ความรู้สัมมาชีพชุมชน

image1

ทอผ้า และจกผ้าซีนตีนจก

โดย : นางอาทิตยา คงทุน วันที่ : 2017-03-01-13:32:44

ที่อยู่ : 123 หมู่ 7 บ้านกองกาน ตำบลแม่ศึก อำเภอแม่แจ่ม

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

ผ้าตีนจกแม่แจ่ม หมายถึง ผ้าฝ้ายหรือผ้าไหมที่ทอและจกด้วยมืออย่างปราณีตตามกรรมวิธีการทอและการจกแบบดั้งเดิมที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นซึ่งเป็นมรดกทางหัตถกรรมที่ถ่ายทอดสืบกันมาและผลิตในอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้เกิดเป็นผ้าที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น

          ร้านอาทิตยาผ้าตีนจกเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย ซึ่งซิ่นตีนจกเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดต่อกันมาแต่ช้านานของชาวอำเภอแม่แจ่ม และมีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ให้ผ้าตีนจกเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย มีการประยุกต์ลวดลายและการออกแบบให้เหมาะสมกับการสวมใส่ในปัจจุบัน

วัตถุประสงค์ ->

  1. สืบทอดศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น
  2. งานสร้างเสริมรายได้

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

เครื่องมือ/อุปกรณ์ในการทอผ้าตีนจกแม่แจ่ม

  กี่ , สะป๊าน   อีด    สะลุ่น     แป้นผัดหลูหลี                                       เผี่ยน      กวง        บะกวัก                                          พะขอ                   ขอบฟืม , ฟืม        เขาแป๊ะ        ไม้อกม้า       ไม้ผัง

 ไม้ตีนย่ำ                               บะหลีแล่น                               เจื้อกมัดหัวหูกแก่นหลอด                        กระสวย      ขนเม่น ,เหล็กแหลม                       โก้กหมู

 

 

 

เส้นฝ้ายสีต่างๆ

 

อุปกรณ์ ->

อุปกรณ์

อุปกรณ์การฟอกย้อม

- หม้อที่ใช้ย้อม จะต้องเป็นหม้อสแตนเลสไม่เกิดสนิม เพื่อให้ควบคุมเรื่องสีได้

- ห่วงใส่ด้ายมีรูปลักษณะตัว U เป็นวัสดุที่ทำความสะอาดง่าย ไม่กักเก็บตะกอน

- ถุงพลาสติก  ถังพลาสติก หรืออ่างน้ำที่ไม่เป็นสนิม

อุปกรณ์ในการทอ

- กี่ทอผ้า เป็นกี่กระทบ( พุ่งกระสวยด้วยมือ ) โครงสร้างไม้เนื้อแข็ง

- สภาพทั่วไป ต้องแข็งแรง ไม่โยกคลอน

- โครงสร้างกี่ ต้องมีคานไม้ (อกม้า) รับฝ้ายเส้นยืน เพื่อให้ฝ้ายเส้นยืนพาดยืนอยู่บนคานนั้น       

- ไม้โครงสร้างกี่ ส่วนที่ต้องสัมผัสเส้นฝ้าย ต้องขัดลบเสี้ยนไม้ให้หมด

- แกนม้วนผ้า เป็นไม้กลึงกลมหรือเหลากลม ขัดลบเสี้ยน เซาะร่องตามแนวยาวเพื่อสอดไม้ประกบเส้นฝ้ายเมื่อเริ่มทอ

- ไม้กระทบ (ขอบฟืม) เป็นไม้ที่ประกบฟืม (ฟันหวี) ต้องประกบฟืมได้พอดี ไม่โยกคลอน ไม่แอ่น ไม่โค้งงอ ต้องมีคานไม้ประกอบเป็นกรอบโครง เพื่อโยงพาดกับโครงสร้างกี่ โดยมีรูที่คานไม้นั้นเพื่อสอดไม้เนื้อแข็ง (เขาแพะ) ให้ไม้สามารถพาดลงบนโครงสร้างกี่ได้                

- ฟืม เป็นอุปกรณ์หลักที่จัดเรียงด้ายในแนวยืน และเป็นเครื่องมือในการกระแทกให้เส้นด้ายยึดติดแน่นเป็นเนื้อเดียวกัน จะติดอยู่กับส่วนที่เรียกว่าขอบฟืม ซึ่งติดอยู่กับกี่ทอผ้า

- กระสวยทอผ้า เป็นกระสวยไม้ขนาดพอเหมาะ เหลาให้หัวมนกลม ขัดลบเสี้ยนไม้ตรงกลางสามารถใส่หลอดฝ้ายเส้นพุ่งได้ 1 หลอด ด้านข้างเจาะรูให้เป็นทางออกของเส้นด้ายจากกระสวย         

- ผัง ไม้เหลาแบนเรียบ ความยาวต้องยาวกว่าหน้าผ้า เพื่อให้ผ้าตึงเรียบเวลากระแทกขอบฟืม

- โก้กหมู หรือ แปรงขนอ่อน ใช้ในการหวีเส้นด้ายที่ขึงในกี่ (หูก) ให้เรียงอย่างเป็นระเบียบ ง่ายต่อการทอและทำให้ผืนผ้าเรียบสวยงาม

- พะขอ ใช้สำหรับจัดเรียงด้าย(ฮ้วน) ให้ได้ความกว้างและความยาวตามที่ต้องการ

- บะกวัก เป็นอุปกรณ์ที่ใช้กรอด้ายก่อนนำไปฮ้วน หรือพันใส่หลอด

- กวง ใช้คู่กับบะกวัก เพื่อกรอเส้นฝ้ายนำไปทำเส้นยืน หรือเส้นพุ่ง

- ขนเม่น หรือ เหล็กแหลม เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการจกลวดลาย

- อีด ใช้หนีบเอาเมล็ดฝ้ายออก จะได้ยวงฝ้าย

- สะลุ่น ใช้ใส่ยวงฝ้ายที่อีดแล้ว

- โก๋ง  ใช้ดีดยวงฝ้ายที่อยู่ในสะลุ่นให้เกาะกันคล้ายสำลี

- แป้นและไม้ผัดหลูหลี ใช้ม้วนฝ้ายที่ดีดแล้วเตรียมไว้ปั่น

- เผี่ยน ใช้ปั่นฝ้ายเพื่อให้เป็นเส้นฝ้าย

- เปี๋ย ใช้ดึงเส้นฝ้ายออกจากเผี่ยน                   

กระบวนการ/ขั้นตอน->

วิธีการทอและการจก

1 เป็นกรรมวิธี 2 อย่างพร้อมกัน คือ ทอ และจกลวดลายที่มีลักษณะพิเศษ

2 ติดตั้งอุปกรณ์ให้พร้อมสำหรับการทอและจก พร้อมเตรียมเส้นยืน และเส้นจก (เส้นพุ่งพิเศษ)

3 การทอธรรมดาโดยการเหยียบไม้ที่ผูกตะกอ เส้นยืนจะถูกแยกออก และเกิดช่องว่างให้สอดกระสวยด้ายพุ่งผ่านได้ เมื่อพุ่งกระสวยแล้วต้องกระทบฟืมทุกครั้ง  เพื่อให้ด้ายพุ่งแนบติดกัน หรือทอพิเศษด้วยกระสวย 2 ตัว บรรจุด้ายตัวละสีตรงกลาง โดยกระสวย 1 อยู่กับที่และใช้อีกกระสวย 1 พุ่งเส้นด้ายมาคล้องกับเส้นด้ายของกระสวยที่อยู่กับที่แล้วไขว้เส้นด้ายกัน ก่อนพุ่งกลับ     เมื่อพุ่งกระสวยแล้วให้กระทบฟืมทุกครั้ง เมื่อทอได้ผ้าความยาวช่วงหนึ่งจะเริ่มทำการจก

4 กระทบฟันหวี (ฟืม) เมื่อสอดกระสวยด้ายพุ่งกลับแล้วก็จะกระทบฟันหวีเพื่อให้ด้ายพุ่งแนบติดกันจะได้เนื้อผ้าที่แน่นหนา ให้กระทบแรงพอประมาณ ไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง

5 การจกเป็นการจกแบบ “คว่ำลายลง” คือ จกจากด้านหลังของผ้าใช้ขนเม่นหรือเหล็กแหลมยกเส้นยืนเพื่อควักเส้นจกโดยสอดเส้นจกเว้นไปมาตามลวดลายหลัก ซึ่งผู้ทอใช้สอดสลับสีได้หลากสีตามภูมิปัญญา ความชำนาญและจินตนาการของช่างทอ  เมื่อจกครบแถว ให้พุ่งกระสวย 1 ครั้ง (โดยกระสวย 1 อยู่กับที่และใช้อีกกระสวย 1 พุ่งเส้นด้ายมาคล้องกับเส้นด้ายของกระสวยที่อยู่   กับที่) แล้วกระทบฟืมอย่างน้อย 2 ครั้ง

6 การเก็บเงื่อนเส้นจกใช้วิธีการเก็บด้านบน โดยต้องเก็บให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่มีเส้นไขว้กันไปมา

                            - เก็บเมื่อเริ่มต้นขึ้นลวดลาย 

                          - เก็บเมื่อต่อเส้นจกเมื่อเส้นจกลายหมด

                          - เก็บเมื่อสิ้นสุดหนึ่งช่วงลาย

7 เมื่อทอและจกเสร็จแล้วนำออกจากอุปกรณ์ ผ้าที่ได้ต้องมีลวดลายแน่นเรียบ คล้ายกันทั้งด้านหน้าและหลัง ใช้ได้ทั้งสองหน้า และเมื่อขยี้ด้วยมือตรงลวดลายก็ไม่มีขาดหรือหลุดลุ่ย

8 ลวดลายผ้าตีนจกแม่แจ่ม ประกอบด้วย  16 ลาย คือ ลายหละกอนหลวง ลายหละกอนก๋าง ลายหละกอนหน้อย ลายเจียงแสนหลวง ลายเจียงแสนหน้อย ลายขันสามแอว ลาย  ขันแอวอู ลายขันเสี้ยนสำ ลายโกมฮูปนก ลายโกมหัวหมอน ลายหงส์บี้ ลายหงส์ปล่อย ลายนกกูม ลายนกนอนกูม ลายนาคกูม ลายกุดขอเบ็ด และลวดลายอื่นๆแล้วแต่เทคนิคของช่างทอ โดยมีโครงสร้างประกอบด้วย ขอไล่ ห้องนกหรือห้องกุด ขัน โกม หางสะเปา

                             

 

ข้อพึงระวัง ->

ผ้าทอแม่แจ่มเป็นสินค้ามีเอกลักษณ์ที่ได้รับการรับรองจากสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาตร์ GI  ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ดังนั้นควรทอให้ถูกต้องเพื่อรักษาเอกลักษณ์ต่อไป

รูปประกอบ -> image1

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดเชียงใหม่
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา