ความรู้สัมมาชีพชุมชน

การมัดหมี่

โดย : นางสำรี ปวงประชัง วันที่ : 2017-03-14-16:21:27

ที่อยู่ : 93 ม.2 ต.ช่องลม

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ ซึ่งมาจากภาคอีสาน ในอดีตจะมีการทอผ้าใช้เองในครัวเรือน มีการเลี้ยงไหม เอาเส้นไหมมาทอเป็นเสื้อผ้าเพื่อสวมใส่ ปัจจุบันมีการดัดแปลงนำเส้นไหมประดิษฐ์มาใช้ทดแทน และมีการมัดหมี่เพื่อให้ผ้ามีลวดลายที่สวยงาม

วัตถุประสงค์ ->

1. เพื่อลดรายจ่ายสร้างรายได้ในครัวเรือน
2. เพื่อสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น
3. เพื่อถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น
 

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

1. ไหมประดิษฐ์

อุปกรณ์ ->

1. โฮงค่นหมี่
2. โฮงมัดหมี่
3. สีย้อมผ้า
4. เชือกฟาง
5. กรรไกรตัดเล็บ

กระบวนการ/ขั้นตอน->

วิธีการค้นหมี่
1. เอาไหมที่เตรียมมาแล้วมัดหลักหมี่ด้านล่างก่อน แล้วพันรอบหลักหมี่ไปเรื่อยๆ เรียกว่า การก่อหมี่
2. การค้นหมี่จะต้องค้นจากล่างขึ้นบน หรือบนลงล่างจนกว่าจะครบจำนวนรอบที่ต้องการ ภาษาท้องถิ่นเรียกแต่ละจำนวนว่าลูกหรือลำ ถ้าก่อหมี่ผูก ฝ้ายด้านขวา ก็ต้องวนซ้ายมาขวาทุกครั้ง
3. ควรผูกฝ้ายไว้ทุกลูกด้วยสายแนม เพื่อไม่ให้หมี่พันกัน หรือหลุดออกจากกัน

วิธีการมัดหมี่
1. มัดกลุ่มไหมแต่ละลูกหมี่ด้วยเชือกฟาง จนครบหลักหมี่ ทำเป็นเชิงผ้า
2. การเริ่มต้นลายมัดหมี่ อาจมัดจากด้านบนไล่เรียงลงข้างล่าง หรือมัดข้างล่างก่อนจึงไล่เรียงขึ้นข้างบน บางคนอาจเริ่มมัดจากตรงกลางก่อน จึงขยายออกไปเต็มหลักหมี่
3. เริ่มมัดปลายเชือกด้านหนึ่งกับลูกหมี่ก่อน จึงพันอีกปลายหนึ่งซ้อนทับกันให้แน่นเพื่อไม่ให้สีย้อมซึมเข้าข้อหมี่ เมื่อพันทับกันไปจนได้ความยาวตามลายหมี่แล้ว มัดปลายเชือกกับลูกหมี่ให้แน่นเช่นกัน โดยเหลือปลายเชือกไว้ เมื่อเวลาแก้ปอมัดจะทำได้ง่าย
4. เอาเชือกเส้นหนึ่งสอดเข้าไปในช่องหลักหมี่ข้างใดข้างหนึ่ง ผูกกลุ่มฝ้ายไว้เป็นวงไม่ให้หมี่ที่มัดลวดลายแล้วหลุดออกจากกัน และใช้เป็นหูหิ้วสำหรับจับเวลาย้อม ถอดไหมมัดหมี่ออกจากหลักหมี่

หลังจากนั้น เราก็จะนำไปย้อมสี เมื่อย้อมสีเสร็จก็จะนำมาแก้ปอมัดหมี่

ข้อพึงระวัง ->

1. ใช้กรรไกรตัดเล็บแทนในการตัดเชือกฟาง เพราะป้องกันการตัดโดนไหม
2. การค่นหมี่ต้องนับให้เท่ากัน ต้องมีสมาธิจดจ่อกับงาน
3. ใช้ความปราณีต
4. มัดให้แน่น ป้องกันการหลุดเวลาย้อมสี

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดกำแพงเพชร
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา