ความรู้สัมมาชีพชุมชน

การปลูกกล้วย

โดย : นางทองสา บัวศิลา วันที่ : 2017-06-20-16:00:30

ที่อยู่ : 21 ม.9 ต.กุดน้ำใส

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

กล้วยน้ำว้าที่ใครๆเห็นนั้นอาจจะมองว่าธรรมดา  แต่ความจริงแล้วกล้วยน้ำว้ามีประโยชน์มากมาย  และใช้ประโยชน์ได้เกือบทุกส่วน  เหมาะสำหรับเกษตรกรที่จะปลูกอย่างยิ่ง  เพราปัจจุบันราคากล้วยน้ำว้าสูงมาก  ราคาตลาดขายส่งหวีละ  ๒๐  บาท  ราคา ตลาดขายปลีก  หวีละ  ๓๐ – ๕๐  บาทที่เดียว  กล้วยน้ำว้ามีสารอาหารหลายชนิด  ได้แก่   วิตามินเอ  บี๑  บี๒  บี๖  และวิตามินซี  ซึ่งช่วยกระตุ้นระบบภูมิต้านทานของร่างกาย  นอกจากนี้  กล้วยน้ำว้ายังมีกรดอะมิโนอาร์จินินและอิสติดิน  ซึ่งมีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเด็กทารก  ถึงเป็นเหตุผลที่ผู้ใหญ่มักให้เด็กๆ กินกล้วยน้ำว้าบด  เพราะอุดมด้วยสารอาหารและวิตามินที่จำเป็นต่อร่างกายกล้วยน้ำว้า  ๑  ผล  ให้พลังงาน  ๑๐๐  แคลอลี่  มีน้ำตาลธรรมชาติ ๓  ชนิด  ได้แก่  ซูโคลส  ฟรุคโตส  และกลูโคลส  มีเส้นใยและสารอาหารทำให้ขับถ่ายง่าย

วัตถุประสงค์ ->

๑. เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัว

๒. เพื่อใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

๑. ต้นพันธุ์กล้วยน้ำว้าปากช่อง ๕๐

            ๒. ปุ๋ยหมัก

            ๓. ปุ๋ยคอก

            ๔. ปุ๋ยสูตร ๑๕-๑๕-๑๕

            ๕. น้ำ

อุปกรณ์ ->

             ๑. รถไถ

            ๒. จอบ  เสียม

            ๓. สายยางสำหรับรถน้ำต้นกล้วย  หรือทอ พี วี ซี เพื่อติดตั้งระบบน้ำแบบสปริงเกอร์ 

กระบวนการ/ขั้นตอน->

๑. ทำการคัดเลือกพันธุ์ ใช้ต้นพันธุ์กล้วยน้ำว้าปากช่อง ๕๐ จากการเพาะเนื้อเยื่อ  ซึ่งจะทำให้กล้วยปลอดโรคและออกลูกพร้อมกัน

            ๒.ทำการเตรียมดินในแปลงที่จะปลูก ทำการไถดะด้วยผาลสาม  ตากดินทิ้งไว้ประมาณ  ๑๕  วัน  แล้วไถแปรด้วยผาลห้าอีกรอบตากดินทิ้งไว้อีก  ๑๕  วัน

            ๓. กำหนดขนาดและระยะห่างของหลุมปลูก  ขนาดหลุมปลูก (กว้างXยาวXลึก)  ๕๐x๕๐x๕๐  เซนติเมตร การขุดหลุมขนาดนี้จะทำให้รากกล้วยหากินได้ไกลขึ้นความลึกของหลุมก็จะแก้ปัญหากล้วยขึ้นโคนง่าย  โดยการปลูกครั้งหนึ่งสามารถเก็บผลผลิตได้ถึง ๔-๕ ปี  หากหลุมเล็กกว่านี้จะให้ผลผลิตแค่ปีสองปีต้องรื้อปลูกใหม่  ระยะห่างของหลุมปลูก   ๓x๓  เมตร

            ๔. การปลูกต้นพันธุ์  ก่อนการปลูกใส่ปุ๋ยรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกผสมดินในปริมาณที่เท่ากันหลุมละ ๒  กิโลกรัม  รองหนาขึ้นประมาณ  ๓๐  เซนติเมตร  แล้วจึงปลูกกล้วยกลบโคนต้นให้แน่น  ทำแอ่งดินรอบต้นเพื่อเก็บน้ำรักษาความชื้นของดิน  ปลูกเสร็จรดน้ำตามทันทีให้ชุ่มเพียงพอ  ป้องกันการเหี่ยวเฉา  ใบแห้งและยุบตัว  บางต้นตาย  บางต้นแตกต้นใหม่ทำให้อายุไม่เท่ากัน

            ๕. การรดน้ำ รดน้ำทุกๆ ๒-๓  วัน ให้ดินชุมชื้นเพียงพอ  ทำอย่างสม่ำเสมอ  เว้นแต่วันใดฝนตกต้องงดรดน้ำ  หากให้น้ำแบบฝอยหรือมินิสปริงเกอร์จะทำให้ต้นตั้งตัวได้เร็วกว่าปกติ  สามารถสร้างใบและลำต้นใหม่ได้ดีมีโอกาสรอดสูง

            ๖. การให้ปุ๋ย  หลังปลูกได้ ๑ สัปดาห์  ใส่ปุ๋ยสูตร ๑๕-๑๕-๑๕  ประมาณ ๑๐๐-๑๕๐  กรัมต่อต้น  เมื่อครบ  ๑  เดือน  ใส่ปุ๋ยสูตร  ๑๕-๑๕-๑๕  ประมาณ  ๑๐๐-๑๕๐  กรัมต่อต้น  เมื่อครบ  ๒  เดือน  ใส่ปุ๋ยสูตร  ๑๕-๑๕-๑๕  ประมาณ ๑๐๐-๑๕๐  กรัมต่อต้น  ส่วนเดือนที่ ๓  ใช้ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกแทน  พอเดือนที่ ๔ และ ๕  การเจริญเติบโตของกล้วยจะเร็วมากทั้งความสูงและรอบวงต้นเหมือนกับการปลูกด้วยหน่อพันธุ์ใน  ๒  เดือนนี้ใส่ปุ๋ยสูตร  ๑๕-๑๕-๑๕  ประมาณ  ๑๐๐-๑๕๐  กรัมต่อต้น  ส่วนเดือนที่ ๖  ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก  แล้วงดใส่ปุ๋ยจนกว่ากล้วยจะแทงปลีถึงจะใส่ปุ๋ยเคมีอีกครั้ง  แล้วรอจนหลังเก็บเกี่ยวจึงจะเริ่มให้ปุ๋ยในรอบใหม่

            ๗. การกำจัดวัชพืช   ในเดือนที่ ๒  เดือนที่ ๓  ต้นกล้วยจะมีต้นและใบใหม่ทั้งหมด  ตอนนี้จะมีหญ้าและวัชพืชอื่นขึ้นปกคลุมต้องดายหญ้าและวัชพืชอื่นรอบๆ บริเวณโคนต้นออกให้หมด

            ๘. การตัดแต่งหน่อ  ในช่วง ๑-๖  เดือนต้องปาดหน่อที่โผล่ออกทิ้ง  พออายุหลัง  ๖  เดือนให้ไว้หน่อที่ ๑  และไว้หน่อที่ ๑,๓,๔,๕  ระยะห่างกัน  ๓  เดือน  โดยปาดหน่อที่ขึ้นมาไม่ตรงตามกำหนดทิ้งทั้งหมด  เมื่อไว้หน่อที่  ๕  ต้นแม่ก็เก็บเกี่ยวเครือกล้วยได้แล้ว  และในช่วงการออกปลีกล้วยจะงดการไว้หน่อเพื่อให้เครือและผลกล้วยสมบูรณ์เต็มที่  การไว้หน่อไว้ ๔ หรือ ๕  หน่อต่อกอ  เครือเก่าสุกเครือใหม่จะออกมาพอดี

            ๙. การตัดแต่งใบ  ตัดใบกล้วยที่เหลืองเกิน  ๕๐% ทิ้งไป  พร้อมตัดใบที่หักงอทิ้ง  ต้นกล้วยจะไม่รกรุงรังและดูสวยงามด้วย

            ๑๐. การตัดปลีกล้วย  เมื่อเครือกล้วยออกลูกหมดแล้วให้ตัดปลีออกจากหวีสุดท้ายนับไปอีก ๑-๒ หวี  จึงตัด  จะได้ไว้จับตอนที่ตัดเครือ  และใช้ปูนแดงหรือยากันราเพื่อป้องกันการเน่า

            ๑๑.โรคและแมลง  โรคกล้วยจะมีน้อยมาก  โรคที่มักจะพบ  คือ  โรคไฟท้อบโทร่าหรือเชื้อไฟท้อบโทร่า  ทำให้รากเน่า  ใบแห้งเหลือง  หรือที่เรียกว่าตายพราย  แก้โดยสารแคปแทน  ๔๐  กรัมต่อน้ำ  ๒๐  ลิตร  ฉีดพ่นหลุมโดยรอบ

๖. ข้อพึงระวัง

            ศึกษาปัญหาที่เกิดอย่างรอบคอบ จากข้อมูลหลายๆ ด้าน  แล้วจึงพิจารณาหาทางแก้ไขให้ถูกจุดตามประเด็นปัญหาหรือการพัฒนาอาชีพ

ข้อพึงระวัง ->

ศึกษาปัญหาที่เกิดอย่างรอบคอบ จากข้อมูลหลายๆ ด้าน  แล้วจึงพิจารณาหาทางแก้ไขให้ถูกจุดตามประเด็นปัญหาหรือการพัฒนาอาชีพ

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดชัยภูมิ
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา