ความรู้สัมมาชีพชุมชน

การจักสานหวาย

โดย : นางแสงจันทร์ มะโนวงศ์ วันที่ : 2017-08-25-15:46:22

ที่อยู่ : 51/2 หมู่ที่ 4 ต.งิ้ว

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

ตะกร้าหวาย เป็นผลิตภัณฑ์เกิดจากการถ่ายทอดภูมิปัญญาชาวบ้านจากรุ่นสู่รุ่น วัตถุดิบและแรงงานส่วนใหญ่มาจากชุมชน สร้างอาชีพให้กับชาวบ้าน นอกเหนือจากการทำนา และกลุ่มยังมีส่วนร่วมในกิจกรรมของหมู่บ้านด้วย มีการให้หน่วยงาน ชุมชน และเยาวชนในท้องถิ่นเข้ามาศึกษาดูงาน พร้อมกับมีการสาธิตขั้นตอนและวิธีการจักสานหลาย เพื่อเป็นการถ่ายทอดภูมิปัญญาชาวบ้านให้แก่ผู้ที่สนใจซึ่งจะนำไปประกอบเป็นอาชีพก็ได้ อีกทั้งเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาในด้านการจักสานหวายให้สืบไปด้วย

วัตถุประสงค์ ->

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

1) หวายหอม และหวายหิน
2) ดิ้ว (ตอกตั้ง) ทำจากไม้ไผ่สีสุก
3) ไม้สัก เป็นไม้เนื้ออ่อน ลวดลายสวยงาม และทนทาน เหมาะที่จะใช้งานในการทำก้นตะกร้า
4) มีดโต้ เป็นมีดที่ใช้สำหรับตัดไม้ มีขนาดใหญ่สันหนาน้ำหนักมาก ยาวประมาณ 40-50 เซนติเมตร มี 2 ชนิดคือ ชนิดสันโค้ง และสันตรง
5) มีดตอกเป็นมีดทรงเรียวแหลม คมมีดโค้งมน เพื่อให้เหมาะกับการใช้งานส่วนใหญ่ช่างจักสานมักต่อด้ามยาวออกไปประมาณ 60 ซ.ม. เพื่อสามารถสอดเข้าไปขัดไว้ในซอกแขนช่วยให้การบังคับคมมีดดีขึ้นมีดจักตอกมักมีน้ำหนักเบา ค่อนข้างบาง ใช้จักตอกให้เป็นเส้น ช่างจักสานมักใช้เป็นมีดประจำตัว
6) เลื่อยลันดา เป็นเลื่อยใช้งานทั่วไปใช้สำหรับตัดหรือฝ่าไม้ตามความต้องการ ใช้งานเมื่อให้ปลายไม้ทั้งสองเรียบเสมอกัน เวลาใช้ควรวางเลื่อยให้ได้ 60 องศา กับงานในการใช้เลื่อยต้องใช้เลื่อยที่ฟันละเอียดคม
7) เลียด คือ เครื่องมือชักหวายให้ได้เส้นตามขนาดที่ต้องการ หรืออาจทำขึ้นเองจากวัสดุที่ทำจาก สังกะสีหรืออลูมิเนียม เช่น จานกิโล จานสังกะสี บ้างเรียกว่า รูร้อยหวาย ทำด้วยเหล็ก นำมาเจาะรูขนาดต่างๆ ตามต้องการใช้สำหรับสอดร้อยหวายเข้าไป เพื่อลบความคมและช่วยให้หวายมีขนาดเท่ากัน
8) หินลับมีด เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้มีดคมอยู่เสมอ ซึ่งมีความสำคัญมากในการจักตอก
9) กระดาษทราย เป็นแผ่นเนื้อคายเหมือนทราย ไว้สำหรับขัดตะกร้าไม้สักให้เรียบเป็นมันหรือขัดหวายที่เป็นขนให้หลุด เพื่อความสวยงามในการสาน
10) ตะปูเข็ม คือตะปูตัวเล็กที่สุด เหมาะที่จะใช้งานตอกหวายติดกับไม้สักเพื่อใส่คิ้ว (ตอกตัว) ให้ติดแน่นไม่หลุดและมีอายุการใช้งานได้นาน
11) เหล็กหมาด มีลักษณะเป็นเหล็กแหลมยาวประมาณ 4 นิ้ว มีด้ามขนาดเหมาะมือที่ทำหน้าที่เจาะรู และประกอบการจักสาน อาจจะทำจากเหล็กเส้น หรือลวดที่มีความแข็ง ซี่ล้อลวดจักรยานโครงร่ม ที่ใช้แล้ว นำมาฝนให้แหลม เหล็กหมาด 2 ชนิด คือ ชนิดปลายแหลมและชนิดปลายแบนชนิดปลายแหลมใช้เจาะเพื่อร้อยเส้นหวายส่วนชนิดปลายแบนใช้เจาะเพื่อร้อยเส้นตอก
12) ค้อนหงอน ค้อนขนาดเล็กเหมาะสมสำหรับการจักสาน ใช้ตอกตะปูถอนตะปูหรือตอกไม้เวลาประกอบชิ้นงาน

อุปกรณ์ ->

กระบวนการ/ขั้นตอน->

1) เหลาหวายเพื่อเป็นการทำให้หวายมีขนาดพอเหมาะที่จะใช้ในการสานตะกร้า หวายเหลาเป็นเส้นยาว เล็กและยาวเสมอกัน โดยนำเข้าเครื่องชักหวาย หรือ เลียด เพื่อให้เป็นตามขนาดที่ต้องการ หรือใช้ ฝาหม้อ หรือจานสังกะสี นำมาเจาะรูไล่ขนาดเล็ก ใหญ่ ขนาดใหญ่เท่ากับเส้นหวาย ไล่ลำดับขนาด เล็กลงไปจนเท่ากับเส้นด้าย
2) นำไม้ไผ่สีสุก เหลาให้ได้ขนาดตามที่ต้องการ (เรียกว่าดิ้ว) นำไปต้มเพื่อย้อมสี (สีที่ใช้เป็นสีจากธรรมชาติ) คือ ขมิ้น ผิวมะกรูด ประมาณ 1 ลูก ขมิ้นทุบรากยอ ให้สีเหลือง เปลือกลำต้นคาง (ต้ม) ให้สีน้ำตาลส่วนผสมของสี เกลือ 1 กำมือมะกรูด 2-3 ลูก น้ำประมาณ 2 ขัน ขมิ้นทุบ ประมาณ ครึ่งกิโลกรัม ต้มให้เดือด น้ำสีจะออกมา ใส่เส้นดิ้วลงไปต้มประมาณครึ่งชั่วโมงนำเส้นดิ้วไปล้างให้สะอาด จนน้ำใสกันสีตก จากนั้นนำไปตากแห้ง จะได้เส้นดิ้วตามที่เราต้องการ ดังรูป
3) นำปั้นจั่น หรือ หลัก ทำขึ้นเอง ใช้ต่อกับแบบหรือรองเพื่อยึดรูปทรงตะกร้าตามแบบ
4) นำไม้สักขนาดที่เราต้องการหนาประมาณ 0.5 เซนติเมตร เลื่อยตามรูปทรงของตะกร้าทำเป็นพื้นตะกร้า จากนั้นนำเส้นหวายมาตอกตะปู ติดกันได้ก้นตะกร้าโดยรอบ
5) นำเส้นดิ้วมาเสียบกับก้นตะกร้าโดยรอบ
6) นำเส้นหวายมาจักสานตามลายที่เราต้องการ ซึ่งการถักตะกร้าใช้หวาย 1 เส้นถัก มีหวายวางบนขอบตะกร้า 2 เส้น เพื่อให้ลายขอบบนนูนสวย มีขั้นตอนการทำ ดังนี้
6.1 หวายถักสอดระหว่างขอบนอกและขอบใน
6.2 แทงทะลุพัน 1 รอบ ข่มหวายกลมที่อยู่บนขอบเส้น 1 ยกเส้น 2 (2 ครั้ง)
6.3 นำไปสอดหลังหวายที่พัน 1 รอบมาทะลุหลังเส้นหน้า แล้วข่มเส้น 1 ยกเส้น 2
7) การใส่ขอบตะกร้า เหลาไม้แล้ววัดเนื้อตะกร้าโดยใช้ดินสอขีดไว้ให้เท่ากันทุกด้านใส่ขอบในก่อนแล้ว จึงเอาขอบนอกทาบนำคีมล็อคช่วยจับไว้ใช้ลวดเบอร์เล็กสุดมัดไว้ให้แน่น ทำโดยรอบก็สำเร็จเป็นรูปลายตะกร้า การใส่ขอบระวังอย่าให้ข้อไม้ไผ่ตรงกับมุมตะกร้า เมื่อใช้คีมบีบโค้งทำมุมจะทำให้ขอบหักได้ควรหลีกเหลี่ยงแต่ถ้าตะกร้าเป็นรูปไข่หรือทรงกลมต้องเหลาและโค้งไว้ก่อนเพื่อให้ใส่ขอบตะกร้าได้ง่ายขึ้น
8) การใส่งวงตะกร้า ขึ้นอยู่กับรูปแบบและขนาดของตะกร้า เลือกรูปแบบการทำงวงตะกร้าและขนาดลวดตามความเหมาะสม นำลวดไปขดกับแท่นสำหรับโค้งลวดตามต้องการ นำปลายลวดไปตีด้วยค้อนหงอนกับแท่นเหล็กดันให้ลวดแบนใช้เหล็กหมุดเจาะรูที่ก้นตะกร้าเป็นจุดที่เราใส่ลวดงวงตะกร้าลงไปแล้วใช้คีมบีบลวดให้งอเข้าไปด้านในจะได้ไม่หลุด
9) การพันงวงตะกร้า คือ การนำหวายมาพันรอบเส้นลวด (งวงตะกร้า) พันงวงตรงเนื้อตะกร้า ประมาณ 3 ที่เป็นระยะจนพ้นเนื้อตะกร้า พันให้ครบทุกงวงพันเสร็จ 1 งวงนำกระดาษกาวติดไว้ไม่ให้หวายที่พันไว้หลุด การเหลาไม้ทำมือจับ ใช้ไม้ไผ่สีสุกที่เป็นไม้แก่ เพื่อความทนทาน เหลาไม้มีขนาดเหมาะสมกับตะกร้า วางทาบบนงวงที่กำหนดไว้ให้เป็นมือจับ นำหวายมาพันทับไม่ให้เห็นไม้แล้วถักหวายบนมือจับให้สวยงาม
10) การทาน้ำมันเคลือบ
10.1 ทาน้ำมันเคลือบครั้งที่ 1 เมื่อยังอยู่ในรอง เพื่อให้อยู่ทรงทาพอหมาดๆ ก็เอาออกจากรองแล้วนำไปตากแดดให้แห้ง ต้องรีบเหลาขอบและใส่ไว้เลยไม่ควรทิ้งไว้นาน จะทำให้เนื้อตะกร้าหลุดออกมาได้ แปรงที่ใช้ทาน้ำมันเมื่อใช้แล้วควรล้างด้วยทินเนอร์
10.2 ทาน้ำมันครั้งที่ 2 เมื่องานทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมที่จะนำไปจำหน่ายการทาน้ำมันนอกจากจะทำให้อยู่ทรงแล้ว ยังช่วยป้องกันเชื้อรา และมอดกัดแทะ ช่วยรักษาเนื้อไม้ และหวายให้มีความแข็งแรงทนทาน และสวยงามมากขึ้น

ข้อพึงระวัง ->

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดเชียงราย
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา