ความรู้สัมมาชีพชุมชน

image1

เทคนิคการปลูกมันสำปะหลังให้มีประสิทธิภาพ

โดย : นางสาววิลัยพร คำด้วง วันที่ : 2017-02-06-12:59:45

ที่อยู่ : 48 หมู่ที่ 9 ตำบลสะเนียน อำเภอเมือง จังหวัดน่าน 55000

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

ในปี 2554  ครอบครัวของข้าพเจ้าประสบปัญหาด้านการเงิน สืบเนื่องจากการทำไร่ข้าวโพด ถูกพายุพัดไร่ข้าวโพดติดต่อกันมาตลอดปี 2554-2556  ทำให้ครอบครัวข้าพเจ้าขาดทุนไม่มีเงินส่งใช้หนี้ทั้งในและนอกระบบ  ประกอบกับธุรกิจโรงสีข้าวโพดและพืชสวนมีปัญหาทุกด้าน  ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าต้องค้นหาอาชีพเพิ่มอีกช่องทางหนึ่ง  เพื่อนำมาเสริมพืชไร่และพืชสวนที่มีอยู่  จึงได้เลือกปลูกมันสำปะหลัง เนื่องจากต้นทุนการผลิตต่ำทำให้ข้าพเจ้าและกลุ่มมันสำปะหลังสามารถแก้ปัญหาหนี้นอกระบบได้

วัตถุประสงค์ ->

1.      เพื่อถ่ายทอดความรู้การปลูกมันสำปะหลังโดยการปาดตา (ทุบตา) ท่อนพันธุ์แก่ผู้ที่สนใจ

2.      เพื่อเป็นการสร้างอาชีพอีกช่องทางหนึ่งแก่ผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

3.      เพื่อลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศเนื่องจากการแปรรูปมันสำปะหลังเป็นเอทานอลผลิตเป็นแก๊สโซฮอล์

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

1.      ท่อนมันสำปะหลังพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50

2.      น้ำยาเร่งราก/น้ำหมักมูลสุกร

3.      ปุ๋ยมูลสุกรหรือมูลไก่แห้ง

อุปกรณ์ ->

1.      เลื่อยตัดท่อนพันธุ์

2.      กาละมังขนาดใหญ่ หรือถังแกลลอนขนาด 200 ลิตร

3.      ไม้กลมแข็งแรง (สำหรับทุบตาท่อนพันธุ์)

4.      ใบมีดตัด (สำหรับปาดตาท่อนพันธุ์)

5.      ใบมีดหรือพร้าที่แข็งแรง

6.      เชือกฟางหรือตอกจากไม้ไผ่

7.      ผานขุดมันหรือเหล็กงัดหัวมันสำปะหลัง

8.      บุ้งกี๋ (สำหรับปลูกและเก็บมันสำปะหลังในพื้นที่ราบ)

9.      ถุงปุ๋ย (สำหรับปลูกและเก็บมันสำปะหลังในพื้นที่สูง)

กระบวนการ/ขั้นตอน->

ขั้นตอนการเตรียมดินและแปลงปลูก

           1. ไถแปลงปลูกโดยใช้ผาน 3  จากนั้นอีก 7 วัน ให้ไถแปลงโดยใช้ผาน 7  หลังจากปรับพื้นที่แล้วให้โรยปุ๋ยมูลไก่หรือมูลสุกรก็ได้ทิ้งไว้ประมาณ 1 วัน  จึงฉีดพ่นน้ำหมักสุกรให้ทั่วแปลงแล้วไถยกร่องด้วยผาน 3 ความสูงของร่อง 50 เซนติเมตร  หรือปลูกแบบไม่ยกร่องก็ได้  ระยะห่างในการปลูก 1.50x1.50 เมตร  ทิ้งไว้ 7 วันเพื่อให้จุลินทรีย์ทำงานจึงนำท่อนพันธุ์ลงปลูก  (อัตราการโรยปุ๋ยมูลสุกรหรือมูลไก่ อยู่ที่ 50 กิโลกรัมต่อ 1 ไร่  และอัตราการพ่นน้ำหมักสุกร 1 ลิตรต่อน้ำ 200 ลิตร)

          2. การเตรียมท่อนพันธุ์ด้วยเทคนิคการทุบตาหรือปาดตาท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง  โดยตัดท่อนพันธุ์มันสำปะหลังขนาดยาว 30-45 เซนติเมตร  ใช้เลื่อยตัดให้ท่อนพันธุ์เรียบแล้วปาดตา หรือทุบตาท่อนพันธุ์โดยให้นับตาท่อนพันธุ์ถึงตาที่ 5  หรือประมาณ 25 เซนติเมตรจากโคน ปาดตาท่อนพันธุ์ให้เรียบหรือทุบด้วยไม้ที่มีลักษณะทรงกลมแข็งแรงแค่พอให้แตก  ระวังอย่าให้แกนแตกเสร็จแล้วแช่ท่อนพันธุ์ด้วยน้ำยาเร่งรากทิ้งไว้ 1 คืน หรือจะแช่ด้วยน้ำหมักมูลสุกรประมาณ 10-12 ชั่วโมง  โดยวางท่อนพันธุ์ในแนวนอนให้น้ำหมักท่วมท่อนพันธุ์  จากนั้นนำไปปักลงดินลึก  11/2"  ในแปลงที่เตรียมไว้  (อัตราการใช้ท่อนพันธุ์ประมาณ 1,200-1,400 ท่อนต่อ 1 ไร่  และตรงจุดที่ปาดตาหรือทุบตาท่อนพันธุ์จะเป็นส่วนที่งอกออกมาเกิดเป็นหัวมันสำปะหลัง)

          3. การดูแลและบำรุงรักษา  หลังจากปลูกไปแล้ว 15 วัน ท่อนพันธุ์จะแตกยอดออกมาให้ฉีดน้ำหมักมูลสุกรให้ทั่วทั้งส่วนบนและใต้ใบ  ในอัตราส่วนผสม 1 ลิตรต่อน้ำเปล่า 20 ลิตร (แช่ทิ้งไว้ 1 คืน)  และให้ฉีดน้ำหมักมูลสุกรทุก ๆ 15 วัน จนครบ 6 เดือน  ช่วงเวลาที่ฉีดพ่นน้ำหมักมูลสุกรที่เหมาะสม  ได้แก่ ช่วงเช้าไม่เกิน 9 โมง  และช่วงเย็นตั้งแต่ 4 โมงเย็นขึ้นไป  เนื่องจากเป็นเวลาที่ปากใบเปิด

          4. การเก็บเกี่ยวหลังจากที่มันสำปะหลังมีอายุ 8-12 เดือน  ซึ่งจะทำให้หัวมันสำปะหลังมีขนาดใหญ่ยาว  และมีเปอร์เซ็นต์การเป็นแป้งสูง  และควรเก็บเกี่ยวช่วงฤดูแล้ง  ถ้าเป็นฤดูฝนจะทำให้หัวมันสำปะหลังเน่ามีเชื้อราและโรงรับซื้อจะไม่รับซื้อ  ส่วนการขุดมันจะทำการตัดกิ่งพันธุ์เพื่อมัดเก็บไว้  จากนั้นจะใช้รถขุดหรือเหล็กขุด โดยงัดหัวมันสำปะหลังและตัดเป็นท่อน ๆ  ส่วนใหญ่ถ้าอยากเก็บเกี่ยวให้เสร็จเร็วเกษตรกรจะนิยมขุดมันสำปะหลังขายเป็นหัวสด  โดยไม่สับและตากให้แห้ง  วิธีนี้จะใช้ในกรณีที่เจ้าของสวนมีแรงงานน้อยและหลีกเลี่ยงพายุฝน

ข้อพึงระวัง ->

 - ควรเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังอายุประมาณ 1 ปี  ถ้าเก็บเกี่ยวเร็วจะทำให้ผลผลิตหัวสดต่ำกว่าหรือมีเปอร์เซ็นต์แป้งต่ำกว่ามาตรฐาน  นั่นคือ  มีเปอร์เซ็นต์แป้งต่ำกว่า 25%  ซึ่งเปอร์เซ็นต์ที่ได้ราคาสูงที่สุดอยู่ที่ระดับ 30%  และถ้าเก็บมันสำปะหลังเกิน 1 ปี  จะทำให้เปอร์เซ็นต์แป้งลดลงอีกเช่นกัน  ดังนั้น อายุการเก็บเกี่ยวและให้ผลผลิตสูงจะมีอายุไม่เกิน 1 ปี

รูปประกอบ -> image1

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนศูนย์ศีกษาและพัฒนาชุมชนพิษณุโลก
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา