ความรู้สัมมาชีพชุมชน

image1

การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์

โดย : นายสุภาพ เชิดแสง วันที่ : 2017-03-24-14:47:48

ที่อยู่ : บ้านเลขที่ 82/1 บ้านนามกุย หมู่ที่ 7 ตำบลลิ่นถิ่น อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี 71180

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

ไฮโดรโปนิกส์  ( Hydroponics) คือ เป็นการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน นับเป็นวิธีการใหม่ในการปลูกพืช โดยเฉพาะการปลูกผักและพืชที่ใช้เป็นอาหาร เนื่องจากประหยัดพื้นที่ และไม่ปนเปื้อนกับสารเคมีต่างๆ ในดิน ทำให้ได้พืชผักที่สะอาดเป็นอาหาร ปัจจุบันนี้ในเทคนิคการปลูกพืชแบบไร้ดินหลายแบบด้วยกัน

นักวิจัยด้านเมตาบอลิซึมของพืชได้ค้นพบว่าพืชจะดูดซึมสารอาหารมาเป็นไอออนในน้ำ ซึ่งมีโครงสร้างไม่ซับซ้อน ในสภาพตามธรรมชาตินั้น ดินจะทำหน้าที่เป็นแหล่งสารอาหาร แต่ดินเองนั้นไม่จำเป็นต่อการเติบโตของพืช เมื่อสารอาหารในดินละลายไปกับน้ำ รากของพืชก็จะสามารถดูดซึมสารอาหารนั้นได้ เมื่อใส่สารอาหารที่จำเป็นสำหรับพืชไว้ในแหล่งน้ำที่สร้างขึ้น ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ดินเพื่อเป็นแหล่งอาหารของพืชอีกต่อไป พืชส่วนใหญ่จะเติบโตด้วยวิธีไฮโดรโปนิกส์ได้ แต่เติบโตได้ดีมากน้อยแตกต่างกัน การปลูกพืชไร้ดินนี้ทำได้ง่าย สะดวก และประหยัดพื้นที่ แต่ต้องมีอุปกรณ์ที่จำเป็น นั่นคือสารอาหารสำหรับพืชที่ละลายอยู่ในน้ำแล้ว 

ประโยชน์ของการปลูกพืชไร้ดิน ไฮโดรโปนิกส์นั้นมีประโยชน์หลักๆ 2 ประการด้วยกัน ประการแรกคือช่วยให้มีสิ่งแวดล้อมที่ควบคุมได้มากขึ้นสำหรับการเติบโตของพืช แทนที่จะเป็นการใช้ดินอย่างเดิม ทำให้กำจัดตัวแปรที่ไม่ทราบออกไปจากการทดลองได้จำนวนมาก ประการที่สองก็คือ พืชหลายชนิดจะให้ผลผลิตได้มากในเวลาที่น้อยกว่าเดิม และบางครั้งก็มีคุณภาพที่ดีกว่าเดิมด้วย ซึ่งในสภาพแวดล้อมและสภาพการเศรษฐศาสตร์หนึ่งๆ การปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์จะให้ผลกำไรแก่เกษตรกรได้มากขึ้น และด้วยการปลูกที่ไม่ใช้ดิน จึงทำให้พืชไม่มีโรคที่เกิดในดิน ไม่มีวัชพืช และไม่ต้องจัดการดิน และยังสามารถปลูกพืชใกล้กันมากได้ ด้วยเหตุนี้พืชจึงให้ผลผลิตในปริมาณที่มากกว่าเดิม ขณะที่ใช้พื้นที่จำกัด นอกจากนี้ยังมีการใช้น้ำน้อยมาก เพราะมีการใช้ภาชนะหรือระบบวนน้ำแบบปิด เพื่อหมุนเวียนน้ำ เมื่อเทียบกับการเกษตรแบบเดิมแล้ว นับว่าใช้น้ำเพียงส่วนน้อยนิดเท่านั้น

            ด้วยคุณภาพที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ไฮโดรโปนิกส์มีประโยชน์กับการปลูกพืชที่ไม่ใช้วิธีการแบบเดิมๆ  และคุณสมบัติดังกล่าวนี้ทำให้ไฮโดรโปนิกส์เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ต้องการปลูกพืชโดยการการควบคุมปัจจัยที่เกี่ยวข้องได้มากที่สุด และมีความหนาแน่นสูงสุด

วัตถุประสงค์ ->

1. ขับเคลื่อนสัมมาชีพชุมชน

 2 .สร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ครัวเรือน

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

1. เมล็ดพันธุ์ผัก

อุปกรณ์ ->

1. รางปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ แบบเปิด NFT ความยาว 2 เมตร จำนวน 5 รางปลูกฝาเปิดได้สะดวกในการทำความสะอาด

2. ชุดโต๊ะอลูมิเนียมอบขาวปลอดสนิม

3. ชุดท่อส่งสารละลายธาตุอาหาร พร้อมวาล์วเปิดปิด 5 ตัว สำหรับแต่ละรางปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ 

4. ชุดท่อรวมสารละลายธาตุอาหาร

5. Nutrient Solution สารละลายธาตุอาหาร สูตร A และ B สูตรละ 2 ลิตร

6. ถ้วยตวงสารอาหาร ขนาด 250 cc. 1 ใบ

7. ถ้วยตวงน้ำ ขนาด 1,000 cc. 1 ใบ

8. กระบะเพาะ 2 ใบ

9. pH Down สำหรับปรับลดค่าความเป็นกรด-ด่าง ของน้ำ 1 ลิตร 

10. pH Drop Test สำหรับตรวจค่าความเป็นกรด-ด่าง ของน้ำ 1 ชุด

11. Water Pump ปั๊มน้ำ

12. ฟองน้ำ 10 แผ่น แบบไม่ต้องใช้ถ้วยปลูก (1 แผ่น เพาะกล้าได้ 35 ต้น)

13. ถังน้ำ ขนาด 50 ลิตร

กระบวนการ/ขั้นตอน->

ขั้นตอนการผลิต

          การเพาะเมล็ด  

          1. ชุบฟองน้ำในกระบะเพาะให้ชุ่มน้ำมากๆ นำเมล็ดพันธุ์ใส่ลงไปในรอยบากโดยไม่ตื้นหรือลึกจนเกินไป ราดน้ำลงบนเมล็ดให้ชุ่มอีกหลาย ๆ ครั้ง(เลี้ยงน้ำไว้ที่ระดับ ๓/๔ ของฟองน้ำ) เก็บไว้ที่มืด ชื้น เย็น อย่าให้หน้าฟองน้ำแห้ง

          2. เมล็ดเริ่มงอก (ประมาณ 1-3 วัน) นำออกรับแสงแดด (เริ่มนับอายุ วันที่ 1) เมล็ดพันธุ์เริ่มงอกส่วนใหญ่เริ่มงอกแล้วประมาณ ๑/๒-1 ซ.ม. นำออกรับแสงแดดตั้งแต่เช้า อย่างน้อย 5-6 ชั่วโมงต่อวัน(อย่านำกลับเข้ามืดอีกควรอยู่ที่มีแสงสว่างมากๆ) เติมน้ำด้านข้างฟองน้ำ  เลี้ยงน้ำไว้ครึ่งฟองน้ำ(อย่าราดลงบนฟองน้ำ ต้นกล้าอาจหักเสียหายได้ และจะทำให้เกิดตะไคร้ได้  ควรปล่อยให้หน้าฟองน้ำแห้ง

          3. อายุ 4-6 วัน ต้นกล้ามีใบที่สาม  งอกออกมาระหว่างใบเลี้ยงทั้งสองใบ เตรียมน้ำเปล่ามา 1 ลิตร  เติมสารอาหาร A  5 ml.  คนให้ละลายแล้วจึงเติมสารอาหาร B  อีก 5 ml.  คนให้เข้ากัน เติมสารอาหารด้านข้างฟองน้ำ  เลี้ยงน้ำไว้ครึ่งฟองน้ำทุกวัน  อย่าราดลงบนฟองน้ำ ต้นกล้าอาจหักเสียหายได้ และจะทำให้เกิดตะไคร้ได้ ควรปล่อยให้หน้าฟองน้ำแห้ง 

          4. อายุ 10-14 วัน (ควรทำเวลาเย็น) เตรียมน้ำเปล่าใส่ถังประมาณ 50 ลิตร หรือเต็มความจุของถังน้ำ เปิดปั๊มน้ำเดินระบบน้ำ และปรับวาล์วน้ำของแต่ละรางให้น้ำไหลเท่าๆ กัน ระดับน้ำสูงประมาณ  3-4 mm. หรือแค่ท่วมปลายนิ้ว

          5. ปรับค่า กรด – ด่าง (pH) ของน้ำ  ใช้ pH Drop Test  วัดค่ากรด-ด่างของน้ำ  แล้วใช้ pH Down ปรับให้ได้ค่า  pH  ที่ 5.5

          6. เติมสารอาหาร  โดยเติมสารละลาย A  250 ml.  คนให้ละลายรอประมาณ  ๑/๒ ชั่วโมง  จึงเติมสารละลาย B  อีก 250 ml.  หรืออัตราส่วนผสมน้ำ  1 : 200 (200 : 1 : 1 คือ น้ำ : A : B)

          7. นำต้นกล้าลงรางปลูก  โดยดึงก้อนฟองน้ำออก  แล้วใส่ลงรางปลูก  ระวังอย่าให้รากขาด  หรือระหว่างรอ  ๑/๒ ชั่วโมง  เพื่อเติมสารอาหาร B ก็สามารถนำต้นกล้าลงรางได้เช่นกัน

          8. อายุระหว่าง  14-45 วัน  การจัดการธาตุอาหารพืช  จะมีสิ่งที่ต้องคอยดูแลและควบคุม ดังนี้

                   8.1 ค่า pH เป็นค่าบอกความเป็นกรด – ด่าง ของสารละลายโดยทั่วไป  จะควบคุมให้อยู่ในช่วง  5.5-6.5 ซึ่งจะเป็นช่วงที่ธาตุอาหารในสารละลายอยู่ในรูปที่พืชใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด

                   8.2 ค่าความเข้มข้นของสารละลาย  คอยดูระดับน้ำในถังในระดับเดิมอยู่เสมอ  เมื่อน้ำลดลงก็เติมน้ำและสารละลายตามสัดส่วน 1 : 200 ของน้ำที่เติมลงไป

                   8.3 ดูแลระบบและถังน้ำให้สะอาดอยู่เสมอ

          9. เก็บเกี่ยวผักสลัด  อายุประมาณ  40-45 วัน ควรถ่ายสารละลายทิ้ง และเลี้ยงน้ำเปล่าโดยที่ไม่ต้องปรับค่า กรด-ด่าง (pH) ของน้ำประมาณ 1-2 วัน

ข้อพึงระวัง ->

รูปประกอบ -> image1 image2 image3

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา