี คือ ระยะห่างระหว่างกอ และระหว่างแถวอาจเป็น ๑๕ และ ๒๐ เซนติเมตรตามลำดับ เพราะการแตกกอน้อยในดิน ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของดินเลว แต่ละกอที่ปักดำ ควรใช้ต้นกล้าประมาณ ๓-๕ ต้น ส่วนนาหว่านควรใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ ๘-๑๕ กิโลกรัม/ไร่

๒.๕การใส่ปุ๋ย 

ปุ๋ยเป็นอาหารพืชที่ต้นข้าวต้องการมากสำหรับ การเจริญเติบโต โดยเฉพาะดินนา ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของดินเลว จะต้องมีการใส่ปุ๋ยในดินนั้น เพื่อต้นข้าวจะได้แข็งแรง แตกกอมาก และให้ผลิตผลสูง ควรใส่ปุ๋ยทั้งในแปลงกล้า และแปลงปักดำ ตลอดถึงพื้นที่นาที่ปลูกแบบหว่าน ธาตุอาหารที่ต้นข้าวต้องการปุ๋ยมาก ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม เพราะ ฉะนั้น ปุ๋ยข้าวจะต้องมีธาตุเหล่านี้จำนวนมาก การใส่ ปุ๋ยควรแบ่งออกเป็น ๓ ระยะ คือ ก่อนตกกล้า ก่อนปัก ดำ ซึ่งเรียกว่า ปุ๋ยรองพื้น และก่อนออกรวง ซึ่งเรียกว่า ปุ๋ยแต่งหน้า ปุ๋ยรองพื้นช่วยให้ต้นขาวเจริญเติบโตเร็ว และแตกกอมาก ปุ๋ยแต่งหน้าช่วยให้ต้นข้าวมีรวงโต เมล็ดมาก น้ำหนักเมล็ดดี 

๒.๖ การป้องกันกำจัดโรคและแมลง

หลังจากการตกกล้าและปักดำ ต้องหมั่น ออกไปตรวจดูต้นข้าว เพื่อจะได้ทราบว่า มีโรคและแมลงศัตรูข้าวอะไรบ้าง เข้ามาทำลายต้นข้าว แล้วทำการป้องกันกำจัดตั้งแต่ต้นมือ เพราะถ้าโรคหรือแมลงนั้น ได้ระบาดอย่างกว้างขวางแล้ว จะเป็นการยากยิ่งที่จะทำการกำจัด หรือกำจัดได้ แต่ต้องลงทุนมาก ปกติข้าวพันธุ์ดีที่ปลูก ก็มีความต้านทานต่อโรคและแมลงอยู่แล้ว แต่จะทำให้ต้นข้าวได้รับความเสียหายน้อยที่สุด เมื่อได้มีการใช้สารเคมีช่วยกำจัด และทำลายโรคและแมลงที่เกิดขึ้นนั้นด้วย ทั้งนี้เพราะข้าวพันธุ์ดีไม่ได้มีความต้านทานสูงต่อโรคและแมลงทุกชนิด แต่มันต้านทานเฉพาะโรคหรือแมลงที่สำคัญๆ เท่านั้น

๒.๗ การกำจัดวัชพืช 

วัชพืชในนามีหลายชนิด แต่ละชนิดต่างก็พยายามจะแย่งอาหารหรือปุ๋ยจากต้นข้าว เพราะฉะนั้น จะต้องกำจัดวัชพืชให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ การปราบวัชพืชทำได้โดยวิธีการใช้มือถอน หรือใช้ยาฆ่าวัชพืชก็ได้ ยาที่ใช้ก็มีทั้งรูปที่เป็นน้ำเหลว หรือเป็นเม็ดหว่าน ลงไปในนาได้โดยตรง 

๒.๘ การรักษาระดับน้ำในนา 

น้ำในนาหลังจากปลูกข้าวแล้ว ควรจะต้องมีอยู่เสมอประมาณ ๕-๑๐ เซนติเมตร เพราะน้ำในระดับนี้ เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของต้นข้าวที่มีต้นเตี้ย ประมาณ ๑๐๐-๑๒๐ เซนติเมตร เช่น กข.๗ กข.๙ กข.๒๑ และ กข.๒๓ ส่วนในนาที่ปลูกข้าว กข.๑๓ ซึ่งมีต้นสูงประมาณ ๑๔๐ เซนติเมตร จะต้องมีน้ำ ประมาณ ๒๐-๓๐ เซนติเมตร และเมื่อต้นข้าวได้ออก รวงแล้วประมาณ ๒ สัปดาห์ จะต้องไขน้ำออกจากนา ให้หมด เพื่อทำให้เมล็ดแก่พร้อมที่จะเก็บเกี่ยวได้ใน ขณะที่ดินนานั้นแห้ง ทำให้สะดวกแก่การเข้าไปเก็บ เกี่ยว การขาดน้ำในระยะการเจริญเติบโตของข้าว นอกจากจะทำให้ต้นข้าวไม่เจริญเติบโตแล้ว ยังทำให้ เกิดมีวัชพืชจำนวนมากด้วย

ข้อพึงระวัง ->

ต้องตรวจดูแปลงนาว่ามีวัชรพืชอะไรบ้างที่ขึ้น เราจะได้ใช้ยาคุมฆ่าได้ถูกต้อง ควรเฝ้าระวังลงตรวจแปลงนาว่ามีแมลงอะไรบ้างที่จะมาทำรายข้าว เราจะได้กำจัดหรือไม่ แล้วก็ต้องตรวจดูว่าข้าวมีโรคพืช เชื้อราเกิดขึ้นหรือไม่ เราจะได้กำจัด

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดนครปฐม
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา