ความรู้สัมมาชีพชุมชน

image1

การทำเกษตรผสมผสาน

โดย : นางกัญญานันท์ เจริญแก่นพิมพ์ วันที่ : 2017-03-10-12:06:11

ที่อยู่ : 167 บ้านชาด หมู่ที่ 3 ตำบลขามป้อม อำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

เกษตรกรรม เป็นกิจกรรมการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และประมง แต่การเลือกทำเพียงกิจกรรมเดียว จะมีความเสี่ยงค่อนข้างสูงที่จะไม่ได้รับผลผลิตเมื่อต้องประสบกับภัยสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ แต่ถ้าเลือกทำ “เกษตรผสมผสาน” คือมีตั้งแต่ 2 กิจกรรมขึ้นไป มีการวางแผนการผลิต ใช้ปัจจัยผสมผสานเพื่อลดต้นทุนการผลิต ความเสี่ยงก็ลดลง ในสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจแปรปรวนเกษตรผสมผสานจึงเป็นทางเลือกในการยกระดับรายได้เพื่อนำไปสู่การดำรงชีพที่มั่นคง

วัตถุประสงค์ ->

ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัว..

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

อุปกรณ์ ->

1.  มีดตอนกิ่งติดตา ต่อกิ่ง     ใช้ควันกิ่งที่จะตอน  ติดตาและต่อกิ่ง

 2.  มีดดายหญ้า  ใช้ดายหญ้าหรือลิดกิ่งไม้ที่มีเนื้อไม้ไม่แข็งมาก

 3.  กรรไกรตัดหญ้า  ใช้ตัดหญ้าที่ไม่สูงนัก หรือใช้ ตัดแต่งหญ้าให้เรียบเสมอกัน

 4.  กรรไกรตัดกิ่ง  ใช้ตัดแต่งกิ่งไม้ให้ได้รูปทรงตามต้องการ

5.  เลื่อยตัดแต่ง กิ่งไม้    ใช้ตัดแต่งกิ่งไม้ขนาดใหญ่ ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางของกิ่งใหญ่กว่า 1 นิ้ว ขึ้นไป

6.  ถังน้ำ  ใช้ตักน้ำรดต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่

7.  บัวรดน้ำ  ใช้รดน้ำต้นกล้า หรือพืชที่ปลูกอยู่ในกระถาง

8. ปุ้งกี๋    ใช้ขนดิน ปุ๋ย หรือเศษหญ้าเศษใบไม้

9. ช้อนปลูก   ใช้ขุดหลุมปลูก พรวนดิน และย้ายต้นกล้า

10. ส้อมพรวน ใช้พรวนดินให้ร่วนซุย

11. เสียม    ใช้ขุดหลุมปลูก ขุดดิน ขุดหลุมขนาดเล็ก ขุดหลุมที่ลึกๆ และใช้ย่อยดิน

12. คราด   ใช้ย่อยดินให้ร่วนซุย ใช้ลากหญ้าหรือใบไม้ที่ตัดทิ้งไว้ออกจากแปลงปลูก และใช้เกลี่ยหน้าดินให้เรียบ

  13. จอบ    จอบขุด ใช้สำหรับขุดดินที่ค่อนข้างแข็ง  ส่วนจอบถาก ใช้สำหรับถากหน้าดิน หรือดายหญ้า

14. พลั่ว    พลั่วตัก ใช้สำหรับตักดิน ปุ๋ย หรือทราย ส่วนพลั่วขุดใช้สำหรับขุดหลุมหรือขุดดินเพื่อนำดินไปตากแดดฆ่าเชื้อโรค

กระบวนการ/ขั้นตอน->

วิธีการปลูกผักสวนครัว

            1. การปลูกผักในแปลงปลูก มีขั้นตอน คือ

                1.1 การพรวนดิน ใช้จอบขุดดินลึกประมาณ 6 นิ้ว เพื่อพรวนดินให้มีโครงสร้างดีขึ้น กำจัดวัชพืชในดินกำจัดไข่แมลงหรือโรคพืชที่อยู่ในดิน โดยการพรวนดินและตากทิ้งไว้ประมาณ 7-15 วัน

                1.2 การยกแปลง ใช้จอบพรวนยกแปลงสูงประมาณ 4-5 นิ้ว จากผิวดิน โดยมีความกว้างประมาณ 1-1.20 เมตร ส่วนตามความเหมาะสม ความยาวของแปลงนั้นควรอยู่ในแนวทิศเหนือ-ใต้ทั้งนี้เพื่อให้ผักได้รับแสงแดดทั่วทั้งแปลง

                1.3 การปรับปรุงเนื้อดิน เนื้อดินที่ปลูกผักควรเป็นดินร่วนแต่สภาพดินเดิมนั้นอาจจะเป็นดินทรายหรือดินเหนียว จำเป็นต้องปรับปรุงให้เนื้อดินดีขึ้นโดยการใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก อัตราประมาณ 2-3 กิโลกรัม ต่อเนื้อที่ 1 ตารางเมตร คลุกเคล้าให้เข้ากัน

                1.4 การกำหนดหลุมปลูก จะกำหนดภายหลังจากเลือกชนิดผักต่าง ๆ แล้วเพราะว่าผักแต่ละชนิดจะใช้ระยะปลูกที่แตกต่างกัน เช่น พริก ควรใช้ระยะ 75 x 75 เซนติเมตร ผักบุ้งจะเป็น 5 x 5 เซนติเมตร เป็นต้น

                1.5 สำหรับบ้านที่มีบริเวณรอบบ้านเป็นพื้นปูน ให้วางอิฐหรือไม้แผ่นเรียบ หรือวัสดุอื่นๆ ทำเป็นโครงรูปแบบต่างๆเช่น สี่เหลี่ยมโดยมีความสูงประมาณ 6 นิ้ว จากนั้นเทวัสดุปลูกลงไปเกลี่ยให้เสมอ เท่านี้ก็ได้แปลงปลูกผัก1แปลงแล้ว

            2. การปลูกผักในภาชนะ

            การปลูกผักในภาชนะควรจะพิจารณาถึงการหยั่งรากของพืชผักชนิดนั้น ๆ พืชผักที่หยั่งรากตื้นสามารถปลูกได้ดีในภาชนะปลูกชนิดต่างๆ และภาชนะชนิดห้อยแขวนที่มีความลึกไม่เกิน 10 เซนติเมตร คือ

            ผักบุ้งจีน คะน้าจีน ผักกาดกว้างตุ้ง (เขียวและขาว) ผักกาดฮ่องเต้ ผักกาดหอม ผักกาดขาวชนิดไม่ห่อ (ขาวเล็ก ขาวใหญ่) ตั้งโอ๋ ปวยเล้ง หอมแบ่ง (ต้นหอม) ผักชี้ ขึ้นฉ่าย ผักโขมจีน กระเทียมใบ (Leek) กุยช่าย กระเทียมหัว ผักชีฝรั่ง บัวบก สะระแหน่ แมงลัก โหระพา (เพาะเมล็ด) กะเพรา (เพาะเมล็ด) พริกขี้หนู ตะไคร้ ชะพลู หอมแดง หอมหัวใหญ่ หัวผักกาดแดง (แรดิช)

            วัสดุที่สามารถนำมาทำเป็นภาชนะปลูกอาจดัดแปลงจากสิ่งที่ใช้แล้ว เช่น ยางรถยนต์เก่า กะละมัง ปลอกซีเมนต์ เป็นต้น สำหรับภาชนะแขวนอาจใช้ กาบมะพร้าว กระถาง หรือเปลือกไม้

            วิธีการปลูกผักในภาชนะแบ่งออกได้เป็น 2 วิธี

                2.1 เพาะเมล็ดด้วยการหว่านแล้วถอนแยกหรือหยอดเป็นแถวแล้วถอนแยก ซึ่งพืชควรปลูกด้วยวิธีนี้ ได้แก่

                       - ผักบุ้งจีน                                  - คะน้าจีน                    - ผักกาดขาวกวางตุ้ง

                       - ผักกาดเขียวกวางตุ้ง              - ผักฮ่องเต้ (กวางตุ้งได้หวัน)

                       - ตั้งโอ๋                                       - ปวยเล้ง                     - ผักกาดหอม

                       - ผักโขมจีน                               - ผักชี                           - ขึ้นฉ่าย

                       - โหระพา                                  - กระเทียมใบ               - กุยฉ่าย

                       - หัวผักกาดแดง                       - กะเพรา                      - แมงลัก

                       - ผักชีฝรั่ง                                 - หอมหัวใหญ่

                2.2 ปักชำด้วยต้น และด้วยหัว ได้แก่

                       - หอมแบ่ง (หัว)                                - ผักชี้ฝรั่ง                - กระเทียมหัว (ใช้หัวปลูก)

                       - หอมแดง (หัว)                                - บัวบก (ไหล)         - ตะไคร้ (ต้น)

                       - สะระแหน่ (ยอด)                           - ชะพลู (ต้น)           - โหระพา (กิ่งอ่อน)

                       - กุยช่าย (หัว)                                  - กะเพรา (กิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อน)

                       - แมงลัก (กิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อน)

หมายเหตุ มีบางพืชที่ปลูกด้วยหัว หรือส่วนของต้นก็ได้ปลูกด้วยเมล็ดก็ได้ ดังนั้นจึงมีชื่อผักที่ซ้ำกันทั้งข้อ 1 และ 2

ฤดูการปลูก

            การปลูกผักควรเลือกให้เหมาะสมกับฤดูกาล เพื่อให้ได้ผักที่มีคุณภาพดี จึงควรพิจารณาเลือกปลูกผัก ดังนี้

            ผักที่ควรปลูกในต้นฤดูฝน คือ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม ได้แก่ หอมแบ่ง ผักกาดเขียวกวางตุ้ง ผักบุ้ง คะน้า พริกต่าง ๆ มะเขือต่าง ๆ ผักกาดหัว ผักกาดหอม บวบ มะระ ฟักเขียว แฟง แตงกวา ข้าวโพดหวาน ถั่วฝักยาว ถั่วพุ่ม น้ำเต้า ถั่วพู ผักบุ้งจีน กระเจี๊ยบเขียว

            ผักที่ควรปลูกปลายฤดูฝน ผักใดที่ปลูกต้นฤดูฝนก็ปลูกไดผลดีในปลายฤดูฝน ยิ่งกว่านั้นยังปลูกผักฤดูหนาวได้อีกด้วย เช่นกะหล่ำปลี กะหล่ำดอก กะหล่ำปม บร็อดโคลี่ ถั่วลันเตา หอมหัวใหญ่ แครอท แรดิช ผักชี ผักกาดเขียวปลี ผักกาดขาวปลี ผักกาดหอมห่อ ข้าวโพดหวาน แตงเทศ แตงโม พริกยักษ์ พริกหยวก ฟักทอง มะเขือเทศ ขึ้นฉ่าย

            ผักที่ควรปลูกในฤดูร้อน ได้แก่ ผักที่ทนร้อนได้ดี และทนความแห้งแล้งพอสมควร ถึงแม้ว่าผักเหล่านี้จะทนร้อนและความแห้งแล้งได้แต่ถ้าจะปลูกในฤดูร้อนผักบางอย่างก็ต้องรดน้ำ เช้า - เย็น ต้องพรวนดินแล้วคลุมด้วยฟางข้าว เพื่อรักษาความชุ่มชื้นไว้ให้พอ เช่น ข้าวโพดหวานข้าวโพดเทียน บวบ มะระ ถั่วฝักยาว ถั่วพุ่ม น้ำเต้า แฟง ฟักทอง ถั่วพู คะน้า ผักกาดเขียวกวางตุ้ง ผักกาดหอม ผักชี (ผักกาดหอม และผักชีนั้น ควรทำร่มรำไรให้ด้วย) ผักกาดขาวเล็ก ผักกาดเขียวใหญ่ มะเขือมอญ

            ผักและพืชบางอย่างที่ควรปลูกไว้รับประทานตลอดปี ได้แก่ พืชที่ทนทาน ปลูกครั้งเดียวรับประทานได้ตลอดปี เช่น สะระแหน่ ผักชีฝรั่ง หอมแบ่ง แมงลัก โหระพา กะเพรา ผักตำลึง ผักบุ้งไทย กระชาย ข่า ตะไคร้ บัวบก มะแว้ง มะเขือพวง พริกขี้ฟ้า พริกขี้หนู มะเขือต่าง ๆ

 

การปฏิบัติดูแลรักษา

            การดูแลรักษาด้วยความเอาใจใส่ จะช่วยให้ผักเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์จนถึงระยะเก็บเกี่ยว การดูแลรักษาดังกล่าว ได้แก่

            1. การให้น้ำ การปลูกผักจำเป็นต้องให้น้ำเพียงพอ การให้น้ำผักควรรดน้ำในช่วง เช้า-เย็น ไม่ควรรดตอนแดดจัด และรดน้ำแต่พอชุ่มอย่าให้โชก

            2. การให้ปุ๋ย  มี 2 ระยะ คือ

                2.1 ใส่รองพื้นคือการใส่เมื่อเวลาเตรียมดิน หรือรองก้นหลุมก่อนปลูก ปุ๋ยที่ใส่ควรเป็นปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก คลุกในดินให้ทั่วก่อนปลูกเพื่อปรับโครงสร้างดินให้โปร่งร่วนซุย นอกจากนั้นยังช่วยในการอุ้มน้ำและรักษาความชื้นของดินให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืชด้วย

                2.2 การใส่ปุ๋ยบำรุง ควรใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อย้ายกล้าไปปลูกจนกล้าตั้งตัวได้แล้ว และใส่ครั้งที่ 2 หลังจากใส่ครั้งแรกประมาณ 2-3 สัปดาห์ การใส่ให้โรยบาง ๆ ระหว่างแถว ระวังอย่าให้ปุ๋ยอยู่ชิดต้น เพราะจะทำให้ผักตายได้ เมื่อใส่ปุ๋ยแล้วให้พรวนดินและรดน้ำทันที สูตรปุ๋ยที่ใช้กับพืชผัก ได้แก่ ยูเรีย หรือแอมโมเนียซัลเฟต สำหรับบำรุงต้นและใบ และปุ๋ยสูตร 15 - 15 - 15 และ 12 - 24 - 12 สำหรับเร่งการออกดอกและผล

            3. การป้องกันกำจัดศัตรูพืช ควรบำรุงรักษาต้นพืชให้แข็งแรงโดยการกำจัดวัชพืช ให้น้ำอย่างเพียงพอและใส่ปุ๋ยตามจำนวนที่กำหนดเพื่อให้ผักเจริญเติบโต แข็งแรง ทนต่อโรคและแมลง หากมีโรคและแมลงระบาดมากควรใช้สารธรรมชาติ หรือใช้วิธีกลต่าง ๆ ในการป้องกันกำจัด เช่น หนอต่าง ๆ ใช้มือจับออก ใช้พริกไทยป่นผสมน้ำฉีดพ่น ใช้น้ำคั้นจากใบหรือเมล็ดสะเดา ถ้าเป็นพวกเพลี้ย เช่น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย และเพลี้ยจั๊กจั่น ให้ใช้น้ำยาล้างจาน 15 ซีซี ผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นใต้ใบเวลาเย็น ถ้าเป็นพวกมด หอย และทาก ให้ใช้ปูนขาวโรยบาง ๆ ลงบริเวณพื้นดิน

ข้อพึงระวัง ->

ระวังทาก และแมลง

รูปประกอบ -> image1 image2 image3

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดขอนแก่น
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา