ความรู้สัมมาชีพชุมชน

การทอผ้าไหม

โดย : นางลัดดา ชินทะนา วันที่ : 2017-03-20-18:04:14

ที่อยู่ : 19 บ้านโนนตะหนิน หมู่ที่ 5 ตำบลหัวทุ่ง

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

การทอผ้าเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ที่คนไทยรุ่นปัจจุบันต้องช่วยกันอนุรักษ์ไว้ในสมัยก่อน ผู้หญิงไทยจะทำเครื่องใช้ต่างๆ ในบ้านเอง งานสำคัญอย่างหนึ่งคือการทำเสื้อผ้า ผ้านุ่ง ผ้าห่ม ไว้ใช้กันในครอบครัว ในพิธีกรรมต่างๆ เกี่ยวกับการเกิด การบวช การแต่งงาน การตาย ก็ต้องใช้ผ้า ผ้าทอจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตคนไทย

กรรมวิธีและเทคนิคในการทอผ้าให้เกิดลวดลายต่างๆ เป็นเทคนิคและ ความสามารถของแต่ละคน

การมัดหมี่ คือ การทำผ้าไหมให้เป็นลายและสีสันต่างๆตามแบบหรือลายที่ได้ออกแบบไว ซึ่งปัจจุบันมีทั้งแบบลายที่เป็นแบบลายโบราณและแบบที่เป็นลายประยุกต์ โดยการมัดเส้นไหมให้เป็นลวดลายที่เส้นพุ่งด้วยเชือกฟางมัดลายแล้วนำไปย้อมสี แล้วนำมามัดลายอีกแล้วย้อมสีสลับกันหลายครั้ง เพื่อให้ผ้าไหมมีลวดลายและสีตามต้องการ เช่น ผ้าที่ออกแบบลายไว้มี 5 สี ต้องทำการมัดย้อม 5 ครั้ง เป็นต้น  แรงบันดาลใจ ราษฏรในหมู่บ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา บางปีฝนไม่ตกหรือตกน้อย ไม่มีน้ำทำนา ก็ทำให้แทบทุกครัวเรือน ไม่มีเงินเป็นค่าใช้จ่ายในเรื่องจำเป็นอื่น เช่นค่าเล่าเรียนบุตร  จึงทำให้เกิดความคิดว่าจะทำอย่างไรถึงจะมีอาชีพเสริม จึงเกิดความคิดว่าพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ได้ปลูกต้นหม่อน เลี้ยงไหม สาวไหมและทอผ้าไหมใช้เป็นเครื่องนุ่งห่ม โดยไม่ต้องไปซื้อผ้าให้สิ้นเปลืองเงิน บางครั้งไม่มีเงินก็สามารถนำไปขายแก่คนที่มีฐานะดี เป็นรายได้ที่ดีอีกทางหนึ่ง จึงได้หันทอผ้าไหมโดยให้ยายเป็นคนสอน ขั้นตอนกระบวนการทำเส้นไหม การนำเส้นไหมมาทอเป็นผืนผ้า 

วัตถุประสงค์ ->

1. เป็นอาชีพเสริมหลังฤดูการทำนา

2. เพิ่มรายได้ ในครัวเรือน

3. ส่งเสริมการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป 

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

1. เส้นไหม (ไหมยืน และไหมแนวนอน)

2. ด่างย้อม

3. สีย้อมไหม หรือสีธรรมชาติ

4. กี่ทอผ้า

5 วัสดุอุปกรณ์ ในการทำเส้นไหม และการทอผ้า

 

 

อุปกรณ์ ->

อุปกรณ์การทอผ้าไหม

สันนิษฐาน ว่าคงมีหูกทอผ้าแล้วในสมัยก่อนประวัติศาสตร์และอาจจะมีหลายแบบ เป็นขนาดเล็กๆ ทอด้วยมือชนิดตอกตรึงไว้กับพื้นหรืออาจเป็นชนิดที่มีแต่ฟืม ไม่ต้องใช้โครงหูกอย่างที่ชาวเขานิยมทอในปัจจุบัน

·         กี่

มีขนาดใหญ่ประกอบไปด้วยโครงกี่ฟืม เขาหูกหรือตะกอ ไม้ม้วนผ้าและหลักม้วนผ้า ไม้สำหรับพาดนั่งเวลาคานเหยียบสำหรับดึงเส้นไหมและตะกอขึ้นลง ไม้แกนม้วนไหมเส้นยืน คานแขวน กระสวย หลอดด้ายพุ่ง ผังหรือสะดึงขึงผ้าให้ตึง มักจะวางใต้ถุนเรือน และฝังเสากับพื้นดินแบบถาวร โครงกี่ประกอบด้วยเสา 4 เสา คาน 9 คานบนมี 4 คาน คานล่างมี 1 คาน และคานกลาง 1 คาน มีราวหูกทั้ง 4 ด้าน มีทั้งด้านบนและด้านล่าง

·         คานแขวน

เป็นไม้ห้อยอยู่กับคานของกี่ ซึ่งคานของทั้งสองใช้แขวนเชือกที่ต่อมาจากเขาหรือตะกอ เพื่อให้ตึงอยู่ตลอดเวลา

·         ฟืมหรือหวี

คือ เครื่องมือสำหรับทอผ้ามีฟันเป็นซี่ๆ คล้ายหวีใช้สำหรับสอดไหมหรือเพื่อจัดเส้นไหมให้อยู่ห่างกัน แล้วใช้กระทบไหมพุ่งที่สานตัดกันกับไหมยืนหรือไหมเครือเป็นผืนผ้า การทอผ้าเนื้อหนาหรือเนื้อบางขึ้นอยู่กับฟันหวี

·         ตะกอ

ใช้สำหรับแยก เส้นด้ายให้ขึ้นเพื่อเปิด ให้จังหวะของเส้นด้าย พุ่งสอดขัดกัน

·         ตะกอหลอก

ตะกอแผงหรือเขาใหญ่และเขายาว ใช้เป็นที่เก็บไม้ขิด เพื่อส่งลายให้ทอโดยไม่ต้องเก็บขิด เป็นลักษณะตะกอแนวตั้ง

·         ไม้ (ไม้กำพัน)

ใช้สำหรับม้วนผ้าที่ทอแล้วไว้อีกส่วน ไม้แกนม้วนผ้านี้จะเหลาเป็นเหลี่ยม จะได้ยึดผ้าที่ม้วนเก็บไว้ไม่ให้ลื่น

·         ไม้

คือไม้สอดแทนไม้ขิดเพื่อให้ตะกอเปิดกว้าง และสอดเส้นด้ายยืนพุ่งไป

·         ไม้ขิด ใช้สำหรับคัด

กระสวย ด้ายพุ่ง คือเครื่องมือที่ใช้กรอด้ายสำหรับทอผ้า นิยมทำจากเถาวัลย์เครือไส้ตันที่มีตรงกลางกลวง หรือไม้อย่างอื่นเจาะรูตรงกลางเพื่อสอดไม้เล็กๆ ที่ทำเป็นแกนของหลอดด้าย เพื่อให้ด้ายหมุนไปตามแรงพุ่งของกระสวย

·         ไม้เหยียบหรือคานเหยียบ

คือ ไม้ไผ่ 2 อันที่ผูกเชื่อมโยงกับเขาผูกหรือตะกอ เพื่อใช้สำหรับเหยียบดึงเขาหูกทั้ง 2 อัน ให้เส้นไหมยืนขึ้นลงสลับกัน และเปิดช่องเพื่อพุ่งกระสวยไหมเข้าไปในร่องดังกล่าว เส้นไหมทั้ง 2 ชนิดจะสานขัดกันเป็นเนื้อผ้า

·         ไม้นั่งทอผ้า

คือไม้กระดานหนาพอสมควร และมีความยาวกว่ากี่เล็กน้อย ใช้เวลานั่งทอผ้า ไม้นี้จะใช้พาดระหว่างหลักกี่
ข้างหน้ากับหลักม้วนผ้า

·         บ่ากี่

คือ ไม้ที่รองรับส่วนปลาย 2 ด้านของไม้ม้วนผ้า มี 2 หลัก แต่ละหลักจะอยู่คนละข้างของหูก

·         กระสวย

ใช้บรรจุหลอดไหมพุ่งสอดไประหว่างช่องว่างของเส้นไหมยืน ต้นและปลายเรียวตรงกลางเจาะเป็นช่องสำหรับใส่หลอดด้าย

·         ผัง

เป็นไม้ที่ขึงไว้ตามความกว้างของผ้าที่ทอ เพื่อให้หน้าผ้าตึงพอดีกับฟืม และเพื่อทำให้ลายผ้าตรง ไม่คดไปคดมา

 

กระบวนการ/ขั้นตอน->

1. การเตรียมเส้นไหม

    จะต้องนำเส้นมาคัดเส้นไหมที่มีขนาดเส้นสม่ำเสมอ และมีการตกแต่งไจไหมที่เรียบร้อย คือ เส้นไหมจัดเรียงแบบสานกันเป็นตาข่ายหรือเรียกชื่อทางวิชาการว่าไดมอนด์ครอส มีการทำไพประมาณ 4-6 ตำแหน่ง ขนาดน้ำหนักไหมต่อไจโดยประมาณ 80-100 กรัม ทั้งนี้เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของการปฏิบัติงานในขั้นตอนการลอกกาว ย้อมสี และการกรอเส้นไหม

   2. การลอกกาวเส้นไหมทั้งเส้นพุ่งเส้นยืน โดยวิธีการใช้สารธรรมชาติ การเตรียมสารลอกกาวธรรมชาติ นำกาบต้นกล้วยมาทำการเผาไฟจนกระทั่งเป็นขี้เถ้า นำขี้เถ้าไปแช่น้ำใช้ไม้คนให้ทั่ว ปล่อยทิ้งไว้ให้ขี้เถ้าตกตะกอนแบ่งชั้นน้ำและตะกอน ทำการกรองน้ำใสที่อยู่ส่วนบนชั้นตะกอนด้วยผ้าบาง สารที่ได้ คือสารลอกกาวธรรมชาติ นำเส้นไหมที่ได้เตรียมไว้แล้วมาทำการต้มลอกกาวด้วยสารลอกกาวธรรมชาติดังกล่าวโดยใช้ในสัดส่วนของสารลอกกาวต่อเส้นไหมโดยประมาณ30:1 ในระหว่างการต้มลอกกาวจะมีการควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ในระดับ 90-95 องศาเซลเซียส เป็นเวลาประมาณ 90 นาที ในระหว่างการต้มลาวกาว ให้ทำการกลับเส้นไหมในหม้อต้มลาวอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้กระบวนการลอกกาวเส้นไหมสมบูรณ์ นำเส้นไหมที่ทำการลอกกาวเสร็จเรียบร้อยออกจากหม้อต้ม นำไปล้างน้ำร้อนน้ำอุ่น แล้วบีบน้ำออกจากเส้นไหม นำเส้นไหมไปตากผึ่งแห้งที่ราวตาก ทั้งนี้ให้ทำการกระตุกเส้นไหมเพื่อให้มีการเรียงเส้นไหมในแต่ละไจ อย่างเรียบร้อย นั่นคือการลอกกาวเส้นไหม เราก็จะได้เส้นไหมที่พร้อมจะย้อมสี เพื่อนำไปทอผ้าต่อไ

3. การเตรียมฟืมทอผ้า

         ทำการค้นเส้นด้ายลักษณะเดียวกับการค้นเส้นยืน จากนั้นนำเส้นด้ายมาร้อยเข้ากับฟืม โดยการร้อยผ่านช่องฟันหวีแต่ละช่องทุกช่องๆละ2เส้น แล้วใช้ท่อนไม้ไผ่เล็กๆสอดเข้าในห่วงเส้นด้ายที่ร้อยเข้าช่องฟันหวีเพื่อทำการขึงเส้นด้ายให้ตรึงและจัดเรียงเส้นด้ายให้เรียบร้อย ส่วนด้านหน้าของฟืมก็จะมีท่อนไม้ไผ่เช่นเดียวกับด้านหลังเพื่อทำการขึงเส้นด้ายให้ตรึงเช่นเดียวกับด้านหลังของฟืมที่กล่าวมาแล้ว จากนั้นให้ทำการเก็บตะกอฟืมแบบ2ตะกอ เราก็จะได้ชุดฟืมทอผ้าที่พร้อมสำหรับการทอผ้า

4. การย้อมเส้นไหมยืน

 

        เตรียมน้ำย้อมสีเส้นไหม จากนั้นนำไปแช่น้ำนานประมาณ 1 คืน ทำการกรองน้ำย้อมสีด้วยผ้าบาง  การเตรียมน้ำย้อมประมาณ 5 กิโลกรัมต่อน้ำ 20 ลิตรต่อเส้นไหม 1 กิโลกรัม นำเส้นไหมที่เตรียมไว้มาทำการย้อม โดยเริ่มจากการการย้อมเย็นเพื่อให้น้ำย้อมสีสามารถซึมเข้าไปในเส้นไหมได้อย่างทั่วถึง และสม่ำเสมอ ป้องกันการเกิดสีด่างบนเส้นไหม เมื่อน้ำย้อมได้ซึมเข้าเส้นไหมจนทั่วแล้ว ก็ให้ยกหม้อต้มย้อมขึ้นตั้งบนเตาเพื่อเพิ่มความร้อนจนกระทั่งอุณหภูมิอยู่ที่ระดับ 90 องศาเซลเซียส ใช้เวลาประมาณ 30 นาที หรือสังเกตได้จากการที่น้ำย้อมจะใส จากนั้น ให้นำเส้นไหมที่ย้อมสีเรียบร้อยแล้วไปล้างน้ำสะอาด 2-3 ครั้ง แล้วทำการบีบน้ำให้แห้ง ทำการตากผึ่งให้แห้ง                    

5. การเตรียมเส้นยืน

       นำเส้นไหมยืนที่ทำการย้อมสีด้วยสีแดงเข้มของครั่ง มาทำการค้นเครือหูก หรือที่เรียกว่าการค้นเส้นยืน โดยใช้หลักเฝือเป็นอุปกรณ์ในการค้นเส้นยืน การเตรียมค้นเส้นยืนจะเริ่มต้นโดยการนำเส้นไหมไปสวมเข้าในกง เพื่อทำการกรอเส้นไหมเข้าอัก จากนั้นก็ทำการค้นเส้นยืน โดยมีหลักการนับ คือ รอบละ2เส้น 2รอบเป็น4เส้น เรียกว่า 1 ความ 10ความ เท่ากับ 1 หลบ การนับจำนวนความจะใช้ซี่ไม้มาคั่นเพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ดังนั้น 1 หลบจะมีเส้นไหม 40 เส้น หลบ คือ หน้ากว้าง ในสมัยโบราณนิยมทอผ้าสไบหน้ากว้างจะใช้ 8 หลบ ต่อมามีการขยายหน้ากว้างเพิ่มเช่น 22 หลบ 34 หลบ เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการออกแบบ

6. การต่อเส้นยืน

       การต่อเส้นยืนคือการนำเส้นไหมเส้นยืนมาผูกต่อกับเส้นด้ายในซี่ฟันหวีโดยทำการต่อที่ละเส้นจนหมดจำนวนเส้นยืน เช่น หากหน้ากว้างของผ้าเท่ากับ 22 หลบ ก็จะต้องทำการต่อเส้นยืนเท่ากับ 1,760 เส้น เป็นต้น เมื่อต่อเส้นไหมเข้ากับเส้นไหมที่อยู่ในซี่ฟันหวี่เรียบร้อยแล้ว ก็ให้ทำการม้วนเส้นยืนด้วยแผ่นไม้ พร้อมทั้งการจัดเรียงระเบียบของเส้นไหมตามช่องฟันฟืมให้เป็นระเบียบเรียบร้อย จากนั้น ก็ทำไปติดตั้งเข้ากับหูกทอผ้าหรือกี่ทอผ้า เพื่อการเก็บเขาลายหรือตะกอต่อไป ก่อนทำการทอผ้าจะต้องใช้แปรงจุ่มน้ำแป้งทาเคลือบเส้นยืนที่อยู่ในกี่ก่อน เพื่อทำให้เส้นกลม มีความแข็งแรง เส้นไหมไม่แตกเป็นขนเนื่องจากกระทบกับช่องฟันฟืมเวลาทอผ้า

 

                      


7. การเตรียมเส้นพุ่งที่ทำการย้อมสีต่างๆ

       การเตรียมน้ำย้อมสีเส้นไหม โดยทั่วไปผ้าไหมโบราณจะมีจำนวนสีหลากหลายสีในแต่ละลายหลัก ซึ่งสีที่นิยมใช้กันมากก็จะเป็นสีเข้ม เช่น สีเหลือง สีน้ำเงินเข้ม สีเขียว สีแดง เป็นต้น ซึ่งแต่ละสีก็จะได้มาจากชิ้นส่วนของพืชและสัตว์ เช่น สีเหลือง เป็นสีที่ได้มาจากแก่นเข วิธีการเตรียม คือ นำแก่นเขมาทำให้เป็นชิ้นเล็กๆก่อนทำการต้มกับน้ำ การต้มให้ต้มเดือดนานประมาณ 1-1.30 ชั่วโมง จากนั้นก็ให้ทำการกรองด้วยผ้าบางเพื่อแยกส่วนของน้ำย้อมสีกับกากเหลือของแก่นเขออกจากกัน นำเส้นไหมเส้นพุ่งที่ต้องการย้อมสีเหลืองมาทำการย้อม โดยเริ่มต้นการย้อมโดยวิธีย้อมเย็นเพื่อให้การซึมเข้าของสีสม่ำเสมอ จากนั้นจึงใช้ความร้อนในการเพิ่มอุณหภูมิประมาณ 90-95 องศาเซลเซียส ย้อมนานประมาณ 30 นาที จากนั้นนำเส้นไหมที่ย้อมเสร็จแล้วมาทำการล้างด้วยน้ำ 2-3 ครั้ง เพื่อล้างสีส่วนเกินออกให้หมด ซึ่งจะทำให้ผ้าไหมไม่ตกสี นำเส้นไหมที่ล้างน้ำแล้วบีบน้ำออกแล้วนำไปผึ่งตากให้แห้ง 
8. การกรอเส้นพุ่งเข้าหลอด

      การกรอเส้นพุ่งเข้าหลอด นำเส้นไหมที่ย้อมสีต่างๆแล้วมาเข้ากง แล้วทำการกรอเส้นไหมเข้าหลอด เพื่อเตรียมเป็นเส้นพุ่งเพื่อใช้ในการเกาะลาย และใส่กระสวยในการทอขัด
 

 


 

 

 

 

 

     

ข้อพึงระวัง ->

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดขอนแก่น
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา