ความรู้สัมมาชีพชุมชน

image1

เทคนิคการทอผ้า

โดย : นางศรัญญา นันทวัฒนากรู วันที่ : 2017-03-22-15:40:32

ที่อยู่ : 54/1 หมู่ที่ 15 บ้านตลาดทราย ตำบลบ้านหัน อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

ตั้งแต่บรรพบุรุษงานบ้านงานเรือนต้องยกให้ผู้หญิงทุกคนต้องทำ  ไม่ว่าจะเป็นการทำอาหาร  ขนมหวาน  งานเย็บปัก  การทอผ้าไว้ใช้ในครัวเรือน  ซึ่งแต่ก่อนคนทั่วไปจะปลูกฝ้ายแล้วนำมาทอเป็นผ้าฝ้ายใช้นุ่งเป็นผ้าถุงและห่มแทน  ส่วนผ้าไหมจะมีไว้ใช้เฉพาะคนมีฐานะ  และต่อมาได้มีการปลูกหม่อนตามหัวไล่ปลายนาเลี้ยงไหมกันอย่างแพร่หลายทำให้เกือบทุกครัวเรือนมีการเลี้ยงไหม และทอผ้าไหมไว้ใช้ในครัวเรือน  ซึ่งปัจจุบันคนอีสานทอเป็นเครื่องสมมาปู่ย่าเวลาแต่งงาน  และจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากผ้าไหม จึงได้มีการถ่ายทอดภูมิปัญญาให้แก่ลูกหลานเพื่อสืบทอดต่อไป

วัตถุประสงค์ ->

-เพื่อสืบสานภูมิปัญญา

            -เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

-เส้นไหม  สีย้อมผ้า  ด่างฟอก  

             -เชือกฟาง

อุปกรณ์ ->

            -กี่ทอผ้า  ฮูก/ฟืม

            -กระสวย  หลอดปันไหม

            -มีดโกน หวี

กระบวนการ/ขั้นตอน->

             การฟอกไหม

             ต้องนำไหมไปฟอกให้นิ่มและเป็นสีขาว วิธีฟอกนั้นชาวบ้านไม่ได้ใช้สารเคมีอะไร แต่จะใช้ของที่อยู่ใกล้ตัวเช่น กาบกล้วย ใบกล้วย งวงตาล ฝักหรือเปลือกเพกา ฯลฯ อย่างใดอย่างหนึ่งนำมาฝานให้บางตากแดดให้แห้งและสุมไฟเผาจนมอดเป็นขี้เถ้าไปแช่น้ำทิ้งไว้ให้นอนก้นรินน้ำออกมาเป็นน้ำด่าง

              นำไหมที่จะฟอกลงไปแช่ในน้ำด่างโดยทุบเส้นไหมให้อ่อนตัวเพื่อน้ำด่างจะได้ซึมเข้าได้ง่าย แช่จนไหมนิ่มและขาวจึงนำไปตากแดดให้แห้ง หากไหมยังไม่สะอาดก็นำไปแช่ด่างตามวิธีเดิมอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นจะต้องระวังดึงไหมออกจากกลุ่มโดยไม่ให้พันกันยุ่ง และนำมาย้อมสีแรกก่อน จึงนำไปพันหลักหมี่เพื่อเตรียมมัดต่อไป

            การมัดหมี่

            นำเส้นไหมที่ฟอกขาวและนุ่มดีแล้วนั้น มาพันหลักหมี่ซึ่งมีลักษณะเป็นไม้กลม 2 ท่อนตั้งตรงข้าม ห่างกันเท่ากับหน้าผ้าของผ้านุ่งที่จะทอ พันไหมไปรอบหลักตามจำนวนรอบที่ต้องการ แล้วจึงนำเชือกมามัดเส้นไหมเป็นตอนๆตามลวดลายที่จะประดิษฐ์จะใช้เชือกกล้วยหรือเชือกฟางมัดก็ได้ ทั้งนี้เพื่อกันไม่ให้น้ำสีเข้าซึมในเส้นไหมเวลาย้อม ตอนนี้เองที่เรียกว่า “มัดหมี่” โดยผู้มัดใช้จินตนาการหรือความจำโดยไม่ต้องมีการร่างแบบ

           การย้อม

           นำเส้นไหมที่มัดแล้วนี้ไปย้อมสี สีจะติดเฉพาะตรงที่ไม่ได้มัด เมื่อย้อมแล้วอาจจะต้องนำมามัดและ

ย้อมอีกซ้ำมาหลายครั้งแล้วแต่ความยากง่ายของลวดลายและจำนวนสีที่ปรากฏอยู่บนผืนผ้า

           การกรอ

           เมื่อเสร็จจากการย้อมแล้วตัดเชือกที่มัดออก นำเส้นไหมมากรอใส่หลอดโดยต้องระมัดระวังเรียงลำดับให้ถูกต้อง มิฉะนั้นผืนผ้าที่ทอออกมาจะมีตำหนิในลักษณะต่างๆกันเช่น ลายเขย่งสูงบ้างต่ำบ้าง มีรอยต่อลายเห็นชัดบ้างหรือบางทีกลายเป็นลายอื่นที่ไม่ได้ตั้งใจเลยก็มี

           เส้นไหมยืน

            เส้นไหมยืนซึ่งจะเป็นความยาวของผืนผ้า เมื่อฟอกไหมแล้วนำไปย้อมได้เลยแล้วแต่จะต้องการสีอะไร แล้วนำมากรอเข้าหลอด หวีและเข้าฟืม นำขึ้นกี่กอผ้าหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “หูก”

          การทอ

            เมื่อมัดย้อมและกรอเส้นพุ่งใส่หลอดและเข้ากระสวยเรียบร้อยรวมทั้งมีเส้นยืนบนกี่หรือหูกแล้วให้ใช้มือในการพุ่งกระสวยโดยตรง ไม่ใช้วิธีกระตุกเชือกให้กระสวยพุ่งไปอย่างกี่กระตุก การทอผ้าไหมมัดหมี่นั้นต้องใช้ความละเอียดลออและพิถีพิถันมาก เมื่อกระสวยพุ่งไปครั้งหนึ่ง ก็ต้องตรวจดูว่าตรงกับดอกลายที่มัดไว้หรือไม่ ถ้าไม่ตรงก็ต้องจัดให้ตรงเสียก่อนแล้วจึงทอต่อไปได้

ข้อพึงระวัง ->

รูปประกอบ -> image1 image2

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดชัยภูมิ
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา