ความรู้สัมมาชีพชุมชน

การเพาะเห็ดหอม

โดย : นายฐิติพงษ์ ปัจจารี วันที่ : 2017-03-12-10:56:45

ที่อยู่ : 28 หมู่ที่ 8 ตำบลแม่นาวาง

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

       หลังจากที่จบการศึกษา ได้กลับมาทำงานด้านการเกษตรที่บ้าน และรักอาชีพการเกษตร แต่ปัจจุบันการเกษตรมีให้เลือกทำอาชีพหลากหลาย สามารถทำเป็นอาชีพเสริม อาชีพหลักได้ตามความถนัดและความสามารถของเกษตรกร ตนเองสนใจการเพาะเห็ดหอม และเรียนรู้ ศึกษาจากโครงการหลวงใหม่หมอกจ๋าม โดยมีเจ้าหน้าที่ให้การส่งเสริม สนับสนุนในการดูเรื่องสภาพแวดล้อม พื้นที่ และให้การแนะนำการตั้งแต่การทำก้อนเห็ดหอม การนึ่ง การบ่มก้อน และการเลี้ยงเห็ด ตลอดจนการเก็บเห็ด และได้รับงบประมาณเป็นทุนในการรวมกลุ่มทำเพาะเห็ดหอมจาก กทบ.บ้านห้วยม่วง 500,000 บาท จึงต้องการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพเห็ดหอมต่อไป

วัตถุประสงค์ ->

1. สร้างงาน สร้างรายได้

2. ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์

3. เป็นอาชีพเสริม

4. การรวมกลุ่ม เพิ่มช่องทางการตลาด

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

อุปกรณ์ ->

1. วัสดุเพาะ ที่ได้ผลดี และสามารถหาได้ คือ ขี้เลื่อยไม้ยางพารา และวัสดุเสริม ซึ่งมีส่วนผสมดังนี้ ขี้เลื่อย 100 กก. รำข้าว 5 กก. น้ำตาลทราย 2 กก. ดีเกลือ 0.2 กก. ยิบซั่ม 0.5 กก. ผสมน้ำให้มีความชื้น 55-65%
2. ถุงพลาสติกทนร้อน และอุปกรณ์การเพาะเห็ดในถุงพลาสติก
3. หม้อนึ่งความดัน หรือถังนึ่งไม่อัดความดันพร้อมอุปกรณ์การให้ความร้อนในการนึ่งฆ่าเชื้อ
4. โรงเรือน หรือสถานที่บ่มเส้นใยและให้ผลผลิต

กระบวนการ/ขั้นตอน->

โรงเรือน

     - โรงเรือน โรงเรือนเพาะเห็ดหอมต้องสะอาด มีการถ่ายเทอากาศสะดวก เก็บความชื้นได้ดี และมีแสงสว่างพอสมควร ถ้าอากาศถ่ายเทไม่สะดวกมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สะสมจะทำให้ก้านเห็ดยาวกว่าปกติ ถ้ามืดเกินไปจะทำให้ดอกซีดและก้านดอกยาว โรงเรือนเพาะเห็ดทั่วไปมักจะมุงด้วยใบจากหรือหญ้าคา และใช้ใบจากหรือหญ้าคาเป็นฝาด้วย การใช้ผ้าพลาสติกขึงข้างฝาโรงเรือน จะช่วยให้โรงเรือนเก็บความชื้นได้ดี และป้องกันลมกรณีที่มีลมโกรกแรง การทำหลังคาสูงจะช่วยให้โรงเรือนโปร่งและระบายอากาศได้ดี ควรมีช่องระบายอากาศที่จั่วหรือทำหน้าต่างให้อากาศเข้าได้บ้าง แต่อย่าให้แสงแดดส่องเข้าโดยตรง อาจจะใช้ตาข่ายสีดำพรางแสงได้ กรณีนี้จะช่วยให้มีการระบายอากาศแต่แสงแดดส่องเข้าไม่ถึง ถ้าลมโกรกก็ใช้พลาสติกปิดภายในเป็นครั้งคราว การสร้างโรงเรือนขนาดใหญ่จะทำให้โรงเรือนเย็นสบายเป็นพิเศษ การทำโรงเรือนเล็กมีฝาผนังติดกันจะทำให้เย็น แต่การระบายอากาศไม่ดี โรงเรือนต้องวางหลังคาในแนวตะวันออกตะวันตก เพื่อแสงแดดจะไม่ส่องเข้าถึงโรงเรือน ตอนกลางคืนวันที่ลมไม่แรง อากาศเย็น สามารถเปิดประตูและหน้าต่างโรงเรือนเพื่อให้อากาศเข้าออกได้ ก้อนเชื้อเห็ดได้รับออกซิเจนเต็มที่

เทคนิคการเพาะ

1.  เวลาเคาะเชื้อเห็ดหอมใส่ในก้อนเชื้อให้เขย่า  หรือเคาะขวดให้เมล็ดข้าวฟ่างแยกออกจากกันแล้วใส่ลงไปในถุงวัสดุเพาะ  ถุงละ  5 – 6  เม็ด  ใส่สำลีปิดอย่างเร็ว   ไม่อย่างนั้นจะมีการปนเปื้อนเชื้อตัวอื่นสูง

2.    การผลิตเห็ดหอมในฤดูคือ  เริ่มหยอดเชื้อเดือนกรกฎาคม -  สิงหาคม  ทิ้งไว้ใน  โรงบ่ม  60  วัน  ก็จะเป็นฤดูหนาวพอดี  ช่วงนี้เห็ดหอมออกผลผลิตมากที่สุด     แต่ถ้าต้องการเพาะเห็ดหอมนอกฤดูก็ให้หยอดเชื้อเดือนตุลาคม  -  พฤศจิกายน  เห็ดหอมจะเริ่มออกดอกในเดือนมีนาคม –เมษายน  ช่วงนี้ผลผลิตน้อย แต่จะได้ราคาดี

วิธีการเพาะ
1. ผสมวัสดุเพาะและวัสดุเสริมทั้งหมดให้เข้ากันอย่าให้แห้งหรือแฉะ ให้วัสดุพอจับตัวกันได้ เมื่อบีบดูต้องไม่มีหยดน้ำ เมื่อคลายมือออก ส่วนผสมต้องไม่แตกร่อนออกอย่างรวดเร็ว
2. บรรจุส่วนผสมลงในถุงพลาสติกทนร้อน อัดแน่นพอประมาณ ถุงละ 1/2 กก.- 1 กก. ใส่คอขวดปิดจุกสำลี และปิดทับด้วยกระดาษหรือฝาครอบกันไอน้ำ
3. แล้วนำไปนึ่งฆ่าเชื้อด้วยหม้อนึ่งความดันเป็นเวลา 40 นาที ถึง 1 ชั่วโมง ด้วยความดัน 15-20 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว (หรือใช้ถังนึ่งไม่อัดความดันก็ได้ผลดีพอควร โดยเริ่มจับเวลาตั้งแต่ไอน้ำเดือดพุ่งตรงสม่ำเสมอ เป็นเวลา2-4 ชั่วโมง ต้องรักษาระดับไอน้ำไว้ตลอดเวลาด้วยการปรับความร้อนให้มีอุณหภูมิภายในถังนึ่ง 85-100 องศาเซลเซียสตลอดเวลา) แล้วทิ้งให้เย็น
4. แกะกระดาษหรือฝาครอบออก เปิดจุกสำลีแล้วใส่เชื้อเห็ด (นิยมใช้หัวเชื้อเห็ดจากเมล็ดข้าวฟ่าง) ควรทำในบริเวณที่สะอาด ป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรค แล้วนำไปบ่มเส้นใย
การบ่มเส้นใย
ระยะเวลาที่บ่มเส้นใย 3-4 เดือน ขึ้นกับน้ำหนักอาหารที่ใช้ หรือมีการสร้างตุ่มดอกประมาณ 2/3 ของก้อนเชื้อ
อุณหภูมิ
การบ่มเส้นใยเห็ดหอมที่ดีที่สุดคือที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส การทำห้องหรือโรงเรือนที่ตั้งอยู่ใต้ร่มเงาไม้สำหรับบ่มเส้นใยอย่างง่าย เช่น ทำจากหญ้าคา, จากฟาง, ไม้ไผ่ ฯลฯ ก็ได้ และมีการให้น้ำภายนอกโรงเรือน หรือบริเวณพื้นโรงเรือนเป็นครั้งคราวเมื่ออุณหภูมิสูงกว่า 25 องศาเซลเซียส
ความชื้น
ระยะบ่มเส้นใย ต้องการความชื้นในบรรยากาศในระดับปกติ คือ ประมาณ 50% ไม่ต้องให้น้ำที่ถุงเห็ด ถ้ามีความจำเป็นต้องให้น้ำโรงเรือนต้องระวังมิให้น้ำถูกสำลีที่จุกปากถุง เพราะจะเป็นทางทำให้เกิดเชื้อโรคไป ทำลายเชื้อเห็ดได้ ความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสมต่อการสร้างดอกเห็ดและการเจริญของดอกเห็ด อยู่ระหว่าง 80-90% และ 60-70% ตามลำดับ การผ่านลมเย็นในขณะดอกเห็ดเจริญ จะทำให้หมวกเห็ดแตก คล้ายกับดอกเห็ดหอมที่นำเข้าจากต่างประเทศ
อากาศ
การถ่ายเทอากาศที่ดีจำเป็นต่อการเจริญของดอกเห็ด และทำให้มีการสะสมเชื้อโรคน้อยลง ถ้ามีการสะสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากจะทำให้เห็ดมีก้านยาว บางครั้งหมวดเห็ดอาจจะไม่เจริญหรือมีลักษณะผิดปกติอื่น ๆ แสงช่วยกระตุ้นให้เส้นใยเกิดตุ่มเห็ด สร้างแผ่นสีน้ำตาล และเจริญเป็นดอกเห็ดได้เร็วกว่าที่มือและยังช่วยให้หมวดเห็ดมีสีเข้มไม่จางซีดการแช่น้ำเย็น หลังจากบ่มเส้นใยสมบูรณ์แล้ว ให้แช่ก้อนเชื้อในน้ำเย็น 2 ชั่วโมง หรือค้างคืนก็ได้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดดอก
การให้ผลผลิต
โดยเปิดปากถุงให้ออกดอกทางด้านบนหรือเปลือยก้อนเชื้อโดยแกะถุงพลาสติกออกทั้งหมดให้ก้อนเชื้อสัมผัสอากาศเป็นการกระตุ้นให้เกิดดอกเห็ด ถ้าต้องการเห็ดดอกใหญ่ก็เปิดให้มีการเกิดดอกเป็นบางส่วน การเปลือยก้อนเชื้อจะได้ดอกเห็ดจำนวนมากแต่ดอกจะเล็ก และอาจจะมีการปนเปื้อนจากเชื้อโรคหรือถูกกระทบจากสภาพแวดล้อมได้ง่าย ผลผลิตดอกเห็ดสดจะได้ 50-400 กรัมต่อก้อนเชื้อ 1/2 - 1 กก. ขึ้นกับความใส่ใจและเทคนิควิธีการของผู้เพาะเห็ด

 

ข้อพึงระวัง ->

การติดเชื้อราเขียว จะทำให้ก้อนเห็ดเสียหายทั้งโรง ควรสังเกตุก้อนที่มีสีเขียวให้แยกออกทิ้ง

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดเชียงใหม่
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา