ความรู้สัมมาชีพชุมชน

การทำปลาร้าข้าวคั่ว

โดย : นางสมใจ สมชิต วันที่ : 2017-03-17-16:13:38

ที่อยู่ : 45 หมู่ที่ 9 ตำบลไร่หลักทอง อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

           การทำปลาร้ามีมาแต่ดั้งเดิมแล้วเนื่องจากประชากรในหมู่บ้านพื้นเพเป็นชาวลาว (นิยมกินปลาร้าเป็นอาหารหลักในครัวเรือน) ที่ถูกกวาดต้อนมาตั้งหมู่บ้านแห่งนี้มากว่า 200 ปีแล้ว ประมาณ พ.ศ. 2352 ตั้งแต่สมัยรัชการที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้ส่งกองทัพไปปราบกบฏที่เวียงจันทร์ สมัยเจ้าอนุวงศ์ เมื่อปราบปรามราบคาบแล้วได้กวาดต้อนผู้คนลงมาด้วยเป็นจำนวนมาก บรรพบุรุษชาวบ้านคลองหลวงก็เป็นส่วนหนึ่งของผู้คนชาวเวียงจันทน์ที่ถูกกวาดต้อนมาครั้งนั้นด้วย เนื่องจากหัวหน้าของชาวคลองหลวงเป็นเจ้าเมืองมาก่อน จึงโปรดเกล้าฯ ให้ไปเลือกที่ตั้งทำมาหากิน และปกคลองกันเอง ท่านเจ้าเมืองผู้นี้ชาวบ้านเรียกว่า “เจ้าเมืองพู” ได้พาครอบครัวข้าทาส และผู้ติดตามเดินทางมาพบพื้นที่บ้านคลองหลวงเข้า เห็นว่าเป็นทำเลที่เหมาะสม เพราะมีลำคลอง มีป่าไม้ และเป็นที่ราบเหมาะแก่การทำนา จึงได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่นี่ และบ้านเจ้าเมืองตั้งอยู่เบื้องหน้าวัดกลางคลองหลวง ได้ปกครองสืบต่อ ๆ กันมา เจ้าเมืองคนสุดท้ายชื่อ “ขุนนรินทร์เรืองเดช” (เป็นต้นสกุล   วงษ์แก้ว  ในปัจจุบัน) ในปัจจุบันนี้หลาน ๆ ของท่านยังมีชีวิตอยู่หลายคน ขุนนรินทร์เรืองเดชถึงแก่กรรมไปนาน 76 ปีแล้ว ผลงานของท่านที่เหลืออยู่ คืนญาติผู้ใหญ่ของท่านชื่ออาญาวง เป็นผู้สร้างวัดใต้ต้นลาน และ อาญาสา เป็นผู้สร้างวัดกลางคลองหลวง

            ชาวลาวที่มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่คลองหลวงนี้มาจากเมือง “ปากห้วยหลวง” จึงใช้ชื่อคลองนี้ว่า “คลองหลวง” มีฝีมือการทำปลาร้าเป็นอาหารพื้นเมืองมาจนถึงปัจจุบัน เอกลักษณ์เป็นของตนเอง ดังคำขวัญของตำบลไร่หลักทอง คือ “ยักษ์ใหญ่ใต้ต้นลาน จักสานเลื่องลือไกล หอพระไตรล้ำค่า รสโอชาปลาร้า เชิญแวะชมได้ที่ไร่หลักทอง  

วัตถุประสงค์ ->

              ปลาร้าข้าวคั่ว เป็นการถนอมอาหาร จากปลาที่มีอยู่ในพื้นบ้าน ตำบลไร่หลักทอง  มีการทำปลาร้าหลายรูปแบบ ได้แก่ ปลาร้ารำ ,ปลาร้าข้าวคั่ว,ปลาส้ม,กุ้งส้ม  ฯลฯ ปลาร้าข้าวคั่วเป็นผลิตภัณฑ์ปลาร้าชนิดหนึ่ง ที่มีวิธีการทำแตกต่างจากทำปลาร้าทั่วไป รสอร่อย ขั้นตอนการทำเน้นเรื่องความสะอาด ปลาที่มาทำจะต้องเป็นสด และ ทำสะอาด เกลือที่ใช้ไม่ใช้เกลือฟอกขาว หรือเกลือล้างด้วยสารส้ม ซึ่งจะทำให้ปลอดภัยจากสารเคมี เช่น สารฟอกขาว เป็นต้น ข้าวคั่วที่ใช้ต้องเป็นข้าวคั่วที่คั่วใหม่ เก็บไว้ไม่เกิน 20 วัน

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

                    - ปลา                               

                    - เกลือ                              

                    - ข้าวคั่ว

หมายเหตุ   1. ปลาที่นิยมทำคือปลานิล หรือปลานวลจันทร์ เท่านั้น เลือกขนาด 3 ตัว หรือ 4 ตัว ต่อ 1 กิโลกรัม

              2. เกลือที่นิยมใช้ คือเกลือน้ำเค็มชนิดเม็ด หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเกลือทะเล

              3. ข้าวคั่ว คือ นำปลายข้าว ชนิดเม็ด นำมาแช่น้ำประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วนำมาผึ่งพอหมาด ๆ

                  แล้วจึงทำการคั่ว (คั่วใส่กระทะ หรือ เครื่องคั่วก็ได้) คั่วให้เหลือง แล้วจึงนำมาโม่ให้ละเอียด

อุปกรณ์ ->

                    - ตุ่ม หรือ ถัง ที่นิยมใช้ทั่วไป คือ ตุ่มมังกร (ราชบุรี)

                    - กะละมังขนาด กลางใช้ในการคลุกเคล้าปลากับเกลือก่อนนำไปหมักในตุ่ม

กระบวนการ/ขั้นตอน->

1. นำปลานิล หรือปลานวลจันทร์ มาขอดเกล็ดออกให้หมด สับแก้มปลาทั้งสองข้างทิ้งไป และ ล้วงเอาขี้ปลาออกทิ้งไป จึงนำปลามาล้างให้สะอาด

2. แล้วนำปลามาเคล้าเกลือให้ทั่วตัวปลา หมักใส่ตุ่มไว้ 1 คืน แล้วจึงนำปลามาล้างให้สะอาดอีกครั้ง ผึ่งให้พอหมาด ๆ

3. ยัดข้าวข้าวคั่วใส่ไปในท้องปลาให้เต็ม นำมาเรียงใส่ตุ่มเป็นชั้น ๆ โรยข้าวคั่วพอบาง ๆ แล้วปิดผาตุ่มด้วยพลาสติกใส ทิ้งไว้ประมาณ 45 วัน จึงรับประทานได้ อย่าให้เกิน 70 วันจะเสียไม่อร่อย

 

ข้อพึงระวัง ->

 – ปลาต้องเป็นปลาสด และ ทำให้สะอาด

 – ต้องไม่ใช้เกลือฟอกขาว หรือ เกลือล้างด้วยสารส้ม ทำให้ปลอดภัยจากสารเคมี

                                 เช่น สารฟอกขาว เป็นต้น 

– ต้องคั่วให้เหลือง โม่ให้ละเอียด และ ไม่เก็บไว้นานเกิน 20 วัน

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดชลบุรี
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา