ความรู้สัมมาชีพชุมชน

image1

การทอผ้ามัดหมี่

โดย : นางสุนทรี ลีพรมมา วันที่ : 2017-03-16-13:40:21

ที่อยู่ : 9 หมู่ 9 บ้านท่าเดื่อ ตำบลบ้านยาง อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ หมายเลขโทรศัพท์

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

กลุ่มสตรีตำบลบ้านยาง   อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ ได้มองหาอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้ยามว่างงาน  จึงได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มอาชีพเสริมสตรีทอผ้าไหมมัดหมี่ ซึ่งมีสตรีในกลุ่มที่มีความรู้ความสามารถในการทอผ้าไหมมัดหมี่ได้ จึงได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับสตรีที่ยังไม่สามารถทอได้กระทั่งมีความชำนาญ ฝีมือละเอียด และสินค้าเป็นที่ยอมรับของตลาด ในด้านคุณภาพ และมาตรฐานที่เชื่อถือได้

วัตถุประสงค์ ->

1.  นำวิถีการดำเนินชีวิตในอดีตมาถ่ายทอดบนพื้นผ้า

           2.  สามารถนำเป็นของฝากของที่ระลึก

          3.  ทำให้มีอาชีพเสริมเพิ่มรายได้

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

เส้นไหม ใช้เส้นไหมคุณภาพมาตรฐาน ประกอบด้วยเส้นไหมยืน และเส้นไหมพุ่ง

อุปกรณ์ ->

1. หลักเฝือ คือ อุปกรณ์ในการค้นเส้นยืน เพื่อทำการเตรียมเส้นยืน ก่อนที่จะนำไปติดตั้งกี่ทอผ้า

2.  กง คือ อุปกรณ์สำหรับใส่เส้นไหมเพื่อการกรอเส้นไหมเข้าอัก

3. อัก คือ อุปกรณ์สำหรับการม้วนเก็บเส้นไหมที่ทำการกรอจากกง

4.  ไน/หลา คืออุปกรณ์สำหรับการกรอเส้นไหมเข้าหลอด หรือ เป็นอุปกรณ์ในการตีเกลียวเส้นไหม และควบตี

    เกลียวเส้นไหม

5. หลอด คือ อุปกรณ์สำหรับการม้วนเก็บเส้นไหมเพื่อนำไปในกระสวยเพื่อการพุ่งเส้นพุ่งในการทอผ้ามัดหมี่

6. กระสวย คือ อุปกรณ์สำหรับใส่หลอดม้วนเส้นไหมพุ่งเพื่อพุ่งนำหลอดเส้นพุ่งในการทอผ้า

7. ฟืม คือ อุปกรณ์สำหรับการจัดเรียงเส้นไหมยืนก่อนที่จะนำไปเส้นยืนไปกลางตั้งขึ้นบนกี่ทอผ้า

8. กี่ทอผ้า คือ อุปกรณ์สำหรับการทอผ้า

9. ไม้เหยียบหูก คือ อุปกรณ์ที่เป็นท่อนไม้ที่อยู่ด้านล่างของกี่ทอผ้า มีเชือดโยงติดกับตะกอฟืม เพื่อใช้เท้า

   เหยียบให้เส้นยืนสลับขึ้นและลง เพื่อการสอดเส้นพุ่งในการทอผ้า

10. แปรงทาแป้งบนเส้นยืน คือ อุปกรณ์สำหรับใช้ทาน้ำแป้งบนเส้นยืนเพื่อป้องกันเส้นยืนแตกในขณะที่ทอผ้า

11. ไม้คันผัง คือ อุปกรณ์ที่ทำด้วยไม้ไผ่ ใช้ค้ำยันขอบริมผ้าหน้ากว้างทั้งสองด้านของหน้ากว้างผืนผ้าให้ตึงและ

    ตรงตลอดทั้งแนวความยาว

กระบวนการ/ขั้นตอน->

การทอผ้าไหมมัดหมี่ ประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ ดังนี้

1. การค้นเครือเส้นยืน

นำเส้นไหมยืนที่ทำการลอกกาวไหม และทำการย้อมสีพื้นเส้นไหมแล้วเข้ากงเพื่อกรอเส้นไหมเข้าอัก แล้วนำเส้นไหมที่กรอด้วยอักนำเข้าหลักฟืมเพื่อค้นเส้นยืนเตรียมการทอ

2. การเตรียมฟืมทอผ้า

นำเส้นยืนที่ค้นเครือเสร็จแล้วมาจัดเรียงเข้าฟันหวี โดยให้แต่ละช่องประกอบด้วยเส้นไหมประมาณ 2 เส้นหรือตามความต้องการ พร้อมขึงเส้นด้ายให้ตึง จัดเรียงเส้นด้ายให้เรียบร้อยร้อย และเก็บตะกอ

สำหรับการทอต่อเนื่อง ที่มีการเก็บตะกอไว้แล้วจะใช้วิธีการสืบเครือหูก โดยนำเส้นยืนมาผูกกับเส้นด้ายเดิมที่ได้เก็บตะกอฟืมไว้ก่อนแล้ว ด้วยการผูกแต่ละเส้นด้ายตามลำดับให้ครบทุกเส้น พร้อมทำการจัดเส้นยืน ตะกอ และฟืมบนกี่ทอผ้าให้เรียบร้อย พร้อมทอตะกอที่เหลือในช่วงการต่อเส้นด้ายให้เรียบร้อยจนหมดจนเริ่มเส้นด้ายที่ต่อใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เส้นยืนที่จะเริ่มทอตึง แน่น

เมื่อจัดเรียงเส้นยืนเรียบร้อย ให้นำน้ำแป้งข้าวหรือน้ำแป้งมันสำปะหลังฉีดพรมหรือใช้ผ้าชุบทาให้ทั่วเส้นไหม พร้อมปล่อยให้แห้ง และทาด้วยขี้ผึ้งหรือไขสัตว์ เพื่อให้เส้นด้ายมีความแข็งแรง และลื่น ไม่ขาดง่ายหรือเป็นขุยจาการเสียดสีขณะการทอ

 

3. การเตรียมเส้นพุ่ง

3.1 การค้นเส้นพุ่ง

นำเส้นไหมที่ลอกกาวแล้ว มาค้นเส้นพุ่งโดยใช้โฮงมัดหมี่โบราณที่เป็นไม้มีหลัก 2 หลัก โดยการค้นเส้นพุงแต่ละลายจะมีจำนวนลำไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับลาย เช่น ลายหมี่ข้อโบราณจะมีลำประมาณ 41 ลำ โดยแตละลำจะมี 4 เส้นด้าย โดยการทำไพคั่นตรงกลางระหว่างลำไว้ การค้นเส้นพุงจะทำการค้นประมาณ 2 รอบ ของแต่ละลำไปกลับ เมื่อทำการค้นเสร็จแล้วให้ทำการมัดหัวลำตามไพที่คั่นไว้

3.2 การมัดหมี่

การมัดหมี่เป็นกระบวนการมัดตามจุดจากลายที่ออกแบบด้วยเชือกฟางหรือเชือกชนิดอื่นๆ แต่ปัจจุบันนิยมใช้เชือกฟางเพราะหาซื้อง่าย และสะดวกกว่า หลังจากนั้นนำเส้นไหมออกจากโฮงมาย้อมสีตามครั้งของเฉดสีที่ต้องการหรือตามการที่มัดหมี่ไว้ โดยบริเวณที่มัดหมี่ไว้จะไม่ติดสี สำหรับการย้อมซ้ำต้องย้อมหลังการนำเส้นไหมที่ย้อมครั้งแรกตากแดดให้แห้งเสียก่อน

 

การมัดหมี่เริ่มด้วยการมัดเก็บขาว โดยการมัดหมี่แบ่งเป็น 2 วิธี คือ

1. การมัดลายทุกลายในหัวหมี่เดียวกัน

2. การมัดแยกแต่ละลายในหัวหมี่แล้วนำมาต่อในขั้นตอนการทอผ้า

3.3 การกรอเส้นไหมเข้าหลอด

โดยการนำหัวมัดหมี่ที่แกะเชือกฟางออกแล้วใส่ในกงเพื่อกรอเส้นไหมเข้าอัก จากนั้นทำการกรอเส้นไหมจากอักเข้าหลอดด้ายด้วยไน ซึ่งจะต้องเรียงลำดับหลอดด้ายตามหลายลายสีที่ออกแบบไว้

4. การทอผ้ามัดหมี่

การทอผ้าไหมจะเริ่มเมื่อเตรียมฟืม และเส้นพุ่งเสร็จแล้ว โดยใช้หลอดด้ายที่เรียงลำดับเฉดสีหรือลายไว้แล้วใส่ในกระสวยเพื่อทอด้วยการพุ่งกระสวยผ่านร่องสลับของลำไหมไปมา ซ้ายขวา จนสุดเส้นยืน

 

6. ข้อพึงระวัง

การทอมัดหมี่ ผ้ามัดหมี่มีกรรมวิธีการทอผ้าที่ใช้เทคนิคการมัดและการย้อม เริ่มจากนำเส้นด้ายหรือไหมมาย้อมสีแล้วมัดบริเวณที่ ต้องการเก็บไว้ เมื่อนำไปย้อมสีอื่นจะได้ไม่ติดสี เพียงซึมเข้ามาบางส่วน โดยย้อมเรียงลำดับจากสีอ่อนไปหาสีเข้มจนครบ ตามลวดลายที่กำหนด หลังจากนั้นจึงนำด้ายกรอเข้าหลอดตามลำดับ แล้วนำไปทอจะเกิดลวดลายบนผืนผ้าที่มีลักษณะคลาดเคลื่อนเหลื่อมล้ำ อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของมัดหมี่ การทอผ้าชนิดนี้จึงต้องอาศัยความชำนาญในการมัดย้อมและทอเป็นอย่างมาก ผ้ามัดหมี่มีอยู่หลายชนิด ได้แก่   1. มัดหมี่เส้นพุ่ง    2. มัดหมี่เส้นยืน     3. มัดหมี่เส้นพุ่งและเส้นยืน

 

ข้อพึงระวัง ->

รูปประกอบ -> image1 image2 image3

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดชัยภูมิ
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา