ความรู้สัมมาชีพชุมชน

กระเป๋าจักสานไม้ไผ่ ลายดอกพิกุล

โดย : นางสาวรัชนีกร มะมี วันที่ : 2017-03-02-17:52:27

ที่อยู่ : 21 หมู่ที่ 1 ตำบลไร่หลักทอง อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

บ้านริมคลอง เป็นหมู่บ้าน หมู่ที่ 1 ของตำบลไร่หลักทอง อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี แต่ดังเดิมชาวบ้านในตำบลไร่หลักทองเป็นชาวลาวอพยพมาจากอาณาจักรลาว ซึ่งมีความคุ้นเคยกับการจักสาน ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพการเกษตร (ทำนา)  เมื่อเวลาว่างจากการทำนา ก็มีอาชีพเสริมคือการจักสาน ซึ่งเป็นภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษตั้งแต่สมัยโบราณสืบทอดต่อกันมา เดิมเป็นการจักสานอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในครัวเรือน และ เครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ เท่านั้น เช่น ตะกร้า กระจาด กระบุง  ข้อง ไซ สุ่ม กระด้ง  ฯลฯ   ต่อมาเมื่อทำได้มากขึ้นก็ออกจำหน่าย ทั้งในหมู่บ้าน และ นอกหมู่บ้าน   

วัตถุประสงค์ ->

            ในอดีตชาวลาวอพยพมาจากอาณาจักรลาว ซึ่งมีความคุ้นเคยกับการจักสาน ตำบล ไร่หลักทอง มีการทำจักสานกันในหลายหมู่บ้าน จนกระทั้งเป็นตำบลที่มีชื่อเสียงทางด้านจักสาน ทั้งปริมาณการผลิตมีประชากรจำนวนมากที่มีอาชีพเสริมในการจักสานจำหน่าย และ มีฝีมือการจักสานที่เป็นลายละเอียด     มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง ดังคำขวัญของตำบลไร่หลักทอง คือ “ยักษ์ใหญ่ใต้ต้นลาน จักสานเลื่องลือไกล หอพระไตรล้ำค่า รสโอชาปลาร้า เชิญแวะชมได้ที่ไร่หลักทอง  ปัจจุบันได้มีการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ จากขอใช้ในครัวเรือน มาเป็นผลิตภัณฑ์ ของใช้ประดับ เช่นการทำกระเป๋า มีการพัฒนารูปแบบลายจักสานให้มีความสวยงาม ละเอียด ปราณีต มากยิ่งขึ้น จากการจักสานลายธรรมดา เป็นลายดอกพิกุลซึ่งเป้นลายที่ละเอียด สวยงามมาก น่าใช้มากยิ่งขึ้น

             ได้มีการจัดตั้งกลุ่มแม่บ้านสวนตาล จักสานผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่จำหน่าย ต่อมากลุ่มได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านรูปให้มีความทันสมัย มีฝีมือปราณี ลายละเอียด เป็นที่สนใจแก่ผู้พบเห็น กลุ่มได้มีการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความสวยงาม ปราณี  ละเอียด ในปี 2547-2557 กลุ่มได้ส่งผลิตภัณฑ์ เข้าคัดสรร สินค้า OTOP ได้ระดับ 4 - 5 ดาว โดยกลุ่มฯได้พัฒนารูปแบบให้มีความสวยงามมากยิ่งขึ้น และล่าสุดในปี 2559 ได้ส่งเข้าคัดสรร สินค้า OTOP ได้ระดับ 5 ดาว

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

- ไม้ไผ่                                                   

- สีย้อม

- กาวลาเท็ค                                           

- แลคเกอร์

อุปกรณ์ ->

- เลื่อย

- มีดขนาด ต่าง ๆ                          

- สว่าน

- กรรไกร                                              

- คีม

- แผ่นเหล็กชักเลียดตอก                      

- พิมพ์ขึ้นรูปกระเป๋า

- ตัวหนีบขอบกระเป๋า                          

 

กระบวนการ/ขั้นตอน->

            1. เตรียมวัสดุ อุปกรณ์ ให้พร้อม นำไม้ไผ่นวลไปขูดผิว แล้วนำไปต้มในภาชนะขนาดยาวพอสำหรับบรรจุไม้ไผ่ได้เผาด้วนเศษไม้ที่มีในพื้นที่ ประมาณ 30 นาที ให้พอสุกสม่ำเสมอ

            2. นำไม้ที่ต้มแล้วมาตากแดดให้แห้งสนิท (ประมาณ 3 วัน)

            3. นำไม้ที่แห้งแล้วมาจักเป็นเส้นตอกเล็ก ๆ ขนาดแผ่นละ 1 ซม. โดยแบ่งเป็น ส่วนผิว และ ส่วนเนื้อไม้

            

ส่วนผิว สำหรับทำลายภายนอก

                      - ส่วนเนื้อไม้ สำหรับทำลายส่วนภายใน เรียกว่า “ ซับใน”

            4. นำเส้นตอกส่วนผิว มาแบ่งเป็นเส้นเล็ก ๆ ประมาณ 0.8 มิลลิเมตร และนำมา “ชักเลียด” กับแผ่นเหล็กชักเลียดตอก เพื่อต้องการให้ตอกมีความเสมอกันทุกเส้น

            5. นำเส้นตอกที่ชักเลียดเสร็จแล้วไปย้อมสีตามความต้องการของลูกค้า

            6. เริ่มการจักสานในส่วนผิว เป็นลายชลอม ตามหุ่นที่กำหนด

            7. นำตอกที่ย้อมสีมา “ยอนดอกเป็นลายพิกุล” (การยอนดอกทำ 6 ครั้ง ถึงจะขึ้นเป็นรูปลายดอกพิกุล)

          8. นำตอกส่วนเนื้อไม้ ที่จักไว้มาแบ่งเป็นเส้นๆละประมาณ 2 – 3 มิลลิเมตร สำหรับจักสาน  ลายสอง ใช้เป็นแผ่นซับใน

            9. นำแผ่นซับในมาแปะทับด้านใน แผ่นยอนดอกลายพิกุลซึ่งจักสานเสร็จเรียบร้อยแล้ว

            10. นำแผ่นดังกล่าวมาประกอบตามรูปหุ่นที่กำหนด   โดยมีรูปแบบตามความต้องการของลูกค้า เช่น ทรงกลม , ทรงเหลี่ยม (สี่เหลี่ยม หกเหลี่ยม ฯ) ,ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า  หรือทรงรูปไข่ ฯลฯ

          11. นำไม้มาดัดเป็นปาก,ก้นและ หูกระเป๋า เพื่อเตรียมประกอบ

            11. เมื่อขึ้นรูปทรงกระเป๋าแล้ว นำแผ่นซับในมาประกอบก้นกระเป๋า และใช้ไม้ไผ่นวลใส่ขอบก้นกระเป๋า

            12. ส่วนฝา กรณีที่มีฝากระเป๋าให้นำแผ่นซับในมาแปะทับด้านใน แผ่นยอนดอกลายพิกุลซึ่งจักสานเสร็จเรียบร้อยแล้ว มาเข้ารูปเป็นฝา  ใช้ไม้ไผ่นวลใส่ขอบ ฝา  และ หู กระเป๋า ( การทำหูกระเป๋าใช้หมุดไม้จับหูกับฝาติดกัน) และ นำบานพับ  เชื่อมต่อระหว่างตัวกระเป๋า กับ ฝา มีห่วงคล้อง เปิด – ปิด กระเป๋า โดยใช้ โลหะ บางครั้ง ใช้ไม้ไผ่ ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าที่สั่ง สำหรับ กรณีที่ไม่มีฝา กลุ่มใช้การบุผ้าปักลวดลายให้สวยงานและใส่ซิบรูด หรือใช้สอดไส้ไก่รูดปิดกระเป๋า

            13. เคลือบเงาด้วยแล็คเกอร์

ข้อพึงระวัง ->

1. การเลือกไม้ ใช้ไม้ไผ่นวลอายุประมาณ 14 เดือน ไม่อ่อน หรือไม่แก้จนกินไป สังเกตดูจากเนื้อไม้ละเอียด ฟังเสียงจากการเคาะไม่กังวานมาก และ ไม่หลวมจนเกินไป

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดชลบุรี
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา