ความรู้สัมมาชีพชุมชน

การเลี้ยงสัตว์แบบเกษตรธรรมชาติ (หมูหลุม)

โดย : นายนเรศ คำอ่อน วันที่ : 2017-02-28-12:34:21

ที่อยู่ : บ้านเลขที่ 3/2 หมู่ 4 ตำบล ทุ่งปี๊ อำเภอ แม่วาง จังหวัด เชียงใหม่

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

เป็นทางเลือกของเกษตรกร ผู้ที่มีความนิยมชมชอบการเลี้ยงสุกรโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย เนื่องจากการเลี้ยงสุกรขุนที่เลี้ยงกันทั่วไปมีต้นทุนการเลี้ยงสูง วัตถุดิบอาหารสัตว์และปฏิชีวนะมีราคาแพง ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรประสบปัญหาขาดทุน การเลี้ยงสุกรแบบธรรมชาติ (หมูหลุม) เน้นการใช้วัสดุที่มีอยู่ตามธรรมชาติและในท้องถิ่นเป็นหลัก หาง่าย ราคาถูก และสามารถนำวัสดุที่เหลือใช้ต่าง ๆ กลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อีก ทำให้ช่วยลดต้นทุนการเลี้ยงสุกรได้ค่อนข้างมาก อีกทั้งเป็นการพึ่งพาอาศัยเกื้อหนุนซึ่งกันและกันระหว่างพืชกับสัตว์ กล่าวคือ เมื่อมีการปลูกพืชเกษตรกรสามารถใช้พืชหรือเศษพืชผัก และผลไม้ต่าง ๆ กลับมาทำเป็นอาหารหมักเลี้ยงหมูหลุมได้ ในทำนองเดียวกันพืชก็สามารถใช้ประโยชน์จากหมูหลุมได้เช่นกัน โดยการใช้วัสดุที่อยู่ในหลุมซึ่งถูกย่อยสลายและหมักโดยจุลินทรีย์กลุ่มที่ให้ประโยชน์ กลายเป็นปุ๋ยหมักอย่างดีนำไปใช้ปรับปรุงบำรุงดิน และเป็นอาหารของพืชได้ ช่วยทำให้การผลิตทั้งพืชและสุกรมีต้นทุนการผลิตลดน้อยลง การเลี้ยงหมูหลุมจะไม่มีปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นของมูลสุกร น้ำเสีย และช่วยรักษาสภาพแวดล้อม หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีและปฏิชีวนะ ทำให้ได้เนื้อสุกรที่ปลอดภัยจากสารพิษไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคและสามารถนำไปปรับใช้กับการทำการเกษตรแบบผสมผสานได้

วัตถุประสงค์ ->

- เพื่อเป็นการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ในครัวเรือน
- เพื่อช่วยรักษาสภาพแวดล้อม ลดกลิ่นเหม็นของมูลสุกร
- ช่วยลดต้นทุนในการเลี้ยงหมู
- เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของการทำเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียง

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

หมู
แกลบ ขี้เลื่อย หรือวัสดุทางการเกษตร ใบไม้แห้ง หญ้าแห้ง ฟางข้าวสับ
ดินแดงหรือดินที่ขุดออกจากหลุม
ถ่านไม้
เกลือเม็ด
 

อุปกรณ์ ->

จอบ
เสียม
มีด

กระบวนการ/ขั้นตอน->

วัสดุที่ใช้ควรเป็นวัสดุที่สามารถหาได้ง่าย ราคาถูก มีอยู่ตามธรรมชาติทั่วไปหรือเศษวัสดุเหลือใช้ต่าง ๆ ก็สมาราถนำกลับมาใช้ได้อีก ช่วยทำให้ประหยัดต้นทุนได้ค่อนข้างมาก วัสดุที่ใช้มีดังนี้คือ
1. แกลบ ขี้เลื่อย หรือวัสดุทางการเกษตร ใบไม้แห้ง หญ้าแห้ง ฟางข้าวสับ เศษที่เหลือจากการเพาะเห็ด หรือขยะแห้งที่ย่อยสลายได้
2. ดินแดงหรือดินที่ขุดออกจากหลุม
3. ถ่านไม้
4. เกลือเม็ด
5. เชื้อราขาวที่ได้จากธรรมชาติที่อยู่ตามใต้ต้นไผ่ชนิดต่าง ๆ
6. น้ำหมักจุลินทรีย์จากธรรมชาติทั้งจากพืชและสัตว์

1.      ขั้นตอนและวิธีการทำ

1.) เตรียมหลุมให้ได้ตามขนาดและจำนวนสุกรที่จะเลี้ยง โดยให้มีความลึก 90 เซนติเมตร

2.) ชั้นที่ 1 (ชั้นล่างสุด) ใส่แกลบ ขี้เลื่อย หรือวัสดุอื่น ๆ ที่ย่อยสลายได้ ให้สูงประมาณ 35 เซนติเมตรหรือครึ่งหนึ่งของหลุม ถ้าขนาดหลุม กว้าง 3 ยาว 3 เมตร ลึก 70 เซนติเมตร จะใส่แกลบหรือขี้เลื่อยประมาณ 400 กิโลกรัม

3.) ชั้นที่ 2 ใส่ดินแดง หรือดินที่ขุดออกจากหลุม โดยใช้ 10 % ของชั้นที่ 1 หรือ 40 กก. ใส่ให้ทั่ว

4.) ชั้นที่ 3 ใส่ถ่านไม้โดยใช้ 10 % ของชั้นที่ 1 หรือ 40 กก. ถ่านไม้ควรทุบให้มีขนาดเล็กที่สุดเท่าที่จะทำได้ใส่ให้ทั่วทั้งหลุม

5.) ชั้นที่ 4 ใส่เกลือเม็ดโดยใช้ 1 % ของชั้นที่ 1 หรือ 4 กก. โรยให้ทั่ว

6.) ชั้นที่ 5 ใส่มูลสัตว์แห้ง (มูลอะไรก็ได้) โดยใช้ 10 % ของชั้นที่ 1 หรือ 40 กก. ใส่ให้ทั่วทั้งหลุม

7.) ชั้นที่ 6 ใส่แกลบหรือขี้เลื่อยลงไปให้เต็มทั้งหลุมอย่าให้มองเห็นขอบหลุม

8.) เมื่อใส่วัสดุทุกชนิดครบทุกชั้นแล้ว ให้รดด้วยน้ำหมักจุลินทรีย์จากธรรมชาติทั้ง และเชื้อราขาว ในอัตราส่วน 2 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 10 ลิตร ผสมในบัวเดียวกัน รดให้ชุ่ม

9.) เมื่อปฏิบัติทุกขั้นตอนเรียบร้อยแล้ว ทิ้งไว้ 4 วัน แล้วจึงนำหมูลงเลี้ยงได้เลย

10.) เมื่อนำหมูลงเลี้ยงแล้ว ให้ใช้น้ำหมักเชื้อจุลินทรีย์ตามข้อ 8 รดหรือราดตามตัวสุกรเพื่อล้างสิ่งปฏิกูลที่ติดมากับตัวสุกร

11.) ผสมน้ำหมักจุลินทรีย์ในน้ำดื่มเพื่อให้สุกรดื่มกิน อัตราส่วนตามที่ระบุในแต่ละชนิด

12) จัดสภาพแวดล้อมและโรงเรือนให้โปร่งและระบายอากาศได้ดี

ข้อดีของเลี้ยงหมูหลุมอินทรีย์จะไม่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ใช้พื้นที่น้อย ขนาดคอก 4X5 เมตร กับลูกหมู 10 ตัว ถือว่าพอดีรองพื้นด้วยซังข้าวโพด ราดด้วยอีเอ็ม ทำให้ไม่มีกลิ่นเหม็น ส่วนขี้หมูนั้นก็สามารถทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์นำไปขายเป็นรายได้อีกทอดหนึ่ง หรือใส่ต้นลำไยก็ได้ ของผมตอนนี้มีอยู่ 4 คอก วิธีการเลี้ยงจะสลับกัน ดังนั้นจะมีหมูขายทุกเดือนวนกันในแต่ละคอก ก็มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 10,000-15,000 บาทต่อเดือน

ข้อพึงระวัง ->

  • น้ำและอาหารที่ให้หมูต้องมีความสะอาด เพื่อป้องกันอาการท้องเสียในหมู
  • ควรใช้มุ้งคลุมคอกเพื่อกันยุง

     

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดเชียงใหม่
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา