ความรู้สัมมาชีพชุมชน

ไร่นาสวนผสม

โดย : นายประยูร ชาตะบุตร วันที่ : 2017-03-20-16:00:50

ที่อยู่ : 37 ม.2 ต.หนองกุงใหญ่

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

การทำเกษตรแบบไร่นาสวนผสม โดยปลูกพืชหลายชนิดบนพื้นที่ทำกิน เป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ถึงแม้อาจไม่ได้รับเงินก้อนโตอย่างกับการปลูกพืชเชิงเดี่ยว แต่ก็สามารถสร้างรายได้หมุนเวียนทุกวัน เป็นการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงและยั่งยืนตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
 

วัตถุประสงค์ ->

1. เพื่อการเพิ่มรายได้ต่อครัวเรือนของเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง จากกิจกรรมปลูกพืชหลายครั้ง หลายชนิด หรือการผสมผสานกิจกรรมทั้งพืชทั้งสัตว์ ประมง เป็นต้น
2. เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรมีความรู้ด้านการจัดการทรัพยากรที่ดิน ทุน แรงงาน อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
3. เพื่อเป็นการลดความเสี่ยง ในการดำเนินกิจกรรมการเกษตรจากภัยธรรมชาติ และความผันผวนของราคาผลผลิต ทำให้เกษตรกรสามารถเลือกกิจกรรมการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่
4.เพื่อการส่งเสริมให้เกษตรกรประกอบอาชีพตามหลักวิชาการเกษตรแผนใหม่ ทั้งด้านการผลิต และการจำหน่าย โดยการยึดหลักการปรับปรุงคุณภาพผลผลิต มีการลดต้นทุนการผลิต/หน่วย มีรายได้ต่อเนื่อง และมีกำไรสูงสุด
5. เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกร รู้จักการวางแผน และงบประมาณการผลิต รวมทั้งมีการจดบันทักบัญชีครัวเรือน รายรับรายจ่าย เป็นต้น

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

1.ที่ดิน  2.แรงงาน  3.ทุน  4.การจัดการ

อุปกรณ์ ->

กระบวนการ/ขั้นตอน->

 1. แบ่งพื้นที่บางส่วนมาจัดทำไร่นาส่วนผสม ซึ่งระยะแรกรายได้เกิดจากกิจกรรมที่มีอายุเก็บเกี่ยวสั้น เช่น ปลูกผัก ,ผักสวนครัว เป็นต้น
     2. สภาพพื้นที่ลุ่มหรือนาเดิม ถ้าจะปลูกไม้ผลควรยกร่องไม้ผลและมีคันดิน ล้อมรอบแปลงผัก
     3. พื้นที่ลุ่มมากน้ำท่วมเป็นประจำ เกษตรกรอาจจะขุดบ่อเลี้ยงปลา หรือนาบัว นาผักบุ้ง นาผักกระเฉด เป็นต้น
     4. พื้นที่ดินในการทำสวนผลไม้ควรมีสภาพพื้นที่มีความลาดชันไม่เกิน 30 % สภาพดินมีหน้าดินลึกกว่า 1 เมตร และดินชั้นล่างต้องไม่เป็นดินดานแข็ง หรือศิลาแลง
     5. กรณีที่สภาพดินมีปัญหา เช่น ดินเปรี้ยว ดินเค็ม ดินพรุ หรือดินที่มีปัญหาอื่นๆ ควรมีการปรับปรุงก่อนการปลูกพืช
ด้านแหล่งน้ำ
     1. ควรมีสระน้ำ คูคลอง ร่องน้ำ หรือแหล่งน้ำระดับไร่นาเสริมในฤดูแล้ง ประมาณ 30 % ของพื้นที่
     2. บ่อน้ำบาดาล เพื่อใช้ในฤดูแล้ง โดยเฉพาะพืชไร่ พืชผัก ไม้ดอกไม้ประดับ
     3. บ่อปลาเป็นแหล่งอาหารโปรตีนและเพิ่มรายได้ในฤดูแล้ง อาศัยน้ำในบ่อใช้ในการปลูกพืชบริเวณขอบบ่อปลา และพืชผักสวนครัว
ด้านเงินทุน
     1. เงินลงทุนในระยะแรกจะค่อนข้างสูง ควรพิจารณากิจกรรมเสริมให้ผลตอบแทนเร็วในช่วงแรกๆ
     2. เงินทุนที่มีอยู่ควรพิจารณาให้สอดคล้องกับชนิดและกิจกรรมการผลิต
     3. กรณีที่เกษตรกรกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน ควรวางแผนการใช้จ่ายเงิน และผลตอบแทนในลักษณะกระแสเงินสดของฟาร์ม
ด้านเกษตรกร
     1. ต้องมีความขยันขันแข็ง กระตือรือร้น มีความคิดสร้างสรรค์ ยอมรับในการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ มีความคิดเชิงธุรกิจ
     2. แรงงานทำการเกษตรอย่างน้อย 3 คน ต่อพื้นที่ 10 ไร่
     3. มีทักษะในการวางแผนและงบประมาณ แรงงานในการผลิตอย่างเหมาะสม
ด้านกิจกรรมการผลิต
     1.ควรพิจารณากิจกรรมการเกษตร
        -  กิจกรรมที่ทำรายได้ เป็นรายวัน รายเดือน รายปี อย่างถาวรต่อเนื่อง(ด้านเศรษฐกิจ)
        -  กิจกรรมด้านอาหาร
        -  กิจกรรมด้านการใช้สอย
        -  กิจกรรมด้านอื่นๆ ตามความเหมาะสมของแต่ละฟาร์ม แต่ละพื้นที่ซึ่งมีความแตกต่างกันไป
      2.กรณีมีการปลูกไม้ผลไม้ยืนต้นในช่วงระยะ 1-3 ปี แรก ควรจะมีการปลูกพืชอายุสั้นแซมเสริมรายได้
      3.บริเวณคันดินล้อมแปลงไม้ผลไม้ยืนต้น สามารถจะปลูกมะพร้าวอ่อน กล้วย มะละกอ พืชผัก และอื่นๆได้
      4.การปลูกไม้ผลไม้ยืนต้นบางครั้ง สามารถปลูกแบบผสมผสานกัน ลดภาวะการเสี่ยง
      5.เกษตรกรควรมีพื้นที่ส่วนหนึ่งปรับเปลี่ยนปลูกพืชหมุนเวียนอายุสั้น ที่ให้ผลตอบแทนสูง
      6.มีกิจกรรมการปลูกข้าวไว้บริโภคภายในครัวเรือนและจำหน่ายได้
      7.บ่อปลาควรอยู่ใกล้บ้าน การคมนาคมสะดวก จัดการควบคุมเรื่องระบบน้ำได้
      8.กิจกรรมการผลิตพืชผัก ไม้ดอกไม้ประดับ เลี้ยงสัตว์ ประมง ควรมีการวางแผนการผลิตและการตลาดเป็นอย่างดี

ข้อพึงระวัง ->

ควรหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีทุกชนิด เช่น ปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช ฮอร์โมน สารเคมีในอาหาร สัตว์ คำนึงถึงการสงวนรักษาอินทรีย์วัตถุในดินด้วยการปลูกพืชหมุนเวียนการปลูกพืชคลุมดิน ใช้ปุ๋ยคอกปุ๋ยหมัก ใช้ เศษอินทรีย์วัตถุจากไร่นา มุ่งสร้างความแข็งแกร่งให้แก่พืชด้วยการบำรุงดินให้อุดมสมบูรณ์ ผลผลิตที่ได้ก็จะอยู่ในรูป ปลอดสารพิษ

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดขอนแก่น
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา