ความรู้สัมมาชีพชุมชน

การปลูกพริก

โดย : นายทวีศิล อธิวันดี วันที่ : 2017-03-06-11:20:51

ที่อยู่ : 68 ม.11 ต.หัวง้ม

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

นายทวีศิล  อธิวันดี ปราชญ์สัมมาชีพด้านการปลูกพริก

วัตถุประสงค์ ->

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

อุปกรณ์ ->

กระบวนการ/ขั้นตอน->

วิธีการเพาะเมล็ดพริก

การเพาะเมล็ดพริกในแปลงเพาะชำ

1.ก่อนนำเมล็ดพันธุ์ไปเพาะ คัดเมล็ดพันธุ์ที่ไม่สมบูรณ์ออกโดยนำเมล็ดพันธุ์แช่น้ำสะอาดเมล็ดพันธุ์ที่เสียจะลอยน้ำแล้วคัดออก

2.นำไปแช่น้ำอุ่นที่อุณหภูมิประมาณ 50 องศาเซลเซียส เป็นเวลานานประมาณ 30 นาที

3. ใช้สาหร่ายผงในอัตราส่วน10กรัม/น้ำ20ลิตร เชื้อราไตรโครเดอร์มา 200ซีซี/น้ำ20ลิตร สารจับใบสำหรับชีวภัณฑ์ 2ซีซี/น้ำ20ลิตร ผสมเข้าด้วยกันนำเมล็ดพริกลงแช่นาน18คืนก่อนนำไปเพาะกล้า

4.การเพาะเมล็ดพันธุ์ในแปลงนำเมล็ดพันธุ์หว่านให้กระจายทั่วทั้งแปลงเพาะ หรือโรยเมล็ดเป็นแถวลงไปในร่องลึก 0.6–1 ซม. ห่างกันแถวละประมาณ 10 ซม. กลบด้วยปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้วหรือดินผสมละเอียดรดน้ำให้ชุ่มเสมอ คลุมด้วยฟางแห้งหรือหญ้าแห้งบางๆ รดด้วยน้ำเชื้อราไตรโคเดอร์มาที่ผสมตอนแช่เมล็ดพริก

5.เมื่อกล้าเริ่มงอกมีใบจริงอายุประมาณ 12–15 วัน ถอนแยกต้นที่ไม่สมบูรณ์หรือต้นที่ขึ้นเบียดกันแน่นเกินไปทิ้งให้มีระยะห่างกันพอสมควรและควรให้ใช้สารสกัดขยายเซลพืชเสริมทางใบเพื่อให้ต้นกล้าเจริญเติบโตและแข็งแรง เมื่อต้นกล้าอายุ 30–40 วัน จึงย้ายลงปลูกในแปลงใหญ่ได้

การเพาะเมล็ดพันธุ์ในกระบะเพาะการเพาะในถาดหลุมมีวัสดุเพาะเมล็ดเป็นส่วนผสมสำเร็จรูปที่อุ้มน้ำได้พอเหมาะ แต่ละถาดมี104 หลุม วัสดุเพาะ

เมล็ดพริก1 กรัมมีประมาณ200-250เม็ด ใส่ถาดเพาะได้2ถาด เทคนิคการเพาะที่ทำให้ต้นกล้าแข็งแรงสมบูรณ์ก่อนย้ายปลูกจะต้องเพาะเมล็ดให้งอกก่อนในวัสดุเพาะอย่างอื่นเช่นทรายผสมแกลบดำ พีทมอสและขุยมะพร้าวเมล็ดจะงอกใช้เวลาประมาณ 10-12 วัน หลังจากนั้นจึงย้ายไปปลูกในวัสดุเพาะสำเร็จรูปที่อยู่ในถาดเพาะใช้เวลาอีก 14-18 วันจึงนำต้นกล้าย้ายปลูกได้

การเตรียมดินปลูกการเตรียมดินปลูกพริกนั้น ควรพิจารณาความแตกต่างตามสภาพของดินและระดับน้ำดังนี้ คือ

1. การเตรียมดิน ควรขุดหรือไถดินให้ลึกประมาณ 15 ซม. ตากดิน 5-7 วัน ใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกที่สลายตัวแล้วประมาณ 20 กก. ต่อเนื้อที่ 5 ตารางเมตร ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาและสารสกัดฮิวมิคผงผสมน้ำฉีดพ่นให้ทั่วแปลงปลูกเพื่อป้องกันเชื้อราโรคพืชที่อยู่ในดินจากนั้น พรวนย่อยผิวหน้าดินให้ละเอียด

2. การเตรียมดินปลูกในเขตอาศัยน้ำฝน ต้องพิจารณาเลือกที่ซึ่งระบายน้ำได้ดี การกำหนดแถวปลูกให้กำหนดแถวคู่ห่างกัน 1.20 ม. และให้ระยะระหว่างแถวห่างกัน 0.50 ม. ระยะระหว่างต้น 0.50 X 0.50 ม. เมื่อเตรียมแปลงปลูกแล้วให้ใส่ปุ๋ยหมักหรือขี้วัวขุนหรือขี้หมูเนื้อ ในอัตราไร่ละ 1,200 – 3,000 กก. ทำการคลุกปุ๋ยคอกให้เข้ากับดินแล้วใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ในอัตรา 50 กก. ต่อไร่ ในการปลูกพืชที่ต้องการปริมาณน้ำหรือพืชชอบน้ำนั้นเกษตรกรต้องทำการยกร่องแปลงเสมอเพื่อป้องกันน้ำขังบริเวณโคนต้น และการปลูกพริกก็เช่นเดียวกัน

การยกแปลงปลูกพริก

 

 

แปลงที่ใช้ปลูกควรไม่เสี่ยงต่อน้ำท่วม และสามารถระบายน้ำได้ดีหากฝนตก ซึ่งให้เตรียมแปลง ดังนี้

1.หากเป็นแปลงใหม่ ควรไถตากดินพร้อมกำจัดวัชพืช นาน 1 สัปดาห์

2.ทำการหว่านปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยหมักในอัตรา 2-3 ตัน/ไร่ หากดินเป็นกรดควรใส่ปูนขาว 100-200 กิโลกรัม/ไร่ พร้อมไถกลบยกร่องแปลงสูง 20-30 เซนติเมตร กว้าง 40-60 เซนติเมตร

3.แปลงกว้างขนาด 30-50 สำหรับปลูกแถวเดี่ยว แปลงกว้าง 80-100 สำหรับปลูกแถวคู่ ขึ้นอยู่กับทรงพุ่มของแต่ละพันธุ์

4.ปรับระดับแปลง พร้อมกำจัดวัชพืช และตากดินพร้อม 2-3 วัน

วิธีการปลูก

เมื่อต้นกล้ามีอายุ 30-40 วัน สูงประมาณ 15-20 เซนติเมตร มีใบจริง 5-7 ใบ และให้งดน้ำต้นกล้า 2-3 วันก่อนย้ายปลูก โดยมีขั้นตอนปลูก ดังนี้

1.ขุดหลุมในระยะห่างระหว่างหลุม 50-80 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับทรงพุ่มของแต่ละพันธุ์

2.นำกล้าที่ถอนเตรียมไว้ลงหลุมปลูก ปลูกให้ลึกพร้อมพร้อมกลบดินให้แน่นพอประมาณเพื่อกันต้นกล้าโยกเอียง

3.รดน้ำให้ชุ่ม และรดทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง

การปฏิบัติดูแลรักษา

 1. การให้น้ำพริกเป็นพืชที่ต้องการน้ำอย่างเพียงพอ และสม่ำเสมอในช่วงแรกของการเจริญเติบโตดินควรมีความชุ่มชื้นพอดีอย่าให้เปียกแฉะเกินไปจะทำให้ต้นพริกเหี่ยวตายได้ ในช่วงเก็บผลผลิตควรลดการให้น้ำเพื่อจะทำให้คุณภาพผลผลิตดี สีของผลสวยน้ำควรเป็นน้ำสะอาดหรือผ่านบ่อพักน้ำปกติแล้วเกษตรกรมักจะใช้น้ำในแม่น้ำลำคลองซึ่งมีการปนเปื้อนของสารเคมีหรือเชื้อโรคพืชต่างๆเข้ามาใช้ในแปลงผักในสมัย10หรือ20ปีที่ผ่านมาเป็นเรื่องที่ทำได้แต่ในปัจจุบันระบบต่างๆเปลี่ยนแปลงไปน้ำมีการปนเปื้อนทั้งสารเคมีและเชื้อโรคพืช ลักษณะน้ำที่มีกลิ่นเหม็นเป็นต้น

การให้น้ำทำให้2วิธี

1.1การให้น้ำด้วยระบบสปริงเกอร์ เป็นวิธีที่เกษตรกรใช้กันมาช้านาน เป็นสปริงเกอร์แบบใบพัดหมุนวน

ข้อดีคือน้ำกระจายตัวไปทั่วแปลงจ่ายปริมาณน้ำได้สูงใช้เวลาสั้นในการให้น้ำสร้างความชุ่มชื้นให้ต้นพริกและแปลงปลูกและยังช่วยไล่แมลงศัตรูพืชได้อีกด้วย

ข้อเสียคือ เกิดเชื้อโรคพืชได้ง่ายเนื่องจากความชื้นหลีกเลี่ยงการรดน้ำต้นพริกตอนเย็น และในกรณีที่แหล่งน้ำไม่สะอาดมีการปนเปื้อนของสารเคมีจากแหล่งน้ำก็จะมีผลต่อต้นพริก

1.2มินิสปริงเกอร์แบบหัวฉีดฝอย ระบบนี้เหมาะกับการปลูกพริกต้นคู่ในแปลงปลูกเดินท่อpeตรงกลางแถวคู่และเปิดจ่ายน้ำผ่านหัวมินิสปริงเกอร์แบบฉีดฝอยรัศมีความกว้างของน้ำสามารถควบคุมได้โดยแรงดันจากปั๊มน้ำระบบนี้สามารถปล่อยปุ๋ยไปพร้อมกับระบบน้ำได้

 

 

 

ระบบนี้ค่อนข้างจะเป็นที่นิยมเนื่องจากเป็นการสร้างความชื้นให้ทั่วหน้าดินและรดใต้ทรงพุ่มเท่านั้น ข้อเสียคือต้องใช้เวลาในการให้น้ำนานการระบบสปริงเกอร์แบบใบพัดและหัวฉีดอุดตันได้ง่ายกว่าดังนั้นน้ำที่ใช้ต้องผ่านระบบกรองที่ดีพอสมควรไม่มีเศษใดๆหรือลูกปลาลูกกุ้งเข้ามาในระบบการให้น้ำ

ในที่นี้ไม่แนะนำระบบน้ำหยดในการปลูกพริก

2. การกำจัดวัชพืช ในระยะที่ต้นพริกยังเล็กควรมีการกำจัดวัชพืชให้บ่อยครั้ง หากวัชพืชคลุมต้นพริกช่วงระยะการเจริญเติบโต จะทำให้แคระแกร็นคุณภาพผลผลิตไม่ดี การกำจัดวัชพืชอาจใช้สารเคมีเท่าที่จำเป็นขอแนะนำกรัมม็อกโซนยาฆ่าหญ้าฉีดกดหัวต่ำๆหน้าดินที่มีวัชพืชหรือใช้แรงงานคนถอนหรือหาวัสดุคลุมหน้าดินเช่นฟางหรือหญ้าแห้งหรือแกลบเป็นต้น

3. การใส่ปุ๋ย พริกเป็นพืชที่มีอายุการเก็บผลค่อนข้างยาวนาน ปุ๋ยที่ใช้ควรเป็นปุ๋ยที่มีธาตุอาหารครบเช่น ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 13-13-21 ในอัตรา 25-50กก.ต่อไร่ขึ้นกับความอุดมสมบูรณ์ของดิน เพื่อเป็นการช่วยเสริมการเจริญเติบโตนอกจากนี้ควรใส่ปุ๋ยน้ำทางใบบ้างโดยทำการฉีดพ่นทุกครั้งหลังการเก็บเกี่ยว การใช้ปุ๋ยเคมีจะได้ผลต่อพืชสูงสุดขึ้นอยู่กับสภาพและคุณสมบัติของดินโดยเฉพาะ pH ความชื้นและระยะการเจริญเติบโตของพืชอีกทั้งปริมาณอินทรียวัตถุที่อยู่ในดินซึ่งจะต้องมีอย่างเหมาะสมอย่างเช่นถ้าดินเป็นกรดต้องใช้ปูนขาวช่วยปรับสภาพดินให้มี pH ค่อนข้างเป็นกลาง การใส่ปุ๋ยมีลงในดินจำเป็นต้องมีความชื้นอย่างเพียงพอถ้าไม่เช่นนั้นปุ๋ยเคมีไม่ละลายจะไม่เป็นประโยชน์ต่อพืชเลยบางครั้งอาจใช้วิธีละลายปุ๋ยเคมีด้วยน้ำให้มีความเข้มข้นพอดีปกติจะใช้ปุ๋ยเคมีประมาณ 100 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตรแล้วนำไปรดซึ่งจะเป็นการประหยัดปุ๋ยอย่างมากการใส่ปุ๋ยควรแบ่งใส่ 2 ครั้ง ใส่ครั้งแรกปริมาณครึ่งหนึ่งก่อนปลูกเป็นปุ๋ยรองพื้นพรวนกลบลงในดินโรยปุ๋ยไนโตรเจนใส่ข้างต้นพริกห่างจากโคนพริกประมาณ 2 นิ้ว เมื่ออายุ 10 -14 วัน หลังจากย้ายกล้า ใส่ครั้งที่สองปริมาณอีกครึ่งหนึ่งที่เหลือใส่โรยข้างแล้วแต่งหน้าด้วยปุ๋ยไนโตรเจนพรวนกลบลงในดิน

หรืออีก1สูตรคือ  การให้ปุ๋ย ระยะ 1 เดือนแรก ก็ให้ปุ๋ยทางดินร่วมกับทางใบเป็นหลัก โดยการให้ทางดินก็ให้สูตร 46-0-0 สลับกับ 15-0-0  หรือ 15-15-15ในเดือนแรกในอัตรา5กิโลกรัมต่อ/ไร่/ครั้งแต่ไม่เกิน10กิโลกรัมต่อ/ไร่/ครั้งห่างกัน 7 วัน ส่วนทางใบใช้สูตร 20-20-20 สลับ 30-20-10 เพื่อเร่งการเจริญเติบโต ในอัตรา 10 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ระยะเดือนที่ 2-3 ระยะนี้พริกมีอายุ30-90 วันซึ่งมีการติดผลของพริกในชุดแรกธาตุอาหารทางดินและทางใบยังจำเป็นเหมือนเดิม  ทางดินใช้สูตร 15-15-15 สลับ 13-13-21 ส่วนทางใบใช้สารสกัดขยายเซลพืชเพื่อเพิ่มธาตุแคลเซียมในช่วงติดผลเล็กและช่วยในการเร่งดอกติดผล ในอัตรา 30กรัม/ น้ำ 20 ลิตรระยะเดือนที่ 4-6 ระยะนี้พริกมีอายุ 120-180 วันซึ่งมีการเก็บผลผลิตของพริกในชุดแรกเก็บได้มากธาตุอาหารทางดินและทางใบยังจำเป็นเหมือนเดิมทางดินใช้สูตร 15-15-15 สลับ 13-13-21 ร่วมกับปุ๋ยหมักแห้งผสมเชื้อไตรโคเดอร์มาสด อัตรา 1 : 25 ส่วนทางใบใช้สูตร 20-20-20 สลับ 10-20-30 ในอัตรา 30 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ให้ปุ๋ยทุกครั้งหลังเก็บผลผลิตจำหน่าย

แต่ทั้งนี้ขอแนะนำให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมีเท่าที่จำเป็นเนื่องจากปุ๋ยเคมีจะสร้างความเป็นกรดให้กับดินและมีผลเสียในระยะยาว ปุ๋ยที่ดีและมีธาตุอาหารหลักและอาหารรองครบคือปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ขี้วัวขุน ขี้หมูขุน ขี้ไก่เนื้อ ปุ๋ยหมัก เป็นต้นซึ่งจะปลดปล่อยสารอาหารได้แบบต่อเนื่องที่สำคัญรสชาดของพืชผักจะให้คุณภาพที่ดีมากกว่าใช้ปุ๋ยเคมี

 

5. การเก็บเกี่ยว

                  - หลังจากปลูก  70-75  วัน

                  - เก็บเกี่ยว 15-18  วันครั้ง (  10-12  ครั้ง /รุ่น)

                  - ก่อนเก็บเกี่ยว  7  วัน  ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15    อัตรา 1 ช้อนโต๊ะ  ต่อต้น ทำให้ต้นสมบูรณ์

                     แตกยอด ออกดอก

            - หลังจากเก็บเกี่ยว 4-5 ครั้ง ใส่ปุ๋ยสูตร  13-13-21 อัตรา 1 ช้อนโต๊ะ/ต้น เพื่อเพิ่มผลผลิต

                 - ฉีดฮอร์โมนหลังการเก็บเกี่ยว แต่ละครั้ง เพื่อให้การแตกยอด  ออกดอก  ติดผล ดี

               - ค่าเก็บเกี่ยว  กิโลกรัมละ  8 -10  บาท ขึ้นอยู่กับราคาพริก

   5. ผลผลิต เฉลี่ย  ไร่ละ  2200-2500  ก.ก/ไร่

   6. ต้นทุนการผลิต เฉลี่ย  12,000 - 13,000 บาท ต่อไร่

 

 

 

 

 

 

 

 

ข้อพึงระวัง ->

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดเชียงราย
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา