ความรู้สัมมาชีพชุมชน

การขยายพันธุ์ลำไย

โดย : นายบุญเกิด บุญมา วันที่ : 2017-04-12-13:36:44

ที่อยู่ : 68 หมู่ที่ 13 ตำบลแม่สอย

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

วัตถุประสงค์ ->

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

อุปกรณ์ ->

กระบวนการ/ขั้นตอน->

การขยายพันธุ์ลำไย
ลำไยเป็นพืชที่สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี แต่ที่นิยมมากในปัจจุบันคือ การตอนกิ่ง ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายและได้ผลแน่นอนเนื่องจากลำไยเป็นพืชที่ออกรากได้ง่าย แต่มีข้อเสียคือต้นไม่มีรากแก้วจึงทำให้มีโอกาสโค่นล้มเนื่องจากลมพายุสูงมาก ปัจจุบันชาวสวนบางรายเริ่มให้ความสนใจในการขยายพันธุ์ลำไยโดยวิธีการอื่น ๆ เช่น การเสียบกิ่ง, การทาบกิ่ง และการเสริมราก โดยใช้ต้นตอที่เพาะจากเมล็ด ซึ่งจะมีระบบรากแก้วที่สามารถหยั่งลึกลงไปในดิน ป้องกันต้นลำไยโค่นล้ม

การขยายพันธุ์ลำไยด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังกล่าว มีรายละเอียดดังนี้

การตอนกิ่ง
การตอนกิ่งเป็นวิธีที่ง่าย แต่ที่ขยายพันธุ์เพื่อให้เกิดความรวดเร็วและได้จำนวนต้นในปริมาณที่มากนั้นมีเทคนิคและขั้นตอนในการปฏิบัติดังนี้

1.  การเลือกต้นพันธุ์ควรเลือกตอนกิ่งจากต้นพันธุ์ที่ออกดอกติดผลดี ข้อสำคัญต้นพันธุ์ต้องปราศจากโรคโดยเฉพาะโรคพุ่มไม้กวาด

2.  เลือกกิ่งที่ตั้งตรง แต่ถ้าเป็นกิ่งนอนก็ใช้ได้ แต่การเกิดรากจะเกิดเฉพาะด้านล่างขนาดความยาวของกิ่งยาวประมาณ 75-100 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางของกิ่งประมาณ 1.5-2.0 เซนติเมตร

3.  ใช้มีดควั่นกิ่งเป็น 2 รอย หรืออาจจะควั่นรอยเดียวจากนั้นให้ใช้คีมปากจิ้งจกบิดโดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้มีดกรีดเปลือก ส่วนของเนื้อเยื่อเจริญจะถูกขูดออกมาด้วย การใช้คีมบิดจะทำให้เกิดความรวดเร็ว

4.  หุ้มด้วยดินเหนียว และกาบมะพร้าว และผ้าพลาสติก มัดกระเปราะหัวท้ายด้วยเชือกฟางหรือตอก (หรือหุ้มรอยควั่นด้วยถุงขุยมะพร้าว)

5.  ประมาณ 30 วัน รากจะเริ่มออกเมื่อเห็นรากมีสีขาวและมีปริมาณมากจึงค่อยตัดมาชำ
ในการตอนกิ่งเพื่อการค้า มักจะเริ่มทำในเดือนพฤษภาคม ซึ่งกิ่งตอนชุดนี้จะสามารถนำไปปลูกได้ในกลาง ๆ ฤดูฝนของปีเดียวกัน

การชำกิ่ง
การชำกิ่งตอนลำไย มีขั้นตอนดังนี้

1.  เลือกกิ่งที่มีรากสีขาว ลังเกตว่ามีปริมาณรากมากพอสมควรจึงทำการตัดกิ่งตอนลงชำควรริกิ่งและใบบางส่วนออกเพื่อลดการคายน้ำ

2.  แกะพลาสติกที่หุ้มกระเปราะออก ควรทำด้วยความระมัดระวังเพราะจะทำให้รากขาดได้

3.  นำกิ่งตอนลงชำในภาชนะที่บรรจุวัสดุชำ (ชาวสวนมักใช้ตะกร้าไม้ไผ่สาน หรือที่เรียกกันทางเหนือว่า “เป๊าะ”) วัสดุชำประกอบด้วยดินผสมขี้เถ้าแกลบ อัตราส่วน 2:1 วางกิ่งให้ตรง กดดินให้แน่น นำกิ่งที่ชำเสร็จแล้ว ไปเก็บไว้ในที่ร่ม ประมาณ 1 เดือน ก็สามารถนำไปปลูกในแปลงได้
อย่างไรก็ตามวิธีการใช้ตะกร้าไม้ไผ่สานเป็นภาชนะปลูกมีข้อเสียคือ ปลวกมักจะเข้าทำลายกัดกินไม้ทำให้ผุง่าย และเมื่อเก็บกิ่งตอนลำไยทิ้งไว้นาน ๆ จะมีรากโผล่ออกจากภาชนะ เมื่อโดนแสงแดดรากอาจได้รับอันตราย มีวิธีการหลีกเลี่ยงปัญหานี้ในกรณีที่เก็บกิ่งตอนไว้นาน ๆ ควรใช้ถุงพลาสติกสีดำขนาด 8×10 นิ้วเป็นภาชนะชำกิ่ง

การเสียบกิ่ง
การปลูกลำไยในปัจจุบันชาวสวนลำไยมักปลูกลำไยด้วยกิ่งตอนจึงทำให้เกิดปัญหาการโค่นล้มเนื่องจากลมพายุ ทั้งนี้เนื่องจากระบบรากของลำไยที่ได้จากการตอนกิ่งเป็นระบบรากพิเศษ คือ ระบบรากแบบนี้จะแผ่กว้างไปในแนวนอน จากการสังเกตรากของลำไยจะน้อย ประกอบกับลำไยมีทรงพุ่มทึบและกว้างในปีที่ลำไยติดผลมาก ๆ เมื่อเกิดลมพายุจึงมักจะโค่นล้ม พบว่าปีหนึ่ง ๆ ลำไยถูกพายุโค่นล้มเป็นจำนวนมาก วิธีการที่จะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ทางหนึ่ง คือการปลูกกิ่งพันธุ์ลำไยด้วยกิ่งที่ขยายพันธุ์โดยวิธีการเสียบยอด ซึ่งจะมีระบบรากแก้วที่สามารถหยั่งลึกลงไปในดิน การเสียบกิ่งจำเป็นที่จะต้องอาศัยเทคนิคต่าง ๆ ในการทำจึงจะประสบผลสำเร็จ ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้
การเตรียมต้นตอ
ต้นตอที่จะใช้ในการเสียบกิ่งได้จากการเพาะเมล็ด เมื่อแกะเอาเนื้อออกควรรีบนำไปเพาะทันที หากเก็บเมล็ดไว้นานเมล็ดจะสูญเสียความงอก มีการศึกษาเกี่ยวกับการเก็บรักษาเมล็ดลำไย พบว่าเมล็ดที่แกะออกจากผลแล้วนำไปเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้อง พบว่า เพียง 10 วัน เมล็ดลำไยจะไม่งอกเลย ในกรณีที่จะเก็บเมล็ดไว้นาน ๆ ควรเก็บไว้ทั้งผล โดยแช่ในสารกันราพวกเบนโนมิล ความเข้อมข้น 0.05 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร นาน 5 นาที สามารถเก็บไว้ได้นาน 30 วันโดยมีเปอร์เซ็นต์การงอกถึง 85 เปอร์เซ็นต์ การเพาะอาจเพาะลงในถุงพลาสติกหรือเพาะในกระบะ ฝังเมล็ดให้ลึกประมาณ 0.5 เซนติเมตร รดน้ำให้ชุ่มประมาณ 2 สัปดาห์ เมล็ดจะเริ่มงอก เมื่อต้นกล้ามีอายุประมาณ 1 ปี หรือมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.5-1.0 เซนติเมตร ก็สามารถนำไปใช้เป็นต้นตอได้
การเตรียมยอดพันธุ์ดี
ยอดพันธุ์ดีที่ใช้ในการเสียบกิ่งควรมีความยาวประมาณ 6-8 นิ้ว เส้นผ่าศูนย์กลางใกล้เคียงกับขนาดของต้นตอ ริดใบออกให้เหลือใบไว้ 2-3 ใบรวม มีใบย่อย 2-3 คู่ ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเสียบยอดคือ ช่วงปลายฤดูร้อนถึงฤดูฝน
ขั้นตอนการเสียบกิ่ง
ใช้วิธีการแบบเสียบลิ่มซึ่งได้ผลถึง 90 กว่าเปอร์เซ็นต์

1.  ตัดยอดต้นตอสูงจากพื้น 3-4 นิ้ว ผ่าต้นตอให้ยาวประมาณ 1 นิ้ว

2.  เฉือนโคนกิ่งพันธุ์ดีเป็นรูปลิ่มยาวประมาณ 1 นิ้ว

3.  เผยอรอยผ่าบนต้นตอแล้วสอดโคนกิ่งพันธุ์ดี จัดแนวเนื้อเยื่อเจริญให้ชิดกัน

4.  พันด้วยผ้าพลาสติก จากนั้นนำไปใส่ในถุงพลาสติกขนาดใหญ่ มัดปากถุงให้แน่นนำไปเก็บไว้ในที่ร่มประมาณ 40-50 วัน จึงเปิดถุง

5.  นำออกจากถุง เลี้ยงไว้อีก 2 เดือน จึงนำลงแปลงปลูก

การทาบกิ่ง
การเตรียมต้นตอ
เลือกต้นตออายุประมาณ 1-2 ปี เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.4-1.0 เซนติเมตร นำต้นตอมาล้างรากและตัดรากบางส่วนออก นำไปจุ่มในสารเร่งราก IBA ความเข้มข้น 8,000-10,000 ส่วนต่อล้าน นาน 5 วินาที (อาจใช้เซราดิกซ์ เบอร์ 3) หุ้มด้วยขุยมะพร้าวที่บรรจุอยู่ในถุงพลาสติกใสขนาด 4×6 นิ้ว พบว่ากิ่งทาบออกรากได้ถึง 95 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่กิ่งไม่ได้ใช้สารออกรากเพียง 65 เปอร์เซ็นต์ นอกขจากนี้มีการทดลองใช้ NAA ความเข้มข้น 2,000 ส่วนต่อล้านสามารถชักนำให้กิ่งทาบ เกิดรากได้ถึง 92 เปอร์เซ็นต์
การเตรียมกิ่งพันธุ์ดี
เลือกกิ่งกระโดงที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใกล้เคียงกับต้นตอความยาวประมาณ 20 นิ้ว ควรเป็นกิ่งที่ได้รับแสงแดด
ขั้นตอนการทาบกิ่ง

1.  การเตรียมรอยแผลของต้นตอ โดยเฉือนแผลของต้นตอเป็นรูปลิ่มให้มีความยาวทั้งสองด้านประมาณ 1 นิ้ว

2.  การเตรียมรอยแผลของกิ่งพันธุ์ดี เฉือนเฉียงขึ้นให้เข้าเนื้อไม้เล็กน้อยยาวประมาณ 1 นิ้ว

3.  นำรอยแผลของต้นตอประกบกับรอยแผลของกิ่งพันธุ์ดี จัดแนวเนื้อเยื่อเจริญให้ชิดกัน

4.  พันด้วยพลาสติกให้แน่น ประมาณ 45-60 วัน ต้นตอจะเกิดราก

การตัดกิ่งทาบชำลงถุง
หลังจากทาบกิ่งได้ 45-60 วัน ต้นตอจะเกิดรากโดยสังเกตว่ารากที่เกิดขึ้นมีจำนวนมากค่อยตัดกิ่งมาชำลงถุง ก่อนชำควรริดใบออกบ้างเพื่อลดการคายน้ำ จากนั้นแกะถุงพลาสติกที่หุ้มต้นตอออกควรทำด้วยความระมัดระวังอย่าให้รากกระทบกระเทือน นำกิ่งทาบชำลงในถุงพลาสติก โดยใช้วัสดุชำ คือ ขี้เถ้าแกลบ:ดิน:ปุ๋ยคอก อัตราส่วน 1:2:1 นำกิ่งที่ชำเก็บไว้ในที่ร่มรำไร ประมาณ 1-2 เดือน เมื่อกิ่งทาบตั้งตัวได้ดี ค่อยนำไปปลูกในแปลง โดยให้รอยต่อของกิ่งทาบอยู่เหนือวัสดุปลูก

 

ข้อพึงระวัง ->

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดเชียงใหม่
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา