ความรู้สัมมาชีพชุมชน

การผลิตข้าวไรซ์เบอรี่

โดย : นายเสน่ห์ จุ่มใจ วันที่ : 2017-03-16-18:15:20

ที่อยู่ : 68/2 ม.4 ต.สันผีเสื้อ

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

นายเสน่ห์     จุ่มใจ   ซึ่งเป็นประธานกลุ่มเกษตรบ้านร้องอ้อ หมู่ที่ 4 ตำบลสันผีเสื้อ  อำเภอเมืองเชียงใหม่  ประธานกลุ่มสมาชิก ธกส. กรรมการหมู่บ้าน และได้ไปอบรมหาความรู้จากหน่วยงานต่างๆ  เช่น สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ/จังหวัด  สำนักงานสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งงานด้านการเกษตร  จึงเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการทำการเกษตร เช่น ผลิตข้าวไรซ์เบอรี่ โดยได้นำเอาความรู้ความสามารถเหล่านี้ไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เป็นวิทยาทานให้แก่คนในหมู่บ้าน/ตำบล มาโดยตลอด

วัตถุประสงค์ ->

1.เพื่อเพิ่มรายได้

2.เพื่อบริโภคและลดรายจ่ายในครัวเรือน

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

อุปกรณ์ ->

กระบวนการ/ขั้นตอน->

การเตรียมดิน :
การเตรียมดินเพื่อปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ย์ถือเป็นหัวใจหลักของการผลิต เพราะถ้าเตรียมไม่ดีพอ จะส่งผลเสียมหาศาลในการผลิตคราวนั้นๆและคราวต่อๆไป จึงต้องปรับสภาพดินให้เหมาะสมที่สุดต่อการปลูกและการเจริญเติบโตของข้าว  โดยการหมักดินด้วยจุลินทรีย์เพื่อให้ช่วยควบคุมวัชพืช โรค แมลงและสัตว์ศัตรูข้าวบางชนิด จากนั้นจึงไถดะ ไถแปร คราด 
1.หว่านเมล็ดพันธุ์ปุ๋ยพืชสด การหว่านให้หว่านรอบๆแปลงนาให้ทั่วหลังจากนั้น เมื่อรถเกี่ยวข้าวได้ ประมาณ 2 รอบ ให้เดินหว่านให้ทั่วอีกครั้ง หลังจากเก็บเกี่ยวแล้ว ให้กระจายฟางเพื่อให้ฟางคลุมทั่วพื้นที่ภายใน 3 วัน เมล็ดปุ๋ยพืชสด ก็จะงอกประมาณ 45 วัน จึงทำการไถกลบ หรือย่ำหมัก 
2.การหมักฟางข้าว และกำจัดวัชพืชในแปลงนา-ใช้ระยะเวลาการเตรียมดิน 3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกันประมาณ 7 วัน
3.ใช้จุลินทรีย์ประมาณ 5 ลิตร/ไร่ ปล่อยลงแปลงนา ทิ้งไว้ 24 ชั่วโมงแล้วย่ำ ให้ทั่ว 1 – 2 รอบ หมักไว้ 7 วัน เพื่อล่อให้หญ้าขึ้น
4.ระบายน้ำเข้าพร้อมจุลินทรีย์ ให้ท่วมพื้นนาแล้วย่ำให้หญ้าจมดิน ระบายน้ำเข้า ให้ท่วมหญ้าหมักไว้ 7 วัน
5.หว่านสมุนไพรกำจัดหอยเชอรี่
6.ในการย่ำทำเทือก ให้ระบายน้ำออกจนแห้ง แล้วหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าว ทิ้งไว้ 7 วัน
7.ระบายน้ำเข้าพร้อมจุลินทรีย์ ให้ระดับน้ำประมาณครึ่งของต้นข้าว
8.รักษาระดับน้ำอย่าให้แห้ง เพื่อจุลินทรีย์จะได้ย่อยสลายวัชพืชให้เน่าเปื่อย 

การเตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าว :
ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพดี คือการคัดเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีความงอกแรง หมายถึงเมล็ดพันธุ์ข้าวจะต้องสมบูรณ์ เป็นข้าวเต็มเมล็ด น้ำหนักเมล็ดดี ต้นข้าวที่งอกสามารถใช้อาหารจากเมล็ดได้ 10-14 วัน สามารถคัดเลือกเมล็ดที่ลีบออกได้ โดยการทดสอบเมล็ดในน้ำละลายเกลือแกงหรือในน้ำที่ใส่ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต เมล็ดที่ไม่สมบูรณ์ หรือเมล็ดลีบจะลอยตัว ให้ช้อนเอาเมล็ดที่ลอยออกทิ้ง ล้างเมล็ดที่จมด้วยน้ำสะอาด แล้วนำไปแช่และหุ้มให้ข้าวงอกก่อนหว่าน
1.ใช้เมล็ดพันธุ์ 15-20 กิโลกรัม/ไร่
2.บ่มเมล็ดพันธุ์ไว้ 3 วัน
3.ใช้ฮอร์โมนสูตรรกหมู อัตราส่วน 10 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร รดเมล็ดพันธุ์ที่บ่มไว้

วิธีการปลูก : 
การปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ใช้วิธีปักดำ ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดในการผลิตข้าวอินทรีย์ เพราะการเตรียมดิน ทำเทือก การควบคุมระดับน้ำในนาจะช่วยลดปริมาณวัชพืชได้  และการปลูกกล้าข้าวลงดินจะช่วยให้ข้าวสามารถแข่งขันกับวัชพืชได้ ต้นกล้าที่ใช้ปักดำ มีอายุประมาณ 20 วัน เป็นต้นกล้าที่เจริญเติบโตแข็งแรงดี ปราศจากโรคและแมลงทำลาย

ข้อพึงระวัง ->

การดูแลรักษาระหว่างการปลูก :
ปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ และต้องมีสภาพอากาศเย็น เพื่อสร้างสีเมล็ดลักษณะประจำพันธุ์ข้าวไรซ์เบอรี่ ความสูง 105-110 เซนติ เมตร อายุเก็บเกี่ยว 130 วัน ผลผลิต 300-500 กิโลกรัมต่อไร่ เปอร์เซ็นต์ข้าวกล้อง (Brown rice) 76% ต้นข้าวหรือข้าวเต็มเมล็ด (head rice) 50% ความยาวของเมล็ดข้าวเปลือก 11 มิลลิเมตร ข้าวกล้อง 7.5 มิลลิเมตร ข้าวขัด 7.0 มิลลิเมตร
-ข้าวอายุ 10 วัน ระบายน้ำ+จุลินทรีย์ +ฮอร์โมนสูตรรกหมู อัตรา 5 ลิตร/ไร่ เข้าแปลงนา
-ข้าวอายุ 15 วัน ใส่ปุ๋ยหมักชีวภาพ อัตรา 30 กิโลกรัม/ไร่ หลังจากนั้นให้ตรวจข้าวว่าขึ้นสม่ำเสมอหรือไม่ ถ้าข้าวเสีย หรือข้าวขึ้นไม่สม่ำเสมอ ให้ทำการซ่อมกล้า โดยใช้เครื่องมือซ่อมกล้าข้าว เพื่อลดการช้ำของต้นข้าว และให้ต้นข้าวที่ขึ้นสม่ำเสมอกันทั่วแปลงนา
-ข้าวอายุ 35 วัน ใส่จุลินทรีย์+ฮอร์โมนสูตรรกหมู อัตราส่วน 5 ลิตร/ไร่ มีการทำร่องเดิน เพื่อไม่ให้เหยียบต้นกล้าข้าว
-ฉีดพ่นขับไล่แมลง โดยใช้สมุนไพร (น้ำสะเดาหมัก,ผักเสี้ยนผี,น้ำส้มควันไม้) ถ้ามีแตนเบียนสามารถปล่อยแตนเบียนได้ เพื่อรักษาระบบนิเวศในนาข้าว หมายเหตุ ปัจจุบันนี้ ได้มีการลดขั้นตอนในการฉีดสมุนไพรและฮอร์โมนลง โดยฉีดพ่นในช่วงข้าวอายุ 50และ 60 วันเท่านั้น เพราะต้นข้าวมีความแข็งแรง โดยสังเกตจากต้นข้าวกอใหญ่ มีความตั้งตรงมีสีเขียวตามธรรมชาติ ถ้าข้าวยังไม่แข็งแรงสามารถฉีดสมุนไพรและฮอร์โมน ในช่วง 75 วันเพิ่มเติมได้

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดเชียงใหม่
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา