ความรู้สัมมาชีพชุมชน

จักสานกระติบข้าว

โดย : นางดวงจันทร์ มากดี วันที่ : 2017-05-03-14:04:32

ที่อยู่ : 156 หมู่ 2 ต.ห้วยยาง

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

     แบบแผนการดำเนินชีวิตที่มีคุณค่า แสดงถึงความเฉลียวฉลาดของบุคคลและสังคมซึ่งได้สั่งสมปฏิบัติสืบต่อกันมา
กระติบข้าวของชาวอีสานเป็นภาชนะเก็บอาหารที่ทางคุณค่ามากด้วยภูมิปัญญา เก็บความร้อนได้ดี ในขณะที่ยอมให้ไอน้ำระเหยออกไปได้ ทำให้ข้าวเหนียวที่บรรจุภายในกระติบไม่แฉะด้วยไอน้ำ ต่างจากกระติกน้ำแข็ง ที่พ่อค้าแม่ค้าข้าวเหนียวส้มตำบางร้านนำมาใช้บรรจุข้าวเหนียวเพื่อรอขายซึ่งจำเป็นต้องใช้ผ้าขาวรองอีกทีก่อนบรรจุข้าวเหนียว แต่เม็ดข้าวที่อยู่รอบขอบกระติกก็ยังแฉะอยู่ดี 

     เหตุผลที่ทำ คือมีความรู้ในการจักสานมาตั้งแต่รุ่นพ่อ แม่ ปู่ ยา เพราะทุกครัวเรือนในชุมชนกินข้าวเหนืยวจึงจำเป็นต้องมีกระติบข้าวไว้ทุกบ้านเพื่อเป็นภาชนะในการเก็บข้าว และสามารถใส่อย่างอื่นได้ด้วย และสามารถพกไปในที่ต่าง ๆ ได้ และสามารถจำหน่ายได้เพราะคนอิสานทุกครัวเรือนต้องใช้

วัตถุประสงค์ ->

1. เพื่อให้ทุกคนในชุมชนทำเป็นโดยไม่ต้องชื้อ

2. เมื่อมีทุกครัวเรือนแล้ว สามารถทำเป็นอาชีพเสริม สร้างรายได้ให้กับครัวเรือนได้

3. เป็นชุมชนเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้

4. เป็นสินค้า โอทอป สร้างรายได้ให้กับชุมชน

5. เป็นที่ศึกษาดูงานของชุมชนอื่น และเป็นต้นแบบในการสร้างอาชีพนอกเหนือจากการทำงานประจำ

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

-

อุปกรณ์ ->

1. ไม้ไผ่บ้าน  2.ด้ายไนล่อน  3.เข็มเย็บผ้าขนาดใหญ่  4.กรรไกร

5.มีดโต้  6.เลื่อย  7.เหล็กหมาด(เหล็กแหลม)  8.ก้านตาล

กระบวนการ/ขั้นตอน->

1. การเตรียมไม้ไผ่สำหรับการสานกระติบข้าวนั้น ควรมีอายุไม่เกินหนึ่งปี โดยเลือกไผ่ที่โตเพียงฝนเดียวมาทำก่องข้าวหรือสานกระติบ สำหรับไผ่ที่ใช้ทำกระติบได้ดีที่สุดจะมีอายุประมาณ 4-5 เดือน
การเลือกไม้ไผ่ จะเลือกไม้ที่มีข้อปล้องยาวและตรง มีผิวเรียบเป็นมันนำมาตัดข้อปล้องทางหัวและท้ายออก โดยใช้เลื่อยตัดรอบไม้ไผ่เพื่อป้องกันผิวไผ่ฉีก ขนาดของปล้องไม้ไผ่หนึ่ง ควรมีความยาวประมาณ 30-40 เซนติเมตร จากนั้นจึงใช้มีดโต้ผ่าออกเป็นชิ้นๆ แล้วใช้มีดตอกจักเป็นตอกขูดเปลือกสีเขียว ของมันออกและตากแดดเพื่อเก็บรักษาเอาไว้ก่อนจะทำงานสาน

2. เมื่อเหลาไม้ไผ่จนมีขนาดเหลือความหนาประมาณ 0.05 เชนติเมตร ก็จะขูดเสี้ยนไม้ออก เพื่อให้ตอกมีความเรียบและอ่อนบางที่สุด กระติบที่ได้ก็จะสวย และเวลาสานถ้าหากว่าเป็นตอกอ่อนก็จะทำให้สานง่ายไม่เจ็บมืออีกด้วย

3. เมื่อได้ตอกมาประมาณ 100-150 เส้นแล้ว ก็จะเริ่มสานกระติบข้าวได้ บางครั้งผู้สานต้องการเพิ่มลวดลายในการสานกระติบก็จะย้อมสีตอกก่อนก็มี ส่วนใหญ่จะใช้สีผสมลงในกระบอกไม้ไผ่แล้วนำมาย้อมตอกให้เป็นสีสันตามที่ตัวเองต้องการ
เมื่อลงมือสานมักจะเริ่มต้นสานใช้ตอก 6 เส้น แล้วสานด้วยลายสอง โดยทิ้งชายตอกให้เหลือประมาณ 5 เซนติเมตร เมื่อสานได้ยาวจนชายตอกอีกด้านเหลือประมาณ 3 เซนติเมตรให้นำชายทั้งสองข้างมาประกับกันโดยใช้ลายสอง และเมื่อนำมาประกบกันได้แล้วด้วยลายสอง ก็จะม้วนชายตอกที่ไม่ต้องการอีกทีด้วยการสานลายสองเวียนการสานกระติบให้ประกบซ้อนกันเป็นสองชั้น ก็เพื่อช่วยเก็บความร้อนให้อยู่ได้ชั่วขณะหนึ่งพอที่จะทำให้ได้กินข้าวเหนียวที่ไม่แข็งเกินไป นอกจากนั้นกระติบข้าวที่ทำจากไม้ไผ่ยังช่วยดูดซับเอาหยาดน้ำที่อยู่ภายในที่จะเป็นตัวทำให้ข้าวเปียกหรือแฉะได้อีกด้วย

 4. การขึ้นลายกระติบ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความต้องการของคนที่สานว่าต้องการใช้ลายอะไร เพราะแต่ละลายจะขึ้นต่างกัน ลายกระติบที่นิยมสาน คือ“ลายข้างกระแตสองยืนและสามยืน” การขึ้นลายสองนั้น จะยกตอก 2 เส้นแล้วทิ้ง 2 เส้น และเมื่อขึ้นลายไปได้ประมาณครึ่งหนึ่งของความยาวของตอกแล้ว ก็จะสานต่อด้วยลายสามนอนหรือลายคุบ จากนั้นจึงสานด้วยลายสองยืนอีกครั้งเพื่อความแข็งแรงของกระติบข้าว จากนั้นจึงม้วนเก็บชายตอกด้วยการพับครึ่งเข้าไปข้างในทั้งสองข้างและบีบเพื่อตกแต่งให้สวยงาม

5. ส่วนก้นของกระติบข้าวนั้นจะสานเป็นแผ่นแบนสองอันมาประกบกันเข้าแล้วผูกติดกับส่วนตัวกระติบ เรียกขั้นตอนนี้ว่า “อัดตุ๋” ซึ่งมีการเย็บอยู่สองวิธีคือ การเย็บโดยใช้หวาย กับเย็บด้วยการใช้ด้ายเย็บ แต่การเย็บด้วยหวายนั้นให้ความสวยงามตามธรรมชาติ และมีความแข็งแรงกว่าการเย็บด้วยด้าย แต่ปัญหาก็คือหวาย จะหายากในปัจจุบัน

6. ฐานของกระติบ ซึ่งคนอีสานจะเรียกว่า “ตีนติบข้าว” เป็นส่วนหนึ่งมี่ต้องรับน้ำหนักและจำเป็นที่จะต้องทำให้แข็งแรง ดังนั้นส่วนใหญ่จึงใช้ก้านตาลมาเหลาแล้วโค้งให้เป็นวงกลมเท่ากับขนาดของก้นกระติบข้าว ก้านตาลที่ใช้จะต้องตรงไม่คดเบี้ยวและมีความยาวประมาณ 1 เมตรขึ้นไป นำก้านตาลที่ตัดได้มาเหลาเอาหนามตาลออก ผ่าตามความยาวของก้านตาล ซึ่งก้านตาล 1 ก้านใหญ่สามารถทำตีนกระติบได้ 1-2 อัน จากนั้นจึงผ่าเกลาให้เรียบเสมอกัน นำมาม้วนแล้วทิ้งไว้ให้แห้งโดยใช้เวลาประมาณ 15-20 วันเป็นอย่างน้อย

7. ฝากระติบข้าวนั้นจะสานเช่นเดียวกับตัวกระติบเพียงแต่ให้ใหญ่กว่าเพื่อสวมครอบปิดเปิดได้ กระติบข้าวที่สานเสร็จแล้วไม่ควรเก็บไว้ในที่ชื้น เพราะจะทำให้ขึ้นราได้ง่ายและมีมอดเจาะ และควรเก็บไว้ในที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก

 

ข้อพึงระวัง ->

         เคล็ดลับของการสารกระติบข้าวอยู่ที่การสานภาชนะเป็นสองชั้น ชั้นในสุดจะสานด้วยตอกไม้ให้มีความห่างเล็กน้อยเพื่อให้ไอน้ำระเหยออกจากข้าวไปสู่ช่องว่างภายในก่องหรือกระติบข้าวได้ ชั้นนอกสุดจะสานด้วยตอกที่มีความชิดแน่นกว่าเพื่อเก็บความร้อนเอาไว้ ไอน้ำที่มีความร้อนอยู่ภายในช่องว่างนี้จะช่วยทำให้ข้าวเหนียวที่อยูภายในกระติบยังคงความร้อนได้อีกนาน โดยเมล็ดข้าวจะไม่มีไอน้ำเกาะ

         ฝากระติบและตัวกระติบจะมีลักษณะเหมือนกัน เพียงแต่มีขนาดที่ต่างกันเล็กน้อย สามารถสวมใส่กันได้พอดี ในส่วนตัวกระติบจะมีฐานรองทำจากก้านตาลขดเป็นวงกลม มีขนาดเล็กกว่าตัวกระติบเล็กน้อย ยึดด้วยหวายให้ติดกับตัวกระติบ

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา