ความรู้สัมมาชีพชุมชน

image1

การทอผ้าไหม

โดย : นางกุศล พลจัตุรัส วันที่ : 2017-03-13-18:42:05

ที่อยู่ : บ้านเลขที่ 28/1 หมู่ 13 ตำบล ส้มป่อย อำเภอ จัตุรัส

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

สมัยก่อนบ้านส้มป่อยเป็นหมู่บ้านที่มีการทอผ้าไหมเป็นจำนวนมาก มีการคิดค้นลายผ้าไหม และถ่ายทอดกระบวนการทอผ้าไหมเพื่อสวมใส่ในชุมชน และจำหน่ายเป็นจำนวนมาก ประกอบกับผ้าไหม   มีราคาสูง และเป็นที่ต้องการของตลาด มียอดสั่งซื้อเข้ามาในชุมชนค่อนข้างเยอะ ถ้าสามารถส่งจำหน่ายก็จะทำให้มีรายได้เพิ่มเติมมาจุนเจือครอบครัว จึงมีความสนใจที่จะเรียนรู้ขั้นตอน และฝึกฝนการทอผ้าไหมเรื่อยมา  จนมีความเชี่ยวชาญ และทำการทอผ้าไหมเป็นอาชีพเสริมเรื่อยมา

วัตถุประสงค์ ->

1.อนุรักษ์กรรมวิธีการทอผ้าไหมไทย/ สืบทอดกิจกรรมหมู่บ้านท่องเที่ยววัฒนธรรมไหม

2.สร้างอาชีพเสริมเพื่อจำหน่ายเป็นรายได้เสริม

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

          1.ต้นหม่อน พันธุ์ บร ๖๐

          2.พันธ์ไหมเหลืองไพโรจน์ พันธ์ดอกบัว พันธ์นางท้อง (พื้นเมือง)

          3.เส้นไหมดิบ

          4.สีย้อม

          5.ด่างฟอกไหม

          6.สบู่ซันไลต์

          7.อุปกรณ์การย้อมไหม (เตา/กะละมัง/ไม้)

          8.อุปกรณ์ทอผ้าไหม (กี่/ฟืม/กระสวย/ไนปั่นหลอด/หลอดด้าย/แปลงหวี/กง/จี้เข็น/โฮ่งแก้หมี่/เล็นโยกมัดหมี่/เผีย/โปกไหม

อุปกรณ์ ->

กระบวนการ/ขั้นตอน->

          การปลูกหม่อน

          ๑. เลือกพื้นที่ปลูกเป็นพื้นที่ที่ไม่มีน้ำท่วมขัง มีการระบายน้ำดี มีหน้าดินลึก ดินไม่เป็นกรด  มีแหล่งน้ำสำหรับรดน้ำได้ในช่วงหน้าแล้ง

          2.เตรียมดิน ไถกลับหน้าดินตากแดด เพื่อฆ่าเชื้อรา ศัตรูพืช และเชื้อโรคต่าง ๆ จากนั้นก็ใส่ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อบำรุงดิน ให้ดินมีธาตุอาหารเพียงพอต่อต้นหม่อน

          3.ขุดหลุมให้ลึกพอสมควร จากนั้นรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก ฟางข้าว ซังข้าวโพด หรือปุ๋ยหมัก และกลบหน้าดินก่อนหนึ่งชั้น จากนั้นก็ปลูกต้นหม่อนตามปกติ ที่สำคัญควรปลูกต้นที่เพาะชำอายุ 4 เดือน – 1 ปี ขึ้นไป เพื่อให้ต้นพันธุ์มีความแข็งแรง

การเลี้ยงไหม

          1.เลือกใบหม่อนให้เหมาะสมกับอายุของตัวไหม เพื่อลดการสูญหายของหนอนไหม

          2.การเลี้ยงไหมแรกฟักควรให้ถูกแสงแค่วันละประมาณ 4-5 ชั่วโมง จากนั้นก็ดูแลตามช่วงวัย ให้มีความเหมาะสม ซึ่งไหมแต่ละวัยจะมีวิธีการดูแลที่แตกต่างกัน

          2.เน้นการดูแลหนอนไหมอย่างสม่ำเสมอ การโรยยาฆ่าเชื้อควรทิ้งไว้ประมาณ  10-15 นาที

          3.การให้ใบหม่อน เริ่มแรกควรให้ใบหม่อนวันละครั้งในปริมาณที่น้อย ๆ ก่อน จากนั้นทยอยเพิ่มปริมาณขึ้น ตามระยะช่วงวัยและความเจริญเติบโตของหนอนไหม

          4.มีการขยายพื้นที่การเลี้ยงเมื่อหนอนไหมมีการเจริญเติบโตขึ้น โดยเฉลี่ยวัยละประมาณ      2-3 เมตร

          5.มีการวางแผ่นรองมูลหนอนไหม และทิ้งมูลไหมอย่างสม่ำเสมอ

5.ควบคุมความชื้นและอุณหภูมิให้เหมาะสม โดยไหมอ่อนชอบอุณหภูมิที่สูง ความชื้นมาก      เมื่อโตขึ้นควรลดอุณหภูมิและความชื้นลงเรื่อย ๆ เช่นกัน แต่ก็ไม่ควรต่ำกว่า 24 องศา และความชื้นที่ร้อยละ 70

6.เก็บหนอนไหมที่ไม่สมบูรณ์ทิ้งทุกวัน

          7.ควรเลี้ยงหนอนไหมในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิเหมาะสม

          การสาวไหม

          1.การสาวไหมชั้นแรก (ไหมใหญ่) ต้มน้ำให้ร้อนประมาณ 80 องศา นำรังไหมลงไปต้มทิ้งไว้ประมาณ 2-3 นาที เวลาต้มต้องหมั่นเขี่ยเพื่อให้รังไหมสุกทั่วกัน แล้วเอาไม้คีบเกลี่ยรังไหมเบาๆ เส้นไหมจะติดไม้ขึ้นมาใช้มือรวบเส้นไหมจากไม้ดึงมารวมสาวเป็นไหมใหญ่ เมื่อสาวไหมใหญ่เสร็จให้ตักรังไหมออกมาพักไว้ก่อนแล้วเติมรังไหมใหม่ลงไป ระหว่างการสาวหมั่นคอยเติมน้ำเย็นลงเป็นระยะ ๆ   เพื่อไมให้น้ำเดือดมากเกินไป

          2.การสาวไหมชั้นในต่อจากการสาวไหมชั้น 3 จะให้ขนาดเส้นมีความเล็กหรือใหญ่อยู่ที่ปริมาณจำนวนรังที่ต้ม และต้องเติมรังไหมให้มีปริมาณคงเดิมเพื่อให้เส้นไหมมีความสม่ำเสมอ สิ่งสำคัญคือเส้นไหมจะต้องมีเกลียว 4-8 เกลียวต่อ 1 นิ้ว

          3.การสาวไหมมีกระบวนการ 2 วิธี คือ การทำไหมพุ่งและการทำไหม ยืน สามารถทำได้ ดังนี้

               ขั้นตอนที่การทำเส้นยืน

                   1. ลอกกาวออก (ล้างน้ำให้สะอาด)

                    2. ตีเกลียว

                   3. กวักใส่จี้

                   4. คันเครือฟอกด่าง

                   ๕. การฟอกด่าง

                   ๖. ย้อมสี

                   ๗. สืบใส่พันธุ์หวี

                   ๘. ม้วนใส่กี่มัดหมี่

             ขั้นตอนที่การทำเส้นพุ่ง

                   1. กวักเส้นไหมย้อมสี                                       

                   2. โยกเส้นไหมนำไปขัดหมี่ลวดลายต่าง ๆ

                   3. ย้อมสีตามต้องการ

                   4. แก้เชือกฟางที่มัด ลอกลายต่างๆ ออก

          การมัดหมี่

1. เอาปอยหมี่ที่ค้นเสร็จแล้วใส่  "โฮงหมี่"

          2. การเริ่มต้นมัดลายหมี่ อาจมัดจากด้านบนไล่เรียงลงข้างล่าง หรือมัดข้างล่างก่อนจึงไล่เรียงขึ้นข้างบน บางคนอาจจะเริ่มมัดจากตรงกลางก่อนจึงขยายออกไปเต็มหลักหมี่ หรือจะเริ่มจากข้างใดข้างหนึ่งไปอีกข้างหนึ่งก็ได้

3. เริ่มมัดปลายเชือกด้านหนึ่งกับลำหมี่ก่อน จึงพันอีกปลายหนึ่งซ้อนทับให้แน่นเพื่อไม่ให้สีย้อมซึมเข้าข้อหมี่ เมื่อพันทับกันไปจนได้ความยาวของลายหมี่ จากนั้นก็มัดปลายเชือกกับลูกหมี่ให้แน่นเช่นกัน โดยเหลือปลายเชือกไว้นิดหนึ่ง เมื่อเวลาแก้มัดเชือกจะทำได้ง่าย ทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนครบลายที่กำหนดไว้

4.เมื่อเสร็จแล้วนำเชือกเส้นหนึ่งสอดเข้าไปในช่องหลักหมี่ข้างใดข้างหนึ่ง ผูกกลุ่มเส้นไหมไว้เป็นวงไม่ให้หมี่ ที่มัดลวดลายแล้วหลุดออกจากกัน และใช้เป็นหูหิ้วสำหรับจับเวลาย้อม จากนั้นจึงถอดเส้นไหมมัดหมี่ออกจากหลักหมี่มัดปลายเชือกกับลูกหมี่ให้แน่นเช่นกันโดยเหลือปลายเชือกไว้ เมื่อเวลาแก้มัดเชือกจะทำได้ง่าย

 

การย้อมไหม

1.ละลายสีสำเร็จย้อมไหมในน้ำร้อนคนให้สีละลายจนหมด แล้วเติมลงในหม้อย้อมที่มีน้ำอุ่นอยู่คนให้ทั่ว

2.นำไหมที่ฟอกสะอาดแล้วจุ่มน้ำเปียกให้ทั่ว บิดหมาดแล้วใส่ลงในหม้อย้อม หมั่นพลิกไหมหลาย ๆครั้ง และค่อย ๆ เพิ่มความร้อนขึ้นเรื่อยๆ จนเกือบเดือด

          3.ย้อมที่ความร้อนนี้ต่ออีกประมาณ 20 นาที แล้วนำไหมขึ้นล้างน้ำให้สะอาด บิดหมาด

แช่ด้วยน้ำยาปรับไหมพร้อมกันสีตก ทิ้งไว้ 15 นาที บีบให้หมาดแล้วตากในที่ร่มมีลมผ่าน

การทอผ้าไหม

1.กวักไหมมัดหมี่

          2.การปั่นเส้นไหมมัดหมี่ใส่หลอด

          3.ปั่นไหมพื้นเข้าหลอดเพื่อทอผ้าพื้นเรียบ

          4.การสืบหูก

          5.ม้วนเส้นไหมใส่กระมวนไหม เพื่อเรียงเส้นไหมให้สม่ำเสมอ และสอดเส้นไหมกับไม้แก้หัวหูก โดยทำท่อพีวีซีคลี่เส้นไหมให้สม่ำเสมอแล้วใช้ไม้กระดานม้วนหูกไหมเข้าจนเสร็จ

          6.นำเส้นไหมที่ม้วนแล้วไปขึ้นกี่เพื่อทอผ้าไหมตามลวดลายที่ต้องการ

          7.ทอผ้าไหม โดยสอดกระสวยตามลายที่กำหนดไว้ โดยเหยียบสลับเส้นไหมให้ขัดสลับกันไปเรื่อย ๆ ตามลวดลายที่ต้องการ

5. ข้อพึงระวัง /ปัจจัยแห่งความสำเร็จ/ข้อเสนอแนะ
          ๑.มีใจรัก ขยันเรียนรู้ หมั่นฝึกฝนพัฒนาฝีมืออยู่เสมอ

          2.สังเกตการเจริญเติบโตของต้นหม่อน และหนอนไหมที่ให้คุณภาพดี 

          3.เรียนรู้จากประสบการณ์

          4.เข้ารับการฝึกอบรมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้มีประสบการณ์

5.มีความต่อเนื่องในการทำ ส่งผลให้เกิดความชำนาญ และสามารถทำเป็นอาชีพหลักเลี้ยงตนเองและคนในครอบครัวได้

ข้อพึงระวัง ->

รูปประกอบ -> image1 image2

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดชัยภูมิ
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา