ความรู้สัมมาชีพชุมชน

การทำไม้กวาดดอกหญ้า

โดย : นายวิชัย เครือพันธ์ วันที่ : 2017-03-13-20:34:01

ที่อยู่ : 28 ม.7 ต.พังทุย อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

เป็นอาชีพที่มีความถนัด  และเป็นภูมิปัญญาท้องภิ่นที่สืบทอดกันมายาวนาน  ตามประวัติ  ดังนี้เมื่อปีพุทธศักราช 2515 ได้มีราษฎรในหมู่บ้านพังทุย หมู่ที่ 10 ตำบลพังทุย อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ไปเก็บดอกหญ้าที่ขึ้นบนเชิงเขาที่ภูเขาสวนกวางมาทำไม้กวาดเอาไว้ใช้เหลือก็ใช้เป็นของฝากบ้างขายบ้างให้คนในหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียง ซึ่งตอนนั้นไม่ค่อยจะมีใครสนใจในการเอาดอกหญ้ามาทำไม้กวาดมากเท่าไหร่ เพราะตั้งแต่เดิมคนโบราณเขาใช้ผ้าผูกมัดกับไม้ทำเป็นไม้กวาด ต่อมาก็มีชาวบ้านขึ้นไปถางป่าบนชิงเขาเพื่อทำไร่ เห็นดอกหญ้าขึ้นอยู่มากมาย ก็เลยเกิดความคิดที่จะเอาดอกหญ้ามาทำไม้กวาดขาย ซึ่งขณะนั้นราคาขายด้ามละ 2 บาท ห้าสิบสตางค์ ทำขายประมาณ 5 – 6 ครอบครัวเท่านั้น หลายปีต่อมาก็เริ่มขยายกิจกรรมการทำไม้กวาดมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากไม้กวาดบ้านพไงทุยมีความคงทนจนเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป จากการขายด้ามละ 2 บาท ห้าสิบสตางค์ จนราคา 5 บาท
ต่อมาปีพุทธศักราช 2530 ก็มีชาวบ้านทำกันมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเรียกได้ว่าเกือบจะทุกครัวเรือน แถมยังขยายการทำออกไปหมู่บ้านอื่นในตำบลอีกด้วยแต่ในตอนนั้นต่างคนต่างทำ ดังนั้นชาวตำบลพังทุยจึงได้รวมกลุ่มปรึกษาหารือกันว่าเมื่อทำมากขึ้นตลาดในหมู่บ้านก็ไม่มีจึงจำเป็นต้องขายตลาดออกไปต่างตำบล อำเภอ และต่างจังหวัดจึงได้จัดตั้งกลุ่มกันขึ้นเพื่อเป็นการต่อรองทางการตลาด โดยการนำของ นางมิ่งขวัญ ทาปลัด เมื่อปีพุทธศักราช 2539 ชื่อกลุ่ม “ สตรีสหกรณ์ไม้กวาดตำบลพังทุย ” มีสมาชิกทั้งสิ้น 11 หมู่บ้าน 331 คน ( โดยการประสานของเกษตรและสหกรณ์อำเภอน้ำพอง ) และยืมเงินจากสหกรณ์การเกษตรอำเภอน้ำพอง เพื่อเป็นทุนหมุนเวียน 300,000 บาท ( สามแสนบาทถ้วน ) โดยมีเงื่อนไขการส่งใช้ 10 ปี ๆ ละ 30,000 บาท( ปัจจุบันใช้หนี้หมดแล้ว ) โดยได้นำเงินยืม 100,000 บาท สร้างอาคารเก็บวัตถุดิบและสินค้าที่ผลิตเสร็จแล้ว อีก 200,000 บาท นำไปเป็นทุนหมุนเวียน ต่อมาเมื่อตลาดกว้างมากขึ้นจึงมีสมาชิกเพิ่มขึ้น จาก 11 หมู่บ้าน เป็น 13 หมู่บ้าน 450 คน มีนางมิ่งขวัญ ทาปลัด เป็นประธานกลุ่ม มีที่ทำการตั้งอยู่ เลขที่ 169 หมู่ที่ 10 บ้านพังทุย ตำบลพังทุย อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น

วัตถุประสงค์ ->

1.  เพื่อสร้างงาน  สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน  จากอาชีพเสริม  จนปัจจุบันกลายเป็นอาชีพหลัก

2.  เพื่อสืบทอดภูมิปัญญา และส่งต่อให้ลูกหลานต่อไป

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

1.ดอกหญ้า
2.ด้ามไม้ไผ่
3.หัวพลาสติก
4.เชือก
5.ลวด
6.ตะปู

อุปกรณ์ ->

1.  จักรเย็บไม้กวาด

2.  เตาไฟสำหรับทำลายด้าม

3.  ตาชั่ง

4.  กรรไกร

5.  เข็ม

กระบวนการ/ขั้นตอน->

๒. กระบวนการ/วิธีการขั้นตอน/เทคนิค/ข้อพึงระวังที่ใช้ในการแก้ปัญหาหรือพัฒนาอาชีพ

               ๒.๑ วัตถุดิบและส่วนประกอบในการผลิต

               ๑) ดอกหญ้าที่ใช้ทำไม้กวาดมีอยู่ ๒ ชนิด

                 ๑.๑) ดอกพง หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าดอกแขม จะมีอยู่แถบเขาสวนกวาง อำเภอเขาสวนกวาง ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับอำเภอน้ำพอง ซึ่งเมื่อหลายปีผ่านมาสามารถไปเก็บได้เอง ปัจจุบันค่อนข้างหายากต้องรับซื้อจากแหล่งจำหน่าย

                 ๑.๒) ดอกกง  หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ดอกยู จะมีอยู่แถบจังหวัดเพชรบูรณ์ เชียงใหม่ พะเยา น่าน ในช่วงแรกๆ ผู้ผลิตจะไปเก็บเอง แต่ปัจจุบันจะมีผู้นำมาจำหน่ายถึงที่ทำให้สะดวกยิ่งขึ้น

               ๒) ด้ามไม้ไผ่, ด้ามพลาสติก

               ๓) เชือกไนลอน ขนาด ๑.๕ ม.ม.

               ๔) ตะปู

               ๕) เข็ม เบอร์ ๔.๕ ,๘

               ๖) ลวด เบอร์ ๒๐

               ๗) น้ำยากันรั่ว เรนโค้ท

               ๘) น้ำมันทาไม้

               ๙) น้ำมัน วานิสเงา

               ๑๐) ห่วงสำหรับร้อยเชือกกับด้ามไม้กวาดไว้ห้อยหรือแขวนเก็บไม้กวาด

 

 

 

 

 

-๒-

               ๒.๒ ขั้นตอนการผลิต

               ๒.๒.๑ เตรียมดอกหญ้า

               ๑) นำดอกหญ้าไปตากแดด ประมาณ ๓ วัน

               ๒) นำดอกหญ้ามานวดให้ดอกร่วงหลุดจากก้าน

               ๓) เลาะ คัดแยกให้ได้ขนาดเท่าๆ กัน

               ๔) มัดเป็นกำ ๆ ขนาด ๑ กำมือ

               ๕) นำดอกหญ้าที่มัดเป็นกำมามัดรวมกันประมาณ ๕-๖ กำ เป็นมัดใหญ่

               ๖) เก็บรวบรวมไว้ รอให้การทำด้ามเรียบร้อย

               ๒.๒.๒ การเตรียมด้ามไม้กวาด

               ๑) ตัดไม้ไผ่ที่มีอายุ ๒ ปี ขนาดความยาว ๗๐ ซม.

               ๒) ตัดตา และขอบข้อต่อ ขัดด้วยกระดาษทรายให้ผิวเรียบไม่มีเสี้ยน

               ๓) นำด้ามไม้ไผ่แช่ในน้ำ นำก้อนหินหรือไม้กดให้จมน้ำ ทิ้งไว้ประมาณ ๑ สัปดาห์

               ๔) นำขึ้นตากแดดให้แห้ง

               ๕) นำลวดมามัด พันรอบด้ามไม้ไผ่แนวทแยง

               ๖) นำด้ามไม้ไผ่ไปลนไฟ พอให้เปลี่ยนสี ยกออก

               ๗) ปล่อยให้เย็น แล้วแกะลวดออก จะทำให้เกิดลวดลาย

               ๘) ทำด้วยน้ำมันทาไม้ (แลคเกอร์) ให้มีความมัน

               ๙) ทาหรือขัดด้วยวานิสเงา จะทำให้ด้ามไม้ไผ่ขึ้นเงา

               ๑๐) ติดห่วงบนปลายด้านหนึ่งของด้ามเพื่อเอาไว้ร้อยเชือก

ข้อพึงระวัง ->

-  ควรมีผ้าปิดปาก  จมูก  เพื่อป้องกันฝุ่นละอองจากดอกหญ้า

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดขอนแก่น
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา