ความรู้สัมมาชีพชุมชน

ปลูกกระเทียม

โดย : นายสงวน มะลิกองสิงห์ วันที่ : 2017-05-03-14:33:27

ที่อยู่ : 185 ม.2 ต.ท่าตอน

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

 ครอบครัวเป็นชาวเกษตรกร ปลูกกระเทียมมานาน และทำนา ได้ศึกษาเรียนรู้การปลูกกระเทียมให้หัวโต ไม่รีบ และมีน้ำหนัก ศึกษาพันธุ์ต่างๆ ที่เหมาะสมกับดินของตนเอง และสภาพแวดล้อม ปัจจุบันกระเทียมที่ปลูกคือ พันธุ์กลาง เป็นพันธุ์ที่ตลาดต้องการและสามารถปลูกในที่ดินของตนเองได้

วัตถุประสงค์ ->

เพื่อหารายได้ให้ครอบครัว

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

อุปกรณ์ ->

กระบวนการ/ขั้นตอน->

ระยะเวลาเพาะปลูกกระเทียม

การเพาะปลูกกระเทียมส่วนใหญ่ จะปลูก 2 ช่วง คือ

1. เพาะปลูกช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน และเก็บเกี่ยวเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ อายุประมาณ 75-90 วัน กระเทียมรุ่นนี้เรียกว่ากระเทียมดอ หรือกระเทียมเบา นิยมใช้ทำกระเทียมดอง ไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน เพราะฝ่อเร็ว

2. เพาะปลูกช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม หลังการเก็บเกี่ยวข้าวและเก็บเกี่ยวเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน อายุประมาณ 90-120 วัน เรียกว่ากระเทียมปี ใช้ทำกระเทียมแห้งเพราะสามารถเก็บไว้ได้นาน

การเตรียมดินปลูกกระเทียม

ดินที่เหมาะสม สำหรับการปลูกกระเทียม ควรเป็นดินที่ร่วนซุย ระบายน้ำได้ดี ถ้าหากเป็นกรดจัดจะทำให้กระเทียมไม่เจริญ ควรใส่ปูนขาวก่อนปลูกอย่างน้อย 15 วัน เพื่อปรับดินให้เป็นกรดอ่อน ๆ (pH 5.5-6.8) ก่อนไถควรหว่านปุ๋ยคอกก่อนประมาณ 4 ตันต่อไร ถ้าเป็นดินเหนียวควรใช้ไถบุกเบิกก่อนพรวน ถ้าเป็นดินร่วนใช้เฉพาะพรวนและยกแปลงเพื่อการให้น้ำและระบายน้ำได้ดี
การเตรียมดินดีจะช่วยให้กระเทียมลงหัวดี และควรเตรียมแปลงปลูกขนาดกว้าง 1 – 2.5 เมตร ความยาวตามพื้น ที่ปลูกระยะห่าง ระหว่างแปลง (ทางเดินหรือร่องน้ำ) ควรกว้าง 50 ซม.

การปลูกกระเทียม


กระเทียมปลูกโดยใช้กลีบ ซึ่งประกอบเป็นหัว นิยมใช้กลีบนอกปลูก เนื่องจากกลีบนอกมีขนาดใหญ่ จะให้กระเทียมที่มีหัวใหญ่และผลผลิตสูง การนำกระเทียมไปปลูกในฤดูฝน จะทำให้กระเทียมงอกไม่พร้อมกัน โตไม่สม่ำเสมอกัน

ขนาดของกลีบจะมีอิทธิพลหรือความสำคัญ ต่อการลงหัวของกระเทียม จากการศึกษาพบว่าพันธุ์ที่มีกลีบใหญ่ ถ้าหากใช้กลีบขนาดกลางปลูกจะทำให้ผลผลิตสูง พันธุ์ที่มีกลีบขนาดเล็ก ถ้าใช้กลีบใหญ่ที่สุดปลูกจะให้ผลผลิตสูง
ปกติกลีบที่มีน้ำหนัก 2 กรัม จะให้ผลผลิตสูง

การปลูกอาจให้น้ำก่อน และใช้กลีบกระเทียมจิ้มลงไปโดยเอาส่วนรากลงลึกประมาณ 2 ใน 3 ส่วนของกลีบ เป็นแถวตามระยะปลูกที่กำหนด ในพื้นที่ 1 ไร่ ต้องใช้หัวพันธุ์ 100 กก. หรือกลีบ 75-80 กก. ปลูกโดยใช้ระยะปลูก 10 x 10 -15 ซม. จะให้ผลผลิตสูงที่สุด สำหรับกระเทียมจีนใช้ระยะปลูก 12-12 ซม. และหัวพันธุ์ 300-350 กก.ต่อไร่ หลังปลูกจะใช้ฟางคลุมแปลงเพื่อควบคุมวัชพืช ที่จะมีขึ้นในระยะแรก เก็บความชื้นและลดความร้อนเวลากลางวัน

การให้น้ำกระเทียม

ควรให้น้ำก่อนปลูก และหลังปลูกกระเทียมควรได้รับน้ำอย่างเพียงพอ และสม่ำเสมอในช่วงระหว่างเจริญเติบโต 7-10 วัน/ครั้ง สรุปแล้วจะให้น้ำประมาณ 10 ครั้ง/ฤดู ควรงดการให้น้ำเมื่อกระเทียมแก่จัด ก่อนเก็บเกี่ยว 2-3 สัปดาห์

การคลุมดิน

หลังปลูกกระเทียมควรคลุมดินด้วยฟางข้าวแห้ง เศษหญ้าแห้ง หรือเศษวัสดุที่สามารถผุพังเน่าเปื่อยอื่น ๆ ทั้งนี้เพื่อควบคุมวัชพืชที่จะมีขึ้นในระยะแรก รักษาความชื้นในดิน ประหยัดในการให้น้ำและลดอุณหภูมิลงในเวลากลางวัน ทำให้กระเทียมสามารถเจริญเติบโตได้ดี

การใส่ปุ๋ยกระเทียม

ปุ๋ยที่แนะนำ ให้ใช้สำหรับกระเทียม ในบ้านเรา ควรมีส่วนของไนโตรเจนเท่ากับ 1 ส่วน ฟอสฟอรัส 1 ส่วน และโปแตสเซี่ยม 2 ส่วน เช่น ปุ๋ยสูตร 10-10-15, 13-13-21 เป็นต้น อัตราปริมาณ 50-100 กก./ไร่ ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกใส่เป็นปุ๋ยรองพื้นตอนปลูก แล้วพรวนกลบลงในดิน ปริมาณครึ่งหนึ่งและใส่ครั้งที่ 2 ใส่แบบหว่านทั่วแปลง เมื่ออายุประมาณ 30 วันหลังปลูก ควรใช้ปุ๋ยเสริมไนโตรเจน เช่น ปุ๋ยยูเรีย แอมโมเนียมซัลเฟต เป็นต้น เพื่อเร่งการเจริญเติบโตในระยะแรก อัตราประมาณ 25-30 กก./ไร่ เมื่ออายุประมาณ 10-14 วันหลังปลูก

การกำจัดวัชพืช

กระเทียมเป็นพืชที่มีรากตื้น ดังนั้นควรกำจัดวัชพืชในระยะที่วัชพืชเริ่มงอก ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้ นอกจากจะแย่งน้ำอาหารและแสงแดดจากกระเทียมแล้ว เมื่อถอนจะทำให้รากของกระเทียมกระเทือนทำให้ชะงักการเจริญเติบโต หรือทำให้ต้นเหี่ยวตายได้ ฉะนั้นเมื่อวัชพืชมี ขนาดใหญ่ควรใช้มีดหรือเสียมมือเล็ก ๆ แซะวัชพืชออก

ส่วนสารเคมีกำจัดวัชพืชที่เกษตรกรในบ้านเรานิยมใช้กันมากคืออะลาคอร์ (ชื่อการค้า = แลสโซ่) อัตรา 0.36-.045 กก.ต่อไร่ (ของเนื้อยาบริสุทธิ์) โดยพ่นคุลมดินหลังปลูกก่อนที่กระเทียมและวัชพืชงอก นอกจากนี้ยังใช้ยาพาราควอซ์ (ชื่อการค้า = กรัมม๊อกโซน) พ่นตามร่องน้ำระหว่างแปลงทุกครั้งหลังจากให้น้ำ

ข้อพึงระวัง ->

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดเชียงใหม่
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา