ความรู้สัมมาชีพชุมชน

พิธีจัดขันหมากแต่งงานประเพณีไทย

โดย : นางรุจิรา จิตอารี วันที่ : 2017-03-13-09:19:30

ที่อยู่ : 87/21 ม.7 ต.หนองรี อ.เมืองชลบุรี

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

ปัจจุบันสังคมไทยเราไม่ค่อยให้ความสำคัญกับประเพณีการจัดขันหมากเท่าไร  สังเกตได้จากปัญหาสังคมที่เกิดขึ้น อาทิ ตั้งครรภ์ก่อนแต่งงาน อยู่กินกันก่อนแต่งงาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้วในสังคมไทย   แต่ก็ยังมีคนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญ  ในการปลูกฝังค่านิยมอันดีเกี่ยวกับการครองเรือนให้กับคนไทยในสมัยนี้

 

หลังจากที่ฝ่ายชายส่งเฒ่าแก่หรือพ่อสื่อแม่สื่อ ไปเจรจาสู่ขอกันเป็นที่ตกลงแล้ว บางครั้งทางผู้ใหญ่ต้องการให้มีการหมั้นกันไว้สักระยะหนึ่งก่อน แล้วจึงทำการแต่งในภายหลัง เพื่อให้หนุ่มสาวมีโอกาสดูใจหรือศึกษาอุปนิสัยใจคอกันได้มากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ต้องมีการกำหนดฤกษ์ยามในวันหมั้น รวมทั้งกำหนดสินสอดทองหมั้นหรือที่เรียกว่า ขันหมากหมั้น
                   เมื่อถึงกำหนดฤกษ์ตามที่ได้ตกลงกันไว้ ฝ่ายชายจะจัดเตรียมขันหมากหมั้นเพื่อยกไปทำการหมั้นฝ่ายหญิง โดยมอบหมายให้เฒ่าแก่ฝ่ายชายเป็นผู้นำไปมอบให้เฒ่าแก่ฝ่ายหญิง เฒ่าแก่ของฝ่ายชายนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นคนเดียวกับที่ไปทำการเจรจาสู่ขอ หรือจะให้ผู้อื่นทำหน้าที่แทนก็ได้ เพราะไม่ค่อยถือเหมือนเฒ่าแก่ขันหมากตอนแต่งซึ่งควรจะเป็นเฒ่าแก่คนเดียวกับที่ไปเจรจาสู่ขอ เฒ่าแก่ขันหมากหมั้นนิยมใช้สามีภรรยาที่อยู่กินกันมาด้วยความผาสุก โดยไปด้วยกันทั้งคู่เป็นการถือเคล็ดชีวิตคู่ ในบางแห่งอาจเป็นฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิงเป็นผู้ทำหน้าที่เฒ่าแก่ขันหมากหมั้นเพียงคนเดียวก็ได้
                   เกี่ยวกับการจัดขันหมากหมั้น นอกจากเงินทองค่าสินสอดตามที่ตกลงกับทางฝ่ายหญิงไว้แล้ว สิ่งที่ต้องจัดเตรียมไปในขันหมากหมั้นนั้น ในแต่ละท้องถิ่นอาจแตกต่างกันไป เช่น ใช้หมากดิบทั้งลูก 8 ผล พลู 4 เรียง บรรจุลงในขันใบหนึ่ง สำหรับอีกขันหนึ่งมีขนาดเล็กกว่าใช้บรรจุเงินทองหรือของหมั้น เช่น สร้อย แหวน กำไล ฯลฯ บางทีแยกขันหมากเป็น 2 คู่ คือใส่หมากพลู 1 คู่ และใส่ของหมั้น 1 คู่ บางทีก็ไม่แยก แต่เพิ่มขึ้นใส่ใบเงินใบทอง ถุงข้าวเปลือกถั่วงาอีกขั้นหนึ่ง ไม่จัดปนอยู่ในขันหมากพลูและขันเงินขันทอง นอกจากขันหมากพลูแล้ว ยังต้องจัดเตรียมเครื่องขันหมาก อันประกอบด้วยขนมและผลไม้ มากน้อยแล้วแต่ตกลงกันไว้ บางทีอาจเพิ่มสุราหรือเครื่องเซ่นสำหรับไหว้ผีบรรพบุรุษก่อนทำพิธีหมั้นด้วย

 

 

                    ประเพณีการจัดขันหมากในงานแต่งงาน ในขบวนจะแบ่งออกเป็น "ขันหมากเอก" และ "ขันหมากโท" ติดตามด้วยเหล่าบริวารขันหมาก ส่วนรูปตามแบบฉบับฝีมือชาววังที่นิยมทำกันนั้น มี 2 แบบ คือ แบบใช้พลูจีบ กับ แบบที่ไม่ใช้พลูจีบ โดยทั้ง 2 แบบ จะใส่หมากพลูเป็นจำนวนคู่ อย่าง คู่ 4 หรือ คู่ 8 นำมาจัดเรียงให้สวยงาม สาเหตุที่ต้องมีการใส่หมากพลูลงไปในพานขันหมาก ก็เพราะในสมัยก่อนนิยมกินหมาก จึงมีการใช้หมากพลูเป็นเครื่องต้อนรับ เพื่อแสดงไมตรีจิต และหมายถึงความยินดีต้อนรับอย่างเป็นกันเองด้วยไมตรีจิต ซึ่งนอกจากพานขันหมากเอกแล้ว ยังมีพานต่าง ๆ ที่ฝ่ายชายจะต้องเตรียมทั้งหมดเพื่อแห่ในขบวนขันหมาก

วัตถุประสงค์ ->

อนุรักษ์สืบสานประเพณีไทย

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

1. ต้นอ้อย  4  ต้น

                   2. พานเงิน พานทอง

                   3. ใบเงิน  ใบทอง ใบนาค  ใบรัก  อย่างละ  2  ใบ

                   4. พานถั่ว  งา อย่างละ  1  พาน

                   5. ผ้าไหว้พ่อ แม่ เจ้าสาว

                   6. เทียนไหว้ 2  เล่ม

                   7. หมูดิบ  2  ชิ้น ๆ ละ  6  กิโลกรัม

                   8. เหล้า

                   9. วุ้นเส้น  4  ห่อ

                   10. หมากดิบ  8  ลูก

                   11. ใบพลู

                   12. ไข่ต้ม   8  ฟอง

                   13. ขนมจีนจับยาว  4  จับ

                   14. เป็ด ไก่ 1  คู่

                   15. ขนมกง  หรือฝอย  10  กง

                   16. ขนมข้าวเหนียวแดง  กาละแม ฝอยทอง  ทองหยิบ  ทองหยอด  เมล็ดขนุน  ลูกชุบ 

                   17. กล้วยน้ำว้าดิบ 8  หวี

                   18. ผ้าแพรสีชมพู

                   19. ใบพลูจีบ

          20. ดอกบายไม่รู้โรยสีชมพู

อุปกรณ์ ->

กระบวนการ/ขั้นตอน->

คู่ที่  1 ต้นอ้อย  4  ต้น  ข้างละ  2  ต้น  รัดด้วยกระดาษเขียว แดง  1  คู่  ชะลอมมะพร้าว 2  ชะลอม  ชะลอม  1  ลูก  มีมะพร้าว  4  ลูก  มะพร้าวต้องปอกเปลือกแต่งให้สวย  และต้องเอาหัวขึ้น  ( ถ้าซื้อตามตลาดเขาจะเอาตูดลูกขึ้น จะใช้ไม่ได้  ถือว่าเป็นการไม่ถูกต้อง) ส่วนชะลอมต้องใช้ชะลอมสามเหลี่ยม   เวลาเดินในขบวน  คนถืออ้อย  กับชะลอมมะพร้าว  ต้องถือไปด้วยกัน    คือ  ถืออ้อย  และหิ้วชะลอมมะพร้าวด้วย  ทั้ง  2  คน  คิดเป็น  1  คู่

             คู่ที่  2  พานสินสอด  ในพานมีเงิน  ทอง  ตามที่ได้มาตกลงสู่ขอกัน  ในพานมีใบเงิน  ใบทอง  ใบนาค  ใบรัก  ใช้อย่างละ  1  คู่  ( 2 ใบ ) ใส่ไว้ก้นพาน ใช้ผ้าแพรสีชมพูคลุม และขันพลูจีบ  สำหรับไหว้   พ่อแม่  ญาติผู้ใหญ่ทั้ง  2  ฝ่าย  พลูจีบต้องเสียบด้วยดอกบานไม่รู้โรย  สีชมพูสด

             คู่ที่  3  พานถั่ว  งา  โดยใช้เม็ดถั่วเขียว  กับงาดำ  อย่างละ  1  พาน  ความหมายของถั่วงา  เป็นพืชที่นำไปหว่าน  ขยายพันธุ์ได้ง่าย  จึงมีความหมายว่าให้ชีวิตรักของบ่าว  สาว  มีความเจริญงอกงาม  เหมือนเมล็ดถั่ว  เม็ดงา

             คู่ที่  4  ผ้าไหว้  เทียนไหว้  ผ้าที่ฝ่ายเจ้าบ่าว  ต้องนำไปไหว้พ่อแม่  เจ้าสาว  พร้อมเทียนไหว้  ใช้เทียนไข   2  เล่ม  รัดด้วยกระดาษสีเขียว สีแดง  หรือสีทอง  โดยรัดหัว  ท้าย  ของเล่มเทียน  เป็นข้อสันนิษฐานว่า  สมัยก่อนไม่มีไฟฟ้าส่องทางเหมือนปัจจุบัน  ถ้าแขก  หรือญาติผู้ใหญ่อยู่ร่วมงานจนมืดค่ำจะได้มีเทียนส่องทางกลับบ้าน อีกข้อสันนิษฐานหนึ่งคือ  ขอให้ความรักของบ่าว  สาว  จงสว่างไสว  คล้ายแสงเทียน  ก็ได้  สำหรับเทียน  เวลาไหว้จะให้บ่าว  สาว  ไหว้พ่อ  แม่  ญาติผู้ใหญ่  ไหว้พร้อมพลูจีบ  โดยใส่พานไหว้พร้อมกัน  และให้ญาตินำกลับไปด้วย  ถือเป็นสิ่งของมงคล

             คู่ที่  5  หมู  เหล้า  โดยทางพื้นที่นี้  จะใช้หมูที่เป็นเนื้อแดงติดมัน จำนวน   2  ชิ้น  น้ำหนักชิ้นละ  6  กิโลกรัม นำมานึ่งแล้วนำมาผ่า  แผ่ออกให้สวยงาม  ใช้เหล้าขาวตั้งตรงกลางหมู    หมูนี้เมื่อตา  ยาย คนเก็บขันหมากฝ่ายเจ้าสาวจะเก็บคนละข้าง  ในส่วนของเจ้าสาวจะนำไปไหว้ผีเรือน 

             คู่ที่  6  วุ้นเส้น  4  ห่อ  นำใส่ถาดข้างละ  2 ห่อ  วุ้นเส้นก็ต้องรัดด้วยกระดาษสีเขียว  สีแดง รัดหัว  ท้าย  ห่อละ 2  เส้น  ความหมายคือ  ขอให้ความรักของคู่บ่าว สาว จงยืนยาว  เหนี่ยวแน่น  เหมือนวุ้นเส้น

             คู่ที่  7  เป็นขันหมากเอก  คู่ที่  1  ใส่หมากข้างละ 4  ลูก   2  ข้าง  รวมเป็น  8  ลูก  ความหมายคือ  ที่มาของขันหมาก  โดยใช้หมากเดิมตัดเป็นคู่  อย่าให้ขาดจากกันเวลานำไปไหว้ผีบ้าน  ผีเรือน  เก็บไว้ข้างละ  1 คู่  จะเหลือคืนให้กับฝ่ายเจ้าบ่าว  1  คู่  เท่ากัน

             คู่ที่  8  ในขันจะมีใบพลูที่มีใจตรงกลางใบพลู  ขันละ  8  ใบ  เวลาเก็บจะเก็บขันละ  4  ใบ 

             คู่ที่  9  ไข้ต้ม  จะใช้ไข่เป็ดเพราะเปลือกจะหนากว่าไข่ไก่  นำมาย้อมสีชมพู  ใส่ขันละ  8  ใบ  เวลาเก็บจะเก็บขันละ  4  ใบ  ความหมายของไข่  คือ  บ่าว  สาวจะทำการสิ่งใดก็ขอให้ง่ายเหมือนปอกเปลือกไข่ต้ม

             คู่ที่  10  ในขันใบนี้จะมีขนมจีนจับยาวพิเศษ  (ต้องสั่งทำ) ใส่ขันละ  4  จับ  เวลาเก็บให้เหลือ  2  จับ  คือ  1  คู่  และบางบ้านในขันจะใส่ห่อหมก  ขันละ  4 ห่อ  แต่ตอนที่ข้าพเจ้าได้ครอบครู  ครูไม่ให้ใส่ห่อหมกลงไปในขัน  ท่านให้เหตุผลว่า  วันแรกของการเริ่มต้นชีวิตคู่  ก็จะมีการหมกกันแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้ปฏิบัติตามที่ครูบอกตลอดมา  สำหรับความหมายของขนมจีน  ก็คือ  ขอให้มีความรักยืนยาว  เหนียวแน่น  เหมือนเส้นขนมจีน   สมัยก่อนขนมจีน จะใช้วิธีหมักแป้ง  เวลาโรยเป็นเส้นจะยาวเหนียวกว่าสมัยนี้ 

             คู่ที่  11  เป็ด ไก่  มีชีวิต  อย่างละ  1  คู่  โดยใช้ไก่  เป็ด  รุ่นสาว  จะนำไก่และเป็ดมาใส่ชะลอม  ผูกปากชะลอม  ๆ  ที่ใช้จะใช้ชะลอมก้นสี่เหลี่ยม  (สมัยนี้จะใช้เป็ด  ไก่  ที่เป็นขนม  ใช้ฝอยโรย  ทำเป็นเป็ด จะใส่สีเขียว  ไก่จะเป็นสีเหลือง  เพราะสมัยนี้ถ้าใช้เป็ดไก่  มีชีวิต  เสร็จพิธีแล้ว  บ่าว  สาว  ต้องนำไปเลี้ยง  ซึ่งจะเป็นการยุ่งยากและไม่สะดวก  เลยใช้เป็นขนมแทน

             คู่ที่  12  เป็นขนมกง  หรือฝอย  1  คู่  จะมี  10  กง  ใส่ถาดข้างละ  5  กง  เก็บ  1  กง  จะเหลือถาดละ  4  กง  ขนมกงอย่างน้อยต้องใช่  4  คู่  สมัยก่อนเมื่อรับไหว้จะต้องห่อขนมในขบวนพิธีแจกญาติผู้ใหญ่ที่มาให้คู่บ่าว สาวไหว้นำกลับไปกินเพื่อเป็นสิริมงคล  เพราะของทุกอย่างที่อยู่ในขบวนขันหมากจะได้รับน้ำพระพุทธมนต์แล้ว  แต่ปัจจุบันบางคนก็ไม่รับ  เนื่องจากเป็นขนมมีรสหวาน  ขนมที่ใช้จะมีข้าวเหนียวแดง  กาละแม  ฝอยทอง  ทองหยิบ  ทองหยอด  เม็ดขนุน  ลูกชุบ  ขนมเหล่านี้จะเป็นขนมมงคลและมีสีสันสวยงาม 

             คู่สุดท้าย  จะเป็นกล้วยน้ำว้าดิบ  แต่ละหวีเมื่อนับจำนวนลูกแล้วต้องให้เป็นเลขคู่  ถ้าหวีใดเป็นเลขคี่จะใช้ไม่ได้  ใส่ถาดละ  4  หวี  เป็นคู่สุดท้ายของขนวนขันหมากเอก

             สิ่งสุดท้ายคนอุ้มขันหมากทั้ง  8  ขัน  จะต้องเป็นหญิงที่แต่งงานแล้ว  และต้องแต่งงานที่มีขันหมากเอกด้วย  จึงจะไปอุ้มขันได้  การแต่งตัวของการอุ้มขันหมากเอก ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของพื้นบ้านเรา  ต้องนุ่งเขียวใส่ขาว  ห่มสไบแพร่จีบสีทอง เท่านั้น  สำหรับคนยกขันหมากเอก  ต้องใช้ทั้งหมด  10  คน  อุ้มขันหมาก  8  คน  เป็ด  ไก่  2  คน  ส่วนขนมและสิ่งของอื่น ๆ ใครอุ้มก็ได้ไม่ได้กำหนด  เมื่อจัดวางของขันหมากเรียบร้อยแล้ว  จะมีการปักธงกระดาษสีแดง  ธงปักชะลอมมะพร้าวจะใหญ่กว่าของอย่างอื่น

             ผู้จัดขันหมากหรือผู้รู้ในพิธีนี้  ได้รับเกียรติจากคนในพื้นที่และนอกพื้นที่เชิญให้ไปทำพิธีนี้  ปีละหลายสิบคู่  จะเชิญไปทั้งจัดขันหมาก  เก็บขันหมาก  ปูที่นอน  จากการสอบถามผู้ที่มาเชิญคู่ของข้าพเจ้าในการจัดพิธีขันหมาก  จะได้รับคำตอบว่ามีความมั่นใจและเชื่อใจในความรอบรู้  รอบคอบ ที่สามารถจัดงานพิธีของเขาให้ได้ดี  สวยงามถูกใจ  และได้เห็นจากการที่ข้าพเจ้าได้ไปจัดให้กับญาติ  เพื่อน  มาแล้ว  และเห็นว่าคู่ของข้าพเจ้ามีความพร้อมทุกด้าน  ทั้งคนจัดอุปกรณ์ที่ใช้ในพิธี  การแต่งกายของคนอุ้มขันหมาก  และที่สำคัญคู่ของข้าพเจ้าเป็นคู่สามีภรรยาที่มีความประพฤติ  ปฏิบัติดี  สมควรที่จะเชิญมาเป็นผู้ทำพิธีมงคลให้กับลูกหลานของเขา  เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีต่อไป

ข้อพึงระวัง ->

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดชลบุรี
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา